Skip to main content
sharethis
เมื่อเวลา 4.25 น. สภาผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย วาระ 3 ฉลุย ด้วยเสียง 310 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 ขณะ ส.ส. ปชป.วอล์กเอาท์ ขัตติยาลั่นเอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ มือของท่านได้เปื้อนเลือดไปแล้ว


31 ต.ค. 2556 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังจากนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 สั่งพักการประชุมนานกว่า 30 นาที การประชุมสภาฯก็เปิดอีกครั้ง

เวลา 19.30 น. โดยนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เสนอต่อที่ประชุมปิดอภิปรายมาตรา 1 เกี่ยวกับชื่อร่างทันที เนื่องจากเห็นว่าส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสงค์อภิปรายแล้ว แต่ถูกส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คัดค้าน โดยเฉพาะ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า ที่ประชุมไม่ควรตัดสิทธิการแปรญัตติ โดยครั้งนี้เป็นการพิจารณากฎหมายสำคัญคงต้องใช้เวลามากกว่ากฎหมายปกติ ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะการอภิปรายในวาระอย่างเดียว ถ้าสมาชิกที่ไม่ได้แปรญัตติหรือสงวนความเห็นไว้ ติดใจในเรื่องใดๆ ก็สามารถอภิปรายต่อที่ประชุมได้เช่นกัน แต่ที่ประชุมพลาดตรงนี้ตั้งแต่แรก แนวทางหลังจากนี้จะทำให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นต้องยึดหลักการและให้สิทธิการอภิปรายที่ถูกต้อง อย่าไปกังวลเรื่องเวลาเป็นสำคัญ และหากทำไปอย่างนี้กฎหมายจะเกิดปัญหา
      
ทำให้นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ประธานในที่ประชุม ได้ขอนัดให้วิปทั้งสองฝ่ายไปปรึกษาหารือกันในเวลา 20.30 น. พร้อมกับขอให้ถอนญัตติออกไป โดยนายครูมานิตย์ก็ยินยอม เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ตัดบทให้ดำเนินการประชุมในมาตรา 1 ต่ออีกครั้ง
      
จากนั้นนายธนา ชีรวินิจ ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายมาตรา 1 โดยเสนอให้ตัดทั้งมาตรา ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยประท้วงว่าไม่มีสิทธิอภิปรายเพราะตัดออกทั้งมาตราซึ่งผิดหลักการของการเสนอกฎหมาย แต่ประธานฯก็พยายามไกล่เกลี่ยจนกระทั่งนายธนาอภิปรายจนจบ
      
ต่อมา นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายพร้อมได้นำรูปตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ มาร่วมประชุมกับคนเสื้อแดง ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจอย่างมาก จนเกิดการประท้วงกันวุ่นวายอีกครั้ง จนนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอปิดอภิปรายมาตรา 1 ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ประท้วงว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและไม่สามารถทำได้ และเห็นว่าในเมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ขอให้ปิดอภิปราย และขอให้ไปพิจารณาต่อในวันอื่น

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้ทุกคนสามารถอภิปรายได้โดยเดินตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การประชุมเดินไปได้ และรวมกันวางกติกาเช่นนี้ในอนาคต โดยให้ประธานเป็นผู้ควบคุม อย่างเช่นสมัยตนเองเป็นรัฐบาลที่เปิดอภิปรายได้เต็มที่โดยไม่มีการปิดอภิปรายแม้จะล่วงเลยไปหลายวัน ทำให้ประธานสั่งพักการประชุม 5 นาที เพื่อไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำกันได้
      
จากนั้นเวลา 22.30 น. นายเจริญ จรรย์โกมล ประธานสภาคนที่ 1 ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม และขอให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ถอนญัตติการปิดอภิปรายโดยอ้างว่า ได้ไปหารือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แล้วและขอพูดอีก 4 คน คนละ 7 นาที โดยนายพิเชษฐ์ก็ยอมถอนญัตติทำให้นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายมาตรา 1 ต่อไป
      
ต่อมาเมื่อเวลา 23.40 น.ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้มีการลงมติหลังส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายในมาตรา 1 ครบ 4 คนคนละ 7 นาที ตามข้อตกลงของวิปทั้ง 2 ฝ่าย ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียง 317 ต่อ 74 และงดออกเสียง 1
      
จากนั้นที่ประชุมได้เริ่มพิจารณามาตรา 2 ว่าด้วย พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 02.35 น.การอภิปราย ในมาตรา 2 ว่าด้วย “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” โดย ส.ส.ปชป.ที่สงวนคำแปรญัตติและสงวนความเห็นทั้งเวลาการบังคับใช้และให้ตัดออกทั้งมาตรา หลังจากการอภิปรายผ่านไปแล้ว 2 ชั่วโมง 30 นาที นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.พท.เสนอญัตติปิดอภิปราย ขณะที่ ส.ส.ปชป.โต้แย้งแต่ก็ไม่มีผล ทำให้ต้องลงมติในมาตรา 2 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะ กมธ.เสียงข้างมากด้วยคะแนน 314 ต่อ 40 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง จากนั้น นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯคนที่ 1 จึงให้ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 3 ว่าด้วย การให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่ตั้งขึ้น หลังการัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 49 ถึง 8 สิงหาคม 56 ไม่ว่าผู้กระทำจะทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดชอบ

ทำให้ ส.ส. ปชป.ไม่พอใจ ลุกขึ้นประท้วงทันที โดย น.พ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง ปชป. ประท้วงว่า ดึกแล้วแต่ก็ยังดึงดันจะอภิปรายต่อในมาตรา 3 แสดงว่าประธานมีใบสั่งจริงๆ ขณะที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ประท้วงโต้กลับไป ว่า มาตรา 1 และมาตรา 2 เสียเวลาไปมากแล้ว ควรจะเข้ามาตรา 3 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ประธานทำหน้าที่ถูกแล้ว จึงอยากให้ดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับให้มีการอภิปรายต่อไป แต่ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยังไม่หยุดประท้วง พยายามระบุว่าอำนาจการสั่งพักการประชุม เป็นของประธาน เรารีบได้ถ้ามีประชาชน 4-5 หมื่นมาชุมนุมหน้าสภาเพื่อให้นิรโทษฯ แต่ตอนนี้ผู้ชุมนุม 4-5 หมื่นคน ออกมาคัดค้านการนิรโทษฯ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องให้วิปหารือกัน และสั่งเลื่อนการประชุมออกไปต่อวันพรุ่งนี้ ท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียด ทำให้นายเจริญตัดสินใจสั่งพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 03.00 น.

จากนั้น 03.20 น. ที่ประชุมกลับมาพิจารณาอีกครั้ง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ สลับขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่า “จากการหารือคงต้องเอาให้จบ เพราะหากทำตามฝั่งหนึ่งก็จะต้องโดนอีกฝั่งหนึ่งว่า ดังนั้นต้องเป็นอำนาจของประธานที่จะวินิจฉัยซึ่งผมขอวินิจฉัยให้ประชุมต่อ” พร้อมทั้งให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปราย แต่ ส.ส.ปชป. หลายสิบคน อาทิ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายสุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง เป็นต้น ได้ลุกฮือประท้วงพร้อมเดินไปหน้าบัลลังก์ ชี้หน้านายสมศักดิ์ ทำให้นายชาดา ต้องอภิปรายด้วยเสียงดังอย่างมีอารมณ์เพื่อกลบเสียงโห่ร้องโวยวายของ ส.ส.ปชป. ทั้งนี้ภายหลังจากที่นายชาดา อภิปรายเสร็จ บรรดา ส.ส.ปชป.ก็เริ่มตะโกนโห่ร้องเพื่อขอให้สั่งเลื่อนการประชุมอีกครั้ง
              
ทำให้ นายสมศักดิ จึงกล่าวขอพักประชุม เพื่อขอหารือกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แต่ ส.ส.ปชป.ไม่ยอม และโห่ร้องอย่างต่อเนื่องจะให้ประธานสั่งพักการประชุมเพื่ออภิปรายต่อในวันพรุ่งนี้  ทำให้นายสมศักดิ์เปลี่ยนใจให้ที่ประชุมดำเนินการประชุมต่อ
 
ทั้งนี้ หลังจากที่นายจิรายยุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสร็จ และไม่มีผู้ใดอภิปรายต่อ ทำให้นายสหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พท. เสนอญัตติ ปิดอภิปรายทันที ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง ตะโกนด่าทอ ของ ส.ส.ปชป. ว่า “ลงคะแนนเลยจะได้ปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล” “ข้ามศพมันให้หมดเลย” กระทั่งที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามที่ คณะ กมธ.เสียงข้างมากเสนอแก้ไข ด้วยคะแนน 307 ต่อ 0 คะแนน งดออกเสียง 4 เสียง
               
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯคนที่ 1 และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯคนที่ 2 ขึ้นมานั่งบนบังลังก์ด้วย จากนั้น นายสมศักดิ์ให้เข้าสู่การอภิปรายต่อในมาตรา 4 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม พท. ลุกขึ้นอภิปราย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของ ส.ส.ปชป. ตระโกนว่า “ขี้ข้า” ทำให้ นายจิรายุ พูดขึ้นว่า “ปชป.ใช้มุกเดิม ตะโกนในโรงหนังอีกแล้ว”
 
จากนั้น น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ลุกขึ้นอภิปรายอย่างมีอารมณ์ว่า เข้าใจถึงสาเหตุของการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยอมรับว่าไม่พอใจที่ กมธ.เสียงข้างมาก มีการแก้ไขเพราะ ตนได้สูญเสียบุพการีไป และยังมีญาติผู้สูญเสียด้วย แต่ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ เอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ มือของท่านได้เปื้อนเลือดไปแล้ว ทุกคนในสภาฯแห่งนี้ไม่มีใครสูญเสีย มีตนเพียงคนเดียวที่เป็นผู้สูญเสีย ดิฉันของใช้โอกาสสุดท้ายที่ในสภาฯแห่งนี้ เพื่อยังอยากเรียกร้องหาคนฆ่าพ่อของตนอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกข้อครหาว่าเหยียบศพพ่อของตัวเองเข้ามาที่สภาฯแห่งนี้ ตนก็อยากให้ กมธ.ทบทวนก่อนลงมติ เพื่อเรียกคืนความยุติธรรมและทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นด้วย
               
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่มีผู้อภิปรายต่อ ทำให้ นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา พท. เสนอญัตติปิดอภิปราย โดยที่มติเสียงข้างมากเห็นชอบให้มีการปิดอภิปราย กระทั่งที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงส่วนมาด้วยคะแนนเสียง 309 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง ต่อด้วยการอภิปรายในมาตรา 5 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 311 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ส่วนมาตรา 6 ไม่มีผู้ขออภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 314 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ต่อด้วยมาตรา 7 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน  315 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 เสียง

เวลา 04.24 น. กลุ่มส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจวอล์กเอาต์ เดินออกจาสภาฯ เนื่องจากไม่ได้อภิปราย

และที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากนั้น นายสมศักดิ์ จึงสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 04.25 น.
              
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ในระหว่างการพิจารณา 5 มาตรารวด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน นายชวน หลีกภัย และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่มีการลุกขึ้นทักท้วงแต่อย่างใด ทั้งนี้ รวมเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองตรวจสอบในชั้นวุฒิสภาต่อไป

สำหรับรายชื่อ ส.ส. 4 คนที่ใช้สิทธิงดออกเสียง ได้แก่ นายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สส.บัญชีรายชื่อและรมช.พาณิชย์ นพ.เหวง โตจิราการ สส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ

 

ที่มา: มติชนออนไลน์, โพสต์ทูเดย์ และ ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net