สัมภาษณ์: ธนพร ศรียากูล - พรรคของคนสามัญที่ยืนยันการแก้ ม.112

ในช่วงกระแสที่การเมืองร้อนแรง ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทำให้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งผิดหวังและอาจมองหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ธนพร ศรียากูล หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 109 อดีตรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี ผู้มีประสบการณ์ทำงานการเมืองใกล้ชิดกับ สมศักดิ์ เทพสุทิน และ พรทิวา นาคาศัย ตังแต่ปี 2544 จนถูกตัดสิทธิในปี 2551

ระหว่างการถูกตัดสิทธิ เขาเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และนายกสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาประกาศจัดตั้งพรรคซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน พร้อมประกาศชูนโยบาย แก้ไขมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นโยบายจัดตั้งเขตปกครองพิเศษสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีกำไรในตลาดหุ้น ประชาไทได้คุยกับธนพรถึงพรรคที่ฟังดูเหมือนความฝันพรรคนี้ ที่เขาบอกว่า แม้ไม่มีทุนเงิน แต่มีทุนทางปัญญา

 

000

ประชาไท: พรรคที่จะตั้งนี้มีชื่อแล้วหรือยัง และชื่อว่าอะไร?

ธนพร: กำลังอยู่ในระหว่างการตั้งชื่อพรรค ชื่อพรรคจะเกี่ยวกับคนในสังคมที่เป็นคนธรรมดา ที่ทุกคนไม่มีใครดีไปกว่ากัน และจะสะท้อนหลักการของพรรคที่ว่า สังคมไทยต้องอยู่ในกติกาสากล อาจใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Common People Party และมีตัวย่อว่า CPP (พรรคคนสามัญ – แปลโดยประชาไท)

 

ทำไมถึงต้องเป็นคนธรรมดา

ธนพร: การมองว่าใครเหนือกว่า หรือด้อยกว่า ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันในสังคม การมองว่ามีใครสูงกว่า หรือต่ำกว่า นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ซึ่งนับวันประเด็นนี้ยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย

 

ทำไมถึงชูนโยบายแก้มาตรา 112?

ธนพร: ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 จะเห็นสถิติคดี 112 ว่ามีจำนวนคดีเพิ่มสูงขึ้น เพราะกฎหมายนี้ถูกนำไปใช้ทางการเมือง โดยที่ตัวสถาบันไม่สามารถโต้ตอบอะไรได้ เรามักจะเห็นการอ้างสถาบัน เมื่อประชาชนจะใช้สิทธิเสรีภาพ เช่น การอ้างเรื่องเขตพระราชฐาน ทำให้คนรู้สึกว่า มีความไม่ใช่คนธรรมดาเกิดขึ้น คือนำเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือในการจำกัดความเป็นคนธรรมดา ซึ่งเรามองว่า ถ้าปล่อยภาวะนี้ไว้เรื่อยๆ จะเกิดเป็นปัญหาเรื่อยรัง เราทุกคนรู้กันดีว่า สถาบันอยู่ในสถานะที่ทุกคนเคารพสักการะ แต่สถาบันไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบโต้อะไรได้ การปล่อยให้ฝ่ายใดก็ตามหยิบยืมเรื่องสถาบันมาใช้ย่อมเป็นอันตราย

 

แนวทางการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคนั้นเป็นอย่างไร

ธนพร: การยกเลิกมาตรา 112 ไปเลยก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ไข อีกทางเลือกหนึ่งคือการสร้างเกณฑ์ในการฟ้องคดีให้ชัดขึ้น เช่น ให้มีองค์กรเฉพาะ เช่น สำนักพระราชวัง มาทำหน้าที่แจ้งความเท่านั้น แทนที่จะเป็นใครก็ได้แจ้งความได้ นอกจากนี้ควรแยกความผิดต่อสถาบันออกจากความผิดต่อรัฐให้มันชัดเจน และแยกความมั่นคงของสถาบันออกจากความมั่นคงของรัฐ

หลังจากนั้นความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์อาจถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ในฐานะที่กษัตริย์นั้นเป็นประมุขของประเทศ ก็อาจมีบทลงโทษรุนแรงกว่าการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

 

กลุ่มเป้าหมายของผู้มีสิทธิเลือกตั้งของพรรคคือใคร

ธนพร: สีไหนนั้นไม่สำคัญ เอาเป็นว่า ใครก็ตามที่อยากเห็นประชาธิปไตยแบบสากล อยากให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ อยากให้การเมืองในสภาพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง อยากให้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อยากให้มีพระราชบัญญัติบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อให้การรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรเป็นไปอย่างโปร่งใส อยากให้ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว อยากให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพื่อให้ทุกฝ่ายทำธุรกิจและแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ไม่มีการผูกขาดโดยกลุ่มทุน

 

ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องร้อนแรงในสังคมไทยมาก คิดว่าการชูนโยบายนี้จะเป็นการจำกัดฐานเสียงหรือแนวร่วมของพรรคหรือไม่

ธนพร: เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 112 เป็นสิ่งแรกที่เราเห็นว่าควรต้องได้รับการแก้ไข และเป็นนโยบายที่เราจะรณรงค์เป็นเรื่องแรก การแก้ไขมาตรา 112 เป็นสิ่งที่สะท้อนความคิดหลักของพรรคเรื่องคนธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าใครมีความเห็นไม่สอดคล้องในเรื่องนี้ก็ไม่เป็นไร ผมไม่สนใจ อย่างน้อยพรรคนี้ผมก็ภูมิใจได้ว่า เริ่มเอา 112 มาพูดกันบนโต๊ะ บนเวทีเป็นพรรคแรก ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถูกพูดโดยนักวิชาการข้างเวทีมาเป็นเวลานาน แต่นักการเมืองไทยที่ผ่านมาทำราวกับว่า เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น

 

หลายครั้งที่ผู้ต้องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกล้มเจ้า คุณกลัวจะโดนครหาเช่นนั้นบ้างหรือไม่

ธนพร: จะกล่าวหาก็กล่าวหาไป การกระทำของเราจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งผมไม่เห็นว่า การแก้ไขมาตรา 112 จะเกี่ยวกับการล้มสถาบันตรงไหน เพราะสถาบันกษัตริย์ก็อยู่คู่กับประเทศไทยมานานแล้วและคงจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

 

พรรคนี้มีจุดยืนอย่างไรต่อการนิรโทษกรรม

ธนพร: เราเห็นว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร และนำทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการการพิสูจน์ความจริงตามปกติ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ส่วนทักษิณนั้นก็เข้าข่ายมาตรา 309 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องการล้างผิดให้ทักษิณ แต่เราต้องการให้ทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ เป็นการ set zero (เริ่มนับศูนย์ใหม่) ให้ทุกฝ่ายได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียบในกระบวนการยุติธรรม

 

แล้วนโยบายเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ ที่ประกาศว่า จะปฏิรูปการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษนั้นเป็นอย่างไร

ธนพร: ก็พิสูจน์มาเป็น 10 ปีแล้วว่า การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้แบบเดิมๆ นั้นไม่ทำให้ดีขึ้น มีแต่สูญเสีย นโยบายของเราคือการยอมรับความแตกต่าง สมัครใจที่จะอยู่ด้วยกัน จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ซึ่งจะขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ให้การจัดการแบ่งสรรทรัพยากรต่างๆ เป็นเรื่องของคนข้างใน แต่เรื่องใหญ่ๆ เช่นการต่างประเทศ การทหารเป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง ถ้าให้เปรียบก็คล้ายกับเกาะฮ่องกงของประเทศจีน

 

คุณคิดจะตั้งพรรคมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เลือกจังหวะที่มีความแตกแยกจาก ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมหรือเปล่า

ธนพร: ผมคิดตั้งพรรคมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว ผมมองว่า มันเป็นเรื่องความลงตัวของเวลามากกว่า

 

คุณคิดว่า พรรคเล็กอย่างคุณจะสามารถสู้กับพรรคใหญ่ที่มีทุนเยอะกว่ามากได้อย่างไร

ธนพร: พรรคเรามีทุนทางปัญญา ซึ่งก็นำมาซึ่งการสนับสนุนได้เหมือนกัน ผมไม่คิดว่าเงินเป็นสิ่งจำเป็นเท่าปัญญา ผมคิดว่า จุดเด่นของพรรคตอนนี้คือ ความกล้าที่จะชูนโยบายต่างจากพรรคอื่น เป็นทุนทางปัญญาอย่างแท้จริง 

 

ที่มาของภาพประกอบหน้าแรก: คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท