Skip to main content
sharethis

นศ.กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย จัดกิจกรรม “เหยียบคนตายกลับบ้าน ผ่านงานศิลปะ” หน้าพรรคเพื่อไทย ติดรายชื่อคนตายปี 53 ไว้ที่บันได จำลองสถานการณ์ความรุนแรง กลุ่ม B Floor ร่วมแสดงละครด้วย

 
2 พฤศจิกายน 2556 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 13.30 น. นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยได้รวมตัวกันที่หน้าสำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทยเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกแสดงจุดยืนที่กลุ่มมีต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้มีมติแก้ไขเนื้อหาไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556 โดยมีนายรัฐพล ศุภโสภณเป็นตัวแทนกลุ่ม อ่านแถลงการณ์และยื่นจดหมายเปิดผนึกให้นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย
 
จากนั้นกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อนนักศึกษาร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “เหยียบคนตาย กลับบ้าน ผ่านงานศิลปะ” โดยนำชื่อของประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองไปติดที่ขั้นบันไดหน้าสำหนักงานพรรคเพื่อไทย และจำลองภาพประชาชนที่เสียชีวิตจากความรุนแรงดังกล่าวโดยนอนลงกับพื้น ใช้สีขาววาดโครงร่างของผู้เสียชีวิต และใช้สีแดงเทพื้นแทนเลือด
 

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
 
อั้ม เนโกะ นักศึกษาที่มาร่วมจัดกิจกรรมอธิบายว่า ตนและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยต้องการให้กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นี้เตือนพรรคเพื่อไทยว่า คนเสื้อแดงใช้แรงกายและชีวิตต่อสู้ผลักดันเพื่อให้พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล เพื่อให้ช่วยพิทักษ์สิทธิของประชาชน แต่พรรคเพื่อไทยกลับทรยศหักหลังคนเสื้อแดง เหยียบย่ำเลือดของประชาชนเพื่อไปสู่ผลประโยชน์ของชนชั้นนำ โดยผลักดันให้ผู้ที่สั่งการฆ่าประชาชนได้รับการนิรโทษกรรม ซ้ำรอยประวัติศาสตร์และไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจและการเมืองในประเทศไทย การกระทำนี้จึงไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของศัตรูของประชาชนเลย
 
นอกจากนี้อั้ม เนโกะยังกล่าวอีกด้วยว่า สีที่ใช้เทแทนเลือดนั้นล้างออกได้ แต่เลือดของประชาชนที่หลั่งเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยนั้นล้างอย่างก็ไม่ออก
 
ด้านตัวแทนกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยกล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมว่า ต้องการบอกให้พรรคเพื่อไทยรู้ว่า กลุ่มไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยผลักดันให้แกนนำกลุ่มการเมืองและผู้ที่สั่งการฆ่าประชาชนได้รับการนริโทษ เพราะพรรคเพื่อไทยกำลังใช้เสียงของประชาชนทำในสิ่งที่ประชาชนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดลงมติวาระที่ 3 เวลา 04.00 น. นั้นแสดงถึงความไม่จริงใจ ทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง พรรคเพื่อไทยชอบอ้างถึงประชาธิปไตยและเสรีภาพ แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำอยู่ในวันนี้เป็นการตอกย้ำประเพณีให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารและผู้ที่สังการใช้ความรุนแรงกับประชาชนไม่ต้องรับโทษทางกฏหมาย ทำให้สิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยของประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง
 
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อนนักศึกษาจึงจัดแสดงดนตรี ละครเวที และการปราศรัยโดยใช้พื้นที่บนบาทวิถีหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย
 
ตัวแทนจากคณะละคร B Floor กล่าวถึงละครที่เล่นในกิจกรรมนี้ว่า ต้องการสื่อให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยถูกฆ่าตายแล้วตายอีกก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้จะเสียชีวิตไปแล้วก็ยังตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมอยู่ดี
 

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
 
คณะละคร B Floor ริเริ่มขึ้นโดยคณะธีรวัฒน์ มุลวิไล เป็นศิลปะการแสดงแนว physical theatre คือใช้ร่างกายมนุษย์และองค์ประกอบอื่นๆ เช่น แสงและเสียง ในการสื่อความ โดยใช้บทพูดให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย
 
หลังจากนี้กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยระบุว่าจะเคลื่อนไหวโดยร่วมกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ เช่น วันอาทิตย์สีแดง ต่อไปในอนาคต
 
 
 
แถลงการณ์ร่วม กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มวันใหม่
 
รื่อง การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอย
 
ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้มีมติในการประชุมพิจารณาวาระที่สองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2556 ให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติให้มีผลกับการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้ แต่ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งจะทำให้มีผลครอบคลุมไปถึงผู้นำฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารที่มีอำนาจสั่งการสลายการชุมนุม และแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงทุกฝ่ายด้วย และในเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในการประชุมวาระที่สาม เป็นคะแนนเสียงเห็นชอบ 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 314 คน รับร่างพระราชบัญญัติแล้วนั้น
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งยังเป็นการบิดเบือนหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย เพราะในสังคมที่ยึดถือไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ประชาชนย่อมคาดหวังว่าตนจะสามารถแสดงออกและเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้โดยได้รับความคุ้มครองโดยรัฐและกฎหมายจากภยันตรายต่างๆ และผู้ใดที่ประทุษร้ายต่อประชาชนก็ผู้นั้นก็จะต้องได้รับโทษ ถ้าหากว่าการนิรโทษกรรมเปิดช่องให้แกนนำผู้ชุมนุมและผู้มีอำนาจสั่งการของภาครัฐได้หลุดพ้นจากความผิดและข้อกล่าวหาทั้งปวงด้วยแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดที่ต้องมาเหลียวแลต่อความเสียหายของประชาชนอีก คนที่ตายก็ตายเปล่า คนที่เจ็บก็เจ็บฟรี คนที่ยังอยู่ก็ต้องอยู่อย่างหัวหด ไม่กล้ามีปากเสียงเพราะไม่มีหลักประกันว่าตัวเองจะไม่ตายเปล่าหรือเจ็บฟรี สังคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยย่อมไม่อาจยอมรับสภาพเช่นนี้ได้ และยิ่งเมื่อการกระทำดังว่านี้เป็นฝีมือของผู้แทนของประชาชนที่เคยรับปากไว้อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะทวงคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหาย และยังเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจแห่งหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาใช้อย่างบิดเบือนด้วยแล้ว ยิ่งยอมรับไม่ได้
 
กว่าแปดสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้พยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างแห่งระบอบประชาธิปไตยให้ทัดเทียมกับบรรดาประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เรามีทั้งรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีศาลและองค์กรอิสระที่คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากมายเต็มไปหมด มีอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งโดดเด่นอยู่ใจกลางเมืองหลวง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยให้ความสำคัญและพัฒนาขึ้นอย่างจริงจังนั่นคือวัฒนธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุด การปกครองด้วยหลักนิติรัฐ การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชน ประเทศไทยจึงยังคงมีผู้ก่อรัฐประหารที่สามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในแวดวงการเมืองได้ ยังคงมีคนเรียกร้องให้ทหารปกครองประเทศแทนพลเรือน ยังคงมีนักการเมืองที่ลืมคำสัญญาที่ให้กับประชาชนอย่างง่ายดาย ยังคงมีพรรคการเมืองที่เป็นเพียงเครื่องมือพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้นำพรรคเหนือผลประโยชน์ของผู้เลือกตั้งพรรค และยังคงมีการนิรโทษกรรมให้กับแกนนำและผู้สั่งการเพื่อเป็นทางออกสำหรับชนชั้นนำด้วยกันเองโดยไม่เห็นหัวประชาชนผู้เสียหายอยู่ตราบจนทุกวันนี้ วัฒนธรรมประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยขาดไม่ได้ และหนึ่งในวัฒนธรรมที่สังคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยจะต้องคำนึงถึง คือ การไม่ยอมให้ผู้ใดที่บงการให้เกิดการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยและประทุษร้ายต่อประชาชนผู้แสดงออกทางการเมืองสามารถลบล้างความผิดที่ตนมีและโทษที่ตนต้องรับได้
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจึงขอประกาศว่า เราจะไม่ยอมรับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอยฉบับนี้เด็ดขาด ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาหลังจากนี้หยุดยั้งการผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้จงได้ และขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยผู้ริเริ่มการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอยในครั้งนี้ ทบทวนถึงบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้พิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของประชาชน หากมีโอกาสได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอีกครั้งจะต้องไม่กระทำการซ้ำรอยเดิม และยุติความพยายามใดๆ ที่จะนิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุม และผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนอีก
 
ทั้งนี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเคยแสดงจุดยืนต่อการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองไว้ว่า จะต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุมและผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เพราะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการกระทำของมวลชนและผู้ใต้บังคับบัญชาจึงต้องรับผิดชอบสูงสุดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องนิรโทษกรรมให้กับการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 เพราะมาตรานี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง จะต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการโดยตรง จะต้องดำเนินการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเร่งด่วนที่สุด และจะต้องมีมาตรการเยียวยาแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในความเสียหายแก่ทรัพย์สิน อิสรภาพ และทางทำมาหาได้ และในวันนี้เรายังคงยืนยันในจุดยืนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง
 
ขอให้ทุกท่านอย่ามองแต่เพียงว่าเราเรียกในครั้งนี้เพื่อแก้แค้นหรือเป็นการจองล้างจองผลาญอย่างไม่จบสิ้น สิ่งที่เรามุ่งหวังคือการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง และการสร้างบรรทัดฐานแห่งสังคมประชาธิปไตยที่จะไม่ยอมให้ผู้ใดบงการประทุษร้ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด แล้วหาทางนิรโทษกรรมตัวเองในภายหลังอยู่เรื่อยไป เพื่อให้การเมืองไทยมีความเข้มแข็ง เราเชื่อมั่นว่า หากการเรียกร้องในครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ จะเป็นการยืนยันถึงความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประชาชน และจะเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงสืบต่อไป
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มวันใหม่
 
1 พฤศจิกายน 2556
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net