Skip to main content
sharethis

ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังคงขับเคลื่อนโลกให้ก้าวสู่อนาคตที่ไม่หยุดนิ่ง ท่ามกลางความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “การพัฒนาธุรกิจสีเขียว(Green Business)”จึงต้องอาศัยการขับเคลื่อนในทุกมิติ เพื่อให้ประชากรโลกตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและสมดุล  ส่วนหนึ่งคือการผลิต “สินค้าเฉดเขียว”ที่จะสามารถแทรกซึมเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แนวคิดการตลาดสีเขียว (Green Marketing) หรือการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการสร้างจิตสำนึกทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ  โดยการตลาดสีเขียวเน้นให้ผู้บริโภคคำนึงถึงคุณค่าในการเลือกใช้สินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  และธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคมในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม  ดังนั้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สีเขียวติดตลาดได้ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้อง Match Up คุณลักษณะพื้นฐานของสินค้าทั้งคุณภาพ ราคา ประสิทธิภาพการใช้งาน และความสะดวกในการใช้งานกับสินค้าทั่วไปที่เป็นคู่แข่ง คือเป็นสินค้าที่ต้องการใช้ คุณภาพและราคาเท่ากับสินค้าในท้องตลาดแต่ให้คุณค่ามากกว่า

สำหรับผู้บริโภคในตลาดสีเขียวจากแนวโน้มทางด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ True Blue Greens, Sprouts,Grousers และ Basic Brown   ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงลักษณะของผู้บริโภคในการผลิตสินค้าและทำการตลาดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคได้  โดยกลยุทธ์ในการตีตลาดกลุ่มผู้บริโภคได้นั้นจะต้องเริ่มจากการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้บริโภค (รู้เขารู้เรา) การดำเนินงานของบริษัทคู่แข่ง การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค และวัฒนธรรมองค์กร    สิ่งสำคัญเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียวต้องคำนึงประการหนึ่ง คือ “ต้องรู้เขารู้เรา” ใช้งานศึกษาวิจัยเป็นฐานในการพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพดี ราคาเหมาะสม และแข่งขันได้ในตลาด  ด้วยมาตรฐานสินค้าที่ดีและปลอดภัย เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนว่ากลุ่มลูกค้าใครก็จะรู้ว่าควรผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผลิตนั้นจะอยู่เฉดเขียวขนาดไหน และรู้ว่าต้องมีแผนกลยุทธทางธุรกิจอย่างไร

ต้องเข้าใจว่าเฉดความเขียวของกลุ่มผู้บริโภคมีตั้งแต่เข้มข้นมากไปจนเข้มข้นน้อย หรือพูดให้ง่ายคือมีทั้งกลุ่มที่ตระหนักมากและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขนาดที่ว่าสินค้าที่เขาบริโภคนั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ขณะที่บางคนก็ไม่ได้เคร่งขนาดนั้นแต่ก็ไม่ต้องการเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมให้รุนแรงไปกว่าเดิมก็ลดระดับความเข้มข้นของการใช้สินค้าที่อาจจะไม่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอนการผลิตก็ได้  ส่วนคนทั่ว ๆ ไปการตัดสินใจซื้อสินค้าจะดูปัจจัยเรื่อง คุณภาพ ราคา ความสะดวกสบายในการเข้าถึงสินค้า เพราะฉะนั้นธุรกิจที่กลุ่มลูกค้ายังเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มกลาง ๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนในนวัตกรรมขั้นสูงมากนัก แต่ปรับปรุงด้วยการเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตบางส่วนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  ขณะเดียวกันในด้านผู้บริโภค บางครั้งตัวผู้บริโภคก็อยากจะมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมกับสังคมแต่ก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นผู้บริโภคคนเดียวจะช่วยอะไรได้  ตรงส่วนนี้ในประเทศไทยจึงนำไปสู่การคิดค้นและนำ โครงการฉลากเขียวมาใช้ เป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่าจะปรับเปลี่ยนการบริโภคอย่างไรจึงจะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้บ้าง

ขณะเดียวกันในความเห็นของ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ คระเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า สินค้าในตลาดสีเขียวมีผู้บริโภค เป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภค 4 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มเขียวทุกเรื่องเขียวทุกมิติ 2. เขียวสวยสุขคือสนใจเรื่องสุขภาพเป็นหลัก 3. เขียวประหยัด ซึ่งกลุ่มนี้เราก็เจาะตลาดได้ด้วยความประหยัด 4. เขียวอินเทรนด์ คือไปตามกระแส  เมื่อพิจารณาทั้ง 4 กลุ่มนี้จะพบว่าคุณค่าที่เราจะนำเสนอนั้นสามารถเลือกได้ว่าจะนำเสนอในลักษณะใดรูปแบบใด จึงเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในตลาดสีเขียวนี้   สำหรับเทรนด์ผู้บริโภคของไทยนั้น เทรนด์เขียวสวยสุขก็จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ ขณะที่กลุ่มเขียวประหยัดก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในสังคมที่ใช้คุณค่าเป็นตัวนำก็สามารถเลื่อนไหลและสร้างโอกาสให้กับกลุ่มสินค้าเฉดเขียวได้มากกว่าสังคมที่ใช้อุดมคติหรืออุดมการณ์เป็นตัวนำ

สำหรับกรณีโครงการสินค้าฉลากเขียว นายวิเชียร เจษฎากานต์ กรรมการบริษัท Pig Family จำกัด และผู้จัดการโครงการ Clean Development Mechanism เพื่อลดภาวะแก๊สเรือนกระจก ให้ข้อมูลว่า มีงานวิจัยที่ระบุว่า ถ้าใช้สินค้าฉลากเขียวจะช่วยลดงบประมาณในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จากการใช้สินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะ การบริโภคพลังงาน การรีไซเคิล เป็นต้น ลดลงได้เป็นจำนวนมหาศาล ตลาดสีเขียวเป็นตลาดที่ทุกคนเข้าถึงได้  ปัจจุบันเป็นกระแสที่ทั้งโลกกำลังเดินไปในแนวทางเดียวกัน และประเทศไทยไม่ควรพลาดโอกาสนี้

อย่างไรก็ตามวงเสวนา “โอกาสและแนวทางเพื่อการพัฒนาธุรกิจสีเขียวในประเทศไทย” ซึ่งทีดีอาร์ไอจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เห็นตรงกันว่า ยุทธศาสตร์ธุรกิจสีเขียวของไทย สามารถกำหนดทิศทางตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้อย่างยั่งยืน โดยหัวใจสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลักแล้วสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าด้วยการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยหลุดจากวังวนที่เรียกว่า“กับดักรายได้ปานกลาง”(Middle Income Trap) ทำให้การขับเคลื่อนให้ธุรกิจสีเขียวดำเนินไปในเชิงรุกมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net