ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองสถานการณ์ค้านนิรโทษ ชี้ยังอยู่ในแนวสันติวิธี

 

7 พ.ย.56 ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในแนวคิดนักสันติวิธี กับภาวะการณ์ประท้วงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย ในรายการเช้าทันโลก ซึ่งดำเนินรายการโดย สังกมา สารวัตร และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ทาง FM 96.5 MHz เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา

มีสาระดังนี้

ผู้ดำเนินรายการ : สถานการณ์แบบนี้ในมุมมองนักสันติวิธี มองว่าน่าเป็นห่วงอยู่ไหม ถึงแม้จะบอกว่าถอย แต่การชุมนุมยังอยู่ และนักสันติวิธีเวลาพูดเรื่องสันติวิธีมักจะโดนเล่นงานก่อน สถานการณ์แบบนี้เราควรมองอย่างไรดี ?

ชัยวัฒน์ : ข้อแรก เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบน้ำนิ่ง แต่เป็นระบอบของทะเลที่เหมือนมีคลื่นมีลม หน้าที่ของคนที่อยู่กับระบอบประชาธิปไตยก็เหมือนคนที่นั่งอยู่ในเรือ จะต้องขับเคลื่อนเรือไปท่ามกลางคลื่นลมนี้ ที่จะหวังว่ามันเรียบสงบก็มีบ้างเป็นบางครั้ง แต่ไม่ใช่เสมอไป

ข้อสอง สิ่งที่เห็นอยู่ในตอนนี้ จะเรียกว่ามองในด้านดีก็ได้ นี่เป็นการทำงานของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เราเห็น ซึ่งประกอบด้วยส่วนหนึ่งที่อยู่ในสภา อีกส่วนหนึ่งอยู่นอกสภา บางคนบอกว่าประชาธิปไตยต้องทำงานอยู่ในสภาเท่านั้น ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่ามันประกอบกัน

พอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านสภาไปด้วยเสียงล้นหลาม เพราะพรรคเพื่อไทยคุมอำนาจอยู่ สิ่งที่ตามมาก็คือมันต้องวิ่งไปตามกระบวนการของมัน ก็วิ่งไปที่วุฒิสภา ขณะที่วิ่งไปผู้คนก็ค้านกันทั่วเมือง มีคนบอกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ในที่สุดแล้วก็สร้างความปรองดองได้พอสมควร เพราะทำให้สีแดงสีเหลืองหลากสีประสานร่วมมือกันเต็มที่ที่จะไม่เอามัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการทำงานในระบบแบบหนึ่ง เพราะว่าหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นหน้าที่ในการยับยั้งอันนี้ เราไม่รู้ว่ามันจะยับยั้งไหม ท่านประธานให้สัมภาษณ์ก็จริง แต่มันก็ต้องพิจารณาในวันที่ 11 พ.ย. ถ้ายับยั้งก็แปลว่าสิ่งที่เสนอโดยพรรคการเมืองเสียงข้างมากนี่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ดังใจเสมอไป อย่างน้อยมันก็ต้องหยุดไปตามระบอบ ถึงแม้ไม่หยุด แต่ 180 วันอะไรก็เกิดได้ตั้งเยอะแยะ เพราะฉะนั้นเสียงคัดค้านทั่วไปที่มีอยู่ การรวมกลุ่มอะไรกันนี่ ผมก็คิดว่ามันดำเนินกันไปตามระบอบปกติประชาธิปไตย

การชุมนุมประท้วงแน่นอนมันมีความติดขัดอยู่บ้าง เช่น รถติด มีความเดือดร้อนบ้างนิดหน่อย นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบ ตราบใดที่การต่อสู้แบบนี้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย ทั้งฝ่ายที่ค้านและฝ่ายรัฐบาลเองก็เตรียมที่จะไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เพราะเท่าที่ทราบก็มีการเตรียมตำรวจ เตรียมจัดการกับเรื่องนี้อย่างเข้มข้นพอสมควร

อาจมีอีกมุมมองหนึ่งที่มองว่าประชาธิปไตยไทยมีปัญหา วันนี้สื่อต่างประเทศทั้งฟอร์บส์และวอลล์สตรีทเจอร์นัลบอกว่าระบอบประชาธิปไตยผู้แทนของไทยดูเหมือนจะไม่ได้ผล เขามองว่ามันกลับเข้ามาวงจรความรุนแรงอีกหรือเปล่า จะมองลบแบบนั้นไหม

