Skip to main content
sharethis

ประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ประเด็นความสัมพันธ์และความขัดแย้งของชนชั้นนำกับบทบาทของกลุ่มทุนและชนชั้นกลางยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้ศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลากับ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ชี้ฝ่ายก้าวหน้าไม่อ่านงานฝ่ายขวา คงคิดว่าฝ่ายขวาไม่มีปัญญาชน เสนอศึกษาเพิ่ม ปัญญาชนและชุดอุดมการณ์ขวาจัด

31 ต.ค.2556 มีการเสวนาหัวข้อ “14 ตุลา ยังจะมีอะไรให้ศึกษาอีกหรือ?” จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือ 'แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ' ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มธ.

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้ามอง 14 ตุลา เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ยังมีอะไรให้ศึกษาอีกมาก แต่ต้องเริ่มจากการพยายามทำลายกรอบโครงสร้างการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเดิม หรือพล็อตแบบเดิม ที่มีพระเอกกับผู้ร้าย มีการเล่าเสมอในลักษณะขาว-ดำ ซึ่งการเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้เป็นกรอบจำกัดทำให้ไม่เข้าใจความซับซ้อนของ สิบสี่ตุลา และเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย

ประจักษ์ กล่าวว่า หลัง 2475-2516 ผู้ร้ายคือทหารหรือกองทัพ ไม่ว่า นายพลคนไหน ถูกมองเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันหมด งานเขียนจำนวนมากถูกผลิตออกมาในกรอบว่าทำอย่างไรจะกันทหารออกจากการเมือง โดยไม่มองว่า โจทย์ไม่ใช่ทหารยึดอำนาจ แต่เป็นเรื่องคณะราษฎรของทหารกับฝ่ายเจ้า เมื่อมองทหารเป็นผู้ร้าย ทำให้มองไม่เห็น ผิดฝาผิดตัว ทั้งที่เป็นการต่อสู้ที่ซับซ้อนของกลุ่มคนหลายกลุ่ม และหลัง 2516 ก็เปลี่ยนเป็นหมดยุคทหาร มีนักเลือกตั้งมาคุมอำนาจ ผู้ร้ายคือนักการเมืองและนักเลือกตั้ง บวกกับชาวชนบทที่โง่ ไม่รู้จักประชาธิปไตยและขายเสียง

การเล่าประวัติศาสตร์ แบบ”โยนบาป” ทำให้มีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มลอยนวล ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นกลุ่มที่มีบทบาทมากในการก่อรูปประวัติศาสตร์ไทยและชิงอำนาจกับกลุ่มอื่น ตราบใดยังไม่เปลี่ยนพล็อต และมองว่าแต่ละช่วงมีกลุ่มคนไหนบ้างที่ต่อสู้กันอย่างซับซ้อน ร่วมมือ หักหลังกันอย่างไร เมื่อนั้นจะไม่เห็นประวัติศาสตร์ไทยที่แท้จริง เพราะไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เช่น กลุ่มเจ้านาย ที่ยังมีอำนาจหลัง 2475 มาแล้ว บางครั้งจับมือทหารบางช่วง บางครั้งหักหลังกันเอง แค่พลวัตรสองกลุ่มก็ไม่เคยถูกศึกษาอย่างจริงจังในประวัติศาสตร์ไทย

ถ้าจะเข้าใจความรุนแรงทางการเมืองทั้งสี่ครั้งในสังคมไทย (14 ตุลา/ 6 ตุลา/ พ.ค.35/ พ.ค.53) ว่าทำไมเกิดขึ้นได้บนท้องถนน ต้องเข้าใจความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่มนี้ ที่มันมีความร่วมมือและความขัดแย้งที่ต่างกันไปในทั้ง4เหตุการณ์

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา มีตัวละครหลายตัวหรือชนชั้นนำหลายกลุ่มที่ไม่ถูกศึกษา หรือกันออกไปจากการศึกษาทางการเมือง อาทิ บทบาทของชนชั้นกลางก่อน 14 ตุลา มีบทความของ เบน แอนเดอสัน เรื่องบ้านเมืองของเราลงแดง โดยพูดถึงชนชั้นกลางหรือชนชั้นกลางระดับล่าง คอปกขาวนักวิชาชีพ แรงงาน ว่ามีส่วนร่วมในการปลี่ยนแปลง 14 ตุลา ด้วย เป็นฐานทางสังคมที่ก่อให้เกิดขบวนการที่เห็น แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีงานศึกษาว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน คิดอะไร ทำไมออกมาเคลื่อนไหวกับนักศึกษา เมื่อไม่เข้าใจบทบาทชนชั้นกลางดีพอ หลัง 14 ตุลา จน 6 ตุลา จึงอธิบายอะไรไม่ได้เท่าไหร กลายว่า มีคำอธิบายว่าชนชั้นกลางหนุนนักศึกษา จน นักศึกษาเอียงซ้าย จึงถอนไป และมาหนุนขวาแทน ซึ่งในเชิงรูปธรรมไม่เคยรู้เลยว่าคือใคร ย้ายข้างจริงไหม

โยงถึงการเมืองปัจจุบัน กลุ่มคนที่ถูกเรียก สลิ่ม ชนชั้นกลางโลกสวย น่าสนใจว่า คือใคร เหมือนชนชั้นกลางก่อน 14 ตุลาคม2516 หรือ ก่อน 6 ตุลาคม 2519 หรือไม่

นอกจากนี้ ยังขาดงานเรื่องความแตกแยกในกองทัพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากและทำให้เหตุการณ์สิบสี่ตุลาเกิดขึ้นได้ แต่เรารู้น้อยมาก ยังต้องศึกษา ว่าแตกกันแค่ไหน ใครแตกกับใครบ้าง ยังมีตัวละครที่ยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลนี้ ยอมให้ข้อมูลตายไปกับตัวเอง เช่นเดียวกับเหตุการณ์  19 กันยายน 2549

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม2516 ลับลวงพราง ไม่แพ้ เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา ยังไม่มีใครไปขุดว่าใครขัดแย้งใครบ้าง ระหว่างรอยัลลิสต์กับทหาร และทหารกับทหารแตกแยกกันยังไง รอยัลลิสต์ที่มาต่อสาย นักศึกษา จนแกนนำส่วนหนึ่งของนักศึกษาได้ไปเข้าเฝ้า มีบทบาทยังไง เป็นใครบ้าง

ช่วง 11 วันจาก 6- 15 ต.ค.2516 ช่วงชุลมุนยังไม่รู้ข้อเท็จจริงเลยว่า ใครทำอะไร ตัดสินใจอย่างไร ทำไมถนอม-ประภาส ต้องออกนอกประเทศ เหตุใดจึงเกิดการปะทะขึ้นในเช้าสิบสี่ตุลา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ เจ้าสัว นายธนาคาร ที่ไม่รู้ว่า ตอนนั้นอยู่ฝ่ายไหน มีบทบาทยังไง เป็นไปไม่ได้ที่จะวางตัวเฉยตอนที่ นักศึกษา มาเดินขบวน  การพยายามหาข้อเท็จจริงเหล่านี้ ถ้าทำได้จะเป็นคุณูปการใหญ่หลวง

ขณะที่ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิจัย Political & Social Change มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ย้ำว่ายังมีเรื่องต้องศึกษาต่อไป โดยเสนอหัวข้อใหญ่สองหัวข้อคือ การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองของการพิมพ์และอ่านหนังสือวารสารและหนังสือพิมพ์ก้าวหน้าหลัง 14 ตุลาและหลัง 6 ตุลา และ ปัญญาชนและอุดมการณ์ขวาจัด

โดยไทเรล ขยายความว่า เรื่องของปัญญาชนและอุดมการณ์ขวาจัด ยังมีการศึกษาไม่มากพอ ทั้งนี้คิดว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายก้าวหน้าที่ไม่อ่านงานของฝ่ายขวา เพราะคงมองฝ่ายขวาไม่ใช่ปัญญาชน

ไทเรล ยกตัวอย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งไม่ใช่นายกฯ ที่มาจากระบอบประชาธิปไตยโดยตรง แต่ก็เขียนงานออกมาหลายเล่มจนปัจจุบัน ที่ห้องสมุด มธ. มีทั้งสิ้น 85 ชิ้น ในช่วงต่อต้านคอมมิวนิสต์ ธานินทร์ได้เขียนหนังสือต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เขียนถึงสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตย หลังยุคต้านคอมมิวนิสต์ ธานินทร์ก็เขียนหนังสือจริยธรรมกับคนดี และที่น่าสนใจมากคือ ใช้นามปากกาเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับผีด้วย

ไทเรลบอกว่า น่าคิดมากว่า ธานินทร์ก็มองตัวเองเป็นปัญญาชน ในคำนำหนังสือ การใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์ ยาว 400 กว่าหน้า ระบุว่าเขียนเพื่อบุคคลทั่วไปและนักศึกษามหาวิทยาลัย ไม่ใช่เฉพาะสำหรับนักกฎหมาย หรือตำรวจ โดยเขียนถึงแนวคิดของสายสังคมนิยม รวมถึงสถานการณ์ของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว และมีความหวาดกลัวว่า เจ้าของที่ดิน นายทุน จะถูกสังหาร หากเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย

ไทเรลชี้ว่า นอกจากธนินทร์แล้ว ยังมีปัญญาชนขวาจัดอีกหลายคนที่ควรจะได้อ่านงานเขียนของพวกเขาอย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจ

"การเขียนประวัติศาสตร์สิบสี่ตุลาเพิ่งเริ่มต้น ไม่ใช่เป็นประวัติศาสตร์ที่เสร็จสมบูรณ์ ยังมีอีกหลายหัวข้อที่ควรจะทำ" ไทเรลกล่าว


 

 

หมายเหตุ: พบกับรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่เร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net