สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนากับการเมืองแบบสันติอโศก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดนัลด์ เค.สแวเรอร์ ได้อ้างแนวคิด “พุทธศาสนาแบบโปรเตสแตนท์” (protestant Buddhism) ของกานะนาถ โอบีเยเสเกรี ที่มีต่อ เอ.ที.อารีย์รัตน์ นักปฏิรูปชาวพุทธผู้ก่อตั้งขบวนการสรรโวทัยสมาทานในศรีลังกา และอนาคาริกธรรมปาละ นักตรรกวิทยาทางพุทธศาสนาชาวสิงหลว่า ทั้งสองท่านนี้เป็น “ชาวพุทธโปรเตสแตนท์” เพราะรับอิทธิพลจากทรรศนะของโปรเตสแตนท์สมัยใหม่ในยุโรปตะวันตก ที่เน้นการใช้เหตุผลในการตีความศาสนา โดยสแวเรอร์มองว่า ชาวพุทธแบบโปรเตสแตนท์อาจเป็น “จารีตนิยมใหม่” (Neo-traditionalism) ซึ่งนำแนวปฏิบัติเดิมมาปรับใช้ใหม่ เช่นธรรมปาละในศรีลังกา หรือ “สันติอโศก” ในไทยก็ได้ หรืออาจเป็น “นักปฏิรูป” อย่างเช่นอารีย์รัตน์ในศรีลังกา และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ในไทย (โดนัลด์ เค.สแวเรอร์.การสร้างสรรค์สังคมใหม่แบบพุทธตามทัศนะของ ส.ศิวรักษ์, หน้า 58-59)

จากการวิเคราะห์ของสแวเรอร์ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ความเป็น “จารีตนิยมใหม่” ที่เน้นการใช้เหตุผลในการตีความพุทธศาสนา และนำแนวปฏิบัติเดิมมาปรับใช้ใหม่ของสันติอโศก คือ การตีความพุทธศาสนาสนับสนุนการเมืองว่าพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ และพระสงฆ์กับชาวพุทธควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อให้การเมืองสะอาดขึ้น มีศีลธรรมมากขึ้น ซึ่งที่จริงการตีความพุทธศาสนาในทางการเมืองทำนองนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า พุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) ก็ถูกตีความสนับสนุนการเมืองในระบอบราชาธิปไตยมาก่อนแล้วทั้งนั้น

ต่างแต่ว่าสันติอโศกแสดงออกว่า กำลังตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนการก่อตั้งพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ พระสงฆ์แสดงออกซึ่งสิทธิทางการเมืองในด้านต่างๆได้ เช่น การแสดงทัศนะทางการเมือง การเคลื่อนไหว หรือชุมนุมทางการเมือง นี่คือ “ความใหม่” ในการตีความพุทธศาสนาทางการเมืองของสันติอโศก

แต่ “ความเก่า” ของสันติอโศก คือการยึดถือวินัยสงฆ์และศีลพรตอย่างเคร่งครัด และอ้างอิงใช้ในทางสังคมการเมืองอย่าง “ตายตัว” เช่น อ้างการกินมังสวิรัติเป็นวัตรปฏิบัติที่ถูกต้องของชาวพุทธ อ้างศีล 5 ต่อต้านการที่รัฐจะออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง หรืออ้างศีลธรรมพุทธศาสนาต่อต้านการเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมาย เป็นต้น (ในแง่นี้การอ้างศีลธรรมทางศาสนาแบบสันติอโศกมีลักษณะยืนยัน “กฎศีลธรรมแบบตายตัว” คล้าย “คาทอลิก” มากกว่าโปรเตสแตนท์)

ส่วนในเชิงการจัดองค์กรสังฆะ “ความใหม่” ของสันติอโศกคือ การประกาศตนเป็นขบถไม่ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม ซึ่งสันติอโศกมองว่าเป็น “เผด็จการ” มีการตีความ “วินัยสงฆ์” ขัดแย้งกับมหาเถรสมาคม ส่งผลให้มีการดำเนินคดี และศาลตัดสินให้สันติอโศกไม่ใช่พระภิกษุในคณะสงฆ์ไทย แต่ในทางพระธรรมวินัยเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสมณะสันติอโศกไม่ใช่พระภิกษุในพุทธศาสนา

