Skip to main content
sharethis

 

คลิกดูภาพขนาดใหญ่

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมหลากสีหลายฝ่ายต่างออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจรัฐบาลอย่างคึกคัก ผู้สื่อข่าวประชาไทรวบรวมข้อมูลการชุมนุมปักหลักแสดงความไม่พอต่อรัฐบาล ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครในรอบสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เท่าที่มีการรายงานโดยสื่อมวลชนแขนงต่างๆ โดยแต่ละกลุ่มทั้งที่ยังคงชุมนุมอยู่ และพักการชุมนุมไปแล้ว มีพื้นที่ปักหลัก และข้อเรียกร้องดังนี้

1. เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)
ถนนพระราม 6 ใกล้แยกอุรุพงศ์ กทม.

ผู้ชุมนุมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. นำโดย อุทัย ยอดมณี เป็นกลุ่มที่แยกออกมาจาก "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" หรือ กปท. ซึ่งเดิมปักหลักชุมนุมขับไล่รัฐบาลอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 8 ต.ค. 56 ต่อมารัฐบาลมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และให้ตำรวจเจรจาผู้ชุมนุม กปท. ให้ย้ายพื้นที่ชุมนุมออกไปนอกพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยให้เหตุผลว่าระหว่างวันที่ 11 - 13 ต.ค. นายกรัฐมนตรีจีนจะมาเยือนทำเนียบรัฐบาล ทำให้ในวันที่ 10 ต.ค. ผู้ชุมนุม "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" ซึ่งมีผู้ชุมนุมจากกองทัพธรรมมูลนิธิ ของพุทธศาสนิกชนจากกลุ่มสันติอโศกด้วย ได้ย้ายไปชุมนุมที่สวนลุมพินี แต่มีผู้ชุมนุมบางส่วนนำโดย นิติธร ล้ำเหลือ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอุทัย ยอดมณี นายกองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ไปเคลื่อนปักหลักอยู่ที่แยกอุรุพงษ์ ด้านถนนพระราม 6 ขาออก ใกล้จุดขึ้นลงทางยกระดับ ใช้ชื่อว่า "เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย" หรือ คปท.

จากรายงานของ โพสต์ทูเดย์ ข้อเรียกร้องของ คปท. ที่ประกาศไว้เมื่อ 13 ต.ค. ระบุว่า

1.ขอให้รัฐบาลหยุดดำเนินการติดต่อกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอย่าให้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล 2.ขอตรวจสอบคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ในข้อหาก่อการร้าย โดยให้ตรวจสอบอย่างละเอียด 3.ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลไม่ให้แต่งตั้งนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ไปดำรงตำแหน่งใดทางการเมืองและองค์กรอื่นๆ นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลไม่ให้ปิดกั้นการเดินทางของประชาชนที่จะเดินทางเข้าร่วมการชุมนุมในทุกวิถีทาง

อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมอยู่ระหว่างพักปราศรัยทางการเมือง 3 วัน เพื่อถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ส่วนกิจกรรมล่าสุดนั้น เมื่อวันที่  27 ต.ค. ผู้ชุมนุม คปท. นำโดย อุทัย ยอดมณี เดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ถ.ศรีอยุธยา เพื่อแจ้งความว่ามีผู้ไม่หวังดีนำหมามุ่ยมาโปรยลงมาจากทางด่วนพระราม 6 ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 50 ราย นอกจากนี้ผู้ชุมนุมได้ไปสอบถามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ด้วย เพื่อขอดูภาพวงจรปิดบนทางด่วน แต่เนื่องจากบนทางด่วนไม่มีกล้องวงจรปิด ผู้ชุมนุมจึงเดินทางกลับมาชุมนุมต่อยังแยกอุรุพงษ์ตามเดิม

ล่าสุดในช่วงเย็นวันที่ 27 ต.ค. ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนมาปิดบริเวณแยกอุรุพงษ์ ด้าน ถ.เพชรบุรีด้วย โดยเป็นการปิดแยกอุรุพงษ์ทุกด้าน ยกเว้นมาจากแยกศรีอยุธยา มุ่งหน้าถนนพระราม 6 เลี้ยวซ้าย ไปถนนเพชรบุรี ได้เส้นทางเดียว

 

2. กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)
สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร

กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือ กปท. มีแกนนำในรูปแบบคณะเสนาธิการร่วม ประกอบด้วย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ พล.อ.ชูเกียรติ ตันสุวัฒน์ พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคณี พิเชษฎ พัฒนโชติ และไทกร พลสุวรรณ นอกจากนี้ยังมีพุทธศาสนิกชนจากสันติอโศก โดยกองทัพธรรมมูลนิธิ นำโดย ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ เป็นมวลชนสำคัญด้วย โดยเริ่มชุมนุมที่สวนลุมพินีตรงลานอนุสาวรีย์สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ 4 ส.ค. 56 ต่อมาในวันที่ 6 ส.ค. 56 ได้ย้ายเข้าไปชุมนุมภายในสวนลุมพินี ด้วยเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัยการชุมนุม

ข้อเรียกร้องของกลุ่มที่ระบุในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 "ลั่นระฆังรบ โค่นระบอบทักษิณ" ได้ระบุข้อเรียกร้องว่า 1. เราขอลั่นระฆังต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย 2. เราขอคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่จะนำมาสู่การล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ 3. เราจะชุมนุมโดยสงบสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ ตามวิถีของประชาธิปไตย และ 4. เราขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่า ทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกราชการ พี่น้องประชาชนที่รักชาติ ประชาธิปไตย และเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อปฎิรูปประเทศไทย

ทั้งนี้ กปท. ได้เคลื่อนไปปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 8 ต.ค. แต่ในวันที่ 10 ต.ค. ได้ย้ายกลับมาชุมนุมที่สวนลุมพินีตามเดิม หลังตำรวจเจรจาว่าจะมีนายกรัฐมนตรีจีนเดินทางเยือนประเทศไทยและทำเนียบรัฐบาลระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งไม่ยอมกลับมาที่สวนลุมพินี และได้แยกตัวออกมาตั้งกลุ่ม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ชุมนุมกันอยู่ที่แยกอุรุพงษ์ดังกล่าว


3. แนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน
ซอยโยธินพัฒนา 3 ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม กทม. (ยุติกิจกรรมเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 56 เวลา 15.30 น.)

แนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน นำโดยไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ซึ่งเคยชุมนุมอยู่ในสนามหลวงในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ต.ค. เวลา 14.00 น. ชุมนุมกันที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. ปากซอยห้างสรรพสินค้า Chic Republic ห่างจากปากซอยโยธินพัฒนา 3 ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม ทางเข้าบ้านพักของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดย สปริงนิวส์ รายงานว่า ข้อเรียกร้องแนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดินคือ ต้องการพบนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้ไทยไม่รับคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลกที่จะอ่านคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหารในวันที่ 11 พ.ย. นี้ ส่วนจะมีการยกระดับการชุมนุมหรือไม่นั้น จะต้องประเมินจำนวนผู้ชุมนุมก่อน

ทั้งนี้เป้าหมายเดิมของแนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดินคือชุมนุมที่ปากซอยโยธินพัฒนา 3 อย่างไรก็ตามมีคนเสื้อแดง "กลุ่มสื่อวิทยุเพื่อประชาธิปไตย" หรือ กวป. มาชุมนุมไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้กลุ่มที่มีนายไชยวัฒน์เป็นแกนนำย้ายมาปักหลักห่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงดังกล่าว

ต่อมา ผู้กำกับ สน.โชคชัย ได้มาประสานแจ้งว่าจะรับเรื่องไปแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบและให้ผู้ชุมนุมสลายตัวไปก่อน โดยนายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ให้เวลาตำรวจในการประสานงานภายใน 7 วัน หากไม่มีความคืบหน้าจะนัดมวลชนกลับมาชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 3 พ.ย. เวลา 14.00 น.ที่บ้านพักของนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จากนั้นได้มีการประกาศยุติการชุมนุม และไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น


4. เครือข่ายภาคประชาชน 77 จังหวัด
หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กทม. (ยุติกิจกรรมเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 56 เวลา 16.00 น.)

การประชุมดังกล่าว เป็นการหารือของผู้นำมวลชนคัดค้านการทำหน้าที่ของรัฐบาลกลุ่มต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 56 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน 77 จังหวัด นำโดย สุริยะใส กตะศิลา, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นิติธร ล้ำเหลือ, อุทัย ยอดมณี, ระวี มาศฉมาดล, สมบูรณ์ ทองบุราณ, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์, สุริยันต์ ทองหนูเอียด เข้าร่วมประชุมเพื่อคัดค้านการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมติดตามความเคลื่อนไหวคดีปราสาทพระวิหาร

คมชัดลึก รายงานความเห็นของสุริยะใสต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เห็นว่า "กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ Set zero หรือเริ่มต้นกันใหม่ แต่เป็น Zero sum game เพราะมีคนๆ เดียวได้ประโยชน์ และยิ่งจะสร้างความแตกแยกเพิ่มเติม"

ในตอนท้ายมีการแถลงข่าว โดยไทยโพสต์ได้รายงานการแถลงข่าวของสุริยะใส ที่ระบุว่า ที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มีการชุมนุมคัดค้านการบริหารงานของรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และกลุ่มที่เคลื่อนไหวกรณีปราสาทพระวิหาร

"การกำหนดการเป่านกหวีดชุมนุมใหญ่นั้น จะจัดขึ้นในวันถัดไปหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระ 3 เสร็จสิ้น โดยไม่รอการพิจารณาของวุฒิสภา หรือหลังจากมีคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับกรณีพิพาทไทยกัมพูชา โดยผลออกมากว่าไทยเสียดินแดน"

โดยระหว่างนี้ให้มวลชนในแต่ละจังหวัดจัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับประเด็นที่กล่าวมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดชุมนุมใหญ่ แต่การเป่านกหวีด จะขึ้นอยู่แต่ละสถานการณ์ เพราะหากไม่เข้าเงื่อนไขของเรา อย่างการชะลอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม หรือศาลโลกตัดสินเป็นผลดีกับไทย ก็ถือว่าเป็นโชคดีของคนไทย

"หากมีการเป่านกหวีดใหญ่ครั้งนี้ จะมีประชาชนออกมาเข้าร่วมมากกว่าสมัยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมขับไล่ทักษิณ และจากที่พูดคุยกับแกนนำพันธมิตรฯ ที่มีคดีความติดตัวจากการชุมนุมทางการเมืองอยู่ 96 คน ได้พูดคุยกันแล้ว ก็มีประมาณ 60-70 คน ที่จะเข้าร่วมในการชุมนุมครั้งนี้" โดยก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่ แกนนำที่มีคดีความติดตัวติดเงื่อนไขของศาลนั้น จะเดินทางได้แจ้งต่อศาลว่าจะจัดการชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธไม่มีการปลุกระดม อย่างเช่นการจัดชุมนุมนายไทกร พลสุวรรณ หรือพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ชุมนุมอย่างสงบ ก็ไม่ถูกถอนประกัน

5. ต้านนิรโทษกรรมสุดซอย โดยกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง
แมคโดนัลด์/ราชประสงค์ (ยุติกิจกรรมวันที่ 27 ต.ค.เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.)

กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงนำโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นำผู้ชุมนุมราว 300 คน ทำกิจกรรมผูกผ้าแดงต่อต้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่สี่แยกราชประสงค์ จากนั้นได้มารวมตัวกันบริเวณแมคโดนัลด์ สาขาอัมรินทร์ พลาซ่า

บก.ลายจุดให้สัมภาษณ์ว่า ในขณะนี้จะให้เวลาพรรคเพื่อไทยถึงวาระที่ 3 เพื่อทำจุดยืนให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะเรียกชุมนุม "หมื่นอัพ" ในอนาคต โดยเรียกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเหมาเข่งมาชุมนุมให้ถึงหมื่นคน เพื่อแสดงพลังการคัดค้าน

สำหรับสถานการณ์ล่าสุด  วันที่ 28 ต.ค. กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้พิจารณาเนื้อหา และลงมติเพื่อรับรองรายงานการประชุมเสร็จสิ้นแล้ว และจากนี้ต้องมีการแก้ไขถ้อยคำและรอคำแปรญัตติจากกรรมาธิการฯ ที่จะส่งมาเพิ่มเติม

6 ผู้ชุมนุมชาวสวนยางปิดถนนเพชรเกษม หนุนตั้งไตรภาคีเจรจาราคา
บางสะพาน ประจวบฯ

เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ ที่ปิดถนนเพชรเกษม บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 415 บ้านศรีนคร หมู่ที่ 7 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยหลังจากที่แกนนำได้เจรจากับพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีและ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมาได้รับข้อตกลงจากรัฐบาลในการเตรียมจัดตั้งไตรภาคีเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาแล้ว แต่ผู้ชุมนุมยืนยัยปักหลักต่อไปจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะบรรลุตามความต้องการของเกษตรกร

ทั้งนี้พล.ต.ต.หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้สั่งกำลังชุดปราบจลาจลในภาค 7 รวมกำลังกว่า 1 พันนาย เข้าไปตรึงกำลังในพื้นที่ดังกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net