คำอธิบายเพิ่มเติมจากนิติราษฎร์ ไม่เอานิรโทษเหมาเข่ง

ฟื้นข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร และนิรโทษกรรม ย้ำต้องแยกออกจากกันไม่ใช่เหมาเข่งรวมกันใน พ.ร.บ. นิโทษกรรม เสนอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้โหวตเอาร่างฯ วาระ 1 มาพิจารณา หรือตั้งกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2 ใหม่

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่างนิรโทษกรรม ท่ามกลางผู้ฟังจำนวนมาก ที่ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ. ยันร่างฯ นิรโทษกรรมมุ่งหมายเฉพาะประชาชน การแก้ไขร่างฯ ของสภาที่ขยายไปยังเจ้าหน้าที่รัฐขัดต่อเจตนารมณ์ของร่างฯ ดังกล่าว และขัดรธน. พร้อมย้ำแนวทางลบล้างผลพวงรัฐประหาร

อ่านแถลงการณ์และข้อเสนอที่นี่

จากนั้นได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักคือ

ประเด็นแรก ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของความชอบด้วยพระราชบัญญัติ
วรเจตน์อธิบายว่า ขังบังคับสภานั้น กำหนดให้การพิจารณากฎหมายมี 3 วาระ  ในวาระที่ 2 นั้นเปิดโอกาสให้ส.ส. แปรญัตติว่าจะแก้ไขอะไรอย่างไร ประเด็นก็คือว่า ร่างฯ นี้ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ตามที่ทราบกันว่าแทนที่จะจำกัดกรอบการนิรโทษกรรมเอาไว้เฉพาะกับประชาชนที่ถูกสลายการชุมนุม กลับมีการแก้ไขไปรวมบุคคลอีกจำนวนหนึ่งเข้ามา โดยรวมเอาเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา สั่งการต่างๆ และยังไปรวมเอาบรรดาคดีที่มีการฟ้องคดีไปโดยคตส. คือคดีของทักษิณ ชินวัตรและคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องมา เหตุผลที่คณะกรรมาธิการฯให้ก็คือ เพราะเกรงว่าถ้านิรโทษเฉพาะประชาชนจะขัดกับหลักความเสมอภาคของรัฐธรรมนูญ จึงไปรวมเอาทุกคนเข้ามาหมดอ้างว่าเป็นการปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกัน

“แต่เหตุผลนี้ถ้าดูแล้วจะไม่มีน้ำหนักอะไรเลย เพราะสาระสำคัญของแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ประชาชนคือนิรโทษทุกสีไม่ว่าเหลืองแดง แต่กรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีสารถสำคัญต่างไป เพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับคตส. ยิ่งไม่เกี่ยว เป็นการเอามาอ้างเพื่อให้ครอบคลุมไปถึง”

วรเจตน์กล่าวว่าตามระเบียบการประชุมสภา นั้น การแก้ไขร่างฯ จะไปขัดกับหลักการที่ลงไว้ในวาระหนึ่งไม่ได้ เพราะถ้าจะไปเขียนใหม่ให้ครอบคลุมต้องเสนอกฎหมายเข้ามาใหม่ ไม่ใช่มาสอดระหว่างทาง เป็นหลักทั่วไปที่คนไมเรียนกฎหมายก็เห็นได้ แต่เมื่อสภาเห็นว่าไม่ขัด ก็ถามว่าจะขัดกับอะไร

นิรโทษขัดกับรธน. อย่างไร
วรเจตน์อธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้นายโภคิณ พลกุลอธิบายว่า การแปรญัตติขยายการนิรโทษให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐว่าขัดเฉพาะข้อบังคับ  แต่ นิติราษฎร์เห็นว่า การขัดหลักการนี้ขัดรัฐธรรมนูญด้วย ตามรธน. 153 ซึ่งบัญญัติว่า "การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี" หมายความว่ารัฐธรรมนูญให้การรับรองข้อบังคับการประชุมสภาไว้ การที่สภาฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภาจึงเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญด้วย

ประเด็นสำคัญอีกประการคือ ถ้าตีความว่านี่เป็นเรื่องขัดข้อบังคับการประชุมสภาจะยกเว้นก็ได้ ก็จะเกิดปัญหาว่าขัดกับวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายที่แบ่งเป็นสามวาระ เพื่อไม่ให้สภาที่เป็นเสียงข้างมากทำอะไรก็ได้ตามใจ 

นิรโทษแบบไม่เสมอภาค คือนิรโทษที่ไม่รวม 112
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อภิปรายต่อไปว่า สำหรับร่างฯ นิรโทษกรรมที่สภามาขยายให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐโดยอ้างความเสมอภาค วรเจตน์กล่าวว่า การที่ร่างฯ ดังกล่าวระบุว่า การนิรโทษนั้นไม่รวมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันนี้ต่างหากที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเรื่องความเสมอภาค รู้ได้ อย่างไรว่าคนที่ทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่เกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง การชุมนุมทางการเมือง เพราะถ้าเข้าข่ายก็ควรปล่อยตัวไป โดยเขาย้ำว่าคนทำผิดโทษอาญามาตรา 112 ควรได้รับโอกาสในการนำมาพิจารณาเพื่อนิรโทษกรรมเท่าเทียมกับความผิดอาญาฐานอื่น

ประเด็นที่ 2 ปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย
ปิยบุตร แสงกนกกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า ร่างฯ นิรโทษกรรมจะมีปัญหาในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย เพราะมีหลายคนทีอยู่ในหลายขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีการนิรโทษทุกขั้นตอนจะยุติ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นก็เมื่อเพนักงานแต่ละขั้นตอนจะต้องเผชิญกับการพิจารณาขอแต่ละองค์กรที่ใช้กฎหมายไม่เหมือนกัน เช่น ขั้นสอบสวน ขั้นอัยการ ขั้นศาล ซึ่งเห็นไม่ตรงกันได้ ไม่ต้องไปคิดไกลถึงตอนประกาศใช้เพราะขนาดคนร่างฯ ยังเห็นไม่ตรงกันเลยว่าคดีอะไรเกี่ยวบ้าง เห็นชัดเจนตรงกันมีกรณีเดียวคือ 112

"ปัญหาอยู่ที่ตัวคนร่างฯ เป็นคนใช้กฎหมายหรือเปล่า คนใช้กฎหมายนั้นคือพนักงานสอบสวย อัยการ ศาล แต่ถ้าเขาใช้กฎหมายเห็นไม่ตรงกับคนร่างฯ จะทำอย่างไร นี่จึงเป็นปัญหาว่า การเขียนกฎหมายต้องเขียนให้ชัด"

กรณีที่มีการพูดถึงศาลอาญาระหว่างประเทศว่า การประกาศใช้พ.ร.บ.นิรโทษทำให้เปิดทางไปสู่การนำผู้สั่งการสลายการชุมนุมไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นปิยบุตรอธิบายว่าไทยยังไม่ได้ทำทั้งสองเรื่องทั้งให้สัตยาบัน และยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไปกระทุ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมาดำเนินคดี แต่ไทยยังไม่ได้ทำและไม่มีอิทธิพลในการล็อบบี้ไม่ว่าในขั้นตอนใดๆ

สำหรับข้อเสนอของนิติราษฎร์นั้น ตอนที่เสนอเรื่องลบล้างผลพวงการรัฐประหารเมื่อปี 2554 จากนั้นเงียบหายไป เขาขอย้ำข้อเสนออีกครั้ง คือเรื่องลบล้างผลพวงการรัฐประหาร คือคดีต่างๆที่ไปเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และอีกเรื่องคือนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมผู้แสดงออกทางการเมืองอันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง

ทั้งนี้ข้อเสนอนิติราษฎร์ที่เคยเสนอเกี่ยวกับการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารและการนิรโทษกรรมานั้น เรื่องหนึ่งใช้ช่องทางทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แล้วต้องมีหมวดหนึ่งที่ลบล้างผลพวงการรัฐประหาร แล้วไปออกเสียงประชามติ เพื่อมาลบล้างบรรดาคำพิพากษาและบรรดาการกระทำขององค์กรต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร

อีกเรื่องคือเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งนิติราษฎร์เสนอให้ทำในรัฐธรรมนูญ 2550 เลย แต่ข้อเสนอทั้งสองนั้นอายุสั้น แต่วันนี้นิติราษฎร์จะชุบชีวิตข้อเสนอใหม่

"พูดง่ายๆ ว่าคดีคุณทักษิณที่เริ่มจากคตส. ไม่เป็นธรรม แต่เราไม่นิรโทษกรรม เราแค่ลบล้างคำพิพากษา นั่นหมายความว่า ถ้าหน่วยงานใดเห็นว่าทักษิณคอร์รัปชั่นจริง ก็ไปริเริ่มคดีกันใหม่ภายใต้กระบวนการปกติที่ไม่มี คตส. นี่คือการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร"

อีกประเด็น คือการเสนอให้ประกาศความเสียเปล่าของ มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญปี 2549 เพื่อให้เกิดผลว่าไม่มีการทำนิรโทษกรรมการรัฐประหาร คนที่ทำรัฐประหารจะถูกดำเนินคดีได้ แต่ข้อเสนอนี้คนที่เสนอให้ปรองดองเหมาเข่งจะกล้าทำหรือไม่

ปิยบุตรย้ำว่านิติราษฎร์เสนอสองเรื่องแยกกัน ไม่ได้มาปนกันในพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับเดียว

ประเด็นที่ 3 ย้ำข้อเสนอใช้รัฐธรรมนูญนิรโทษ
สาวตรี สุขศรี อธิบายถึงข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่เคยเสนอไว้เมื่อ 13 มกราคม ที่ผ่านมา คือข้อเสนอว่าด้วยการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองจากการรัฐประหาร และการขจัดความขัดแย้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อเสนอดังกล่าว เสนอการนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมทางการเมืองซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารปี 2549 และไม่เกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยสาวตรีย้ำว่า คณะนิติราษฎร์ ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงต่อการปรองดองโดยนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย เพราะทำให้การกระทำหรือการสั่งการของผู้มีอำนาจ ไม่ได้รับการพิสูจน์ นี่จึงนำมาสู่ข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรธน. เพื่อนิรโทษกรรมการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 2549 โดยมีช่วงระยะเวลาระหว่าง 19 กันยายน 2549 มาจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 เหตุที่เลือกวันนี้ เพราะเป็นวันที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น สั่งยุบสภา จึงเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นเริ่มคลี่คลาย

กฎหมายร่างรธน. ของนิติราษฎร์ เสนอแยกกลุ่มบุคคลที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม ออกจากกันเป็นสี่กลุ่ม โดยมีหลักการสำคัญดังนี้

ไม่นิรโทษกรรมให้จนท.รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา การกระทำใดๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หากกเป็นความผิดตามกฎหมาย ถือว่ายังเป็นความผิดตามกฎหมาย และต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ถามว่าขัดต่อหลักเสมอภาคหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่มีสาระสำคัญแตกต่างกัน จนท.รัฐ เป็นผู้ถืออำนาจรัฐ ในขณะที่ผู้ชุมนุมเป็นเพียงผู้กระทำ การไม่นิรโทษกรรมให้จนท. รัฐ จึงไม่ได้ขัดต่อหลักเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ

หากนิรโทษ จะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานว่า หากจนท.รัฐ ทำอะไรกับประชาชนในวันข้างหน้า ไม่ต้องรับผิดก็ได้ ในที่นี้ ข้อเสนอหมายถึงทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับสั่งการและปฏิบัติการ ไม่สมควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เนื่องจากตามระบบกฎหมายปกติ จนท. รัฐยังมีกฎหมายที่ยกเว้นโทษให้เขาได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 70 บอกว่า จนท.พนักงาน หากว่าปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชา และเชื่อโดยสุจริต ถ้าเกิดความเสียหาย จะได้รับการยกเว้นโทษ แต่จนท.รัฐต้องพิสูจน์ว่าเขาเชื่อเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่การสั่งฆ่าพลเมือง ยังไงเสียก็ไม่ชอบด้วยกม. เมื่อไม่ชอบด้วยกม. ก็เท่ากับว่า จนท. รัฐจะไม่สามรถอ้างอิงมาตรานี้เพื่อยกเว้นโทษให้กับตนเองได้

อาจมีบางกรณีที่จนท. รัฐสามารถอ้างเพื่อต่อสู้การกระทำของตนเองได้ คือมาตรา 17 ของพรก. ฉุกเฉิน ซึ่งระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา วินัย เนื่องจากการกระทำเพื่อระงับความผิดตามกฎหมาย หากว่าเหมาะสมและไม่เกินแก่เหตุ แต่ไม่ตัดสิทธิจากการถูกเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานราชการ การนิรโทษกรรมจึงไม่จำเป็นสำหรับจนท.รัฐ

ทางนิติราษฎร เสนอให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนทันที โดยแยกประชาชนออกเป็นสี่กลุ่ม ตามประเภทความผิด ได้แก่

1. บุคคลทั่วไปที่มีความผิด ไม่ว่าจะเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ แต่ได้รับความผิดฐานฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉินหรือพ.ร.บ. ความมั่นคง ซึ่งได้ประกาศในช่วงการเดินขบวนและชุมนุมประท้วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ให้นิรโทษให้ทันที ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นไหนก็ต้องปล่อยตัวทันที

2 ผู้เข้าร่วมเดินขบวนและผู้ขุมนุมในพื้นที่ทางการเมืองที่มีการประกาศพรก.ฉุกเฉินและพ.ร.บ. ความมั่นคง และมีการกระทำผิดทางอาญา ต้องได้รับนิรโทษกรรมโดยอัตโนมัติ แต่ต้องเป็นความผิดลหุโทษ คือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี

3. กรณีผู้ชุมนุมทางการเมืองตามพื้นที่ตามข้อสอง แต่เป็นการกระทำที่มีความผิดอาญาที่มีโทษสูง เช่นทำร้ายร่างกาย เผาทรัพย์ เสนอว่ายังไม่ได้รับนิรโทษกรรมทันที แต่จะได้นิรโทษต่อเมื่อมีการพิสูจน์ว่า การกระทำดังกล่าวมีเหตุจูงใจทางการเมือง ทั้งนี้ เสนอให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยด้วยต่างหาก

4 เป็นคนที่ร่วมชุมนุม หรืออาจไม่ร่วมก็ได้ แต่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือถูกกล่าวหาแต่มีข้อสงสัยว่ามีเหตุจูงใจทางการเมือง ที่อาจเป็นการแสดงความคิดเห็นก็ได้ ไม่ต้องลงมือกระทำ แต่เป็นการพูด การแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ก็อยู่ในข่ายที่อาจจะได้รับนิรโทษกรรม

ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมจะต้องไม่ขัดกับพันธกรณีที่ไทยไปลงนามหรือให้สัตยาบันไว้ด้วย จึงสำคัญว่า จะไม่รวมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนเรื่องแกนนำ ทางนิติราษฎร์มองว่าแยกกันยาก ฉะนั้นเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่ชุมนุม จึงไม่ได้แยกเอาไว้ จึงเน้นเรื่องแรงจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก

อีกประการหนึ่งที่สำคัญที่คณะนิติราษฎร์เสนอเป็นการแก้ไขรธน. เพราะการนิรโทษกรรมครั้งนี้ มีความสลับซับซ้อนมากกว่าครั้งอื่นๆ มีการปล่อยทอดเวลาออกไป มีหลายคนอยู่ในชั้นศาล บางคนถูกจำคุก บางคดีอยู่ในชั้นอัยการ หลายคดีมีความหลากหลายต่างกันออกไป การให้นิรโษกรรมรวมไปเลยโดยไม่มีการแยกแยะจึงไม่อาจทำได้ และต้องแบ่งเป็นประเภทต่างๆ

สาวตรีอธิบายว่า ปกติแล้ว การให้ออกเป็นกฎหมายร่างรัฐธรรมนูญ ต้องใช้รายชื่อประชาชนหมื่นคน แต่ถ้าเป็นร่าง พรบ. ต้องใช้รายชื่อห้าหมื่นคน และอาจถูกตีตกด้วยว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 3 และมาตรา 5 เพราะไม่เข้าข่ายกับสิทธิเสรีภาพประชาชน กระบวนการจึงจะรวดเร็วกว่าการทำเป็นร่างพรบ.

นอกจากนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรธน. ใช้พิจารณาเป็นสภาเดียว ไม่ต้องเป็นสามวาระเหมือนพ.ร.บทั่วไป จึงมองว่า ถ้าเสนอเป็นร่างรธน.ทำให้กระบวนการเหล่านี้รวดเร็วกว่า เพียงแต่การแก้ไขรธน. ต้องใช้เสียงข้างมากพิเศษ

นิติราษฏร์ยังรระบุว่า การทำเป็นร่างรธน. เพราะต้องมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อขัดแย้ง จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า บุคคลในคดีต่างๆ มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งองค์กรดังกล่าวต้องมีอำนาจเสมือนเป็นองค์กรตามรธน. มีอำนาจเสมอภาค ผูกพันเท่าศาลและองค์กรอื่นๆ ถ้าออกเป็นพ.ร.บ. แล้วให้องค์กรดังกล่าวมีอำนาจเท่าเทียมกับศาล จะขัดกับหลักรธน. จึงความจำเป็นต้องออกมาเป็นร่างแก้ไข รธน. นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องออกมาเป็นเช่นนี้

ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อขัดแย้งดังกล่าว ประกอบด้วย บุคคลห้าคน โดยมีที่มาเชื่อมโยงจากประชาชน ได้แก่
1. บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีหนึ่งคน
2. จากสส. สองคน หนึ่งคนมีและไม่มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
3. ศาลผู้พากษา หรืออดีตผู้พิพากษา เลือกโดยรัฐสภา
4. พนง. อัยการ หหรืออดีตพนง.อัยการ เลือกโดยรัฐสภา

เฉพาะหน้า ให้โหวตเอาร่างฯ วาระ 1 มาพิจารณา หรือไม่ก็ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา
วรเจตน์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ร่างฯ ที่กรรมาธิการได้แก้ไข นั้นขัดกับกระบวนการตรากฎหมาย ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งมีสถานะในทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีความเห็นทางกฎหมายต่างกันอยู่ เพราะฉะนั้นสถานะของเรื่องนี้ ถ้าปล่อยต่อไป อย่างน้อยมันมีความสงสัย ว่าต้องเถียงกันว่าเป็นเรื่องขัดกฎหมายระดับไหน ซึ่งเขาเห็นว่าถ้าเห็นปัญหาแบบนี้จะเดินหน้าต่อไปทำไม เพราะร่างฯ นี้มีคนแย้งมาแล้วว่าขัดหลักการ และหลายคนก็เห็นเหมือนเขาว่าเป็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญ แทนที่จะปล่อยไปแล้วที่สุดก็มีคนเอาเรื่องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

“เราอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามายุ่งเรื่องนี้หรือครับ ถ้าเรารู้แล้วว่ามันมีประเด็นแบบนี้ขึ้นมา ทำไมเราไม่แก้ไขมัน มันยังกลับลำได้เพื่อให้เดินทางไปให้ถูกต้องตามหลักการ ผมไม่อยากเห็นคนที่อยู่ในฝ่ายก้าวหน้าทะเลาะกันโดยไม่จำเป็น เขาเสนอว่า สภาควรจะไม่รับร่างฯ ของกรรมาธิการวิสามัญเสีย และมีคนเสนอญัตติในสภาว่าร่างฯ ของกรรมาธิการวิสามัญฯ ขัดกับหลักการไหม ถ้าขัด ให้ยกเลิกเสียแล้วเปิดทางให้มีการตั้งกรรมาธิการเต็มสภา ก็จะสามารถกลับไปใช้ร่างฯ แรกเป็นฐานได้ กลับไปหาร่างฯ ที่นิรโทษให้กับประชาชนเท่านั้น”

“แต่ถ้าสภาฯ รู้สึกว่าการแก้ปัญหาแบบนิติราษฎร์เสนอมันตรงไปหน่อยทำให้คนเสียหน้า ก็ยังแก้ได้อีกทางหนึ่ง โดยการที่สภาฯ ใช้การแปรญัตติกลับไปหาร่างฯ แรกโหวตให้กับร่างฯ แรกได้” วรเจตน์เสนอทางออก

“ความยุติธรรมที่ใครคนหนึ่งจะได้นั้น ไม่ควรจะได้บนความอยุติธรรมที่มีต่อคนอื่น ในส่วนของคุณทักษิณ ต้องคืนความเป็นธรรมให้กับเขา แต่อย่างที่ว่าการคืนต้องบรรลุวัตถุประสงค์สำหรับคนที่ข้องใจอยู่ ก็เปิดโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการที่ยุติธรรม แต่การเอามารวมกับการนิรโทษกรรมจากการสลายการชุมนุมมันไม่ถูก ก็ต้องเดินไปตามทางที่ถูก ที่บอกกันนี่ก็เป็นการบอกกันฉันมิตรเลย เพื่อให้เดินไปตามทางประชาธิปไตย”

วรเจตน์กล่าวด้วยว่าในส่วนของนิติราษฎร์เห็นว่าร่างฯ ของวรชัยยังมีปัญหา แต่มีหลักการแน่นอนว่านิรโทษเฉพาะประชาชน ส่วนเรื่องการเกี๊ยเชี๊ยะต่อรองนั้นวรเจตน์เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะต้องไปสนใจ แต่สิ่งที่ประชาชนจะต้องทำคือผลักดันสิ่งที่ควรจะเป็น

เขากล่าวเพิ่มเติมกรณีที่มีกระแสว่าหากมีการแก้มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารว่า ในความเป็นจริงไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น เพราะมาตรา 309 นั้นรับรองการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหาร โดยรับรองว่าชอบไปตลอดกาล แต่ 309 นั้นไม่มีผลต่อคดีต่างๆ

ซึ่งนิติราษฎร์นั้นเสนอให้ใช้อำนาจของประชาชนให้ประกาศให้มาตรา 37 ของรธน. ปี 2549 เสียไปไม่มีผลทางกฎหมาย โดยการลบล้างนี้ เปิดโอกาสให้กลับไปดำเนินคดีได้ แต่อาจจะมีคนบอกว่าแบบนี้จะไม่เป็นธรรมกับทักษิณ เพราะต้องถูกดำเนินคดีสองครั้ง แต่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ดำเนินคดีที่ถูกต้องเป็นธรรม หรือจะนิรโทษกรรมเขาไปเลย

โดยเหตุที่ทักษิณถูกโค่นอำนาจด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน และมีประเด็นเทคนิคทางกฎหมายตามมาเยอะแยะไปหมด การแก้ปัญหาให้ทักษิณไม่สามารถทำได้โดยกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง เพราะมันเชื่อมโยงกับระบบกฎหมายทั้งระบบ เพราะต่อให้มีการนิรโทษกรรมจริง ก็ยังมีข้อโต้แย้งต่อไปในอนาคตกันในภายภาคหน้าได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท