งานวิจัยสหรัฐฯ เผย พนง.ฟาสต์ฟู้ด ต้องพึ่งโครงการช่วยเหลือจากภาษี ชี้บรรษัทผลักภาระ

จากค่าแรงที่ต่ำและหลายคนไม่ได้รับสวัสดิการสุขภาพจากที่ทำงาน ทำให้คนงานฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ กว่าครึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาโครงการช่วยเหลือต่างๆ ที่มาจากเงินภาษีประชาชน นักวิจัยชี้ว่าบรรษัทยักษ์ใหญ่ผลักภาระรายจ่ายไปให้กับประชาชนผู้เสียภาษีทั่วไป

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2013 สำนักข่าว Common Dreams กล่าวถึงงานวิจัยของศูนย์ศึกษาวิจัยแรงงานมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ โดยงานวิจัยระบุว่า คนงานในร้านฟาสต์ฟู้ดค่าแรงต่ำร้อยละ 52 จำเป็นต้องอาศัยโครงการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นงบประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 2 แสนล้านบาท)

แรงงานฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ ได้รับค่าแรงโดยเฉลี่ย 8.69 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 270 บาท) และมักไม่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ โดยมีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว ขณะที่อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดทำเงินได้ราว 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี

นอกจากนี้ งานวิจัยยังเปิดเผยอีกว่า คนงานฟาสต์ฟู้ดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเด็กวัยรุ่นอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่มีอยู่ร้อยละ 68 หรือราวสองในสามของคนงานทั้งหมดที่เป็นคนอายุ 20 ปีขึ้นไปและมีลูกอย่างน้อย 1 คน รวมถึงเป็นผู้หาเลี้ยงหลักของครอบครัว

จากสภาพการณ์เช่นนี้ทำให้คนงานร้อยละ 52 ซึ่งรวมถึงคนที่ทำงานเต็มเวลา จำเป็นต้องอาศัยโครงการช่วยเหลือของรัฐบาลเช่นโครงการประกันสุขภาพ (Medicaid) โครงการให้ความช่วยเหลือด้านโภชนาการเสริมหรือที่ถูกเรียกว่าโครงการตั๋วแลกอาหาร (Food stamps) โครงการให้ความช่วยเหลือชั่วคราวสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย โครงการประกันสุขภาพเด็ก และโครงการคืนภาษีเกินเครดิตสำหรับคนรายได้น้อย (Earned Income Tax Credit) ซึ่งเป็นการผลักภาระให้แก่ผู้จ่ายภาษี

"ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นเรื่องสาธารณะเนื่องจากผู้เสียภาษีเป็นผู้จ่าย" ซิลเวียร์ อัลเลเกรตโต นักเศรษฐศาสตร์และรองประธานศูนย์ศึกษาวิจัยแรงงานกล่าว "แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงในการอภิปรายนโยบายระดับชาติเรื่องความยากจน การจ้างงาน และการจัดสรรงบประมาณสาธารณะ"

เคน จาคอบส์ ประธานศูนย์ศึกษาวิจัยแรงงานกล่าวว่า คนที่ทำงานในร้านฟาสต์ฟู้ดได้รับค่าแรงน้อยมากจนต้องอาศัยโครงการช่วยเหลือเหล่านี้ ซึ่งกลายเป็นความจำเป็นมากกว่าเป็นทางเลือกพิเศษ แม้กระทั่งกับคนที่ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาหฺ์

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ทำการสำรวจจากคนงานฟาสต์ฟู้ดที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการซึ่งต้องทำงานอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลาอย่างน้อย 27 สัปดาห์ต่อปี ในช่วงปี 2007 ถึง 2011 โดยพบว่ามีคนงานร้อยละ 28 ทำงานตั้งแต่ 40 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์

บรรษัทผลักภาระให้ประชาชนผู้เสียภาษีทั่วไป

มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากโครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขรายจ่ายสาธารณะที่ใช้ไปกับการให้ความช่วยเหลือคนทำงานในบริษัทฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่สิบแห่ง ได้แก่แมคโดนัลด์, ร้านค้าในเครือยัม! (พิซซ่าฮัท, เคเอฟซี, ทาโก้ เบลล์), ซับเวย์, เบอร์เกอร์คิง, เวนดี้ส์, ดังกิ้น โดนัท, แดรี่ควีน, ลิตเติ้ล ซีซาร์ส, โซนิค และโดมิโนส์

ในรายงานดังกล่าวระบุว่า คนทำงานทั้ง 10 บริษัทต้องอาศัยเงินให้ความช่วยเหลือจากโครงการสาธารณะรวมแล้ว 3,800 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 117 พันล้านบาท) โดยแมคโดนัลด์มีลูกจ้างจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเงินสาธารณะมากที่สุดเป็นจำนวนราว 1,200 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 37,000 ล้านบาท)

"ทุกครั้งที่ผู้เสียภาษีถูกผลักภาระให้ต้องรับผิดชอบรายจ่ายปัจจัยพื้นฐานของคนงานซึ่งไม่ได้รับจากการจ้างงานและไม่สามารถหามาได้เองเพราะค่าจ้างต่ำ ผู้เสียภาษีเหล่านี้กำลังจ่ายเพิ่มกำไรให้กับเหล่าบรรษัทโดยตรง" คริสติน แอล โอเวนส์ ผู้อำนวยการบริหารของโครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าว

โอเวนส์กล่าวอีกว่า "ในกรณีของฟาสต์ฟู้ดแล้ว บรรษัทข้ามชาติอย่างแมคโดนัลด์ไม่เพียงทำกำไรมหาศาลจากการจ่ายค่าจ้างราคาต่ำเท่านั้น แต่กำไรเหล่านั้นมาจากพวกเราด้วย ไม่ว่าเราจะซื้อสินค้าของพวกเขาหรือไม่ก็ตาม"

Common Dreams กล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจของคนงานฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับค่าแรงต่ำเริ่มได้รับความสนใจหลังจากมีการประท้วงเรียกร้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 450 บาท) รวมถึงเรียกร้องสิทธิในการตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวปีที่แล้ว และในตอนนี้กำลังเริ่มขยายตัวไปทั่วประเทศสหรัฐฯ

 

เรียบเรียงจาก

Nearly $7 Billion a Year: The Public Cost of Low-Wage Fast-Food Jobs, CommonDreams, 16-10-2013
http://www.commondreams.org/headline/2013/10/16-3

Low-wage fast-food jobs leave hefty tax bill, report says, UC Berkeley News Center, 15-10-2013
http://newscenter.berkeley.edu/2013/10/15/low-wage-fast-food-jobs-leave-hefty-tax-bill-report-says/

รายงานของโครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติสหรัฐฯ
http://www.nelp.org/page/-/rtmw/uploads/NELP-Super-Sizing-Public-Costs-Fast-Food-Report.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท