ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ด้วยการฟ้องคดี เอากับ อดัมส์และอีฟ !!!???

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

[1] ทฤษฎีทางกฎหมายเรื่องหนึ่ง ที่ไม่มีนักกฎหมายคนใดไม่รู้จัก คือ “ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล” ที่ใช้กันในทางกฎหมาย แพ่ง (ละเมิด) และอาญา หรือที่เรียกว่า “Causation” มีหลักสากลในการวินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำในทางอาญา คือ “ทฤษฎีผลโดยตรง/ทฤษฎีเงื่อนไข/ทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุ” แล้วแต่จะเรียกขาน

ทฤษฎีนี้มีสาระสำคัญว่า “ถ้าไม่มีการกระทำ ผลจะไม่เกิด” ถือว่าผลเกิดจากการกระทำนั้น แม้จะต้องมีเหตุอื่น ๆ ในการก่อให้เกิดผลนั้นขึ้นด้วยก็ตาม แต่ถ้าไม่มีการกระทำนั้น ผลก็ยังเกิด เช่นนี้จะถือว่าผลเกิดจากการกระทำนั้นไม่ได้

กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง ของไทย ไม่มีบทบัญญัติในเรื่อง “ผลโดยตรง” ตามทฤษฎีเงื่อนไข ซึ่งก็เหมือนกับประเทศต่าง ๆ ที่มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของคำอธิบายในตำรา และการวินิจฉัยของศาลเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการพิจารณานั้น “ผลธรรมดา” ซึ่งก็หมายความว่า เป็น “ผลโดยตรง” แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จะต้องเป็น “ผลธรรมดา” ด้วย “ผลธรรมดา” นี้ คือผลตามทฤษฎี “เหตุที่เหมาะสม” ซึ่งนักนิติศาสตร์ต่างประเทศได้คิดค้นขึ้นเพื่อลดความแข็งกระด้างของการใช้หลัก “ผลโดยตรง” และทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้กระทำมากขึ้น

นอกจากนั้น ความแข็งกระด้าง และข้อเสียของทฤษฎีดังกล่าว ถูกแก้ไขโดยการเกิดขึ้นของ “ทฤษฎีเหตุแทรกแซง” กล่าวคือ เหตุแทรกแซงเป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายขึ้น หลังจากการกระทำอันแรกได้สิ้นสุดไปแล้ว

[2] เช่น “หลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายแล้วได้มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่า หากให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไปแล้ว โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย การที่ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลง โดยการดึงเครื่องช่วยหายใจออก แล้วพาผู้ตายกลับบ้านและผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ไม่ใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรง เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูง การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้ตาย” หรือ หากมีการทำร้ายกันขึ้น ผู้ถูกทำร้ายวิ่งหนีและถูกฟ้าผ่าตาย เหตุการณ์ที่เกิดฟ้าผ่าย่อมถือว่าเป็นเหตุแทรกแซงที่เกิดขึ้นใหม่ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดใน “ผลสุดท้าย (ความตาย)” ที่เกิดขึ้น

[3] หรือ เหตุในตอนแรกเกิดจากการทำร้ายจนสลบ แต่ผู้กระทำเข้าใจว่าผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตายจึงเอาผ้าขาวม้ามาผูกคอแขวนกับต้นไม้ทำเป็นว่าผู้นั้นแขวนคอตาย กรณีเช่นนี้ผู้กระทำต้องรับผิดเพียงใดนั้นพิจารณาได้ดังนี้ สำหรับผลที่เกิดจากเหตุในตอนแรก ผู้กระทำต้องรับผิดในผลนั้นอย่างแน่นอนนั้นก็คือ “ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย” ส่วนผลที่เกิดภายหลังคือความตายนั้น ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดในฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เพราะผู้กระทำกระทำไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  คือไม่รู้ว่ากรรมของการกระทำยังมีสภาพความเป็นมนุษย์ ความผิดที่น่าพิจารณาต่อไปก็คือการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลวินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานทำให้คนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 เป็นต้น