ผมไม่ได้เห็นอย่างนั้น คือระบอบประชาธิปไตยที่ไหนไหนก็ไม่ได้ทำงานด้วยตัวแทนเท่านั้น มันไม่ใช่ว่าพอมีตัวแทนแล้วตัวแทนไม่ต้องฟังอะไรเลย ฐานของการเลือกตั้งให้ความชอบธรรมของการมีตัวแทน แต่ว่าความชอบธรรมนี้ขึ้นและลงได้ ขึ้นอยู่กับว่าตัวแทนจะทำอะไร สมติตัวแทนทำสิ่งบางอย่างที่สังคมการเมืองเขาไม่เห็นด้วยเขาก็มีสิทธิที่จะออกมาประท้วงเพราะอีกด้านหนึ่งของประชาธิปไตยคือสิทธิเสรีภาพในการคัดค้านของประชาชนธรรมดา ของพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน มันก็มีการรณรงค์คัดค้าน พ.ร.บ.นี้ ไม่ว่าจะเป็นการล่ารายชื่อ แสดงการชุมนุม แสดงตัวตน ของพวกนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย

ถ้าเรามองในมุมที่เห็นว่าเป็นโอกาสบ้าง เพราะอย่างน้อยพรรคที่มีเสียงข้างมากเริ่มฟังเสียประชาชน เราดูอย่างนี้ได้ไหมว่าเป็นพัฒนาการอันหนึ่งของประชาธิปไตยไทย

พรรคการเมือง นักการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรเสียก็ต้องฟังเสียงที่มาจากภายนอก มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีดีทำอะไรตามใจตลอดไป ผมคิดว่าข้อดีของสิ่งที่เกิดขึ้นคราวนี้ก็คือการต่อสู้โดยสันติวิธีจากการรณรงค์ต่อต้านกฏหมายฉบับนี้จากทุกภาคฝ่าย ทำให้เห็นว่าการเมืองในสภาแม้จะมีอำนาจล้นพ้นอย่างไรก็มีขอบเขต และมีเส้นบางเส้นที่ข้ามไม่ได้ ถ้าดึงดันข้ามไปรัฐบาลก็อาจอยู่ไม่ได้ นี่แปลว่าเขาจะไม่ทำอะไรอีก ก็เปล่า ปัญหาก็ยังมีอยู่อีกรอบตัว เรายังมีเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญอีก มาตรา 68 มาตรา 309 ก็รออยู่ ก็เป็นกระบวนการในการต่อสู้กันไป อย่างที่ผมเรียนว่าเราอยู่ในระบอบซึ่งมีคลื่นมีลม นั่งเรือบางที่มันก็ต้องคลื่นไส้บ้าง

ในฐานประชาชนหรือภาคประชาสัมคมต่างๆ ที่อยู่ในสังคมไทยเราควรเรียนรู้อะไร จากเหตุการณ์ครั้งนี้เพื่อที่จะก้าวต่อ เพื่อให้เราอยู่กับคลื่นลมได้ ?

ข้อแรก ผมคิดว่าความเข้าใจในความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทย ไม่ควรจะหยุดอยู่แค่ให้เรื่องต่างๆ ดำเนินการอยู่ในกรอบของสถาบันอย่างเป็นทางการเท่านั้น มันอยู่บนที่อื่นก็ได้ ผมคิดว่าข้อที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือการที่พรรคประชาธิปัตย์กระโดดลงมานำการประท้วงของเขา ข้อดีในทางความคิดผมคือว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคซึ่งอยู่กับระบอบ อยู่กับสถาบันการเมืองเคร่งครัดมาก เข้าใจว่าไม่ค่อยจะเห็นดีเห็นงามกับการต่อสู้บนถนนเท่าไร การที่พรรคประชาธิปัตย์ลงมาบนถนนแสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์เห็นจุดอ่อนของระบบการทำงานในสถาบันเหมือนกัน ต่อไปข้างหน้าเขาก็จะเห็นว่ามันมีช่องทางอื่นในการทำงานเหมือนกัน แล้วอาจจะเห็นอกเห็นใจคนที่เดินทางมาชุมนุมในอนาคต เพราะว่าในอดีตคนยากคนจนคนเดือดร้อนเขาก็ชุมนุมบนถนนเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นสถานการหนี่ง

อันที่สอง รัฐบาลเองก็วางแผนป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น มีการแบ่งโซนมีการใช้กฏหมายในจังหวะเวลาต่างๆ มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเขาทำการอยู่ตลอด มีการบอกว่าห้ามใช้อาวุธอย่างไร นี่เป็นการเตรียมตัวปกติ ประเทศอื่นเขาก็ทำกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น ฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็ประกาศจะใช้สันติวิธีเป็นแนวทาง ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็ยกระดับ ยกระดับก็เป็นอารยะขัดขืน ก็อยู่ในกรอบของสันติวิธี ถ้าบ้านของเราหาวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้สันติวิธีทั้ง 2 ฝ่าย ผมคิดว่าในอนาคตมันคงจะดีขึ้น ทั้งหมดนี่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะหมด เพราะความขัดแย้งมันก็มีอยู่แน่ระหว่างฝ่ายต่างๆ

จุดทดสอบสังคมไทยอยู่ที่ว่าสังคมไทยเผชิญกับความขัดแย้งอย่างไรที่จะไม่ตกหล่มลงไปในหล่มของการรัฐประหาร หล่มอย่างการเอาหทารมาปราบปรามประชาชนกลางถนน อันนั้นเป็นปัญหาที่อันตรายยิ่งกว่าเยอะเลย

แต่จุดที่ห่วงกันอีกมุมหนึ่ง นักการเมืองอาจจะฮาร์ดคอหน่อย บอกว่าถ้าจะใช้ท้องถนนเขาก็จะเกณฑ์คนมาเหมือนกัน ทำอย่างไรที่เราจะกันเรื่องของประชาชนกับประชาชนปะทะกัน ?

อันนั้นก็จริง เราอยู่กันมาพอสมควร เราก็เห็นอยู่ว่ามวลชนเห็นค้านเห็นแยกกัน หมายถึงการจัดการพื้นที่ก็ต้องจัดการให้ดีขึ้น รัฐบาลเองก็ต้องเข้าใจให้ได้ว่ารัฐบาลมีหน้าที่อะไร ข้อดีตอนนี้ก็คือว่ามวลชนเสื้อแดงตอนนี้กับรัฐบาลก็อาจไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้รัฐบาลกลับมาอยู่ตรงกลางมากขึ้นในทางการเมือง หน้าที่ของรัฐบาลก็คือกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดรัฐบาลก็เสียหายอยู่ดี รัฐบาลมีอำนาจได้ขนาดนี้เมื่อใดที่เกิดความรุนแรงบนท้องถนนไม่ว่าโดยอะไร ถ้าตัวเองเป็นคนทำก็แน่นอนยิ่งเสียหายมากว่าเดิม แต่ถ้าตัวเองปล่อยให้เกิดความรับผิดชอบก็ตามมาอยู่ดี เพราะฉะนั้นคงเป็นหน้าที่ที่จะป้องกันออกแบบพื้นที่การชุมนุมประท้วง แยกทั้ง 2 ฝ่ายออกจากกัน ทั้งหมดที่ผมพูดไม่ได้หมายความว่าทำได้ 100% ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงจะไม่มี มีแน่ แต่นั่นก็เป็นปัญหาที่จะต้องอยู่กับมัน

เพราะเราเห็นระดับสากล เจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดการพื้นที่ให้มีคนปลอดภัยทุกฝ่าย

เหตุผลง่ายๆ ประการหนึ่งสำหรับคนที่ศึกษาการดูแลเวลาที่มีการชุมนุมประท้วง คือเวลาจัดให้มาเผชิญหน้ากันความเครียดโอกาสในการปะทะมันขึ้นสูง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่เองถ้ามีช่องว่างมีพื้นที่ที่จัดไว้ดีพอสมควร แล้วมีระบบของการเจรจาพอสมควร สังคมไทยการประท้วงก็พัฒนาไปพอสมควร ถ้าเราดูหลายกลุ่มอย่างกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงเขาก็มีวิธีการประท้วงเป็นสันติวิธีได้รับความสนใจแล้วก็ทำให้คนมาร่วมพอสมควร คุณสุเทพกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช้นกหวีดก็น่าสนใจไปอีกทางก็เป่ากันระงมไป

