Skip to main content
sharethis


23 ตุลาคม 2556 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) แถลงจุดยืนคัดค้าน ประณาม การปรับแก้ข้อความในมาตรา 3 ของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ยืนยันหลักการอาชญากรรมโดยรัฐต่อประชาชนต้องเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สำทับ" “ความจริง” และ “ความยุติธรรม” มีความสำคัญมากกว่า “ความปรองดอง” อันหลอกลวงฉาบฉวย"

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%


แถลงการณ์ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.)
กรณีร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ของประชาชน ได้ปรับแก้ข้อความในมาตรา 3 ตามข้อเสนอของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย  ศปช.ในฐานะที่ได้รวบรวมข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 รวมทั้งการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม ซึ่ง ศปช.ได้จัดพิมพ์รายงานออกเผยแพร่ต่อสาธารณะไปแล้วนั้น มีความเห็นดังต่อไปนี้

1) จากข้อเท็จจริงที่ค้นพบ ศปช. ขอย้ำอีกครั้งว่า การใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมระหว่างเม.ย.-พ.ค. 2553  โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้น เป็นการปราบปรามการชุมนุมที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งในแง่การใช้กำลังพลและอาวุธ  และความสูญเสียต่อชีวิต  มีพยานหลักฐานมากพอสมควรที่ชี้ว่า ปฎิบัติการดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจและกำลังที่เกินกว่าเหตุ โดยเล็งเห็นผลว่าจะเกิดการละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนอย่างชัดเจน 

หลังเหตุการณ์ กระบวนการยุติธรรมเพื่อหาผู้รับผิดต่อความรุนแรง โดยเฉพาะความสูญเสียต่อชีวิตของพลเมืองในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์  ได้ดำเนินไปอย่างล่าช้า ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล กระบวนการจึงมีความคืบหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า

(1) แม้จะมีบางคดีที่ผ่านขั้นตอนไต่สวนการตายและศาลเห็นว่าการตายนั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นจำเลยในชั้นศาลนั้น กลับจำกัดเฉพาะนักการเมือง คือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณเท่านั้น ขณะที่จงใจละเว้นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่สำคัญทั้งใน ศอฉ. และกองทัพ 

(2) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบคดีเหล่านี้โดยตรง เป็นบุคคลที่เคยมีบทบาทสำคัญใน ศอฉ. และอยู่ในข่ายควรต้องมีส่วนรับผิดต่อการสลายการชุมนุมด้วย  ทั้ง 2 ประการนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการสร้างความยุติธรรม และกระบวนรับผิด (Accountability)

แต่สถานการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อเป็นที่ชัดเจนว่า การปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ กำลังจะทำให้ผู้นำในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ศอฉ. กองทัพ และเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม พ้นจากการรับผิดอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ต้องพิสูจน์เลยว่าพวกเขากระทำการด้วยความสุจริตและสมควรแก่เหตุ รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของพลเมืองหรือไม่อย่างไร

2) การปรับแก้ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ยังส่งผลครอบคลุมการนิรโทษกรรมต่ออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในคดีที่ถูกกล่าวหาโดย คตส. หลังรัฐประหารด้วย  แน่นอนว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการรัฐประหารและกระบวนการหลังจากนั้น แต่การคืนความยุติธรรมให้แก่เขาสมควรที่จะใช้วิธีการอื่น ซึ่งถูกต้องชอบธรรมและเหมาะสมกว่า อาทิเช่น แนวทาง “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ที่คณะนิติราษฎร์เคยเสนอไว้แล้ว 


ศปช. เห็นว่าการเปลี่ยนสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯในประเด็นข้างต้นนี้ คือการฉวยโอกาส เพียงเพื่อช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ โดยยอมแลกกับการไม่เอาผิดต่อผู้ที่ก่ออาญชญากรรมต่อประชาชนเมื่อปี 2553 อีกทั้งอิสรภาพของผู้ต้องขังทางการเมืองที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมทั้งหมด ยังถูกนำไปแขวนไว้บนเส้นด้ายอีกครั้ง  เพราะร่าง พ.ร.บ. นี้กำลังเป็นชนวนเหตุช่วยระดมกลุ่มต่อต้านทักษิณให้ออกมาคัดค้าน จนอาจทำให้ร่าง พ.ร.บ. ทั้งฉบับตกไปในที่สุด  และส่งผลให้ผู้ต้องขังทางการเมืองไม่ได้รับอิสรภาพตามเจตนารมณ์ของการนิรโทษกรรม  

การจงใจแก้ไข-บิดเบือน-หมกเม็ดร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นนี้ จึงแสดงให้เห็นถึงความมักง่ายสายตาสั้นทางการเมือง ขาดความรับผิดชอบทางศีลธรรม และความเห็นแก่ตัวอย่างถึงที่สุดของพ.ต.ท.ทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน  ที่ได้เสียสละต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและกำลังเผชิญกับความทุกข์ยากอยู่ในขณะนี้เลย

ประการสำคัญ ที่ผ่านมา ความรุนแรงทางการเมืองที่รัฐกระทำต่อประชาชนในประเทศไทย จบลงด้วยการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ปราบปรามประชาชนทุกครั้ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชนให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการเขียนใบอนุญาตล่วงหน้าให้รัฐบาลและ/หรือเจ้าหน้าที่รัฐสามารถก่อความรุนแรงต่อพลเมืองได้อีกในอนาคต  ดังนั้น ศปช. จึงขอคัดค้านการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ตามข้อเสนอของกรรมาธิการ ส.ส. พรรคเพื่อไทย  เราขอยืนยันอีกครั้งว่า วัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล และการเหยียบย่ำสิทธิในชีวิตและความเป็นคนจะต้องยุติลงในสังคมไทยเสียที  ถึงเวลาที่จะต้องช่วยกันรื้อถอนวัฒนธรรมการเมืองอันน่ารังเกียจที่ครอบงำสังคมไทยนี้  “ความจริง” และ “ความยุติธรรม” มีความสำคัญมากกว่า “ความปรองดอง” อันหลอกลวงฉาบฉวย
 

23 ตุลาคม 2556
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net