Skip to main content
sharethis

แรงงานอีสานร้องดีเอสไอถูกหลอกเก็บลูกเบอร์รีในสวีเดน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่  15 ต.ค. 56 นายภาสกร เจนประวิทย์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษ และคณะ ดีเอสไอ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการร้องทุกข์จาก นายวินัย แก้วเก็บคำ อายุ  38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 6 ต.นางงาม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น  นายวิบูลย์ โกสน อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 80 หมู่ 6 อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น  นายวิศรุต สุดาวัน อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่76 หมู่ 8 ต.โพนเพ็ก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น  พร้อมราษฎรในเขตพื้นที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี  และ จ.ชัยภูมิ ประมาณ 120 คน ขอยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อดีเอสไอภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น  กรณีถูกบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งใน จ.ชัยภูมิ เรียกเก็บเงินคนละประมาณ 100,000 บาท เพื่อแลกกับการได้ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน โดยไม่ได้รับผลตอบแทนตามสัญญา หลังเข้าขอความช่วยเหลือที่สถานทูตไทยประจำประเทศสวีเดน เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

นายวินัย กล่าวว่า เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมามีนายหน้าของบริษัทจัดหางานได้เข้าไปในหมู่บ้านเพื่อชักชวนชาว บ้านให้เดินทางไปทำงานเก็บลูกเบอร์รีที่ประเทศสวีเดน โดยเรียกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประเทศสวีเดน ประมาณรายละ 100,000 บาท เพื่อแลกกับผลตอบแทนเดือนละประมาณ 85,000 บาท โดยนายหน้าคนดังกล่าวอ้างว่าลูกเบอร์รีมีมากหากคนงานไปเก็บจะไม่ขาดทุน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และอุดรธานี  กว่า 500 คน หลงเชื่อไป กระทั่งไปกู้ยืมเงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ร่วมมูลค่าความเสียหายกว่า 100  ล้านบาท  ซึ่งกลุ่มชาวบ้านผู้เสียหายได้เดินทางไปประเทศสวีเดนเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2556 แต่เมื่อไปถึงประเทศสวีเดน บริษัทจัดหางานได้จัดให้กลุ่มชาวบ้านผู้เสียหายไปเก็บลูกเบอร์รีบนภูเขาที่ เมืองอูเมียว ทางตอนเหนือ และเมืองเลตเจอร์ฟอร์ดทางใต้ของประเทศสวีเดน โดยจัดที่พักพร้อมอาหารให้

 นายวินัย กล่าวอีกว่า เมื่อชาวบ้านผู้เสียหายเก็บลูกเบอร์รีนานกว่า 1 เดือน กลับไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา จึงรวมตัวประท้วงที่ประเทศสวีเดน จนบริษัทเจ้าของไร่ลูกเบอร์รีในประเทศสวีเดนออกมาแถลงข่าวชี้แจงว่า ได้จ่ายค่าแรงงานให้กลุ่มชาวบ้านผู้เสียหายผ่านบริษัทจัดหางานดังกล่าวแล้ว และไม่ทราบว่าทำไมชาวบ้านผู้เสียหายจึงไม่ได้รับค่าจ้าง กระทั่งกลุ่มชาวบ้านผู้เสียหายได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในประเทศ สวีเดน ในการออกค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2556  พวกตนซึ่งมีประมาณ 120 คน อยู่ในสามจังหวัดภาคอีสานตอนบนจึงรวมกลุ่มมาขอความช่วยเหลือจากดีเอสไอภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น  ให้ตรวจสอบบริษัทจัดหางานดังกล่าว พร้อมติดตามเงินค่าจ้างคืนให้กลุ่มชาวบ้านผู้เสียหาย เพราะตอนนี้เดือดร้อนมาก บางรายเครียดป่วย หรือเสียชีวิต เพราะต้องไปกู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาน ทั้งนี้ ตนอยากขอเตือนประชาชนว่าหากจะเดินทางไปเก็บผลไม้ที่ประเทศสวีเดน ขอให้ตรวจสอบบริษัทจัดหางานกับกระทรวงแรงงานว่าจัดตั้งถูกต้องหรือไม่ โดยมีบริษัทจัดหางานที่ดีอีกจำนวนมาก

นายวิบูลย์  แรงงานไทยจากจังหวัดขอนแก่น ตัวแทนกลุ่มแรงงาน ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อดีเอสไอ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า  หลังจากแรงงานจากภาคอีสานประมาณ 500 คน  ซึ่งมีตนเป็นหนึ่งในนั้นได้รับการติดต่อว่าจ้างจากบริษัท เอ็ม ฟินิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด  ให้ไปทำงานรับจ้างเก็บผลไม้ที่ประเทศสวีเดน ทำงานตั้งแต่ตี 3 ถึง ห้าทุ่ม และจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำเป็นเงินจำนวนเกือบ 1 หมื่น 9 พัน โคลนสวีเดนต่อเดือน หรือประมาณกว่า 9 หมื่น 3 พันบาทไทย ระยะเวลาว่าจ้าง 3 เดือน แต่จะต้องจ่ายเงินค่าเดินทางและค่าดำเนินการอื่นๆ ให้กับทางบริษัทก่อน โดยบางคนจ่ายเป็นเงินสด บางคนจ่ายเป็นหลักทรัพย์โฉนดที่ดิน เบ็ดเสร็จรวมมูลค่ากว่า 1 แสน 4 พันบาทต่อคน แต่เมื่อทำงานมาได้เดือนเศษกลับไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ ทั้งจากบริษัท เอ็มฟินิกซ์ ประเทศไทย และบริษัทที่สวีเดน จึงประสานสถานฑูตไทยในสวีเดนขอเดินทางกลับประเทศเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนจะเดินทางมาร้องทุกข์กับดีเอสไอที่ จ.ขอนแก่น  ให้ตรวจสอบบริษัทดังกล่าวด้วย  ว่า มีการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และให้ดำเนินคดีหากพบการกระทำความผิดจริงเบื้องต้นดีเอสไอได้รับเรื่องไว้ เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป

พ.ต.ท.กรวัชร์ ปกล่าวว่า  กรณีมีผู้เสียหายเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนจำนวนมากที่ถูกล่อลวงไปทำงานที่ ประเทศสวีเดน ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ซึ่งผมได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พร้อมกับรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้เป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ ซึ้งมีผู้เกี่ยวข้องคือ บริษัท เอ็ม ฟินิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งได้ชักชวนกลุ่มคนงานในภาคอีสาน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา และ จ.อุดรธานี  ซึ่งถูกชักชวนให้ไปทำงานที่ประเทศสวีเดนไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศนั้น

สอบสวนทราบว่าแรงงานชุดนี้ไปอยู่ประเทศสวีเดนแบบอยู่เอง ทำเอง กระทั่งมีนายบัวลา เหล่าพรม อายุ 39 ปี ทนไม่ไหวจึงได้ผูกคอตายอยู่ในประเทศสวีเดน พวกเขาจึงต้องร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ  ซึ่งเป็นหลอกลวงแรงงานในภาคอีสาน   ดังนั้น กรณีนี้ผู้ร้องโดนฉ้อโกงค่าแรงงาน แถมให้เซ็นต์ในเอกสารเปล่าอีกด้วย เรื่องดังกล่าวตนได้ดำเนินการหาข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจัดหางานซึ่งเป็นบริษัทอยู่ในประเทศ ไทยว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เพราะถ้าหากเข้าถือว่าเป็นคดีพิเศษ

ทางดีเอสไอก็พร้อมที่จะดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเห็นว่าคดีนี้น่าจะมีมูล ไม่เช่นนั้นคงไม่มีผู้เสียหายมากถึง 120  คนที่เดือดร้อนมาร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ ทั้งนี้ เราก็ต้องฟังความหลายฝ่าย รวมทั้งฝ่ายบริษัทที่จัดหางานด้วยว่าได้ทำถูกต้องหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีการตรวจสอบในเชิงลึกทั้งหมด รวมไปถึงการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวว่ามีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ในการจัดหางาน ไปต่างประเทศ.