อีกอย่างที่น่าสนใจมากคือตอนนี้การประท้วงคราวนี้ไม่ได้เป็นผลของคนจำนวนมากเท่าไรในแง่ของคนบนถนน แต่มันมีกระแสเต็มไปหมด จำนวนคนที่อยู่อุรุพงษ์ที่สามเสนถามว่าเยอะไหมก็พอสมควร แต่ไม่ได้เยอะมาก แต่ขณะนี้ทำให้เห็นว่าระบบมันเซ็นซีทีฟ ไวต่อความเปลี่ยนแปลงพอสมควร ไม่ต้องถึงกับใช้คนเป็นแสนลงมาถนนก็รู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมว่านี่ก็น่าสนใจอีก

ในมุมหนึงก็มีคนวิเคราะห์เหมือนกันว่า เป็นเพราะว่าในฝ่ายเดียวกันเองเริ่มตรวจสอบเริ่มวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้น อย่างฝ่ายที่เป็นคนเสื้อแดง คนที่เห็นใจเสื้อแดง นักวิชาการที่เห็นใจเสื้อแดงเริ่มมีการตรวจสอบมากขึ้น จากเดิมที่มักจะปกป้องรัฐบาลมากว่า ประเด็นนี้ก็อาจจะนำไปสู่การเติบโตขึ้นของประชาธิปไตยได้ไหม ?

มี 2 เรื่อง เวลาเราเห็นพรรคการเมือง สถาบันการเมืองอย่างทหาร มันมีคนจำนวนหนึ่งเห็นพรรคการเมือง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เห็นมันเป็นแท่งๆ ผมไม่เคยเห็นมันเป็นแท่งๆ เลย ผมเห็นว่าข้างในมันมีกลุ่มมีก้อนมีความแตกต่างหลากหลายเต็มไปหมด แต่ว่ามันจะแสดงออกมาชัดเจนแค่ไหน หรือไม่ ในความขัดแย้งบางกรณีมันก็ช่วยให้เห็นความแตกต่างหลากหลายซึ่งมีอยู่ข้างใน ถามว่านี่เป็นเรื่องปกติไหม นี่ก็เป็นเรื่องปกติ และยิ่งมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นการตรวจสอบข้างในเองก็มีประโยชน์มากขึ้น เสียงที่จะวิ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งที่แรงสุดซอยไม่เลี้ยวไม่เหลียวหลังฟังใครเลยมันก็อาจจะมีโอกาสลดน้อยถอยลง เป็นอาการปกติของการปรับตัวของสถาบัน

ในส่วนของสื่อมวลชน อาจารย์ห่วงไหมกับการใช้ถ้อยคำต่างๆที่อาจจะ ไปเพิ่มอารมณ์ประชาชน ?

น่าสนใจ ความขัดแย้งในแต่ละเรื่องบ้านเรามันยากด้วยหลายเหตุผล มันผสมกันหลายเรื่อง อย่างคนที่คัดค้านคราวนี้ คนที่ออกมาเป็นกลุ่มเป็นก้อนอย่างตรงอุรุพงษ์ สามเสน ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็มีเป้าหมายของตัวเอง บางคนก็ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการมี ไม่มี พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่อยู่ที่การล้มหรือไม่ล้มรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ อันนั้นก็หมายความว่าก็คงไม่จบ และความขัดแย้งพื้นฐานในสังคมไทยมันมีอยู่นานแล้ว มันก็ไม่ใช่ว่าจะจบง่ายๆ เราก็ต้องหาวิธีอยู่กับความขัดแย้ง จะบอกให้มันหายไปในวันนี้พรุ่งนี้มันคงจะยาก แล้วเมื่อมันทำความรุนแรงไปตั้งแต่ปี 53 มีเหตุผลมีอะไรหลายๆ อยู่ คนก็จะมีความอึดอัดคับข้องกับสิ่งเหล่านี้พอหาวิธีแก้แบบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม บีบบังคับให้ผ่านสภาภายใน 3 วาระ ไปถึงตี 4 ในเวลารวดเร็ว ทำแบบนี้แทนที่จะเกิดความปรองดองซึ่งกันและกันมันก็ไม่เกิดเพราะมันบีบให้เกิดไม่ได้ไง

ความปรองดองมันประหลาด บังคับให้มันเกิดมันไม่เกิด มันกลายเป็นความขัดแย้งเข้มข้นมากขึ้น สื่อก็จำเป็นต้องทำงานในสถานการณ์แบบนี้ คือระแวดระวัง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจด้วยว่าตัวเองทำงานในบริบทแบบไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท