กานดา นาคน้อย: ภาษีและศีลธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งในสภาผู้แทนราษฎรทำให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในวงกว้าง ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยหลายเหตุผล ที่สำคัญที่สุดดิฉันคิดว่าทั้งอดีตนายกฯทักษิณและอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐฆาตกรรมประชาชน กล่าวคือ กรณีฆาตกรรมหมู่ที่ตากใบในปี 2547 และกรณีฆาตกรรมหมู่ที่ราชประสงค์ในปี 2553 เนื่องจากการฆาตกรรมเป็นอาชญากรรมหนักตามกฎหมายอาญาในอารยประเทศ

แต่คนจำนวนมากต่อต้านด้วยประเด็นที่ว่าอดีตนายกฯทักษิณจะหลุดจากคดีทุจริต ดิฉันเห็นด้วยว่าการคอร์รัปชันผลาญภาษีเป็นอาชญากรรม แต่ดิฉันคิดว่าระบบความคิดที่ว่าคอร์รัปชันผลาญภาษีเป็นอาชญากรรมที่สาหัสกว่าการฆาตกรรมเป็นระบบความคิดที่อำมหิตและป่าเถื่อน ดิฉันขอแยกคนกลุ่มนี้ด้วยสถานะผู้เสียภาษีดังต่อไปนี้

1) นักเรียนนักศึกษาที่ยังไม่มีประสบการณ์จ่ายภาษีเงินได้ จ่ายแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตผ่านการบริโภคสินค้าและบริการ
2) ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แน่นอนว่ากลุ่มนี้ก็จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตผ่านการบริโภคสินค้าบริการด้วยเช่นกัน
3) ผู้เสียภาษีธุรกิจ
4) องค์กรที่ได้รับการยกเว้นภาษีและได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณรัฐ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่อธิการบดีประกาศต่อต้านในนามของมหาวิทยาลัย

เมื่ออ้างอิงด้วยภาระภาษี กลุ่มที่ 2 และ 3 คือกลุ่มที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า“โดนโกงภาษี” แม้นักเรียนนักศึกษาจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตผ่านการบริโภค ผู้แบกภาระภาษีให้นักเรียนนักศึกษาคือผู้ปกครอง

โปรดสังเกตว่าไม่ชัดเจนว่าดาราและศิลปินจัดอยู่ในประเภทไหน ถ้าดาราและศิลปินจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีด้วยอัตราเดียวกันกับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็พูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่า “โดนโกงภาษี” ส่วนกลุ่มที่ 4 ได้ประโยชน์ในฐานะผู้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณรัฐ ไม่สามารถอ้างอิงว่า “โดนโกงภาษี” ดังนั้นกลุ่มนี้จึงหันไปอ้างอิงว่าต่อต้านร่างพ.ร.บ.เพื่อจรรโลงคุณธรรม และจริยธรรมของสังคมไทย
 

คุณธรรมและจริยธรรมของสังคมไทย
ก่อนสยามประเทศจะมีนักการเมือง อาชีพขุนนาง ขุนศึกและพ่อค้าไม่รู้จักการคอร์รัปชันผลาญภาษีจนกระทั่งนักการเมืองถือกำเนิดเมื่อปี 2475 อย่างนั้นหรือ? สังคมไทยไม่ได้เพิ่งศีลธรรมตกต่ำหลังปี 2475 ที่จริงการคอร์รัปชันผลาญภาษีอยู่ใน DNA ของวัฒนธรรมไทย

เราปฏิเสธได้หรือว่าเครือญาติหรือแม้แต่ตัวเราเองไม่เคยติดสินบนตำรวจ ไม่เคยจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ ไม่เคยกินเปอร์เซ็นต์การจัดซื้อหรือสร้างตึกด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการหรืออธิบดีหรือปลัดกระทรวง ไม่เคยไปสัมมนาที่บริษัทยาออกค่าใช้จ่ายให้ ไม่เคยนั่งรถประจำตำแหน่งโก้หรู ไม่เคยใช้น้ำมันฟรี ไม่เคยได้ตั๋วเครื่องบินฟรี ไม่เคยใช้บ้านหลวง ไม่เคยมีทหารร้บใช้ ไม่เคยหนีภาษี ฯลฯ

นักการเมืองทุจริตนั้นมีจริง แต่มีอีกมากมายหลายอาชีพที่คอร์รัปชันผลาญภาษีไม่ต่างจากนักการเมืองหรือยิ่งกว่านักการเมือง แล้วทำไมคนจำนวนมากถึงมองไม่เห็น? ทำไมมาตรฐานศีลธรรมของคนจำนวนมากเห็นว่าการทุจริตเลวกว่าฆาตกรรม?

ถ้าคุณเห็นว่านักการเมืองเลวกว่าฆาตกรด้วยเหตุผลที่ว่านักการเมืองโกงภาษีที่คุณจ่าย จงยอมรับเสียเถิดว่าคุณเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านักการเมืองที่คุณประณาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท