Skip to main content
sharethis

สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์ที่ 19 ของกรุงรัตนโกสินทร์สิ้นพระชนม์แล้ว ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพที่วัดบวรนิเวศวิหารฯ โดยจะมีการเชิญพระศพจาก รพ.จุฬาลงกรณ์พรุ่งนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชองค์ที่ 19 ของกรุงรัตนโกสินทร์ (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

 

รพ.จุฬาลงกรณ์ประกาศข่าวสมเด็จพระสังฆราชฯ สิ้นพระชนม์

25 ต.ค. 2556 - เมื่อคืนวานนี้ (24 ต.ค.) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 เรื่อง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า "วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา รายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19:30 นาฬิกา ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 24 ตุลาคม 2556"

ต่อมา เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศว่า "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬากรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2556 เวลา 19 นาฬิกา 30 นาที"

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 15 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร และถวายพระเกียรติยศ ตามราชประเพณีทุกประการ"

นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรี ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์" ว่า "ตามที่ได้มีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2556 นั้น รัฐบาลได้รับทราบด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง และได้พิจารณาเห็นว่า โดยที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้บำเพ็ญสรรพกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่บวรพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ในสังฆมณฑล ตลอดจนพุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดมา จึงเห็นสมควรประกาศดังนี้"

"1.ให้สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงลงครึ่งเสา มีกำหนด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 25-27 ตุลาคม 2556  2.ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ไว้ทุกข์มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ทั้งนี้ ขอความร่วมมือองค์กรอิสระทุกแห่งได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกัน ประกาศ ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี"

โดย รพ.จุฬาลงกรณ์จะเปิดให้กราบพระศพสมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 25 ต.ค. เวลา 08.00 - 12.00 น. ที่ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร และจะเชิญพระศพโดยใช้เส้นทาง ถ.ราชดำริ ขึ้นทางด่วนพระราม 4 ลงที่อุรุพงษ์ ถ.หลานหลวง ผ่านแยกผ่านฟ้า ถ.ดินสอ ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร โดยประชาชนทั่วไปสามารถส่งเสด็จได้ตลอดเส้นทาง

 

สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี 2532 ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

สมเด็จพระสังฆราชฯ นั้นนามเดิมคือ เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อ 4 ตุลาคม ปี 2456 ที่ จ.กาญจนบุรี เดิมนั้นเนื่องจากทรงเจ็บป่วยออดแอดเสมอ ญาติจึงบนไว้ว่าถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน ต่อมาเมื่อเรียนจบชั้นประถม 5 พระองค์ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี 2469 ขณะมีชันษาได้ 14 ปี  โดยจำพรรษาที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษาและได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จ.นครปฐม

หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี” จนกระทั่งเมื่อพระชันษาครบอุปสมบท จึงไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. 2476 และภายหลังกลับเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัย และได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกายที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ข้อมูลใน วิกิพีเดียระบุว่า ทั้งนี้สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 และในปี พ.ศ. 2547 มีการตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นคณะที่ประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ 7 รูป จาก 7 พระอาราม ทำหน้าที่บริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ เนื่องจาก สมเด็จพระญาณสังวรฯ ประชวร ทำให้ทรงไม่สามารถปฏิบัติพระศาสนกิจได้สะดวก โดยคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชชุดปัจจุบันประกอบด้วย

1. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ฝ่ายมหานิกาย เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชลำดับต่อมาได้แก่ 2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศ์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 3.สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดเทพศิรินทราวาส ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 4. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 5. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ฝ่ายมหานิกาย 6. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 7. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการามวรวิหาร ฝ่ายมหานิกาย

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 7 ระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถระสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

"ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net