Skip to main content
sharethis
เอ็นจีโอพลังงานชี้พึงพิงการนำเข้าไฟฟ้า คนต้นทางต้องเสียสละ คนปลายทางโดนผลกระทบ ‘สว.สุรจิต’ หวังบรรทัดฐานสิ่งแวดล้อมไทยจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วน คปก.แนะสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สร้างความเข้มแข็งร่วมกัน
 
 
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.56 โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ภายใต้ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ร่วมกับเสมสิขาลัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรคณะกรรมการศูนย์บรรเทาในพม่า Burma Relief Center (BRC) ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุม “ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรม กับความรับผิดชอบ” ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคมทั้งไทยและพม่า อันจะนำไปสู่การตรวจสอบแนวคิดและกระบวนการลงทุน และคิดค้นมาตรการในการคุ้มครองชุมชน สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม
 
ภายหลังจากที่ล่าสุดไทยมีแผนการลงทุนด้านพลังงานในพม่าสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ ใน 3 โครงการหลัก คือ 1.โครงการเขื่อนสาละวิน ประกอบด้วย เขื่อนฮัตจี และเขื่อนท่าซาง 2.โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก และ 3.โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย ภายใต้โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย
 
 
 
‘วิฑูรย์’ ชี้พึงการนำเข้าไฟฟ้า คนต้นทางต้องเสียสละ คนปลายทางโดนผลกระทบ
 
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนายการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ “สังคมไทย กับการพัฒนามาตรฐานการลงทุนในโครงการด้านพลังงานไฟฟ้าในพม่า” ว่า ตั้งแต่พม่าเปิดประเทศ การลงทุนที่ใหญ่สุดคือการลงทุนในภาคพลังงาน โดยมีจีนและไทยเป็นผู้เข้าไปลงทุนรายใหญ่
 
ขณะที่คนไทยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์มีไฟฟ้าใช้ แต่คนพม่าเข้าถึงไฟฟ้าเพียง 26 เปอร์เซ็นต์ และจากตัวเลขปี 2010 การสำรวจทรัพยากรพลังงานโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ระบุว่า พม่ามีศักยภาพในการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากถึงแสนเมกะวัตต์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือโครงการเขื่อนที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ทั้งบนแม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสาละวินเป็นไปเพื่อการส่งออก โดยรัฐบาลพม่าได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับจีนและไทยรวมกว่า 30,000 เมกะวัตต์ เท่าๆ กับกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของไทยขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ 32,000 เมกะวัตต์
 
ล่าสุดไทยมีแผนซื้อไฟฟ้าพม่าเพิ่มจากเดิม 1,500 เมกะวัตต์ เป็น 10,000 เมกะวัตต์ และต้องมีการสร้างสายส่งไฟฟ้าเชื่อมระหว่างประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในพม่าคือภาพของสายส่งที่เชื่อมข้ามไปประเทศอื่น ส่วนชาวบ้านในเขตสร้างเขื่อนกลับไม่มีโอกาสใช้ไฟและทรัพยากรพลังงานของพวกเขากลายเป็นฟืน นี่ถือเป็นความไม่เป็นธรรมในการใช้พลังงาน
 
นายวิฑูรย์ ให้ข้อมูลด้วยว่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้าในพม่ามี 3 ระบบ คือ 1.nation grid เป็นโครงข่ายไฟฟ้าระดับชาติ รองรับคน 26 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ดูแลโดยรัฐบาล 2.off grid เป็นไฟฟ้าระดับชุมชน โดยคนพม่ากว่า 70 เปอร์เซ็นที่อยู่นอกระบบสายส่งดำเนินการเอง อาทิ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชันที่ใช้ไบโอแมสมาเป็นเชื้อเพลิง และ 3.IPP for export ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่เช่นไทยและจีนที่ลงทุนเพื่อการส่งออก มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด และมีอิทธิพลมาก
 
ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าส่งเสริม IPP for export โดยให้เหตุผลว่าต้องการเงินเพื่อนำไปใช้สร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าในระบบที่หนึ่งให้มากขึ้น ซึ่งต้องใช่เงินมหาศาล แต่ไม่มีหลักประกันที่ผลประโยชนการขายไฟฟ้าจะถูกนำไปใช้เพื่อประชาชนจริง
 
ในส่วนการให้คุณค่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า nation grid สร้างเพื่อความมั่นคงของประเทศ ประเทศจะได้มีการพัฒนา ส่วน off grid นั้นชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าโดยสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึง แต่สำหรับ IPP for export เป็นการให้ทุนต่างชาติเข้าไปเอาทรัพยากรมาแปรรูปเป็นสินค้าไฟฟ้าไปให้ผู้ใช้ในต่างประเทศ ซึ่งคุณค่าคือกำไร
 
สำหรับประเทศไทย วิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ปัญหากรณีพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาและเยตากุน ทำให้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าประมาณ 6,400 เมกะวัตต์หายไปจากระบบ มีการพูดว่าการที่เราพึงพาพม่าทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางพลังงาน แต่ถึงปัจจุบันเราก็ยังพึงอยู่ ซึ่งตรงนี้ส่งผลให้ต้องเพิ่มการสำรองไฟฟ้าจาก 15 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 25 เปอร์เซ็นเพื่อรองรับความไม่มั่นคงตรงนี้ ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้า สร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น
 
“ระบบที่พึงการนำเข้าไฟฟ้า คนต้นทางก็ต้องเสียสละ คนในบ้านเราเองก็ต้องจ่ายค่าไฟแพง และต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้ระบบการผลิตมั่นคงขึ้นด้วย ทำให้ต้นทุนสูงมากกว่าที่ควรจะเป็น” วิฑูรย์กล่าว
 
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ในพม่าปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ยังไม่ยุติ รัฐบาลกลางต้องควบคุมพื้นที่ที่มีการเข้าไปดำเนินโครงการลงทุนต่างๆ ทำให้สถานการณ์ไม่เอื้อต่อการดูแลสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ปัญหาระยะยาว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะระหว่างผู้ลงทุนกับชุมชน แต่จะกลายเป็นปัญหาในระดับชาติได้  
 
 
‘สุรจิต’ หวังบรรทัดฐานสิ่งแวดล้อมไทยจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
นายสุรจิต ชิรเวทย์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบกรณีเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว ซึ่งแม้มีการลงนามความตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง ค.ศ.1995 แต่ก็ไม่ไปถึงไหน เพราะนักกฎหมายแต่ละประเทศต่างมีความเห็นว่ามาตรฐานการลงทุนระหว่างประเทศควรเป็นรูปแบบเดียวกับในประเทศ ซึ่งสำหรับไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศได้ แต่ทิศทางการพัฒนาในแนวทางเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้เราต้องการน้ำ ไฟฟ้าเพิ่ม
 
ต่อมาความตกลงเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงตอนล่างนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ซึ่งเน้นการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่าง การใช้น้ำอย่างเป็นธรรม และรักษาระดับน้ำในลำน้ำหลักเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ MRC กลับไม่มีอำนาจบังคับ เป็นการตกลงโดยสมัครใจว่าจะดำเนินการโดยฉันทามิติ และมีข้อจำกัดเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน
 
นายสุรจิต กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการเขื่อนของจีนบนแม่น้ำโขงตอนบนได้สร้างกระทบแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถป้องกันปัญหาที่จะเกิดในแม่น้ำโขงตอนล่างได้
 
ทั้งนี้ เราต้องการมาตรการป้องกันก่อนการเยียวยา โดยการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นด้วยกับการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไซยะบุรี ทั้งในส่วนอิทธิพลต่อแม่น้ำโขงถึงระดับแม่น้ำสาขา เทียบกับที่ MRC ศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ไว้
 
สำหรับไทย กรณีศาลปกครองมีคำวินิจฉัยกรณีแผนแม่บทการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ 25 ลุ่มน้ำ ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ให้แต่ละโครงการต้องจัดรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการจ้าง และออกแบบแต่ละแผนงาน ทำให้เห็นว่าแม้มีกฎหมายที่เข้มข้นแต่รัฐบาลก็ยังมีความพยามละเมิดกฎหมาย
 
อย่างไรก็ตาม ไทยเรามีกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีคดีสิ่งแวดล้อมที่พิจารณาตัดสินไปแล้วกว่า 3,000 คดีซึ่งกำลังสร้างบรรทัดฐาน และมีศาลปกครองแผนกคดีด้านสิ่งแวดล้อม หวังว่าจะมีการใช้มาตรฐานเดียวกันนี้กับเพื่อนบ้านเพื่อการพัฒนาที่ยังยืนของภูมิภาค และบรรทัดฐานที่ใช้ในประเทศจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
 
‘สมชาย’ แนะสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สร้างความเข้มแข็งร่วมกัน
 
นายสมชาย หมอลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การพัฒนาในแนวทางทุนนิยมทำให้เกิดการไล่รื้อในชนบทสำหรับทำเกษตรขนาดใหญ่ ขณะที่ในเมืองไล่รื้อเพื่อสร้างศูนย์กลางการค้า ทำธุรกิจ ส่วนคนที่ประสบปัญหาคือคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไร้อำนาจ ในเรื่องโลกร้อนก็เช่นเดียวกันคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไร้อำนาจ
 
สำหรับอาเซียนนั้น เน้นประชาคมเศรษฐกิจ ตามด้วยความมั่นคง ส่วนสังคมวัฒนธรรมเป็นอันดับสุดท้าย ทำให้เห็นภาพ 20 ปีข้างหน้าของอาเซียนว่า ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท คนรวยกับคนจนจะเพิ่มขึ้น หากแนวทางพัฒนามุ่งเรื่องเศรษฐกิจก็ยากที่จะสร้างประชาคมแห่งความมั่นคง หรือประชาคมสังคมวัฒนธรรมแห่งอาเซียนได้ ทั้งนี้ ตัวอย่างขัดแย้งในประเทศไทย ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ก็เกิดจากความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา
 
แนวทางการสร้างประชาคมอาเซียนมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะความมั่นคง วัฒนธรรม ถูกนำด้วยเศรษฐกิจ ขณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาน้อย ในอาเซียมีแต่ไทยแต่ก็อ่อนแอ ส่วนกัมพูชา ลาว เวียดนาม โอกาสและศักยภาพของประชาชนในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และมาตรฐานอื่นๆ น้อยมาก รวมทั้งในพม่าที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยด้วย
 
นายสมชาย กล่าวถึงคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ไอชาร์ (AICHR) ด้วยว่า กรรมการทุกชุดพยามสร้างความเป็นประชาคม แต่ยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ร่วมกับหลักการฉันทามติ ขณะที่แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมาก ทั้งแนวคิดในการบริหารประเทศ ระบบกฎหมาย ฯลฯ การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ระหว่างประเทศตรงนี้จึงส่งผลกระทบต่อคนยากจนและไร้สิทธิไร้เสียง
 
อย่างไรก็ ตาม คปก.ในฐานคนที่มองเห็นปัญหา พยายามทำงานในแง่มุมนี้อยู่ แต่ก็ต้องอาศัยความรู้ความร่วมมือหลายภาคส่วนเพื่อสร้างมาตรฐานการลงทุน ทั้งนี้ คปก.มีหน้าที่เสนอข้อมูล การทำงานเน้นการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง และงานสำคัญอีกอันหนึ่งคือการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาประชาสังคมและนักวิชาการ โดยเน้นสร้างระบบ มีคณะทำงาน 2 ชุด คือ ชุดกรรมาธิการธุรกิจและสังคมซึ่งทำเรื่องการคุ้มครองแรงงานในอาเซียนด้วย
 
นายสมชาย กล่าวต่อมาว่า หน่วยงานธุรกิจลงทุนพลังงานส่วนใหญ่องค์กรเป็นของรัฐหรือรัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง หากรัฐใส่ใจเรื่องนี้ก็สามารถสร้างมาตรฐานได้ แม้จะอ้างว่าจีนอาจได้ประโยชน์ในการมาลงทุนแทนหากเรามีมาตรฐานมากเกินไป แต่ปัญหาคือเรามีความสำนึกและได้ต่อรองแล้วหรือไม่
 
สำหรับข้อเสนอ สมชายนายกล่าวว่า โดยกระบวนการเบื้องต้นรัฐบาลควรควบคุมมาตรฐานการลงทุนก่อน ขั้นต่อไปให้รัฐบาลออกกฎหมาย อาทิ ต่อต้านคอรัปชั่น ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้สามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมายในประเทศ ขั้นต่อไปจึงไปสู่การสร้างมาตรฐานระดับอาเซียน ตัวอย่างกรณีโครงการโรงฟ้านิวเคลียร์ในเวียดนามซึ่งจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดน อาเซียนสนใจไหม ผมคิดว่าพวกเราทุกคนต้องสนใจ
 
อย่างไรก็ตาม เราคงหวังเพียงกับรัฐไม่ได้ เพราะรัฐกับทุนเป็นอันเดียวกัน ผลประโยชน์ของชาติเป็นเพียงวาทะกรรมของรัฐเท่านั้น ตราบใดที่เรายังไม่มีเครื่องมือที่จะควบคุมรัฐ ดังนั้น การจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนอย่างไรคือสิ่งที่เราต้องคิด เพื่อสร้างความเข้มแข็งร่วมกัน
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่ายรายงานเพิ่มเติมว่า ตามกำหนดการอภิปรายหัวข้อ “สังคมไทย กับการพัฒนามาตรฐานการลงทุนในโครงการด้านพลังงานไฟฟ้าในพม่า” จะมีนายอรรคศิริ บุรณศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และนายสมบูรณ์ อารยะสกุล รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมพูดคุย แต่ผู้จัดงานแจ้งว่าได้มีการประสานงานไปก่อนหน้านี้ แต่ได้รับแจ้งว่าทั้งสองคนติดภารกิจ ไม่สามารถมาร่วมงานได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net