เหตุเกิดจากความขาว : กรณีปกโว้ก ไทยแลนด์ นาโอมิ แคมป์เบล

ก่อนหน้านี้เคยเห็นภาพที่เขาแชร์กันในเฟซบุ๊กที่มีพระสงฆ์เจิมคำว่า VOGUE ที่บริษัทของนิตยสารโว้ก ไทยแลนด์ ซึ่งตอนนี้คิดว่าอาจจะต้องนิมนต์พระสัก 99 รูปมาเจิมพร้อมประพรมน้ำมนตร์อีกครั้ง คาดว่ารูปเดียวคงเอาไม่อยู่ เพราะหลังๆ โว้ก ไทยแลนด์ มีกรณีให้วิพากษ์วิจารณ์กันเล่มเว้นเล่มเลยทีเดียว หลังจากจบจากปก ‘ประดิดประดอย’ อั้ม-พัชราภา* ไปไม่นานก็เกิดกรณีปกล่าสุด ซูเปอร์โมเดลระดับโลก นาโอมิ แคมป์เบล (Naomi Campbell) กับหน้าปกที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์หนาหูเริ่มต้นจากสื่อนอกลามมาสื่อไทย ลามไปโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า รีทัชจนเกินงามทั้งเรื่องสีผิวที่แตกต่างจากสีผิวจริงของเธอรวมไปถึงโครงหน้าที่มีการติติงกันว่ารีทัชอีกด้วย

โดยข่าวต่างประเทศที่มีการหยิบยกมาอ้างถึงมากที่สุดน่าจะเป็นมาจาก Huffington Post และที่เจ็บแสบมากจริงๆ ตั้งแต่พาดหัวข่าวที่ว่าหายนะของโฟโต้ช็อป นั้นมาจาก The Gloss โดยสื่อไทยที่เล่นข่าวนี้ตามมาติดๆ โดยอ้างจากแหล่งข่าวทั้งสองก็คือข่าวสด

ซึ่งภาพเจ้าปัญหานี้ถูกโพสต์ที่เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของนิตยสารโว้ก ไทยแลนด์เอง

รวมถึงเมื่อมีข่าวแพร่กระจายออกไปเกี่ยวกับสีผิวอันผิดเพี้ยนจากตัวจริงของนาโอมิ แคมป์เบล บนปกโว้กไทยแลนด์ ทางเฟซบุ๊กของโว้ก ไทยแลนด์ ก็ส่งคำอธิบายมาเป็นอีเมล์คำอธิบายจากช่างภาพ Marcin Tyszka ซึ่งเป็นคนถ่ายปกนี้ (แหมมม...ก็น่าจะแปลเป็นไทยให้อ่านสักหน่อย เอ๊ะ หรือว่าคนที่อ่านโว้กไทยแลนด์ น่าจะอ่านภาษาอังกฤษแตกฉานกันทุกคนอยู่แล้ว)

จากความเผือกส่วนตัว ซึ่งเห็นนาโอมิ แคมป์เบล์ บนปกโว้กแล้วไม่รู้สึกอะไรมาก รู้แค่ว่าไม่สวย (อันนี้รสนิยมส่วนตัวที่ไม่มีสถาบันทางศิลปะใดๆ มารองรับนะคะ) ทำให้ดิฉันต้มมาม่ารอดราม่าพร้อมกับนั่งค้นหาข้อมูลต่อ กรณีเรื่องการถ่ายภาพแฟชั่นคนผิวสีออกมาแล้วสีผิวดูสว่างกว่าสีผิวจริง ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เคยปรากฏมาก่อนในกรณีของบียอนเซ่ ( Beyonce) กับภาพแอดโฆษณา L'oreal (ย้อมสีผม) ในปี 2008 ที่สีผิวของบียอนเซ่นั้นสว่างกระจ่างใส ห่างไกลกับคำว่าคนผิวสียิ่งนัก รวมไปถึงภาพโปรโมทอัลบั้มที่ 4 (ชื่ออัลบั้มก็ชื่อ 4) ของเธอ ที่ดูไปดูมานึกว่าพาเมล่า แอนเดอสัน ซึ่งก็เป็นผลจากการโฟโต้ช็อปเช่นเดียวกัน (dailymail)

มาถึงกรีณีของนาโอมิบนปกโว้กไทยแลนด์บ้าง ช่างภาพ Marcin Tyszka เคยถ่ายนางแบบผิวสี Sharam Diniz ลงนิตยสารหัวใหญ่ระดับโลกมาก่อน ล่าสุดก็ปกโว้ก โปรตุเกส ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผลลัพธ์ออกมาดังนี้

รวมไปถึงนางแบบสาว Sessilee Lopez ในนิตยสาร 25 ในปี 2010

และนายแบบหนุ่มผิวสี Sacha M'Baye ในนิตยสาร Esquire สเปน ในเดือนพฤษภาคมคมที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน (อันนี้ล่ะพาสเทลของจริง)

จากความรู้สึกส่วนตัว ภาพถ่ายของ Marcin Tyszka ที่ยกตัวอย่างไปนั้น นางแบบและนายแบบดูจะมีสีผิวที่ดูออกโดยง่ายว่าเป็นนางแบบนายแบบผิวสี (แต่อย่าลืมว่าแสงคนละแสง แต่งหน้าคนละแบบ และคอนเซ็ปต์การถ่ายคนละแบบ) แต่เมื่อดูเซ็ตแฟชั่นของ Sessilee Lopez ในนิตยสาร 25 ก็จะเห็นเค้าลางการแต่งหน้า และแสง ที่ดูขาวมันวาวเป็นเงาในส่วนที่โดนแสง คล้ายๆ กับของนาโอมิ แคมป์เบล (เพียงแต่โทนภาพต่างกัน) ที่ทำให้นางแบบก็ดูสว่างขาวกว่าปกติ แต่ก็ยังดูเป็นคนผิวสีอยู่

มาดูกันที่นาโอมิ แมป์เบล บ้างว่า เธอเคยถ่ายภาพแฟชั่นแนวนี้ (ที่สีผิวอาจจะดูสว่างกว่าสีผิวจริงด้วยการถ่ายภาพ +โฟโต้ช็อปด้วย)) หรือไม่ ก็คงต้องตอบว่าเคย ดังตัวอย่างเช่น

1. Harper's Bazaar รัสเซีย ในเดือนพฤศจิกายน 2012

2. GQ รัสเซีย 2010

3. Vanity Fair อิตาลี

4. Glamour สเปน 2008

5. Vogue รัสเซีย 2010

จากภาพแฟชั่นบางส่วนนั้น จะเห็นได้ว่าในหลายๆ รูป นาโอมิก็ดูผิวสว่างกว่าผิวจริง (ทั้งด้วยการถ่ายและการปรับสี โฟโต้ช็อป) บางรูปก็สว่างเป็นมันวาวเฉพาะบางส่วนอันเป็นผลจากเมคอัพ แสง และคอนเซ็ปต์ในการถ่ายภาพ เรียกได้ว่าลุคนาโอมิที่ไม่ได้ดำดาร์กช็อกโกแลตนั้น เคยมีมาก่อนหน้านี้ และมีการผลิตมาตลอดเวลา (เช่นเดียวกันกับลุคดำดาร์ค ช็อกโกแลตที่คนทั่วโลก รู้จัก เห็น ชินตา และปลาบปลื้มในความสวยงามของสีผิวของเธอ)

กลับมาดูคำชี้แจงของช่างภาพ Marcin Tyszka ที่บอกว่านำลุคของ Prada ในลุคสาวยุค 60s มาเป็นมาเป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพเซ็ตนี้ แต่ใช้สี แสง ที่อ่อนนุ่มลง เมื่อกลับไปดูตัวอย่าง หรือที่คนแฟชั่นเรียกกันว่า Reference ของปราด้าในคอลเลกชั่นฤดูหนาว 2013 นี้ (ทำไมถึงต้องเป็นปราด้า ก็เพราะเสื้อผ้าที่นาโอมิ แคมป์เบล ใส่บนปกคือชุดของปราด้าไงคะ) ก็จะเห็นว่า มีการไล้เงาสว่างบนหน้าและผิวและภาพออกมาในโทนสี(ผิว)เทาขาวซีดเหมือนกัน เพียงแต่ในแอดของปราด้านั้นจะแสงจะดูนัวร์กว่าเท่านั้น แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ในแอดของปราด้าซีซั่นนี้ที่เอามาเป็นเรฟเฟอเรนซ์ มีนางแบบผิวสี 1 คนที่เข้ารอบได้มาถ่ายแอด และนับเป็นนางแบบผิวสีในรอบ 19 ปี (ก่อนหน้านี้ก็คือนาโอมิ แคมป์เบล นั่นแหละ ในปี 1994) ที่ปราด้าใช้มาเป็นแบบถ่ายแอดแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งก็คือ Malaika Firth สาวลูกครึ่งเคนย่าสัญชาติอังกฤษ วัย 19 ปี ซึ่งเมื่อดูจาพภาพแอดแล้ว หลายคนก็คงงงว่านี่คือนางแบบสาวผิวสีหรือ เพราะภาพถูกทำให้ออกมาในโทนสีเทาและมีเฉดความสว่างแบบมันเงาที่ผิวด้วยแสงและการแต่งหน้าและแต่งผิว (เหมือนนาโอมิ) แต่อาจด้วยเพราะ Malaika Firth ก็ผิวไม่ดาร์กช็อกโกแลตเท่ากับนาโอมิ แคมป์เบล เธอแค่ผิวสีน้ำตาลด้วยความเป็นลูกครึ่ง แต่ถึงอย่างไร ภาพที่ออกมาก็ทำให้เธอดูเหมือนคนขาวอยู่ดี (แต่ไม่ยักกะเป็นประเด็นแฮะ)

แล้วปัญหาของภาพนาโอมิ แคมป์เบล บนปกโว้ก ไทยแลนด์ คืออะไร จากการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในตอนนี้ นอกจากจะมีการกล่าวว่าโว้กไทยแลนด์ทำให้นาโอมิ แคมป์เบล สีผิวแตกต่างจากสีผิวจริง ไปจนถึงประเด็นการเหยียดสีผิว (racism) ว่าเป็นเพราะคนไทยคลั่งความขาว (แล้วคนรัสเซียผู้ไม่เคยเจอแดดอยากผิวสีแทนจะตาย ทำไมนาโอมิถึงออกมาผิวสว่างอย่างกับทากวนอิมล่ะ ?) หรือเป็นการดูถูกคนผิวสีว่าอุดมคติความสวยงามคือผิวสว่างกระจ่างใส จนถึงขั้นต้องปรับสีผิวให้นาโอมิมีผิวสว่างกว่าปรกติ

ดิฉันคิดว่า ประเด็นแรก ภาพนาโอมิ แคมป์เบล บนปกโว้กไทยแลนด์นี้ ไม่น่าจะถูกยกระดับไปถึงประเด็นการเหยียดสีผิว (racism) ด้วยเพราะบริบทขององค์ประกอบไม่น่าจะนำพาไปถึงประเด็นนั้นได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบโฆษณาชิ้นดังที่โดนถล่มไปไม่นานมานี้ เรื่องการนำนางแบบผิวขาวมาทำเป็นผิวสีของดังกิ้น โดนัท หรือโฆษณาของคลินิกความงามชื่อดังที่คนในครอบครัวผิวคล้ำหมด แต่ลูกสาวที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของคลินิกนี้กลับผิวขาวกระจ่างใจผิดกรรมพันธุ์อยู่คนเดียว ก็คงจะเห็นว่าภาพของนาโอมินั้นไม่ได้มีการโฆษณาโน้มเอียงไปในทางที่ชี้ให้เห็นว่านาโอมิขาวสวย จงขาวตามนาโอมิสิ

ซึ่งจะหาว่านาอีฟ ไม่เข้าใจจิตใต้สำนึกเรื่องความขาวกับความเป็นไทยก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนทั่วโลกก็รู้อยู่แล้วว่า นาโอมิ แคมป์เบล เป็นสาวผิวสีดาร์กช็อกโกแลต และก็ชื่นชมเธอในฐานะนางแบบผิวสีที่ประสบความสำเร็จที่สุดในวงการแฟชั่น เช่นเดียวกันกับทีมงานโว้กที่ก็น่าจะไม่นาอีฟหรือโง่พอที่จะใช้ตรรกะว่าคนไทยบ้าความขาว เพราะฉะนั้นก็ทำให้นาโอมิขาวขึ้นเสียสิ จะได้ดูสวย ขายดิบขายดี (อันนี้จงพิจารณาแยกกันกับประเด็นรีทัช หรือไม่รีทัช และรีทัชปรับสีผิวให้สว่างเพราะอะไร)

อีกทั้งที่ผ่านมาตลอดกว่า 25 ปี ในวงการแฟชั่น นาโอมิ แคมป์เบล ในฐานะนางแบบก็ถูกนำเสนอในหลากหลายเฉดมาโดยตลอด (ดังเช่นที่ยกตัวอย่างให้ดู) ซึ่งหากคิดในทางศิลปะ นางแบบก็คงเหมือนกับวัตถุๆ หนึ่งที่ถูกนำมาปรับแต่งตามคอนเซ็ปต์ของการสร้างสรรค์งานชิ้นนั้นๆ แต่หากงานชิ้นนั้นมีคอนเซ็ปต์ส่อไปในทางการเหยียดสีผิวจริง (เช่นดังกิ้น โดนัท กับการเปลี่ยนนางแบบผิวขาวเป็นผิวสี ที่มีบริบททางประวัติศาสตร์มารองรับเป็นเรฟเฟอเรนซ์) ก็สมควรจะถูกประณาม เช่นเดียวกันกับการโฆษณาทางตรงและทางอ้อมในเรื่องความสวยงามของผลิตภัณฑ์ความสวยความงามที่เอาความขาวเป็นที่ตั้ง และหากเราพิจารณาถึงคอนเซ็ปต์การถ่ายภาพในครั้งนี้ ก็เห็นว่าไม่ได้โน้มเอียงไปในเรื่อง "ความขาว" หรือ "ความสวยในแบบผิวขาว" เลยแม้แต่น้อย (และคนที่บ้าจี้จะพยายามขายเรื่องขาวแล้วสวยผ่านนาโอมิ แคมป์เบลก็คงโง่ไม่น้อย)

แน่นอนล่ะว่าประเด็นเรื่องการเหยียดสีผิว เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเปราะบางไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย แต่ยังเป็นประเด็นระดับสากล แต่หาก (ดิฉัน) จะมองก็คงมองเพียงว่าภายใต้คอนเซ็ปต์การถ่ายภาพแบบนี้ นาโอมิ แคมป์เบล ถูกพรีเซนต์แบบนี้ สวยไม่สวย รอดไม่รอด เท่านั้นเอง ส่วนหากถามว่าทำไมประเด็นนี้ถึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก็อาจเป็นเพราะ 3 สาเหตุนี้รวมกัน

1. เพราะมันเป็นโว้ก ไทยแลนด์ (ที่ถูกจับตาและ performance ไม่ดีนักตั้งแต่เล่มแรก)

2. มีการปรับสีผิวจนเกินงาม (แถมนางแบบยังเป็นผิวสีอีก)

3. ต่อมเรื่องอุดมคติความงามกับความขาวของคนไทยนั้นสะกิดได้ง่าย เพราะมันจี๊ดอยู่

ทั้งหมดจึงถูกนำมาผสมปนเปกันและพากันเฮละโลไปจนเลยเถิดว่านี่มันเหยียดผิวชัดๆ หรือคนไทยบ้าความขาวนาโอมิเลยต้องถูกปรับสีผิวให้ขาว

หรือพูดให้ย่นย่อเข้าคงต้องบอกว่า เพราะโว้กไทยแลนด์นั้นซวย! (ควรจะต้องนิมนต์พระมาเจิมมารดน้ำมนตร์อีกหลายๆ รอบ)

ปล.1 บทความนี้ไม่พิจารณาในประเด็นโฟโต้ช็อปปรับเปลี่ยนรูปหน้า

ปล. 2 จากประสบการณ์การทำงาน ทุกการถ่ายแบบมีการรีทัชปรับสีผิวแหงๆ อยู่แล้ว

ปล. 3 ดิฉันไม่ได้ทำงานให้โว้กไทยแลนด์และไม่มีหุ้นในนั้นนะคะ

หมายเหตุ

* กรณีปกประดิดประดอย อั้ม พัชราภา นั้น ดิฉันขอให้ข้อมูลสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตาม ว่าเกิดเมื่อ VOGUE ฉบับเดือนกันยายนออกวางแผง อันเป็นเดือนสำคัญของวงการแฟชั่น VOGUE ทั่วโลกล้วนเป็นที่จับจ้อง แต่เวอร์ชั่นของไทยนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าดูไปประหนึ่งคล้ายปกนิตยสาร ‘ประดิดประดอย’ ข้อมูลเพิ่มเติม อ่านได้จาก 2 กระทู้นี้นะคะ http://pantip.com/topic/30905712

http://pantip.com/topic/30927235

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท