Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปัจจุบันการเดินทางไปทำข่าวหรือรายงานข่าวในต่างประเทศของสื่อมวลชนง่ายขึ้น อย่างน้อยก็จากสาเหตุ 2 ประการ  คือ หนึ่ง การเดินทางสะดวกมากขึ้น กับ สอง บริษัทหรือองค์กรสื่อมีการลงทุนในการแสวงหาข่าวสารหรือข้อมูลมากขึ้น ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับสื่อมวลชนไทยในยุคร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวสู่กลุ่มประชาชาติเศรษฐกิจอาซียน (AEC)  สื่อมวลชน เป็นตัวการสำคัญในการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคงและในด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันได้เป็นอย่างดี

แต่ผมคิดว่า การทำข่าวหรือหาข้อมูลของสื่อมวลชนไทย ยังมีปัญหาการทำงานเชิงลึก หมายถึง การแสวงหาข้อมูลที่มีคุณภาพในต่างประเทศมากกว่าการพุ่งเป้าไปที่การโชว์ออฟแข่งกันทำข่าวหรือรายงานสถานการณ์ในต่างประเทศ โดยรูปแบบ “สักแต่ว่า” ได้ไปทำข่าวในต่างประเทศเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่ต่างจากการเดินทางมาท่องเที่ยวต่างแดนเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น การเดินทางมาทำข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกัน หรือข่าวการปิดหน่วยงานของรัฐบาล (Government shutdown) ที่เกิดจากการตกลงกันไม่ได้ระหว่าง 2 พรรคการเมืองอเมริกัน ซึ่งในการมารายงานข่าวได้แต่เพียงการรายงานข่าวบรรยากาศการเลือกตั้งหน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือสัมภาษณ์คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าหน่วยเลือกตั้ง  แม้กระทั่งได้ข่าวจากบรรยากาศรอบๆทำเนียบขาว อีกอย่างที่นิยมทำกัน คือ การเช็คข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ หากมาทำข่าวอเมริกาก็หาข่าวเอาจากหนังสือพิมพ์อเมริกัน

นอกเหนือไปจากการสัมภาษณ์นักข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่นิยมทำกัน ของสื่อมวลไทยหรือนักข่าวไทยเวลาไปทำงานในต่างประเทศอย่างหนึ่ง เพราะไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนัก แถมเป็นวิธีการทำงานที่ง่ายที่สุด

มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาแล้วกับสื่อมวลไทย กรณีเดินทางไปทำข่าวงานประชุมในต่างประเทศแล้วเจ้าของงานไม่ยอมให้เข้าไปทำข่าวในงาน  เพราะสื่อมวลชนไม่ได้เตรียมตัวแจ้งเจ้าของงานล่วงหน้า หรือไม่ทราบระเบียบของการเข้าร่วมทำข่าวในงานประชุมนั้นๆ ก็เลยเดินทางไปเก้อ ทำข่าวจากนอกห้อง หรือนอกอาคารประชุม ส่งกลับเมืองไทย  ซึ่งหากมีม็อบหรือเหตุการณ์ใดๆบนถนนก็โชคดีไป ยังพอมี เรื่องราวให้นำเสนอบ้าง แต่หากไม่มีก็ว่ากันไปตามมีตามเกิด หากเป็นสื่อทีวีก็ถ่ายรูปสถานที่หรือ ถ่ายบรรยากาศส่งกลับไปสำนักงาน(องค์กร)ของตน

ปัญหาคือ เราไม่ค่อยได้เห็นสื่อมวลชนไทย ทำงานในมิติที่ลึกเท่ากับสื่อสากล แม้เราจะลงทุนใน เรื่องการทำข่าวหรือการหาข้อมูลมากมายเพียงใดก็ตาม โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของช่องทีวีดิจิตัล จำนวนมากซึ่งเป็นเหตุให้มีการลงทุนด้านสื่ออีกมหาศาล แม้ว่าสื่อไทยยังมีปัญหาในแง่การแข่งขัน เชิงคุณภาพเนื้อหาและรูปแบบของรายการ
จากการสังเกตของผมต่อการทำงานของสื่อมวลไทยที่เดินทางมาทำข่าวในอเมริกา หรือแม้กระทั่งการทำข่าวในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย ผมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนี้ครับ

1.สื่อมวลชนขาดความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นที่เดินทางไปทำข่าวหรือหาข้อมูลเพื่อรายงานกลับไปยังประเทศไทย ความรู้ดังกล่าวหมายถึงความรู้ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสื่อมวลชนควรต้องทำการบ้านก่อนไปหรือก่อนเดินทางไปยังที่นั้นๆ  “การทำการบ้าน” ดังกล่าวนี้ ที่จริงในปัจจุบันทำได้ไม่ยากนัก เพราะข้อมูลพื้นฐานของท้องถิ่นส่วนใหญ่ปรากฎอยู่บนระบบ search engine ของ google หรือใน search engine ของ website อื่นๆจำนวนมากและทั่วไป

2. สื่อมวลชนขาดการประสานกับหน่วยงาน หรือบุคคลในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการทำข่าวหรือหาข้อมูล  คือ องค์กรสื่อนึกจะส่งนักข่าวไปก็ส่งเลย โดยไม่รู้ว่าส่งไปแล้ว จะทำอย่างไรต่อที่เพื่อจะหาข้อมูลมาให้ได้  โดยเฉพาะการหาข้อมูลเชิงลึกนั้น ต้องรู้จักหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะรายงานด้วย หากไม่รู้จักก็จะเสียโอกาสในการรายงานข่าวหรือเหตุการณ์นั้นๆไปเลย ซึ่งในเรื่องนี้สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง ใช้คนหรือผู้สื่อข่าวของตัวเองฝังตัวในพื้นที่ท้องถิ่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจเป็นสองสามเดือน หรือเป็นปีหรือมากกว่านั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลเชื่อมกับแหล่งข่าวที่ชัดเจนและแน่นอน

นอกจากนี้การรักษาแหล่งข่าวก็เป็นเรื่องจำเป็น หมายถึงการรักษาสัมพันธภาพกับแหล่งข่าวที่ เรียกว่า “แหล่งข่าวที่เป็นตัวปิด” (undisclosed source)ในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถหาข่าวหรือข้อมูลได้อย่างสะดวกและง่ายขึ้น การรักษาสัมพันธภาพส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความเข้าใจกลไกเชิงธุรกิจและกลไกการทำงาน รวมถึงกลไกด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นของแหล่งข่าวเหล่านั้น  ที่สำคัญคือ การปกป้องแหล่งข่าว โดยระบบจรรยาบรรณสื่อ

3.สื่อมวลชนและองค์กรสื่อ ขาดทักษะการจัดระบบการทำงาน(บริหารจัดการ) ในเชิงการสร้างคนในท้องถิ่นเพื่อประสานงานข่าว  เรื่องนี้นับเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของสื่อมวลชนไทย  เรามีการลงทุนด้านอื่นในการทำสื่อเยอะมาก แต่เราไม่ค่อยได้คำนึงถึงการสร้างบุคคลท้องถิ่นที่ชำนาญในการประสานกับ แหล่งข่าวผู้ที่เราต้องการข้อมูล เพราะว่ากันตามจริงแล้วนักข่าวที่มาจากเมืองไทย ย่อมยากที่จะประสานงาน หรือติดต่อกับแหล่งข่าวท้องถิ่นเพื่อสัมภาษณ์หรือขอข้อมูลโดยตรง  เว้นแต่การใช้คนท้องถิ่นทำงานด้านนี้ เช่น ให้คนท้องถิ่นในอเมริกา เป็นฝ่ายนัดแหล่งข่าวเพื่อสัมภาษณ์ให้ ขณะที่ในความเป็นจริงแล้วแหล่งข่าวส่วนหนึ่ง ย่อมอาศัยความน่าเชื่อถือของบุคคลท้องถิ่นต่อการตัดสินใจว่าจะให้ข้อมูลหรือไม่  เพราะแหล่งข่าวจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จักสื่อต่างประเทศ เช่น สื่อสำนักต่างๆของไทย ซึ่งจริงๆแล้วเป็นที่รู้จักน้อยมากในอเมริกา  การทำงานกับเครือข่ายแหล่งข่าวท้องถิ่นจะทำให้สื่อมวลชนเข้าถึง แหล่งข่าวที่มีอำนาจหน้าที่(authority)ได้โดยตรง ทำให้น้ำหนักและความน่าสนใจของข่าวที่นำเสนอมีมากขึ้น

4.การบริหารจัดการงานด้านข่าวของสื่อไทย มองเห็นแค่การใช้คนหรือนักข่าวในองค์กรของตัวเองเป็นหลัก ขณะที่ปรัชญาหรือวิธีคิดของสื่อสากลแบบใหม่มองว่าทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ เพียงแต่ต้องนำมากลับเข้า สู่ระบบวิธีการทำสื่อ  เช่น ได้ข้อมูลมาจากบุคคลคนหนึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบ และรู้จักวิธีการนำเสนอ   ขณะเดียวกันการบริหารจัดการงานด้านข่าวของสื่อสากล ก้าวไปถึงขั้นการใช้บุคคลากรจากภายนอก (Outsource) ในท้องถิ่นต่างๆ แทนที่จะส่งนักข่าวจากประเทศแม่ไป นอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าแล้ว ยังมีโอกาสที่จะได้ข่าวสารหรือข้อมูลมากขึ้นด้วย เพราะอาศัยคนท้องถิ่น(ในพื้นที่)ทำงานเอง

5. องค์กรสื่อมวลชนไทยขาดการวิจัยข้อมูลดิบที่ได้มาหรือไม่ค่อยนำข้อมูลดิบมาวิจัย เพื่อดูว่าทิศทางและผลกระทบของข่าว(ข้อมูล)ว่ามีมากน้อยขนาดไหน การวิจัยดังกล่าวจะช่วยให้สื่อมวลชนสามารถขยายประเด็นให้กว้างและลึกขึ้นได้ รวมถึงจะช่วยให้การเดินทางไปรายงานข่าวในต่างประเทศเป็นไปในมิติที่ลึกกว่าการเดินทางไปโดยไม่มีข้อมูลเชิงการขยายประเด็น สื่อมวลชนสามารถถามได้อย่างถูกจุดและรู้ว่าทางข่าวในปัจจุบันและอนาคตควรจะเป็นอย่างไร

6. สื่อมวลชนไทยขาดความเข้าใจและทักษะในเรื่องการผูกประเด็นข่าวในประเทศ(ไทย)กับประเด็นข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ข้อนี้หมายถึง การพัฒนาทักษะการตั้งประเด็นคำถาม ที่โยงปัญหาระหว่างไทยกับประเทศที่ไปทำข่าว เช่น ประเด็นความมั่นคงระหว่างไทยกับอเมริกา ประเด็นด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอเมริกา  เป็นต้น การนำเสนอความเห็นต่อประเด็นในประเทศไทย จากความเห็นของผู้ให้ความเห็น (commentator) ที่เป็นคนต่างประเทศ(บุคคลในท้องถิ่น)จึงมีความหมายมากในการเดินทางไปทำข่าวในต่างประเทศแต่ละครั้ง เพราะในสมรภูมิข่าวตามปกติแล้ว ไม่มีใครรู้เรื่องหรือรู้สถานการณ์ดีเท่าสื่อเจ้าของประเทศเอง ยกเว้นก็เพียงแต่สื่อยี่ห้ออเมริกันและสำนักข่าวระหว่างประเทศบางแห่ง ที่ให้คนของตัวเองฝังตัวหรือใช้แหล่งข่าวท้องถิ่นมานาน รวมถึงการใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานเฉพาะของเอกชนให้ข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลท้องถิ่นแก่สื่อเอง

ว่าไปแล้ว News coordinator เป็นบุคคล(หรือองค์กร)ที่สำคัญ การเซ็ต news coordinator   ถือว่ามีความจำเป็นในการทำข่าวในภาคสนาม เพราะจะช่วยให้รายงานข่าวที่ออกมาไม่เป็นไปอย่างฉาบฉวย สามารถเข้าตรงถึงประเด็นที่ต้องการได้อย่างง่ายดายมากขึ้น

องค์กรสื่อไทยมักไม่ค่อยสร้างเครือข่ายภายนอก นอกเหนือไปจากการสร้างบุคคลากรขององค์กร ขณะที่องค์กรสื่อสากล อย่างเช่น สื่ออเมริกัน โดยเฉพาะ CNN และสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่ง ทำเรื่องนี้มานานแล้ว คือ ใช้คนไทยทำงานข่าวในพื้นที่(เมืองไทย) ขณะที่รูปแบบการนำเสนอข่าวหรือข้อมูลต่างๆของสื่อไทยทำให้สื่อมวลชนกลายเป็นแนวหน้าหรือด่านแรกในการเจอหรือปะทะกับแหล่งข่าว เป็นผนังชั้นเดียวในการงานอาชีพสื่อมวลชน

แต่ในระบบการทำงานสื่อสมัยใหม่ สื่อมวลชน ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวหน้าหรือหน้าด่านเพื่อแสวงหาข้อมูล(ข่าว)โดยตรง หากองค์กรสื่อสามารถสร้างกลไกตัวแทนสื่อ ประจำไว้ตามที่ต่างๆได้  การทำแบบนี้จะช่วยให้การได้ข้อมูลกระฉับกระเฉงและเร็วมากขึ้น  ซึ่งก็หมายความด้วยว่า ผู้ประกอบการสื่อต้องยอมลงทุนด้านนี้ด้วย ไม่ใช่คิดแต่จะได้อย่างเดียว โดยตัวเองไม่ยอมเสียอะไรเลย

การพัฒนาทักษะหรืออบรมเรื่องทำนองนี้ต่อคนทำอาชีพสื่อและองค์กรสื่อจึงจำเป็น เพื่อติดปีกที่แข็งแรงให้นกกระจอกกลายเป็นเหยี่ยวขึ้นมาได้ นอกเหนือไปจากประสิทธิภาพของการแข่งขันและดำรงอยู่ได้ของธุรกิจสื่อในโลกปัจจุบัน.

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net