[4] อีกทฤษฎีหนึ่ง ที่นักนิติศาสตร์ไม่ค่อยได้กล่าวถึง (เพราะไร้เหตุผล) คือ “Adam and Eve and the doctrine of original sin” ความผิดบาปทั้งปวง ล้วนมาจาก “อดัมส์และอีฟ” ทั้งสิ้น เนื่องจาก มนุษย์คู่แรกของโลก (ตามความเชื่อทางพระคัมภีร์) ได้เป็นผู้กระทำผิดต่อพระเจ้า และการกระทำผิดต่อพระเจ้าถือเป็นบาป และ “การทำบาป” คือ “อาญชากรรม-Crime” ยกตัวอย่างเช่น จอห์น ดื่มสุราจนเมาคุมสติไม่อยู่ นำมาซึ่งการก่ออาชญากรรม ฆ่าผู้อื่น / จอห์น อ้างว่าไม่ผิด ความผิดเกิดจากคนขายสุรา ที่ขายสุราให้จอห์น / คนขายสุราก็อ้างว่าตนเองไม่ผิด แต่ผิดที่คนผลิตสุรา / คนผลิตสุราก็อ้างว่าตนไม่ผิด ผิดที่คนปลูกข้าว เพราะข้าวเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาผลิตสุรา / คนปลูกข้าวก็อ้างว่าตนเองไม่ผิด แต่ผิดที่พ่อแม่ที่ทำให้ตนเกิดมากับอาชีพปลูกข้าว / พ่อแม่ก็อ้างว่าตนเองไม่ผิด ผิดที่ปู่ย่า ที่ประกอบอาชีพปลูกข้าว / ปู่ย่าก็อ้างว่าไม่ผิด ผิดที่ทวดบรรพบุรษ ที่ประกอบอาชีพนี้มาตั้งแต่แรก / บรรพบุรุษก็อ้างบรรพบุรุษรุ่นก่อนหน้าตนเองไปเรื่อยๆ ทุกทอดตลอดสาย จนความผิดสุดท้ายไปตกอยู่กับ “อดัมส์และอีฟ” ในฐานะมนุษย์คู่แรกของโลก

“The doctrine of original sin” จึงอยู่ตรงข้ามกับเหตุผล (นิติ) กฎหมายคือเหตุผล ซึ่งหมายความว่าการตีความ และบังคับใช้กฎหมาย จะย้อนหลังไปไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น จึงต้องหา “จุดตัด” ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล เพื่อให้การใช้กฎหมายเกิดความยุติธรรม และไม่ลักลั่น นั่นคือ “หลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (Causation)” นั่นเอง โดยกรณีของจอห์น “การกระทำและผลจะต้องมีความสัมพันธ์กัน” ซึ่งอาชญากรรมที่จอห์นก่อ (การกระทำ) จะต้องสัมพันธ์กับความตาย (ผล) ดังนั้น จอห์นจะไม่สามารถอ้างว่า การฆ่านั้น สาเหตุมาจากสุรา

“The doctrine of original sin” ไม่ได้รับการยอมรับในวงการนิติศาสตร์ เพราะเป็นทฤษฎีที่ไร้เหตุผล แต่ทฤษฎีนี้ จะกล่าวถึง และมีการศึกษาอย่างจริงจังใน “วงการอภิปรัชญา Metaphysics”

เกี่ยวอะไรกับรัฐธรรมนูญ และการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 !!!???

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309

“บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้”

รัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 222

“บรรดาประกาศ หรือคําสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือกฎหมายที่มีผลเป็นการแก้ไขหรือเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ออกใช้บังคับก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือคําสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ บรรดาที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้มีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ตลอดไป และถ้าประกาศหรือคําสั่งดังกล่าวมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ หรือในทางตุลาการ การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงหรือคําสั่งดังกล่าว ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ การตราพระราชบัญญัติตามมาตรานี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติงานของบุคคลหรือคณะบคคลซึ่งได้กระทำไปตามประกาศหรือคําสั่งดังกล่าว และให้บุคคลหรือคณะบุคคลนั้นได้รับความคุ้มครอง ผู้ใดจะนําไปเป็นเหตุฟ้องร้องในทางใดมิได้”

“มาตรา 222 รสช. นิรโทษฯ ตัวเอง” กับ “มาตรา 309 คมช. นิรโทษฯตัวเอง” ทั้งสองมาตรา จากรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ มีผลเหมือนกัน เพียงแต่ มาตรา 309 เขียนให้ดูหล่อและดูเป็นผู้ดีกว่า มาตรา 222 เท่านั้นเอง ถ้อยคำว่า “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ใน 309 กับถ้อยคำว่า “นำไปเป็นเหตุฟ้องร้องในทางใดๆมิได้” ใน 222 / ถ้อยคำแรก ดูเป็นผู้ดีมีสกุล เขียนกฎหมายแบบนักวิชาการ ส่วนถ้อยคำหลัง ดูเป็นนักเลงโต ไม่เคารพกฎหมาย)

หากเราไล่ดูระยะเวลาของเหตุการณ์รัฐประหารทั้งสองเหตุการณ์ จะพบว่า การรัฐประหาร รสช. 34 นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 “ที่ประชาชนร่วมกันเขียนขึ้นมา” ทำนองเดียวกับ การรัฐประหาร คมช.49 นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 “ที่ประชาชนทั้งประเทศ ลงมติว่ารับ แม้จะไม่ได้ร่วมกันเขียนขึ้นมา”

มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ถอดความหมาย และแบ่งการพิจารณาออกได้ เป็นสองตอน คือ

1. บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

2. รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ปัญาหาที่เรากำลังพูดถึงและมีประเด็นกันคือ ระหว่าง “นิรโทษฯ” กับ “การลบล้างผลพวกรัฐประหาร” แบบไหนจะแก้ไขปัญหาได้ดีดว่ากัน ประเด็นนิรโทษฯ เอาไว้ทีหลัง โน็ตนี้จะมุ่งประเด็นเฉพาะ “การลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ว่ามันจะพอมีทางออก และปัญหาตามมาอย่างไรบ้าง

ผมสามารถเข้าใจได้ หากจะบอกว่า “ต้องการดำเนินคดีกับ คมช. ผู้ก่อการ ในฐานะกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113” (โดยแยกการดำเนินคดีกบฎ ออกจากผลพวงรัฐประหาร ซึ่งก็ยังติดปัญหาข้อกฎหมายอยู่ดี)

แต่ผมยังไม่เข้าใจ หากจะบอกว่า “ต้องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร” (ในตัวบทส่วนที่ว่า “….รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว หลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้…”)

และปัญหาใหญ่ทุกวันนี้คือคำถามที่ว่า “อะไรคือผลพวงของรัฐประหาร ผลพวงของรัฐประหาร มีขอบเขตแค่ไหน อย่างไร”

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ การคงไว้ซึ่งมาตรา 309 จะเป็นการนิรโทษกรรมให้คณะทหาร เพราะการชิงอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น เป็นความผิดในตัวอยู่แล้ว (ป.อ.มาตรา 113) ไม่ต้องมีประเด็นอะไรให้มานั่งพิจารณากันมากนัก (ซึ่งมาตรา 309 ระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าชอบด้วยกฎหมาย – ก็ต้องไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง)

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ถ้อยคำว่า “รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้” มีความหมายกว้าง หรือแคบมากน้อยเพียงใด และใครเป็นผู้กำหนดของเหตุของการกระทำดังกล่าว เราจะเขียนรัฐธรรมนูญกันอย่างไร ให้ทุกฝ่ายพอใจ

[5] "นิติราษฎร์" ให้แนวทางไว้อย่างกว้าง ๆ คือ

1. ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

2. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

3. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

4. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง

5. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ 3 และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ 4 ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้"

หมายความว่า การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวทั้งก่อน และหลัง วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย หากยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 และทำให้ผลพวงของการรัฐประหารเป็น “โมฆะ”

“นิติราษฎร์” บอกในทำนองว่า ต้องการลบล้างผลพวงเฉพาะรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เนื่องจาก การรัฐประหารครั้งนี้ นำมาซึ่งความขัดแย้งในปัจจุบัน หาก "นิติราษฎร์" ใช้ “เงื่อนไขความขัดแย้งของสัมคม” เป็นเกณฑ์ ว่าเราสมควรลบล้างผลพวงของรัฐประหารในครั้งใด

นั่นหมายความว่า หากลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร คมช. 49 แล้ว ต่อมาเมื่อมีความขัดแย้งขึ้นรอบใหม่ จากกลุ่มคนที่ต้องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร รสช.34 “นิติราษฎร์” ยังต้องการเสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร รสช.34 เช่นเดียวกันกับการลบล้างผลพวงรัฐประหาร คมช.49 อีกหรือหรือไม่

ในทำนองเดียวกัน หากมีผู้เสียประโยชน์จากการรัฐประหารทุกครั้ง มาเรียกร้องในทุกครั้งที่มีลบล้างผลพวงรัฐประหารครั้งใดๆ ต่อไป วิธีใช้กฎหมายในประเทศไทย คงจะต้องอ้าง “The doctrine of original sin” ทฤษฎีอดัมส์และอีฟ เป็นแน่แท้

ยังไม่นับถึงผลการกฎหมายกับเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

1. การชนะการเลือกตั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2554 เป็น “โมฆะ” หรือไม่

2. นโยบายจำนำข้าว ราคาตันละ 15,000 บาท เป็น “โมฆะ” หรือไม่ หากเป็นโมฆะ ประชาชนคนได้รับสิทธิ จะต้อง “คืนเงิน” หรือไม่

3. นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก เป็น “โมฆะ” หรือไม่ หากเป็นโมฆะ ประชาชนคนได้รับสิทธิ จะต้อง “คืนเงิน” หรือไม่

4. พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่ผ่านสภาฯ ออกมาบังคับใช้ เป็น “โมฆะ” หรือไม่ หากเป็นโมฆะ เงินจากกฎหมายดังกล่าวที่ได้ถูกเบิกออกมาใช้ และเกิดดอกเบี้ย ผู้ใดจะเป็นคนรับผิดชอบ

5. การประกาศใช้กฎหมายธรรมดา ตามกระบวนการทางรัฐสภา เป็น “โมฆะ” หรือไม่ หากเป็นโมฆะ ใครจะเป็นผู้เยียวยาความเสียหายอันเกิดจากความเป็นโมฆะนั้น

ฯลฯ

คำว่า “ผลพวง” หมายถึง “ผลทั้งหมด” ซึ่งหมายความว่า ผลทางกฎหมายที่เกิดจากการรัฐประหาร คมช.49 ทั้งหมด แต่หาก "นิติราษฎร์" แย้งว่า “ไม่ทั้งหมด เอาเฉพาะแค่ แนวทางของนิติราษฎร์ 5 ข้อ ข้างต้น”

คำถามคือ เป็นการ “เลือกปฎิบัติ” หรือไม่ การลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งตามกรอบที่ "นิติราษฎร์" เสนอคือการลบล้างกฎหมายบางมาตรา และคำพิพากษาของศาลบางคำพิพากษา ด้วยเหตุผลคือ “ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ”

นอกจากนั้น กฎหมายซึ่งไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐในปัจจุบัน ที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่ จะลบล้างไปด้วยหรือไม่ เช่น “กฎหมายนิรโทษฯเหมาเข่ง” เป็นต้น

“ณ นาทีนี้” ทุกเหตุการณ์ที่มีผลในทางกฎหมาย คือ ผลพวงของรัฐประหาร คมช. 49 ทั้งสิ้น

รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง >> การเลือกตั้งมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 >> รัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการลงมติของประชาชน >> การลงมติของประชาชน มาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับเก่าถูกลบล้างด้วยวิธีการนอกกฎหมาย >> และวิธีการนอกกฎหมาย คือการรัฐประหาร 2549 โดย คมช.

“เราจะใช้กฎหมาย เพื่อบังคับให้สายน้ำไหลย้อนกลับได้จริงหรือ”

หากอ้างเอาความขัดแย้งของสัมคม มาเป็นฐานคิดของความต้องการลบล้างผลพวงรัฐประหารในครั้งใด ทฤษฎี “The doctrine of original sin” (ทฤษฎีความผิดบาปของอดัมส์และอีฟ) “ที่แสนจะไร้เหตุผลก็จะถูกนำมาใช้”

ในความเป็นจริง และสิ่งที่ถูกต้องเราควรจะต้องนำ “ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (Causation)” มาใช้หรือไม่ !!!???

เมื่อมีคนอ้าง รัฐประหาร รสช.34 (เหตุ) เราต้องพิจารณาว่า ผลพวงของการรัฐประหารที่ต้องการลบล้าง (ผล) มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีความสัมพันธ์กันแล้ว ผลพวงของการรัฐประหารมีเหตุแทรกแซง ไปแล้ว นั่นก็คือ “การประกาศใช้ของรัฐธรรมนูญ 2540” นั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีคนอ้างการรัฐประหาร คมช.49 (เหตุ) เราต้องพิจารณาว่า ผลพวงของการรัฐประหารที่ต้องการลบล้าง (ผล) มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ คำตอบคือ มีเหตุแทรกแซง ไปแล้ว นั่นก็คือ “การลงประชามติรับของประชาชน ที่มีต่อรัฐธรรมนูญ 2550” นั่นเอง

ส่วนที่บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญโจรก็ดี รัฐธรรมนูญเผด็จการก็ดี “เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น” เพราะเมื่อครั้งที่ประชาชนลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไม่มีมือที่มองไม่เห็น หรือเผด็จการคนไหนเอารถถัง หรือสไนเปอร์มาจ่อหัว ให้กากบาทในช่อง “ไม่รับ” เท่านั้น (ส่วนจะต้องแก้มาตราไหนที่ไม่เหมาะสม ก็ต้องไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง)

ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (Causation) ใช้เป็นหลักในการพิจารณาคดีอาญา รวมไปถึงคดีแพ่ง (ละเมิด) ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฎ "ให้ใช้ในคดีทางมหาชน" (อาจจะมี แต่ยังไม่เคยอ่านเจอ) แต่ก็ไม่ปรากฎว่า “ห้ามใช้ในคดีทางมหาชน" เช่นกัน

Causation คือทฤษฎีทางกฎหมายที่เป็นมีเหตุมีผล เป็นนิติวิธีที่ใช้ระงับข้อพิพาทอย่างยุติธรรม ไม่ให้ลากยาวย้อนเวลาไปเรื่อยจนไม่มีสิ้นสุดถึง “อดัมส์และอีฟ” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ "เพ้อเจ้อ"

เราจะลบล้างผลพวงของการรัฐประหารได้หรือไม่ อย่างไร !!!???

[6] ไม่มีเหตุผลใดที่จะบอกว่า “ไม่ได้” แต่ทั้งนี้ การลบล้างดังกล่าว จะต้องยังไม่มีเหตุแทรกแซง ที่ทำให้ผลของการกระทำรัฐประหารสิ้นผลไป กล่าวคือ ลบล้างในช่วงเวลาที่คดีแรก ที่มาจาก คตส. ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลต้องเป็นผู้มีหน้าที่ลบล้างผลพวงของการรัฐประหารดังกล่าว (ตามแนวทางคำพิพากษาส่วนตนของ ท่านกีรติ กาญจนรินทร์ ในคดีที่ อม.9/2552) แต่ในข้อเท็จจริง ศาลในคดีอื่น กลับไม่ได้ใช้แนวคำพิพากษานี้เป็นบรรทัดฐานเลย (ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง)

[7] การลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ตามกรอบแนวคิดของ "นิติราษฎร์" ไม่ได้บอกไว้ในรายละเอียดทางเทคนิค หรือร่างออกมาเป็น “ตัวบท” ให้ประชาชนวิจารณ์ หากลบล้าง คมช.49 ได้แล้ว ต่อมามีคนไม่พอใจ อยากลบล้าง รสช.34 ขึ้นมา จะทำอย่างไร และต่อไปหากมีคนอยากลบล้างครั้งก่อนหน้าไปเรื่อยๆ การลบล้างผลพวงของการรัฐประหารดังกล่าวจะไปจบที่ไหน ในประเทศนี้มีการรัฐประหารมากมายหลายครั้งเหลือเกิน เกณฑ์ที่ "นิติราษฎร์" เสนอให้ลบล้าง คมช.49 อยู่ที่ “ความขัดแย้งของสังคม”

ถึงตอนนี้ "นิติราษฎร์" เสนอกรอบแนวทาง "การเป็นนักท่องเวลา (Time Traveller)" ให้กับประเทศไทย และหากทำได้ตามกรอบแนวทางที่ "นิติราษฎร์" เสนอ หมายความว่า การบังคับใช้กฎหมายในประเทศนี้ จะสุ่มเสี่ยงต่อการที่กลุ่มคนสนับสนุนการแก้ปัญหาคอรร์รัปชั่นด้วยการรัฐประหาร จะเรียกร้องหา “ทฤษฎีอดัมส์และอีฟ The doctrine of original sin”

นั่นหมายความว่า “นักนิติศาสตร์” ในฐานะวิศวกรสังคม สมควรที่จะต้องเป็น “ผู้ที่มีเหตุผลมากที่สุด” กลับกลายเป็น “ผู้ที่เพ้อเจ้อเหลวไหลมากที่สุด” ไปเสียแทน ด้วยการออกกฎหมายบังคับให้สายน้ำไหลย้อนกลับ

ที่สาธยายมายืดยาวนั้น ไม่มีประเด็นอื่นใด นอกจากจะสื่อถึง “ปัญหาที่ตามมาของการใช้กฎหมาย เพื่อบังคับให้สายน้ำไหลย้อนกลับ” ตามกรอบที่ "นิติราษฎร์" เสนอ

“รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 ไม่เป็นประชาธิปไตย และเราจะแก้ปัญหาเพื่อไม่มีปัญหาตามมา อย่างไรกันดี”

ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกัน........

___________________________

[1] บันทึกท้ายฏีกา ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ (ท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 659/2532)
[2] คำพิพากษาฎีกาที่ 659/2532
[3] คำพิพากษาฎีกาที่ 1395/2518
[4] http://en.wikipedia.org/wiki/Crime, http://www.newadvent.org/cathen/11312a.htm, http://www3.nd.edu/~mrea/papers/Metaphysics%20of%20Original%20Sin%20_final_.pdf,  http://www.bbc.co.uk/religion/religions/christianity/beliefs/originalsin_1.shtml
[5] (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316339430&grpid=01&catid=02)
[6] http://www.facebook.com/notes/tongrob-sunontalad/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/515205488533305
[7] นิติราษฎร์ ตอบคำถามประเด็นการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารแบบกว้าง ๆ ไม่ลงเฉพาะเจาะจง (ดูข้อ 15) (http://prachatai.com/journal/2012/01/38873)
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327226024&grpid=03&catid&subcatid)
(http://www.siamintelligence.com/nitirat-constitution-roadmap/)
(http://www.enlightened-jurists.com/blog/60/search_keyword/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/search_id/52270)

* ศาลตุรกี พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้ก่อการรัฐประหาร เมื่อครั้ง ค.ศ.1980 (แต่ไม่ปรากฎข้อมูลว่า หากประชาชนผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนั้น ต้องการให้มีการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร เมื่อครั้งปี 1971 และ 1960 ด้วย ประเทศตุรกีจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร / ซึ่งในประเทศไทย มีคนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าเป็นทางออกเดียวในการล้มรัฐบาลคอรร์รัปชั่น และความคิดชุ่ยๆแบบนี้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย กลับยิ่งเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มด้วยซ้ำ) http://www.nytimes.com/2013/10/10/world/europe/turkish-court-upholds-convictions-of-coup-plotters.html?_r=0 http://www.reuters.com/article/2013/10/09/us-turkey-coup-verdict-idUSBRE9980FU20131009

** ที่อธิบายมาทั้งหมด โปรดอ่านละเอียดหลายๆรอบ ผมไม่ได้บอกเลย “ซักประโยค” ว่า “นิยมการรัฐประหาร” นะครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท