Skip to main content
sharethis

แรงงานหญิงและแรงงานหญิงข้ามชาติ ร่วมสะท้อนทัศนะต่อ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชี้สิทธิประกันสังคมยังมีช่องโหว่ หญิงท้องถูกเลือกปฏิบัติ แรงงานข้ามชาติจ่ายสมทบเท่ากันแต่ได้สิทธิไม่เท่าเทียม21 ต.ค. คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเวทีขับเคลื่อนเพื่อการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ที่โรงแรมเคป ราชา อ. ศรีราชา จ. ชลบุรีเมื่อวันที่ 19-20 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันกฎหมายโดยเปิดรับความคิดเห็นจากแรงงานหญิงทั้งในและนอกระบบ รวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย

นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า คปก. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความเสมอภาคทางเพศ ไม่ใช่แค่หญิงหรือชายแต่มีรายละเอียดที่มากกว่านั้น ในสังคมไทยและพม่ามีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ะหว่างคนที่มีอำนาจและไม่มีอำนาจ ระหว่างคนที่มั่งมีและยากไร้ นั่นคือการกดขี่ทางชนชั้น ผู้ที่เป็นเพศอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้ชายก็จะถูกกดขี่ในวงการของผู้ใช้แรงงาน แรงงานหญิงถูกเอาเปรียบในฐานะแรงงานแล้วยังถูกเอาเปรียบในฐานะผู้หญิงด้วย งานหนัก งานใช้ฝีมือ งานค่าจ้างน้อยจึงให้ผู้หญิงทำ เพราะไม่มีปากไม่มีเสียง ผู้หญิงจึงตกเป็นเบี้ยล่างถูกเอารัดเอาเปรียบเสมอมา

“ถ้าจะปฏิรูปกฎหมายกันจริงๆแล้ว จะต้องไม่ละเลยความเสมอภาคระหว่างเพศ เราต้องดูว่ากฏหมายที่มีอยู่มันมีลักษณะเอารัดเอาเปรียบหรือไม่เสมอภาคหรือไม่ ถ้าพบ เราก็ต้องแก้ไข เราต้องรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม”

นายสมชายกล่าวเสริมว่า การรวมพลังไม่ได้จำกัดอยู่ที่การใช้แรงงานพี่น้องแรงงานไทย แต่ต้องร่วมมือกับแรงงานข้ามชาติด้วย พี่น้องแรงงานทั่วโลกเป็นพี่น้องกัน ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้เสียแล้ว โอกาสที่เราจะลืมตาอ้าปากได้ ก็จะไม่มี

ด้าน ผศ. นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวถึงปัญหาโดยรวมของแรงงานหญิงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานสตรีมีหลายประเด็น เช่น ปัญหาแรงงานหญิงตั้งครรภ์แล้วถูกบีบให้ออกจากงานหรือเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม ปัญหาความเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าแพทย์ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นผลมาจากการทำงาน ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการะเมิดสิทธิทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นจากสายตา วาจา หรือการกระทำ ส่วใหญ่แรงงานหญิงจะไม่ได้ออกมาเรียกร้องเอาผิดอะไร เนื่องจากเป็นประเด็นที่น่าอับอาย ต่อด้วยปัญหาการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การได้รับค่าจ้างไม่เท่าเทียมกับชายหรือการถูกเลิกจ้างหากลาคลอดเกินกำหนด ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่หรือนายจ้างส่วนใหญ่รู้ข้อกฎหมายแต่ไม่ปฏิบัติตาม

ผศ. นงเยาว์ ยังกล่าวถึงการเข้าถึงสิทธิของแรงงานว่า มีหลายอย่างที่แรงงานเองยังไม่รู้ เช่น การออกมาใช้สิทธิตามกฎหมายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน 2541 ที่ว่าหากนายจ้างใช้สิทธิปิดงาน หรือลูกจ้างขาดงานเกิน 6 เดือน ก็จะขาดสิทธิประกันสังคม หรือการวินิจฉัยโรคของแพทย์ว่าไม่เป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน ทำให้นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีข้อขัดแย้งหรือฟ้องร้อง

“แม้กระทั่งรู้ว่าสิทธิของเราคืออะไรแต่ก็ยังขาดการสนับสนุนการเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิ เจ้าหน้าที่หน่วยงานราขการไม่ให้ความร่วมมือในการรับเรื่อง เพิกเฉย และจะถูกตั้งคำถามจากเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง กระบวนการไกล่เกลี่ยก็ไม่เป็นธรรม”

ธนพร วิจันทร์  กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวถึงหลักการภาพรวมของการปรับปรุงพัฒนากฎหมาย ด้านประกันสังคมและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ต่อมาคือการเกิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติก็เป็นไปได้ยาก กรณีของแรงงานหญิงท้องและแท้ง ก็จะไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม คลอดก่อนครบกำหนด คือคลอดภายใน 7 เดือนก็จะไม่ได้รับสิทธิ เป็นกลไกการเข้าถึงสิทธิที่ยาก

“เราได้ประกันสังคมนี่คุณภาพแย่กว่าทุกอย่าง แย่กว่าบัตรทอง เราได้ต่อเมื่อเราคลอด มันมีความเหลื่อมล้ำแน่นอน อันนี้เราคิดเอง เราคิดว่าตับไตไส้พุงข้าราชการมันดีกว่าเราหรือ เราคิดว่ามาตราฐานมันควรเป็นอันเดียวกัน”

อีกประการหนึ่งคือ ประกันสังคมไม่เน้นการป้องกันโรค หากแรงงานอยากตรวจมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งเต้านมก็ต้องจ่ายเงินเอง ต้องไปโรงพยาบาลเอกชนสาม-สี่พันบาท

แรงงานข้ามชาติ-จ่ายเท่าแรงงานไทย ได้สิทธิไม่เท่าเทียม

สุกานตา สุขไผ่ตา นักจัดตั้งแรงงานข้ามชาติในเขต จ. สมุทรสาครและเชียงใหม่ กล่าวว่าแรงงานข้ามชาติในไทยไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้สักเรื่องเดียว มีผู้ไม่ได้รับการคุ้มครองของกฎหมายแรงงานเป็นจำนวนมาก เช่น ไม่ได้รับวันหยุด สิทธิประกันสังคม ในปัจจุบันเขาถือพาสปอร์ต ใบอนุญาตแรงงานถูกต้อง เจ้าของสถานประกอบการต้องนำเข้าระบบให้ถูกต้องด้วย บางแห่งนำเข้าระบบก็จริงแต่นำเข้าไม่หมด นำเข้าแค่บางส่วนเท่านั้น

“แรงงานข้ามชาติในประเทศมีเกือบ 3 ล้านคน แต่เขาเข้ามาในระบบแค่หลักแสน นายจ้างไม่นำลูกจ้างเข้าระบบให้ถูกต้อง อีกประการคือเขาเป็นลูกจ้างต่างชาติไม่รู้ภาษาไทย เขาเลยไม่รู้ว่ามีสิทธิอะไรบ้าง สามคือระบบประชาสัมพันธ์ของประกันสังคมนี้ไม่เคยลงไปตรวจ และปล่อยปละละเลยว่าแรงงานมีการเข้าระบบหรือยัง ทั้งยังไม่เคยลงมาให้การศึกษาแก่แรงงานข้ามชาติ”

สุกานตากล่าวต่อไปว่า จะเห็นว่าแรงงานข้ามชาติส่งเงินเข้าระบบส่งสมทบเท่าแรงงานไทย แต่สิทธิที่ได้ไม่เท่าเทียม เขาไม่มีทางเข้าถึงได้เลยถ้ายังไม่มีการปรับเปลี่ยน เขาไม่สามารถเบิกได้ อีกทั้งถ้าออกจากงานที่เดิมแล้วต้องหางานให้ได้ภายใน 7 หรือ 15 วัน อีกประเด็นที่สำคัญคือแรงงานข้ามชาติทุพพลภาพ แรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิ เพราะต้องมีการออกใบรับรอง แต่หน่วยงานไทยไม่ออกให้เพราะไม่ใช่คนไทย

สามอญ แรงงานจากพม่า จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาพื้นที่มหาชัย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยว่า “ฉันเป็นแรงงานจากสมุทรสาคร ช่วงตั้งครรภ์ถ้าเราแกะกุ้งไม่ไหวเราก็ต้องล้างห้องน้ำ แล้วก็จะได้กลิ่น ซึ่งเราเมาหรือแพ้กลิ่นน้ำยา หรือไม่ก็จะให้ไปล้างจานก็จะลื่นล้ม ถ้าเป็นแรงงานไทยจะให้ทำงานเบา ฉันรู้สึกถูกแบ่งแยก ไปหาหมอก็ไม่ให้ล่ามไป ให้ไปเอง ต้องจ้างล่ามไปเอง หรือถ้ามีงานวันสตรีสากล เราขอไป เขาก็ไม่ให้ไป เราถูกห้าม”

สามอญกล่าวต่อไปว่า แรงงานกลุ่มที่มีพาสปอร์ต เมื่อคลอดลูกได้ครบ 15 วันก็จะต้องนำลูกกลับประเทศพม่า กลุ่มคนที่ไม่มีพาสปอร์ตก็จะไม่กล้าไปฝากครรภ์หรือหาหมอ เพราะกลัวว่าจะถูกตำรวจจับ อาจมีบางเคสที่คลอดกับหมอตำแยที่เป็นชาวพม่าด้วยกัน เวลาตั้งครรภ์เจ้านายก็จะกล่อมให้ลาออกจากงานไปเลย หรือเมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้วจะถูกส่งไปโรงกุ้งไกลๆ
“ส่วนเรื่องตรวจมะเร็งเราไม่เคยได้รับหรอกค่ะ นอกจากยาโรคเท้าช้าง เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เราอยู่มาหลายปีแล้วทำไมเราต้องได้รับยาตัวนี้ ยาที่ดีๆ มีประโยชน์ไม่เคยได้รับ” – สามอญเสริม

นอกจากนี้กลุ่มแรงงานข้ามชาติพม่าได้เสนอยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ แรงงานข้ามชาติต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติและได้รับสิทธิเท่าเทียม ตั้งเป้าหมายระยะสั้น คือ ต้องมีอบรมสิทธิพื้นฐานเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั้งหมด เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าเมือง บันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศไทย พม่า และกัมพูชา (MOU) ทั้งยังผลักดันให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำเอกสารที่เป็นภาษาของแรงงาน เช่น ภาษาไทยใหญ่ ภาษากะเหรี่ยง

และได้เสนอแก้ไขกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องกัน เช่น พ.ร.บ.คนทำงานข้ามชาติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น พร้อมทั้งต้องสร้างระบบฐานข้อมูลแรงงานระหว่างประเทศไทยและพม่า เพื่อให้สืบค้นได้ง่าย และในการกำหนด MOU แรงงานข้ามชาติและองค์กรที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย สุดท้ายอยากให้ผลักดันแรงงานข้ามชาติได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net