การไม่ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคมทำให้สันติอโศกเป็นองค์กร “สังฆะใหม่” ในสังคมไทย คือเป็นองค์กรสังฆะที่ไม่ขึ้นต่อรัฐ หรือพูดได้ว่าพุทธศาสนาแบบสันติอโศกคือ “พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ” ในสังคมไทย

ในแง่ปรัชญาองค์กร สังฆะสันติอโศกอาจมีความใหม่ในเชิงเป็นศาสนาทางเลือกที่เสนอวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบ “บุญนิยม” ต้านทุนนิยม บริโภคนิยม แต่ “ความเก่า” ของสันติอโศกคือ แม้จะปฏิเสธมหาเถรสมาคม แต่สันติอโศกก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและได้รับการสนับสนุนจากทหาร (หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ “นายทหารผู้มากบารมี”  อาจเป็นเรื่องยากที่สันติอโศกจะรอดและเติบโตมาได้) มาโดยตลอด อีกทั้งยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมค่อนข้างเข้มข้น เห็นได้จากการต่อสู้ทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยม ชาตินิยมล้าหลัง เป็นต้น

ภาวะ “ย้อนแย้ง” (paradox) ในตัวเองของสันติอโศกดังกล่าวมานี่เอง ที่ทำให้ศาสนากับการเมืองแบบสันติอโศกมีความย้อนแย้งในตัวเองไปด้วยอย่างซับซ้อน เช่น เรียกร้องประชาธิปไตย แต่สนับสนุนการทำรัฐประหารรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือก และอ้างศีลธรรมแบบ “สองมาตรฐาน” คือ อ้างศีลธรรมยกย่องความดีงามสูงส่งของสถาบันกษัตริย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ พร้อมๆ กับอ้างศีลธรรมตัดสินความเลวร้ายของนักการเมืองที่ตรวจสอบได้

การอ้างศีลธรรมแบบ “สองมาตรฐาน” ดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ เป็นการสร้าง “ความไม่เป็นธรรม” ในการ “ตัดสินทางศีลธรรม” (moral judgment) อันเป็นรากฐานของทัศนะทางการเมืองแบบ “ขาว-ดำ” หรือ “เทพ-มาร” และนำไปสู่การอ้าง “เทพ” มากำจัด “มาร” ด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ ซึ่งขัดต่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” ที่พวกตนเรียกร้อง เพราะประชาธิปไตยนั้นต้องถูกต้องทั้ง “วิถี” และ “จุดหมาย” วิถีที่ผิดอย่างรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ จะทำให้บรรลุจุดหมาย คือความมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมไม่ได้

ความขัดแย้งในตัวเองของสันติอโศกยังมีอีกมาก เช่น ชูธง “อหิงสา-สันติ” แต่กลับสนับสนุนโครงสร้างอำนาจนิยม และอุดมการณ์ชาตินิยมล้าหลัง สนับสนุนรัฐประหารซึ่งเป็น “วิธีการรุนแรงในตัวมันเอง” ที่อยู่ตรงข้ามกับอหิงสา-สันติ อ้างศีลธรรมนำการเมืองตลอดเวลา แต่กลับอ้างศีลธรรม “แบบสองมาตรฐาน” ที่แสดงถึงการขาดศีลธรรมพื้นฐานในทางสังคมการเมืองของ “ผู้อ้าง” เอง คือขาด “ความยุติธรรม” หรือ “ความเที่ยงตรง” หรือ “การประพฤติธรรมอย่างสุจริต” ในการตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรมและศาสนาในทางการเมือง

กล่าวโดยสรุป ลัทธิจารีตนิยมใหม่แบบสันติอโศก อาจจะเป็นศาสนาทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนกลุ่มน้อยที่ปฏิเสธบริโภคนิยม แต่ถ้าเข้ามาสู่การเมืองระดับชาติโดยยึดอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ชาตินิยมล้าหลัง และใช้ “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” ตัดสินถูก ผิดทางการเมือง พุทธแบบสันติอโศกย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้อง “ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ให้ดำรงอยู่ต่อไป

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (26 ต.ค.-1 พ.ย.2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท