Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break->

กฎหมายนิรโทษกรรมที่ผลักดันโดยพรรคเพื่อไทยขาดความชอบธรรมอย่างไม่ต้องเป็นที่สงสัย แม้ว่าจะมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้างในหมู่ท่ามกลางผู้คัดค้านอันไพศาล

โดยกลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้กำลังกับประชาชนที่จะได้รับการนิรโทษกรรมหากกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณา ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมุ่งเน้นประเด็นเรื่องทุจริตคอรัปชั่นเป็นด้านหลัก ด้วยความหวั่นเกรงว่าการนิรโทษกรรมจะทำให้บุคคลผู้กระทำผิดลอยนวลไปจากการกระทำของตน

ซึ่งผมอยากจะเดาว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของมวลมหาชนชั้นกลางในครั้งนี้ก็คือ ประเด็นปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นเป็นด้านหลัก เพราะถ้าหากให้ความสำคัญกับการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนชนิดไม่เลือกสีเลือกกลุ่มแล้ว ก็เชื่อได้ว่าคงยากที่จะเห็นผู้คนแห่แหนไปร่วมในเวทีที่นำโดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์อย่างคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นแน่แท้

อย่าลืมว่ามือที่จับไมค์ของทั้งสองคนนั้น ยังคงแปดเปื้อนว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อการฆาตกรรมหมู่ประชาชนมิใช่หรือ

ยิ่งได้ยินผู้คนจากธรรมศาสตร์ว่าธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน เพราะฉะนั้น ในครั้งนี้จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ การอ้างคำหรูๆ แบบนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกแต่ประการใดหรอกครับ แต่คำถามก็คือว่าแล้วที่ถูกยิงตายไปเมื่อสามปีที่แล้ว หลายคนที่ร่วงลงและสูญเสียชีวิตไปไม่ใช่ประชาชนหรือครับ

ในความเห็นของผู้เขียน จำนวนมากของคลื่นมหาชนในครั้งนี้จึงมาจากแรงบันดาลของปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่นเป็นด้านหลัก ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด เพราะแต่ละคนย่อมสามารถให้น้ำหนักกับแต่ละเรื่องที่แตกต่างกันไปได้

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายฉบับนี้จะไม่มีความชอบธรรมอย่างแน่ๆ แต่หากพิจารณาการเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในขณะนี้ ทั้งนอกและในเวทีของการชุมนุมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักต่อการเข้าไปสนับสนุน

ประเด็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมาก็คือ การให้ร้ายหรือการใส่ความกับอีกฝ่ายอย่างรุนแรงจนกระทั่งไม่เหลือความเป็นมนุษย์ให้กับอีกฝ่าย ลองนึกถึงคำปราศรัยจำนวนมากที่ได้เคยเกิดขึ้น ข่าวที่เขียนในสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสมัยใหม่ เฟสบุ๊ค ฯลฯ ทั้งหมดล้วนอุดมไปด้วยถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังระหว่างบุคคลที่เห็นต่างให้บังเกิดขึ้น

ความรุนแรงระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นในความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการสร้างความเกลียดชังระหว่างฝ่ายให้เกิดขึ้นมิใช่หรือ

บรรยากาศของการเคลื่อนไหวในขณะนี้ ก็มีแนวโน้มให้เห็นของการใช้ถ้อยคำหรือแม้กระทั่งการขยายความจำนวนมากให้เกินไปจากความจริง ถ้อยคำชนิดที่กล่าวว่า “อีโง่”, “ขายชาติ” เป็นต้น การกล่าวถึงถ้อยคำที่รุนแรงแต่ไม่มีใคร ณ ห้วงเวลานี้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ก้าวข้ามเสรีภาพในการแสดงความคิดทางการเมืองแม้แต่น้อย ใครที่ร่วมกันด่า ยิ่งด่าได้แรง ด่าได้สะใจ กำลังกลายเป็นฮีโร่ของการเคลื่อนไหว

ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกันอย่างมากก็คือ ความพยายามในการปลุกเร้ามวลชนให้ฮึกเหิมในทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าสำหรับแกนนำบนเวทีคงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้คนรู้สึกว่ากำลังเผชิญหน้ากับเรื่องคอขาดบาดตาย จึงอาจทำให้เกิดสถานการณ์ของการ “ขยายความ” ให้ใหญ่โตไปจากความเป็นจริง

แต่ปัญหาของแกนนำในการชุมนุมไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงของสังคมหรือปัญหาของผู้เข้าร่วม มวลชนจึงจำเป็นต้องใช้ปัญญาให้มากเข้าไว้

ตัวอย่างที่ชวนให้ถกเถียงก็คือการให้คำอธิบายว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เพราะถ้าเป็นเผด็จการก็คงเป็นระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จที่ไร้น้ำยาที่สุดในโลก เพราะขนาดถูกด่าอย่างสาดเสียเทเสียจนแทบไม่เหลือความเป็นคนอยู่ แต่รัฐบาลเบ็ดเสร็จที่ว่าก็อุ้มใครไปสักคนไม่ได้

(อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจึงควรสนับสนุนรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยต่อไปนะครับ)

สังคมไทยมีบทเรียนอยู่เป็นจำนวนมากที่ไม่ค่อยได้เรียนรู้ การเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนก็เช่นกันมีบทเรียนที่ยังเป็นบาดแผลอยู่ให้เห็นแม้กระทั่งในเวลาปัจจุบัน ผู้ที่มีความกระตือรือร้นทั้งหลายอยากเข้าร่วมก็เป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นเสรีภาพของแต่ละคนครับ แต่นอกจากการสั่งสมความเกลียดชังโดยบรรยากาศทางสังคมที่เกิดขึ้นแล้ว พึงตระหนักและเจริญสติอยู่ตลอดเวลา และอย่าฟังแกนนำโดยไม่รับรู้ข้อมูลอื่นใดในยุคที่ข้อมูลไหลผ่านไปทั่ว หรืออย่ากระโดดเข้าไปร่วมกับการเคลื่อนไหวที่ข้ามเกินกว่าเส้นของระบอบประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรืออื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ร่วมกันในระยะยาว

การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในด้านหนึ่งกำลังสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของสังคมในการกำกับพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง นี่เป็นหัวใจสำคัญพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยมิใช่หรือ ที่จะช่วยกันสร้างอำนาจของสังคมให้กว้างขวางมากขึ้นเหนือกว่าสถาบันการเมืองต่างๆ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ถือเป็นโอกาสอันดีต่อทำให้การเคลื่อนไหวดำเนินไปอย่าง “อารยะ” และเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลในการถกเถียงมากกว่าถ้อยคำอันเมามันในอารมณ์ที่ไม่สนใจต่อหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ความพยายามในการเรียกหา จปร. อำนาจนอกระบบ การตั้งศาลประชาชน (ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเย็นวันที่ 11 พฤศจิกายน) เป็นต้น ล้วนแต่เป็นการกระทำที่กำลังจะบ่อนทำลายโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยของไทยที่อ่อนแออยู่ให้ย่ำแย่ไปมากขึ้น การให้ประชาชนในที่ชุมนุมตัดสินก็รู้กันอยู่แล้วว่าต้องเป็นไปตามทิศทางการสร้างอารมณ์ของแกนนำ ใครไม่เห็นด้วยจะกล้ายกมือหรือแสดงความเห็นค้านได้หรือ แล้วถ้ามีการจัดตั้งศาลประชาชนขึ้นในหมู่ผู้ต้องสูญเสียญาติพี่น้องไปเพื่อพิจารณาข้อหาของคุณอภิสิทธิ์ กับคุณสุเทพ และมีมติว่าทั้งสองคนเป็นฆาตกร จะยึดเอามติของศาลประชาชนอันนี้หรือไม่

ประชาชนที่มีสติและปัญญาจะทำให้การเคลื่อนไหวแบบไร้สติ ไร้หลักการและมุ่งเน้นประโยชน์ทางการเมืองของตนเองเป็นที่ตั้งมีความอ่อนแอลง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net