(เดลินิวส์, 15-10-2556)

ก.แรงงานเตรียมลงนามกาตาร์ว่าด้วยระเบียบการจ้างแรงงานไทย

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงานและรักษาการเลขาธิการประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมจะลงนามและแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกับเอกอัครราชทูตกาตาร์ ประจำประเทศไทย เกี่ยวกับระเบียบการจ้างแรงงานไทยภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะครอบคลุมในเรื่องสัญญาจ้าง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเงินเดือน เนื่องจากประเทศกาตาร์มีความต้องการแรงงานไทยถึง 30,000 คน เพื่อไปทำงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น สถาปนิก วิศวกร ช่างเทคนิค รวมทั้งลูกเรือประจำสายการบินการ์ตา เป็นต้น

(ประชาชาติธุรกิจ, 16-10-2556)

แรงงานไทยถูกหลอกไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ ร้องดีเอสไอตรวจสอบบริษัทหลอกคนไทยไปทำงานต่างแดน เสียหายกว่า 21 ล้านบาท

(16 ต.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีที่ดีเอสไอได้รับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกหลอก ให้ไปทำงานเก็บผลไม้ในประเทศฟินแลนด์ จำนวน 30 ราย โดยเรียกรับค่านายหน้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 21 ล้านบาท แต่เมื่อเดินทางไปทำงานแล้วปรากฏว่าผู้เสียหายต้องดิ้นรนหาแหล่งเก็บผลไม้ เอง และไม่ได้รับค่าแรงตามที่เสนอไว้ตั้งแต่แรก
      
นายธาริตกล่าวว่า วานนี้ (15 ต.ค.) นายวสันต์ หมั่นบ่อแก ตัวแทนผู้เสียหายแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศฟินแลนด์พร้อมแรงงานไทยอีก 30 คน เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ปฎิบัติการพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ว่าเมื่อประมาณเดือน เม.ย. 2556 กลุ่มผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากนายอภิชัย นาคสุข กรรมการบริษัท TS LAW & BUSINESS ประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท Ber-ex Oy ประเทศฟินแลนด์ ว่าต้องการคนงานไปเก็บผลไม้ที่ประเทศฟินแลนด์ จำนวน 73 คน โดยมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ 68,000 บาท ค่าตรวจโรค 1,000 บาท และค่าทำบัตรกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศอีก 500 บาท ทั้งนี้กลุ่มผู้เสียหายบางรายไม่มีค่าใช้จ่ายในการไปทำงานตามที่นายหน้า เรียกรับ ก็ได้ไปขอกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีบริษัท Ber-ex Oy ซึ่งนายอภิชัยได้ออกหนังสือรับรองให้ แต่บางคนกู้นายทุนนอกระบบ หรือบางรายก็ขายไร่ขายนาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว
      
อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่าว่า ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ให้คนงานไปอบรมที่แรงงานจังหวัดแต่ละจังหวัดที่มี ภูมิลำเนาอยู่ และในวันที่ 29 ก.ค. 2556 กลุ่มผู้เสียหายทั้งหมดออกเดินทางจากประเทศไทยไปยังซัดคูโม ประเทศฟินแลนด์ และได้มีตัวแทนบริษัท Ber-ex Oy ชาวฟินแลนด์ และมีนาย Kari Jansa เจ้าของบริษัทเป็นผู้เดินทางมารับกลุ่มผู้เสียหายถึงสนามบินและจัดหาที่พัก พร้อมทั้งให้การอบรม โดยมีล่ามชาวไทยเป็นผู้แปลภาษาให้ หลังจากนั้นจึงพากลุ่มผู้เสียหายไปยังเมืองจูวา ประเทศฟินแลนด์ เพื่อทำงานเก็บผลไม้ (ลูกเบอร์รี) ซึ่งในช่วง 3 วันแรกไม่มีผลไม้ให้เก็บเนื่องจากได้มีคนงานชาวไทยจากบริษัทอื่นไปเก็บผลไม้ ก่อนหน้านี้แล้ว กลุ่มผู้เสียหายจึงขอออกไปสำรวจหาผลไม้เอง และเมื่อพบผลไม้ซึ่งอยู่อีกเมืองหนึ่งห่างไปประมาณ 700 กม. ก็ได้ขอให้ทางบริษัทย้ายที่พักคนงานไปอยู่ในบริเวณที่พบผลไม้ แต่บริษัทกลับไม่อนุญาตให้ย้าย พร้อมทั้งแจ้งว่าใครที่จะย้ายไปเก็บผลไม้ดังกล่าวจะส่งกลับประเทศไทย
      
ทั้งนี้ นายธวัชชัย สุขรินทร์ เจ้าของบริษัท TS LAW & BUSINESS แจ้งให้แรงงานกลุ่มผู้เสียหายเก็บผลไม้ที่เมืองจูวาต่อไป โดยบริเวณนั้นมีผลไม้น้อยไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ต่อมากลุ่มผู้เสียหายได้เริ่มเก็บผลไม้ (ลูกเบอร์รี่ชนิดสีแดง) ซึ่งเริ่มสุก และเริ่มมีรายได้ แต่ทางบริษัท Ber-ex Oy กลับย้ายกลุ่มผู้เสียหายไปที่อื่นโดยแยกเป็น 3 กลุ่ม ตามเมืองต่างๆ ซึ่งตามเมืองต่างๆ ที่ย้ายไปนั้นไม่มีผลไม้หรือมีผลไม้น้อย ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย บางแห่งก็มีคนงานบริษัทอื่นเก็บอยู่แล้ว กลุ่มผู้เสียหายจึงขอย้ายกลับเมืองจูวา แต่บริษัทไม่ยอมพร้อมทั้งขู่ว่าใครย้ายจะส่งกลับประเทศไทย กลุ่มผู้เสียหายจึงยินยอมที่จะกลับแต่ต้องชำระค่าเก็บผลไม้ แต่บริษัทไม่ยอมจ่าย พร้อมทั้งนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาไล่กลุ่มผู้เสียหายออกจากที่พัก กลุ่มผู้เสียหายจึงขอความช่วยเหลือจากคนไทยในประเทศฟินแลนด์ และชมรมคนว่างงานของฟินแลนด์ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการจัดหาที่พักและอาหาร ให้ รวมทั้งช่วยต่อสู้เรียกร้อง สิทธิต่างๆ และติอต่อสถานทูตไทยประจำประเทศฟินแลนด์เพื่อเข้ามาช่วยเจรจาแต่ก็ไม่สำเร็จ
      
นายธาริตกล่าวว่า ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ยอมจ่ายค่าผลไม้ให้แก่พนักงาน แต่จ่ายให้แค่ 30 คน ตามจำนวนผลไม้ที่เก็บได้จริง ส่วนอีก 20 คนไม่จ่าย โดยให้เหตุผลว่าได้กู้เงินบริษัท TS LAW & BUSINESS ซึ่งโอนเงินให้กับบริษัท TS LAW & BUSINESS ที่ประเทศไทยแล้ว แต่ในความเป็นจริง ผู้เสียหายไม่ได้กู้เงินจากบริษัท TS LAW & BUSINESS แต่อย่างใด จนกระทั่งกลุ่มคนไทยร่วมกับคนฟินแลนด์ในประเทศฟินแลนด์ จัดคอนเสิร์ตระดมทุนหาเงินให้กับกลุ่มผู้เสียหายให้ทยอยเดินทางกลับ ประเทศไทย
      
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อน และได้รับความเสียหาย จากการที่ถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ และค่าเสียหายจากการไม่ได้รับเงินค่าเก็บผลไม้ที่ได้เก็บไปแล้ว รวมทั้งค่าเสียเวลาที่ไม่ได้เก็บผลไม้ คนละประมาณ 3 แสนบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 21 ล้านบาท กลุ่มผู้เสียหายจึงขอให้ดีเอสไอให้ความช่วยเหลือ โดยรับเป็นคดีพิเศษและดำเนินคดีกัต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ได้กระทำผิด กฎหมาย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-10-2556)

ปลัดแรงงานสั่งเร่งช่วยเหลือแรงงานกรณีไฟไหม้ห้าง "ซุปเปอร์ชีป ภูเก็ต"

จากกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างซุปเปอร์ชีป (Super Cheap) ตั้งอยู่ที่ ถนนเทพกษัตรี ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่ สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานประกันสังคมจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด เร่งให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งแรงงานไทยและแรงงาน ต่างด้าว โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ตได้ตั้งโต๊ะให้บริการรับลงทะเบียนแรงงาน ที่ถูกเลิกจ้าง พร้อมจะจัดหางานให้ใหม่ที่สำนักงานจัดหางานภูเก็ต และบริเวณหน้าห้างซุปเปอร์ชีป รวมทั้งการดูแลผู้ประกันตนที่ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยให้ได้รับความสะดวก ในการเข้ารักษาพยาบาลโดยเร่งด่วน ตลอดจนการขอรับสิทธิประโยชน์ในการว่างงานตามมาตรา 33 หากผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยว กับการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคม จังหวัดภูเก็ต 076-222-837 หรือสายด่วน 1506

(มติชน, 17-10-2556)

แก้ กม.แรงงานให้ “เฉลิม” กำหนดอาชีพอันตรายต่อสาธารณะ

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่ กพร.เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังตรวจสอบเนื้อหาร่างแก้ไข พ.ร.บ.เมื่อตรวจสอบเนื้อหาเสร็จแล้วจะมีการเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระ ที่ 1 ต่อไป
      
ทั้งนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดสาขาอาชีพ หรือตำแหน่งงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือ รับรองความสามารถเพื่อให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพอย่างมีคุณภาพและ ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องสินค้าและบริการ ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพการประกอบอาชีพให้มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งนำมาใช้คัดกรองแรงงานช่างฝีมือจากต่างประเทศที่จะเข้ามาทำงานในไทย ให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพรองรับประชาคมอาเซียน (เอซี)
      
อธิบดี กพร.กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ กพร.จะจัดทำร่างกฎกระทรวงแรงงานรองรับไว้ล่วงหน้า โดยจะกำหนดสาขาอาชีพ หรือตำแหน่งงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือ รับรองความสามารถ ซึ่งเบื้องต้น กพร.ได้คาดการณ์ว่าจะมีหลายสาขาอาชีพ เช่น ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้ จะหารือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ สถานประกอบการต่างๆและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดสาขาอาชีพ จะเร่งออกกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จก่อนเปิดเออีซีในปี พ.ศ.2558

“แรงงานช่างฝีมือทั้งคนไทยและต่างชาติในสาขาอาชีพที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ จะต้องผ่านการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและได้รับใบรับรอง ความสามารถก่อน จึงจะทำงานได้โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย จะทำให้สถานประกอบการได้แรงงานช่างฝีมือที่มีคุณภาพ” นายนคร กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-10-2556)

สำนักงบฯ ฟันธง! ปี 56 ไม่จ่ายเงินเดือนพนักงานมหา’ลัย แต่จะตั้งงบเบิกจ่ายให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 57 เป็นต้นไป

(17 ต.ค.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินปรับเพิ่มตามคุณวุฒิ ในปีงบประมาณ 2555-2556 ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่ ครม.มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเงินปรับเพิ่มคุณวุฒิให้กับ พนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 จำนวน 54,801 คน จากมหาวิทยาลัยรัฐ จำนวน 79 แห่ง แต่ในปีงบประมาณ 2556 สำนักงบประมาณขอให้มหาวิทยาลัยใช้งบเหลือจ่ายของมหาวิทยาลัยเบิกจ่ายเอง และจะตั้งงบให้ในงบประมาณปีงบประมาณ 2557 ทำให้มหาวิทยาลัยไม่กล้านำเงินรายได้จ่ายให้กับพนักงาน เพราะเกรงว่าจะกระทบกับโครงการอื่นๆ ว่าที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้หารือกับสำนักงบประมาณ เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า สำนักงบประมาณจะไม่สามารถตั้งงบประมาณชดเชยให้มหาวิทยาลัยที่จ่ายเงินเดือน พนักงานมหาวิทยาลัยไปแล้วในปีงบประมาณ 2556 ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ แต่จะตั้งงบเบิกจ่ายให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป
      
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ได้วางแนวทางให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ 4 แนวทาง คือ 1.กรณีมหาวิทยาลัยที่ได้นำเงินรายได้จ่ายไปแล้ว จะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายในโครงการอื่นๆ ได้ 2.สำหรับสถาบันอุดมศึกษา 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี มรภ.เชียงราย มรภ.นครปฐม มรภ.นครศรีธรรมราช มรภ.บุรีรัมย์ มรภ.พระนคร มรภ.ยะลา มรภ.สงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และ มทร.รัตนโกสินทร์ ได้ใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยจ่ายเงินเดือนพนักงานในปีงบประมาณ 2556 ไปแล้ว โดยได้ปรับแผนโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยและเสนอของบจัดซื้อครุภัณฑ์และสิ่งก่อ สร้างเพิ่ม ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบตามที่เสนอ 3 กรณีมหาวิทยาลัยที่ไม่มีเงินเหลือจ่ายในปีงบประมาณ 2556 สามารถขอปรับแผนการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2557 โดยอาจจะเสนอขอเป็นงบจัดซื้อครุภัณฑ์แทน และขอรับการจัดสรรงบประมาณในส่วนที่ขาดในปีงบประมาณ 2558 ได้ และ 4.กรณีอัตราว่างของพนักงานมหาวิทยาลัย ณ วันที่ 1 มกราคม 2555 ซึ่งสำนักงบประมาณไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับปรับเพิ่มตามคุณวุฒิให้ แต่ภายหลังมหาวิทยาลัยได้บรรจุพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว สถาบันอุดมศึกษาก็สามารถพิจารณาใช้จ่ายจากงบประมาณปี 2557 หากไม่เพียงพอก็สามารถขอรับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2558 ได้ตามจำนวนที่ยังขาดอยู่
      
“สกอ.ได้สำรวจข้อมูลในเบื้องต้นพบว่า มีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย ในปี 2555 แล้ว จำนวน 17 แห่ง ยังไม่ได้ดำเนินการ 62 แห่ง สำหรับปี 2556 มีสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการเบิกจ่ายเงินแล้ว จำนวน 11 แห่ง และยังไม่ได้ดำเนินการอีก 68 แห่ง ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยต้องการจะปรับงบการลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2558 เพื่อชดเชยเงินที่สำรองจ่ายไป ตามคำแนะนำของสำนักงบประมาณจะต้องยื่นเรื่องผ่าน สกอ.ไปยังสำนักงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 พ.ย.” นายเสริมศักดิ์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-10-2556)

ก.แรงงาน เตรียมตำแหน่งงานรองรับพนักงานหากซุปเปอร์ชีปเลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นายสุทธิพงศ์ สายสาคเรศ แรงงานจังหวัดภูเก็ต กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ชีปสาขาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ไปอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและลูกจ้างผู้ได้รับผลกระทบ ที่กางเต้นท์เปิดกิจการขายสินค้าต่างๆ ตามปกติ  และหน่วยงานกระทรวงแรงงานได้ตั้งเต้นท์ปักหลักอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกจ้าง ด้วย โดยห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ชีปมีพนักงานทั้งหมด จำนวน 3,436 คน เป็นแรงงานไทยจำนวน 2,736 คน และแรงงานต่างด้าวจำนวน 700 คน ซึ่งขณะนี้นายจ้างยังไม่มีการบอกเลิกจ้างพนักงานแต่อย่างใด และทีมหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจะพยายามเจรจากับนายจ้างไม่ให้ มีการเลิกจ้าง เพราะห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ชีปแห่งนี้เป็นสาขาใหญ่ ยังมีสาขาย่อยอีก 44 สาขาในจังหวัดภูเก็ต และอีก 1 สาขาที่จังหวัดพังงา อย่างไรก็ตามสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ตได้เตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รอง รับพนักงานดังกล่าว จำนวน 2,051 ตำแหน่ง หากต้องมีการเลิกจ้างบางส่วน ก็จะหางานที่อื่นให้แรงงานต่างด้าวทำชั่วคราวด้วย 

(มติชน, 18-10-2556)

อ่วม! เผยสถานประกอบการ 8 แห่ง ลูกจ้างกว่า 1,600 คน น้ำท่วม

(18 ต.ค.) นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใน 22 จังหวัด พบว่ามี 9 จังหวัด ที่สถานประกอบการ 874 แห่ง และลูกจ้าง 21,586 คน ได้รับผลกระทบ คือ สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา สระแก้ว และชลบุรี ทั้งหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเดินทางไปทำงานยากลำบาก บ้านเรือนแรงงานถูกน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น มีสถานประกอบการกลับเข้าสู่ภาวะปกติเเล้ว จำนวน 866 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 19,955 คน โดยนายจ้างยังคงจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ ยังคงเหลือสถานประกอบการอีก 8 แห่ง มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,631 คน แบ่งเป็น จังหวัดนครนายก 1 แห่ง ลูกจ้างกระทบ 300 คน จ.อุบลราชธานี 2 แห่ง ลูกจ้าง 51 คน จ.ชลบุรี 3 แห่ง ลูกจ้าง 719 คน จ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ลูกจ้าง 3 คน และ จ.ปราจีนบุรี 1 แห่ง ลูกจ้าง 558 คน นอกจากนี้ยังมีผลการตรวจสอบผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย พบมีทั้งหมด 72 คน ใน 15 จังหวัด เป็นผู้ประกันตน 8 ราย และที่เหลืออีก 64 ราย ไม่ใช่ผู้ประกันตน
      
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกันตนที่เสียชีวิต ญาติจะได้รับเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตเพื่อเป็นค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท จากสำนักงานประกันสังคม และทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตจากอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 1 เดือนครึ่ง สำหรับผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ประกันตนที่ทำงานตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไปและเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์ ในอัตราค่าจ้างจำนวน 5 เดือน โดยญาติสามารถนำหลักฐานไปขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนดังกล่าวได้ที่สำนักงาน ประกันสังคมใกล้บ้านภายในระยะเวลา 1 ปี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-10-2556)

แรงงานขาดต้นทุนพุ่งศุภาลัยคาดปี 57 อสังหาฯโตถึง 10%

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ศุภาลัย เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2557 ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งมีปัจจัยจากการลงทุนของทางภาครัฐ รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น แต่จะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และผู้รับเหมา จะเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแรงงานบางส่วนถูกดึงไปในโครงการของทางภาครัฐ และราคาวัสดุเตรียมปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นตาม คาดว่าโครงการคอนโดมิเนียมจะมีต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 10% สำหรับแนวราบคาดว่าจะปรับขึ้นประมาณ 4-6%

สำหรับช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ บริษัทเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 6-7 โครงการ เป็นแนวสูง 3 โครงการ แนวราบ 3-4 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 8,000-9,000 ล้านบาท ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่เพิ่มอีก 2 โครงการ ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง คือ “ศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท ระยอง” มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท และจังหวัดชลบุรี คือ “ศุภาลัย วิสต้า ศรีราชา-แยกท่าเรือแหลมฉบัง” มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท นายอธิปยอดขายโครงการปีนี้จะอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท หลังยอดขายโครงการรวม 9 เดือนที่ผ่านมาทำได้ราว 14,000 ล้านบาท

นายอธิปกล่าวว่า ด้านแผนการลงทุนในปี 2557 บริษัทเตรียมพัฒนาโครงการในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเพิ่มสัดส่วนจาก 22% เป็น 25% และตั้งเป้าขยับสัดส่วนเป็น 25% ในปี 2558 โดยเน้นการลงทุนในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ โดยเปิดตัวโครงการในต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า 12-13 โครงการ จากแผนที่จะเปิดโครงการทั้งหมด 24 โครงการ

นอกจากนี้เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในต่างจังหวัด บริษัทได้วางแผนปรับโครงสร้างองค์กร โดยการกระจายการบริหารงาน จากเดิมต้องรายงานตรงกับส่วนกลาง เพื่อทำให้การบริหารงานกระชับ รวดเร็วทันกับสถานการณ์ตลาด และเพื่อติดตามภาวะตลาดได้อย่างใกล้ชิดทั้งในด้านการขายและการตลาด.

(ไทยโพสต์, 20-10-2556)

แรงงานพม่าในไทย 80% เสียสิทธิแรงงาน

นักเคลื่อนไหวเครือข่ายสิทธิแรงงานอพยพ "นายเส่ง เท" กล่าวในงานสัมมนาที่นครย่างกุ้งว่า ประมาณ 80% ของแรงงานพม่าที่อยู่ในไทยโดยมีเอกสารบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูยังคงสูญ เสียสิทธิประโยชน์ด้านแรงงาน

นายเส่งระบุว่า แม้ว่าจะมีสนธิสัญญาระหว่างพม่ากับไทย แต่บรรดาแรงงานพม่าไม่ได้ประโยชน์จากสิทธิเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำ สภาพสถานที่ทำงาน หรือแม้แต่ประเภทของงาน ที่รวมอยู่ในข้อตกลงดังกล่าว

เขากล่าวอีกว่า แรงงานพม่าเหล่านี้ไปทำงานที่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่พบว่าค่าจ้างและตำแหน่งงานของตนไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในข้อตกลง บางรายถูกส่งทำงานที่ไทยโดยบริษัทจัดหางาน แต่กลับไม่ได้ทำงานตามที่ตกลงไว้ในตอนแรก และข้อเสียเปรียบอีกอย่างหนึ่งก็คือสัญญาที่ทำกับนายจ้างไม่อนุญาตให้พวกเขา เปลี่ยนงานได้

นายเส่งเปิดเผยว่า บรรดาบริษัทจัดหางานจากพม่ามักไม่ทำสัญญากับนายจ้างในประเทศไทย และบริษัทเหล่านี้จะส่งแรงงานผ่านนายหน้าจากไทย และหากแรงงานเผชิญกับปัญหาก็จะไม่สามารถแก้ไขได้

นอกจากนี้ เขายังเสริมว่า หลายฝ่ายต่างรู้ดีว่ามีหลายครั้งที่บริษัทจัดหางานบางแห่งที่เซ็นสัญญาว่าจะ ช่วยเหลือแรงงานที่แจ้งปัญหาเข้ามา แต่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรเลย ขณะที่บริษัทบางแห่งไม่สนใจแม้กระทั่งเรื่องใบอนุญาตของตนถูกเพิกถอน ตราบใดที่ยังสามารถทำเงินได้และลอยนวลจากเรื่องนี้ด้วยกลโกงได้

(ประชาติธุรกิจ, 20-10-2556)

อธิบดีแรงงานเผยหลังญี่ปุ่นยกเว้นวีซ่ามีคนไทยไปญี่ปุ่นแล้วไม่กลับมา 6 พันคน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวไทยเข้าญี่ปุ่น

ตัวเลขที่อนุญาตในช่วง 15 วันสำหรับท่องเที่ยว มีคนไม่กลับมาประมาณ 6 พันคน เราก็ตั้งประเด็นว่าน่าจะหลบเข้าไปทำงาน เพราะสำหรับนักท่องเที่ยวแล้วไม่น่าเป็นไปได้

นายประวิทย์ กล่าวว่า ปกติญี่่ปุ่นอนุญาตให้คนไทยไปทำงานในลักษณะแรงงานมีฝีมือ เช่น วิศวกร เขาอนุญาตแต่ต้องขออนุญาตให้ถูกกฎหมาย ส่วนที่เข้าไปใช้แรงงานปีหนึ่งเราส่งได้ประมาณ 300 คน หรือส่งโดยองค์กรของญี่ปุ่นเอง ก็ไปได้ 500 กว่าคนต่อไป เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากนี้ก็คือผิดกฎหมาย ซึ่งต้องมีคนนำพา ซึ่งท่านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานมีนโยบายในเรื่องนี้ เกี่ยวกับการค้ามนุษย์  มีโทษจำคุก 2 ปีถึง 10 ปี หรือปรับ 6 หมื่นถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนที่มีข่าวว่าญี่ปุ่นจะยกเลิกการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวนั้น ยังไม่ได้ข่าว ส่วนที่มีคนไทยเข้าไปแล้วไม่กลับมาก็ต้องหารือกับสถานทูตญี่่ปุ่นประจำ ประเทศไทยต่อไป เพราะเรากังวลว่าเมื่อเขาหลบเข้าไปแล้วไม่ได้รับการคุ้มครอง ก็จะเกิดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบเข้าสู่การค้ามนุษย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net