Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“บริษัทผมเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นสลับซับซ้อนมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ของไทย  ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าใครคือเจ้าของที่แท้จริงของบริษัท” 


คำกล่าวตอนหนึ่งของบัณฑิต  แสงเสรีธรรม  กรรมการบริษัท  ทุ่งคาฮาเบอร์  จำกัด  (มหาชน)  (“ทุ่งคาฮาเบอร์”)  และกรรมการผู้จัดการบริษัท  ทุ่งคำ  จำกัด  (“ทุ่งคำ”)  ที่กล่าวถึงสถานภาพของทุ่งคาฮาเบอร์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา  ในงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น  เรื่อง  “ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม : ศึกษากรณีจังหวัดเลย  เหมืองทองคำ”  เมื่อวันที่  22  ตุลาคม  2556  ที่ผ่านมา  ณ  สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

หลังหมดยุคของพลเอกกิตติศักดิ์  รัฐประเสริฐ  ที่ก้าวเข้ามาเป็นกรรมการและกรรมการบริหารทุ่งคาฮาเบอร์  และกรรมการผู้จัดการทุ่งคำ  ในช่วงระหว่างวันที่  25  กุมภาพันธ์  2551  ถึง  31  สิงหาคม  2552   ก็ยากจะหาใครในสองบริษัทดังกล่าวที่มีบทบาทโดดเด่นเทียบเท่า  เหตุสำคัญก็เพราะช่วงที่พลเอกกิตติศักดิ์ดำรงตำแหน่งสามารถทำกำไรให้กับทุ่งคำถึง  111.8  ล้านบาท  จนเป็นเหตุให้ทุ่งคาฮาเบอร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้  จากเดิมที่ประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง 

กำไรของทุ่งคำที่ตกทอดมาถึงทุ่งคาฮาเบอร์นั้นต้องถือว่าเป็นปีแรกและปีเดียวของทุ่งคำที่สร้างกำไร  ก่อนหน้าการเข้ามาและหลังจากการออกไปของพลเอกกิตติศักดิ์ทุ่งคำเผชิญภาวะขาดทุนมาโดยตลอด  จนส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงทุ่งคาฮาเบอร์ในปัจจุบันที่ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่  24  ตุลาคม  2556  อันมีเหตุมาจากบริษัท  สินธนาโฮลดิ้งส์  จำกัด  กับบริษัท  ซิโนแพ็ค  ดีเวลอปเม้นต์  (ประเทศไทย)  จำกัด  ยื่นฟ้องให้ตกเป็นผู้ล้มละลาย  ซึ่งศาลได้รับคำร้องและกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่  27  มกราคม  2557  ปีหน้า 

รวมทั้งภาวะรุมเร้าจากหนี้สินก้อนอื่น  และการขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินกิจการ  โดยเฉพาะหนี้สินของธนาคารดอยซ์แบงก์จากการกู้เงินก้อนที่สอง  35  ล้านเหรียญสหรัฐ  เมื่อปี  2551  (ก่อนหน้านี้เคยกู้ดอยซ์แบงก์  25  ล้านเหรียญสหรัฐ  เมื่อปี  2549)  ซึ่งยังเป็นคดีความต่อกัน  โดยมีสัญญาชำระหนี้ด้วยทองคำเป็นเวลา  4  ปี  ตั้งแต่ปี  2552 – 2555  โดยทุ่งคำเห็นว่าเป็นสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรมเพราะบังคับให้ชำระเงินกู้ด้วยทองคำที่ผลิตได้ในราคาที่กำหนดตายตัว  ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาด  และในปริมาณที่มากกว่าพึงชำระทั้งเงินต้นรวมดอกเบี้ยในแต่ละเดือนได้  ถึงแม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะให้ดอยซ์แบงก์ชนะคดีเมื่อเดือนเมษายน  2556  โดยให้ทุ่งคำชำระเงินกู้ส่วนที่เหลือคืนพร้อมดอกเบี้ย  และค่าปรับการยกเลิกสัญญาส่งมอบทองคำพร้อมดอกเบี้ย  แต่ก็ไม่สามารถบังคับคดีได้เพราะทุ่งคำยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเอาไว้เพราะเห็นว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  ซึ่งปัจจุบันศาลทรัพย์สินฯยังไม่ตัดสินคดี  

ในขณะที่กระบวนการฟื้นฟูกิจการกำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า  ทุ่งคาฮาเบอร์ก็กำลังจะได้ดาวดวงใหม่ที่น่าจะโดดเด่นเทียบเท่า  หรืออาจจะโดดเด่นกว่าพลเอกกิตติศักดิ์เสียอีก

แผนกรกฎ  :  ความเข้าใจต่อเวที  พับลิค  สโคปปิง  ของผู้การเสือ  และใครอยู่เบื้องหลัง  ?

หลังปฏิบัติการตามแผนกรกฎครั้งที่สอง  ของกองกำลังตำรวจซึ่งเป็นกำลังหลัก  ผสมพนักงานทุ่งคำเป็นบางส่วน  จำนวนรวมกัน  700  คน  เพื่อปิดกั้นประชาชนที่เห็นต่างในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก  สโคปปิ้ง  เพื่อจัดทำรายงาน  EHIA  ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่  76/2539  ต.นาโป่ง  อ.เมือง  จ.เลย  เมื่อวันที่  8  กันยายน  2556  (ครั้งแรกใช้กองกำลังตำรวจเป็นกองกำลังหลัก  ผสมทหาร  อาสารักษาดินแดน  และพนักงานทุ่งคำเป็นบางส่วน  จำนวนรวมกัน  1,000  คน  เพื่อสกัดกั้นประชาชนที่เห็นต่างในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก  สโคปปิง  เพื่อจัดทำรายงาน  EHIA  ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่  104/2538  (แปลงภูเหล็ก)  ต.เขาหลวง  อ.วังสะพุง  จ.เลย  เมื่อวันที่  23  ธันวาคม  2555)  มีคำถามหนึ่งที่คนในพื้นที่จังหวัดเลยใคร่รู้อย่างมากว่า  “เหตุใด  ‘ผู้การเสือ’  หรือ  พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย  ใช้แผนกรกฎปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก  สโคปปิง  ถึงสองครั้งสองครา  ?”

ทั้งๆที่การใช้แผนกรกฎปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวในครั้งแรกน่าจะได้รับบทเรียนมากพออยู่แล้วถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม  ที่นำกองกำลังตำรวจไปปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นนั้น  ดังที่คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มีความเห็นในเชิงว่ากล่าวตักเตือนต่อหน้าผู้การเสือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง  ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ  เมื่อครั้งที่คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเรียกหน่วยงานราชการระดับปฏิบัติการในพื้นที่และระดับนโยบายจากส่วนกลาง  และทุ่งคำ  รวมทั้งราษฎรกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด  เข้ามาตรวจสอบเมื่อวันที่  19  กุมภาพันธ์  2556  ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

จนถึงขั้นที่ผู้การเสือยังแสดงอาการสำนึกดีบางอย่างต่อที่ประชุมในวันนั้นด้วยว่า  การกระทำของตนทำให้คนในพื้นที่เกลียดชังตนเองมากขึ้น  จากที่คิดอยู่เสมอมาว่าตนเป็นที่รักใคร่ของคนในพื้นที่  หากต่อไปจะทำอะไรจะต้องระมัดระวังให้มากขึ้น  เพราะเป็นเรื่องเปราะบางของสังคม

โดยผู้การเสือกับปลัดจังหวัดเลยยังยอมรับต่อหน้าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวอีกด้วยว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังผสมที่ร่วมปฏิบัติการตามแผนกรกฎ  ที่ปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวในครั้งแรก  ทุ่งคำเป็นผู้รับผิดชอบจัดหามาให้

คำตอบต่อคำถามดังกล่าวก็เริ่มกระจ่างชัดขึ้น  เมื่อเข้าไปค้นรายชื่อคณะกรรมการทุ่งคาฮาเบอร์ชุดปัจจุบัน  ปรากฏว่ามีชื่อของ  พล.ต.อ.สมยศ  พุ่มพันธุ์ม่วง  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบร่วมอยู่ด้วย 

จึงไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไปว่าทำไมผู้การเสือถึงยอมให้คนในพื้นที่เกลียดชังตนเองมากยิ่งขึ้น  จากการเป็นผู้วางแผนและบัญชาการตามแผนกรกฎเพื่อปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมในเวทีพับลิก  สโคปปิง  ในครั้งที่สอง  ด้วยตนเอง 

ปิคนิคแก๊ส  ละครแห่งความขัดแย้ง

ในช่วงระยะเวลา  2 – 3  ปี  ที่ผ่านมา  ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือข่าวปมขัดแย้งคดีโอนหุ้น  101  ล้านบาท  ของบริษัท  แอสเซ็ท  มิลเลี่ยน  จำกัด  (“แอสเซ็ท”)  ที่เชื่อมโยงไปยังบริษัท  ปิคนิค  คอร์ปอเรชั่น  จำกัด  (มหาชน)  (“ปิคนิค”)  และกลุ่มบริษัท  เวิลด์แก๊ส  (ประเทศไทย)  จำกัด  (“เวิลด์แก๊ส”)

ภายใต้การนำของนายสุริยา  ลาภวิสุทธิสิน  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ช่วงเวลาสั้น  ๆ  4  เดือน  ระหว่างวันที่  11  มีนาคม – 6  กรกฎาคม  2548  ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเข้าซื้อกิจการหุ้นขนาดเล็กหลายกิจการที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูกิจการหลังวิกฤติเศรษฐกิจ  ปี  2540  โดยปิคนิคเป็นหนึ่งในนั้น  แล้วสร้างราคาชี้นำโยกกันไปมาระหว่างกลุ่มก๊วนเดียวกัน  ผ่านอุบายสร้างข่าวคราวการเพิ่มทุนหลายรอบอย่างครึกโครม  เพื่อหลอกล่อนักลงทุนประเภทแมลงเม่าเข้าไปเป็นเหยื่อ  จนทำกำไรหลายพันล้านบาท  แต่ในท้ายที่สุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.)  กลับตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินปี  2547  ของปิคนิคช่วงเดือนมีนาคม  2548  ที่กลายเป็นว่าก่อหนี้ไว้หลายพันล้านบาท  จนต้องมีการเข้าแผนฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 

โดยนายสุริยาเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินกิจการของปิคนิคอย่างเบ็ดเสร็จ  ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเวิลด์แก๊สซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจแก๊สเช่นเดียวกัน  อีกทอดหนึ่งด้วย

แต่ธุรกิจแก๊สซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานสายหนึ่งยังคงเป็นขาขึ้น  ปิคนิคและเวิลด์แก๊สจึงยังคงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนอยู่เสมอ

เรื่องราวต่อจากนั้นเริ่มมาจากความขัดแย้งระหว่างนางวิมลรัตน์  กุลดิลก  หรือเลิศเสาวภาคย์  ภรรยาของ  พล.ต.ท.ชัจจ์  กุลดิลก  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  โดยดำรงตำแหน่งทั้งสองในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม  2554 – มิถุนายน  2556  กับ  พล.ต.ท.สมยศ  พุ่มพันธุ์ม่วง  ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  (ตำแหน่งปัจจุบันเป็น  พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ)  เพื่อแย่งชิงหุ้นในแอสเซ็ทร้อยละ  51  มูลค่า  101  ล้านบาท  (“หุ้นพิพาท”)  ของนายสุริยา 

เนื่องจากในขณะที่เกิดเหตุวุ่นวายกับปิคนิค  นายสุริยาได้ซื้อหุ้นของแอสเซ็ทมาดำเนินกิจการ  จนในที่สุดแอสเซ็ทได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในเวิลด์แก๊สแทนปิคนิค 

ความขัดแย้งนี้ได้ทำให้นางวิมลรัตน์ยื่นฟ้องนายสุริยา  พล.ต.ท.สมยศ  กับพวกรวมสิบคน  เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่  5  มีนาคม  2553  เพื่อขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทที่  พล.ต.ท.สมยศ  ได้รับไป  เนื่องจากว่าหุ้นจำนวนดังกล่าวนายสุริยาได้โอนให้กับนางวิมลรัตน์ก่อนแล้ว 

จากคำให้การของ  พล.ต.ท.ชัจจ์  ต่อศาลแพ่ง  ระบุว่าในช่วงปี  2549  ต่อเนื่องปี  2551  นายสุริยา  และปิคนิค  เกิดปัญหาทางการเงินและมีหนี้สินมากจนต้องมีการเข้าแผนฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างหนี้  จึงต้องมาขอยืมเงินนางวิมลรัตน์เพื่อนำไปใช้จ่ายในธุรกิจส่วนตัวมาโดยตลอด  จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน  2551  นายสุริยามีหนี้สินคงค้างชำระกับนางวิมลรัตน์ประมาณ  232  ล้านบาท  ซึ่ง  พล.ต.ท.ชัจจ์  และนางวิมลรัตน์ได้ติดตามทวงถามให้นายสุริยาชำระหนี้มาโดยตลอด  จึงได้เจรจาชำระหนี้กันโดยตกลงจะนำหุ้นพิพาทมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์  ซึ่งหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของนายสุริยาแต่ให้ตัวแทนถือหุ้นไว้แทน

แต่การถือหุ้นพิพาทของนายสุริยาก็ไม่ตรงไปตรงมา  โดยให้นายธรรมนูญ  ทองลือ  เป็นตัวแทนถือหุ้นไว้แทน  ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทว่าเป็นผู้ถือหุ้น   และนายสุริยาได้ให้นายธรรมนูญทำหนังสือโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้นายสุวิทย์  สัจจวิทย์  ตัวแทนอีกคนหนึ่ง  โดยทำเป็นหนังสือการโอนหุ้นลงลายมือชื่อนายธรรมนูญ  ผู้โอน  นายสุวิทย์  ผู้รับโอน  มีนายสมบัติ  สร้อยเงิน  และนายสุริยาลงลายมือเป็นพยาน  มีนายโดนัล  เอียน  แม็คเบน  ลงลายมือชื่อฐานะนายทะเบียนบริษัท  ลงนามรับทราบการโอน  ปรากฏตามใบโอนหุ้นฉบับวันที่  10  ตุลาคม  2551
ดังนั้น  หุ้นพิพาท  หมายเลขที่  00000001 - 10199600  จำนวน  10,199,600  หุ้น  มูลค่าหุ้นละ  10  บาท  เป็นเงินประมาณ  101  ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ  51  ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของแอสเซ็ท  ที่นายสุริยานำมาชำระหนี้บางส่วนแก่นางวิมลรัตน์เมื่อวันที่  12  พฤศจิกายน  2551  จึงเป็นหุ้นในชื่อของนายสุวิทย์ที่รับโอนมาจากนายธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง

หลังจากนายสุริยาชำระหนี้บางส่วนด้วยการโอนหุ้นพิพาทในชื่อของนายธรรมนูญและนายสุวิทย์ที่ตกทอดการเป็นผู้ถือหุ้นแทนมาตามลำดับให้กับนางวิมลรัตน์แล้ว  ในเดือนธันวาคม  2551  นายสุริยาก็หลบหนีหายตัวไปอยู่ต่างประเทศ  ไม่สามารถติดต่อได้

ทางด้าน  พล.ต.ท.สมยศ  ก็เป็นเจ้าหนี้อีกคนหนึ่งของนายสุริยา  ทราบดีว่าทรัพย์สินของนายสุริยาที่ยังเหลืออยู่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ให้แก่ตนเองได้  คือหุ้นพิพาทซึ่งเป็นหุ้นจำนวนเดียวกันที่นางวิมลรัตน์ได้รับโอนเพื่อชำระหนี้บางส่วนจากนายสุริยาไปแล้ว

ในระหว่างนั้น  เมื่อวันที่  13  มีนาคม  2552  ก.ล.ต.  ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินผู้ที่ถูกกล่าวโทษกรณีทุจริต  ยักยอกเงินและทรัพย์สินปิคนิค  โดยมีผู้เกี่ยวข้องคือแอสเซท  นายธรรมนูญ  และนายทนงศักดิ์  ศรีทองคำ  เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวโทษและถูกอายัดทรัพย์ 

การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของนายสุริยาที่ติดหนี้ไว้กับนางวิมลรัตน์และ  พล.ต.ท.สมยศ  ได้มีขึ้นหลายครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม  2552  และครอบครัวของนางวิมลรัตน์ได้ยืนยันให้  พล.ต.ท.สมยศ  ทราบว่า  ได้รับโอนหุ้นพิพาทของนายสุริยาที่ให้นายธรรมนูญซึ่งเป็นตัวแทนถือหุ้นไว้แทน  มาถือครองไว้หมดแล้ว  โดยมีหนังสือการโอนหุ้นลงลายมือชื่อพยานถูกต้องตามกฎหมาย  แต่ยังไม่สามารถไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นได้เพราะนายธรรมนูญ  ถูก ก.ล.ต.  มีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน

แต่ในระหว่างที่มีการเจรจาตกลงกันนั้น  นายพิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง  ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทแอสเซท  ได้ร่วมมือกับนายทนงศักดิ์  ซึ่งเป็นกรรมการของแอสเซทอยู่ก่อนแล้ว  ร่วมกันลงลายมือชื่อในเอกสาร  แบบ บอจ.5  (บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น)  ว่าขอเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในส่วนที่เป็นหุ้นของนายธรรมนูญ  ทั้งหมดมาเป็นชื่อ  พล.ต.ท.สมยศ  เป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่  31  กรกฎาคม  2552  โดยอ้างกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่า  พล.ต.ท.สมยศ  ได้รับโอนหุ้นมาจากนายธรรมนูญ  และลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่  11  มีนาคม  2552  แล้ว 

ซึ่งหุ้นพิพาทที่มีชื่อ  พล.ต.ท.สมยศ  ดังกล่าวนั้น  เป็นหุ้นจำนวนเดียวกับที่นางวิมลรัตน์ได้รับโอนมาจากนายสุริยาที่ให้นายธรรมนูญและนายสุวิทย์ถือครองไว้แทนมาโดยลำดับ 

จึงเป็นเหตุให้  พล.ต.ท.ชัจจ์  และนางวิมลรัตน์เชื่อว่าสัญญาโอนหุ้นระหว่างนายธรรมนูญกับ  พล.ต.ท.สมยศ  เมื่อวันที่  11  มีนาคม  2552  นั้น  มิได้ทำขึ้นในวันที่  11  มีนาคม  2552  จริง  แต่เป็นเอกสารที่น่าจะทำขึ้นภายหลัง  โดยลงวันที่ย้อนหลังเป็นวันที่  11  มีนาคม  2552  ก่อนวันที่  13  มีนาคม  2552  อันเป็นวันที่  ก.ล.ต.  มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายธรรมนูญ  เพื่อให้บุคคลเข้าใจว่าได้มีการซื้อขายโอนหุ้นกันก่อนมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินนายธรรมนูญ 

หลังจากนางวิมลรัตน์ยื่นฟ้องนายสุริยา  พล.ต.ท.สมยศ  กับพวกรวม  10  คน  เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่  5  มีนาคม  2553  การเอาคืนก็เริ่มขึ้น  เมื่อวันที่  19  พฤษภาคม  2554  พล.ต.ท.สมยศ  ได้ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)  ให้ตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ  พล.ต.ท.ชัจจ์  ตอนรับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช  ปี  2551  กรณีไม่แจ้งว่ามีกู้ให้ยืมนายสุริยา  จำนวน  232  ล้านบาท  ว่า  เข้าข่ายจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน

ตามมาด้วยอีก  2  คดีอาญา  หลังจากที่  พล.ต.ท.สมยศ  ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแอสเซ็ท  ก็ได้ร่วมกับนายธรรมนูญยื่นฟ้องนางวิมลรัตน์กับพวกในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม  คดีแรกเมื่อวันที่  3  ตุลาคม  2554  แอสเซ็ทโดยนายพิศาลและนายสง่า  รัตนชาติชูชัย  กรรมการผู้มีอำนาจ  ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิมลรัตน์และพวกในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร  ปลอมเอกสาร  และใช้เอกสารปลอม  โดยโจทย์กล่าวหาว่าสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของแอสเซ็ทตามใบโอนหุ้นเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  2551  ที่นายธรรมนูญโอนหุ้นพิพาทที่ถือหุ้นไว้แทนนายสุริยามาให้แก่นายสุวิทย์เพื่อนำมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์เมื่อวันที่  12  พฤศจิกายน  2551  เป็นเอกสารเท็จ  ส่วนเอกสารการโอนหุ้นพิพาทที่แท้จริงเกิดขึ้นต่อจากนั้นเมื่อวันที่  11  มีนาคม  2552  ซึ่งนายธรรมนูญที่เป็นเจ้าของหุ้นพิพาทตัวจริงได้โอนหุ้นดังกล่าวให้แก่  พล.ต.ท.สมยศ 

คดีที่สองเมื่อวันที่  17  ตุลาคม  2554  นายธรรมนูญได้ยื่นฟ้องนางวิมลรัตน์และนายสุวิทย์  ในข้อหาปลอมเอกสาร  และใช้เอกสารปลอมเช่นเดียวกันกับคดีแรก  โดยแก้ต่างว่านายธรรมนูญไม่เคยทำใบโอนหุ้นพิพาทเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  2551  ให้นายสุวิทย์  และไม่เคยได้รับเงินค่าหุ้นพิพาทจากนายสุวิทย์  ดังนั้น  ใบโอนหุ้นพิพาทที่นำมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์เมื่อวันที่  12  พฤศจิกายน  2551  เป็นความเท็จ

ดูเหมือนว่าแก่นของความขัดแย้งของผลประโยชน์คือการรักษาสถานภาพการต่อรองผลประโยชน์เอาไว้  ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ชนะกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ปล่อยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่เพื่อเอาไว้ต่อรองผลประโยชน์กันต่อไป  ภายใต้ซากปรักหักพังและความชำรุดทรุดโทรมของชีวิตใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเส้นทางเดินของความขัดแย้งของผลประโยชน์  เป็นเรื่องนอกเหนือความสนใจของคนที่ร่วมสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งของผลประโยชน์ขึ้นมา
มีสองเหตุการณ์ที่เป็นการรักษาสถานภาพการต่อรองผลประโยชน์เอาไว้  นั่นคือ

เหตุการณ์แรก  -  ก่อนที่นายธรรมนูญจะยื่นฟ้องคดีสองเมื่อวันที่  17  ตุลาคม  2554  ต่อนางวิมลรัตน์และนายสุวิทย์นั้น  ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่  14  ตุลาคม  2554  ให้นางวิมลรัตน์ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทดังกล่าว 

เหตุการณ์ที่สอง  -  ระหว่างที่  พล.ต.ท.สมยศ  และพวกยื่นอุทธรณ์คดีที่ศาลแพ่งพิพากษาให้นางวิมลรัตน์ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทนั้น  สำนักงานอัยการพิเศษได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  (ดีเอสไอ)  เมื่อวันที่  16  มกราคม  2556  แจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง  พล.ต.ท.สมยศ  และนายธรรมนูญกับพวก  ตามที่นางวิมลรัตน์ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญา  พล.ต.ท.สมยศ  และนายธรรมนูญกับพวก ต่อ  พล.ต.อ.ปทีป  ตันประเสริฐ  จเรตำรวจแห่งชาติ  รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ตั้งแต่วันที่  28  ธันวาคม  2552  ที่ผ่านมา

ตามคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการพิเศษโดยสรุปก็คือ  พล.ต.ท.สมยศ  ได้หุ้นพิพาทของแอสเซ็ทมาจากนายธรรมนูญโดยถูกต้อง  จึงฟังไม่ได้ว่า  พล.ต.ท.สมยศ  และนายธรรมนูญกับพวกร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร

ความขัดแย้งของผลประโยชน์  ปิดตำนานอื้อฉาวของปิคนิคแก๊ส

ไม่ว่าความขัดแย้งของผลประโยชน์ระหว่างนางวิมลรัตน์  และ  พล.ต.ท.ชัจจ์  กับ  พล.ต.ท.สมยศ  และพวกยังดำรงอยู่  เพราะคดีความต่าง  ๆ  ที่ต่างฝ่ายต่างฟ้องกันยังไม่สิ้นสุด  ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือ  พล.ต.อ.สมยศ  พุ่มพันธุ์ม่วง  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ซึ่งเป็นตำแหน่งในปัจจุบัน  ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของแอสเซ็ทเรียบร้อยแล้ว  ซึ่งแอสเซ็ทเองก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเวิลด์แก๊สอีกทอดหนึ่งด้วย 

ผลของความขัดแย้งของผลประโยชน์ในกรณีนี้  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่  10  มิถุนายน  2556  เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการปิคนิคของเวิลด์แก๊ส  ที่ก่อนหน้าเกิดวิกฤติการณ์ความวุ่นวายกับปิคนิคเคยเป็นบริษัทลูกของปิคนิคมาก่อน  แต่ตอนนี้เวิลด์แก๊สได้ย้อนกลับมาเข้ายึดกิจการของปิคนิคอย่างเบ็ดเสร็จ  โดยควักจ่ายเงินเพิ่มทุนให้ปิคนิค  1,700  ล้านบาท  เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2556  ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่เพียงพอให้ปิคนิคนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงไทย  เมื่อวันที่  7  ตุลาคม  2556  ที่ผ่านมา  ถือเป็นการปิดตำนานอื้อฉาวมากว่า  5  ปี  ของปิคนิคอย่างสวยหรูเพื่อรอวันกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นใหม่อีกครั้ง

เชื้อร้ายกำลังลุกลามมาที่ทุ่งคาฮาเบอร์และทุ่งคำ

รูปแบบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในปิคนิคและเวิลด์แก๊ส  (ดูรูปแบบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเพื่อล้างวิกฤติการณ์ของปิคนิคในตลาดหุ้นไทย  ช่วงปี 2548 – 2556  ท้ายบทความ)  โดยดึงแอสเซ็ทเข้ามาเพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของปิคนิคไปแอสเซ็ท  เพื่อให้แอสเซ็ทเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของเวิลด์แก๊สแทนปิคนิค  แล้วท้ายที่สุดก็ให้เวิลด์แก๊สย้อนกลับไปถือหุ้นปิคนิคเพื่อล้างมลทินเรื่องอื้อฉาวที่ปิคนิคก่อขึ้นมาให้หมดสิ้น  โดยมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้องมากหน้าหลายตา  ถึงแม้ไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่ามันเป็นละครหรือเกมตบตากรรมการ/องค์กรที่กำกับกติกา  แมลงเม่าซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย  สื่อมวลชน  รวมทั้งสาธารณชนที่เฝ้าดูติดตามข่าวสารในช่องทางต่าง  ๆ  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้นายสุริยาหลุดลอดไปจากความผิดและความรับผิดชอบที่ตนเองได้ก่อไว้ 

สถานภาพของทุ่งคาฮาเบอร์หลายปีมานี้มีลักษณะคล้าย  ๆ  กันกับปิคนิคในช่วงเกิดวิกฤติการณ์   ชื่อเสียงของหุ้นทุ่งคาฮาเบอร์ถูกวางอยู่ในตำแหน่ง  ‘หุ้นปั่น’   มาแต่ไหนแต่ไร  โดยมักมีผู้เล่นข่าวราคาทองคำเชื่อมโยงไปยังแหล่งแร่ทองคำที่ทุ่งคำถือสัมปทานอยู่ที่จังหวัดเลย  ว่าเป็นสินค้าที่มีอนาคตสดใสของทุ่งคาฮาเบอร์  แต่ทุกครั้งที่หุ้นถูกจุดพลุขึ้นไปเร็วและแรง  ก็จะตกลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงไม่แพ้กัน  สุดท้ายผู้ถือหุ้นรายย่อยก็เจ็บกันถ้วนหน้า  ผลของการเล่นหุ้นแบบนี้จึงทำให้ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  (ตลท.)  สั่งหยุดซื้อขายหุ้นตัวนี้  และยังคงเครื่องหมาย  SP  (Trading  Suspension  :  ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว)  และ  NC  (Non-Compliance  :  หลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน)  หลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์เป็นปีที่สอง  เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงานและยังไม่ได้นำส่งงบการเงินไตรมาสที่  1  สิ้นสุดวันที่  31  มีนาคม  2556  และไตรมาสที่  2  สิ้นสุดวันที่  30  มิถุนายน  2556  ต่อ  ตลท.

หากยังไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติพ้นเหตุแห่งการเพิกถอนภายในระยะเวลา  4  ปี  นับแต่ถูกเครื่องหมาย  NC  ในปีแรกเมื่อวันที่  9  ธันวาคม  2554  อาจทำให้หลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์ถูกเพิกถอนออกไปจากตลาดหุ้นได้
รวมถึงหนี้สินท่วมตัวกับเจ้าหนี้หลายแห่ง  จนเป็นเหตุให้ทุ่งคาฮาเบอร์ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่  24  ตุลาคม  2556  ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว

วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุ่งคาฮาเบอร์และทุ่งคำอาจจะกลายเป็นโอกาสอันงดงามของใครหลายคนก็เป็นได้  หากดูที่รูปแบบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเพื่อดำเนินธุรกิจของปิคนิค  ที่สร้างความขัดแย้งของผลประโยชน์ขึ้นมา  เพื่อรักษาสถานภาพการต่อรองผลประโยชน์ให้ดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน  ซึ่งเป็นรูปแบบที่กำลังลุกลามเข้ามาในทุ่งคาฮาเบอร์และทุ่งคำอยู่ในขณะนี้ 

ตราบใดที่ความทุกข์ยากและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เกิดจากน้ำมือตัวเอง  แต่ก่อเกิดจากความขัดแย้งของผลประโยชน์ในตลาดหุ้นที่บงการชีวิตเรา  จึงไม่แปลกใจแต่อย่างใดและเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งที่ประชาชนในพื้นที่  ต.เขาหลวง  อ.วังสะพุง  จ.เลย  จะก่อกำแพงชุมชนปิดกั้นถนนเพื่อป้องกันสารเคมีมีพิษที่ขนใส่รถบรรทุกเข้ามายังโรงประกอบโลหกรรมเพื่อแต่งแร่และถลุงแร่ทองคำบนภูทับฟ้า

แต่ผลตอบแทนที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับก็สูงขึ้นเรื่อย  ๆ  จากคดีความที่ทุ่งคำฟ้องอาญาและแพ่ง  ในคดีแรกฟ้องให้ติดคุกและเรียกค่าเสียหาย  50  ล้านบาท  บวก  10  ล้าน  ทุกวันจนกว่ากำแพงชุมชนจะถูกพังทลายลงไป  กับชาวบ้าน  14  คน  คดีที่สองฟ้องให้ติดคุกและเรียกค่าเสียหาย  70  ล้านบาท  กับชาวบ้าน  13  ราย  จากการก่อกำแพงขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สอง  หลังจากของเดิมถูกผู้สวมไอ้โม่งปิดหน้าพังทลายลงไปในยามวิกาล  ซึ่งรายชื่อส่วนใหญ่มีชื่อถูกฟ้องในคดีแรกด้วย  และคดีที่สามกำลังจะตามมาจากการก่อกำแพงขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สาม  หลังจากกำแพงที่ถูกสร้างในครั้งที่สองถูกพังทลายลงไปโดย  นายก  อบต.เขาหลวง  สั่งการ
  

 

 

เอกสารอ้างอิง  (ทุกรายการสืบค้นเมื่อวันที่  21  ตุลาคม  2556)

เปิดคำพิพากษาศาลสั่ง  พล.ต.อ.สมยศ-พวก  คืนหุ้น  “เมียชัจจ์” 101 ล้าน.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18755-คำพิพากษา.html
ผ่าปมขัดแย้งคดีโอนหุ้น  101  ล้าน  “ชัจจ์-สุริยา-สมยศ”  เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด?.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18016-ชัจจ์-สุริยา-สมยศ.html
เปิดรายชื่อผู้ถือหุ้น  “แอสเซ็ท  มิลเลี่ยน”  ชนวนแตกหัก  “ชัจจ์-สมยศ-สุริยา”.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18258-three-man.html
“สมยศ”  ซัด “ชัจจ์”  ส่อซุกเมีย-เงินปล่อยกู้  232  ล้าน  ชงประธาน  ป.ป.ช.  สอบแจ้งเท็จ?.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18059-“สมยศ”ซัด“ชัจจ์”ส่อซุกเมีย-เงินปล่อยกู้-232-ล้าน-ชงประธาน-ป-ป-ช-สอบแจ้งเท็จ.html
แลกคนละหมัด!  เมีย  “ชัจจ์”  เล่านาที  “สมยศ”  พาตำรวจ  30  คน  บุกยึด  “เวิลด์แก๊ส”.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18073-แลกคนละหมัด-เล่านาที.html
กลุ่ม  พล.ต.อ.สมยศ  ฟ้องอาญา  “เมียชัจจ์-พวก”  2  คดีรวด  ซัดปลอมใบโอนหุ้น  101  ล้าน.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/investigative-01/item/18287-สมยศฟ้องอาญา-เมียชัจจ์.html
InfoQuest News – กลุ่มสมยศยึดปิกนิก.
ข้อมูลออนไลน์  http://itrading.bualuang.co.th/th/list-tb.php?width=821&height=500&menuid=23&content=newtoday&contentid =1840236
“เวิลด์แก๊ส”  ฮุบ  “ปิคนิค”  กรุงไทย-ยูโอบีไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการ.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.thairath.co.th/content/eco/335514
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net