Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
นิตยสารแดร์ ชปีเกล ของเยอรมนี รายงานการรับน้องและระบบโซตัสที่ยังคงแพร่หลายในสังคมไทย บทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเยอรมันชี้ระบบนี้ดำรงอยู่ได้โดยเฉพาะในประเทศที่มีโครงสร้างสังคมแบบแบ่งชนชั้นที่ชัดเจน
 
รูปภาพที่ค่อนข้างพร่ามัว ทำให้หวนนึกถึงคลิปวิดีโอที่แอบถ่ายการทารุณกรรมแบบลับ ๆ ในคุกหรือสถานที่กักกันแห่งใดแห่งหนึ่ง ในภาพปรากฏรูปชายหนุ่มหลายคนที่ก้มหน้าลงกับพื้น เขาเหล่านี้ต้องวิ่งยามค่ำคืน แม้เขาจะหมดเรี่ยวแรงแล้วก็ตาม เขาถูกกลุ่มรุ่นพี่ที่ยืนรายล้อมรอบตัวพวกเขา ตะโกนใส่หน้าและขู่ตะคอกด้วยเสียงอันดัง 
 
ในคลิปวีดีโอยังปรากฏภาพชายหนุ่มที่นอนอยู่บนเตียงในสภาพที่อ่อนล้าหมดแรง “เขาต่อยท้อง และตบหัวผม” ชายหนุ่มคนเดิมกล่าว “เขาบอกว่า ยังมีหนักกว่านี้อีกหลายเท่า” ด้วยความอาย เด็กหนุ่มจึงเอาหมอนมาปกปิดใบหน้า
 
คลิปวีดีโอดังกล่าวถ่ายมาจาก ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ประเทศไทย โดยมีนักศึกษาคนหนึ่ง ถ่ายวีดีโอการรับน้องของเด็ก ปี 1 ที่เข้าใหม่ เขาต้องการพิสูจน์ว่าประเพณีการรรับน้องซึ่งเรียกว่า “โซตัส” บางครั้งมันกลายเป็นเรื่องบานปลายได้  และโลกควรจะได้รับรู้ว่าหลายครั้งหลายหนการปฏิบัติตามประเพณีที่สืบทอดกันมามันก็ไม่ใช่เรื่องของความสนุกสนาน แต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจและการดูหมิ่นเหยียดหยาม
 
เหตุการณ์การรับน้องที่ขยายความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย และบราซิลด้วย ในประเทศเยอรมนี หลายประเพณีได้ถูกล้มเลิกไป ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นประเพณีที่เกิดจากการกลุ่มนักศึกษารุ่นพี่พยายามทดสอบเด็กที่เข้ามาใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดมักจะนำไปสู่การยัดเหยียดให้เด็กใหม่ดื่มเบียร์ และยังมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเปิดเทอมแต่ไม่เคยได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชน แต่ Hank Nuwer จาก Franklin College มลรัฐ Indiana ทราบดีว่า หลายครั้งกิจกรรมเหล่านั้นมันเป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง”
 
ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งซึ่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ได้ข้อสรุปว่า“ปัญหาเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มที่เป็นสมาชิกเก่าอาศัยความระส่ำระส่ายในจิตใจของเหล่าสมาชิกใหม่เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างอำนาจและสถานะอันชอบธรรมให้ตนเอง น่าเศร้าที่ว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์”  สมาชิกเก่าเริ่มเข้าหาสมาชิกใหม่ด้วยวิธีการรุนแรง แล้วสมาชิกคนอื่นก็ทำตามกันไป สุดท้ายทุกคนก็ทำตามกันไปหมดแบบเดียวกัน และคนเหล่านี้เริ่มเรียกร้องให้เด็กใหม่ทำในหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งโดยปกติแล้วพวกเขาไม่เคยคิดจะบังคับให้ใครทำแบบนี้อย่างแน่นอน
 
แล้วทำไมเด็กใหม่จึงยอมให้คนเหล่านี้ทำกับตัวเอง? ทำไมไม่พยายามหลบหนี แต่กลับปฏิบัติตามคำสั่งเหล่านั้นอย่างเชื่อฟัง?  ตอนแรกคงเป็นเพราะ ไม่อยากให้ตนเองเป็นต้นเหตุให้เกมส์ต้องหมดสนุกลง แต่ต่อมาคงเกิดความรู้สึกอับอายขายหน้าและหวาดกลัวที่จะขัดคำสั่งของรุ่นพี่
 
บางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างประเพณีรับน้อง มีความใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Stanford-Prison-Experiment ในปี 1971 ตามข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลก ขณะนั้นมีนักศึกษา 24 คน ถูกบังคับให้เล่นเกมส์ติดคุก โดยวางแผนให้เล่นกันในเวลา 2 สัปดาห์ แต่หลังจากเริ่มต้นเล่นได้เพียง 6 วัน  เกมส์ดังกล่าวก็ต้องยุติลง เพราะเหตุเกิดจาก “ผู้คุม” ใช้อำนาจในทางที่ผิด ถ้าขืนยังปล่อยให้การทดลองดำเนินต่อไป คงต้องมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 
 
การดูหมิ่นเหยียดหยามเด็กปี 1 เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน  ส่วนรุ่นพี่ก็สามารถคิดหาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในการรับน้องได้เสมอ   ในประเทศอเมริกา นักศึกษาที่ต้องการจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มจะถูกบังคับให้กิน Vomlets: ไข่เจียวที่ผสมอ๊วก  ในประเทศบราซิล นักศึกษาเข้าใหม่จะต้องกลิ้งตัวคลุกไปกับโคลนผสมอุจจาระและซากสัตว์ที่เหม็นเน่า และที่ประเทศฟิลิปปินส์มักมีการชกต่อยกันอยู่เสมอๆ
 
“วิธีการรับน้อง ส่วนหนึ่งคือกระจกสะท้อนสังคม” Nuwer นักวิจัยกล่าว หลังจากเกิดข่าวครึกโครมในประเทศอเมริกาว่า กองทัพได้กระทำการทารุณกรรมนักโทษที่ Abu Ghuraib และที่อื่นด้วยวิธี Waterboarding (การจับกดน้ำ) ปรากฏว่ามีนักศึกษานำเอาพฤติกรรมดังกล่าวไปเลียนแบบ
 
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ บางครั้งประเพณีเหล่านี้จบลงอย่างโหดร้าย ในประเทศไทยมีนักศึกษาบาดเจ็บจากการถูกไฟลวก 4 ราย เนื่องจากถูกบังคับให้กลิ้งตัวบนกองไฟที่ยังไม่มอดดับจากการนำทรายมากลบ หลายครั้งที่การทำกิจกรรมลักษณะนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต แต่มักจะถูกบันทึกสาเหตุการตายจากอุบัติเหตุเนื่องจากดื่มแอลกอฮอลล์เกินขนาด
 
ประเพณีเหล่านี้จะสามารถได้รับการสืบทอดและดำรงอยู่ได้โดยเฉพาะในประเทศที่มีโครงสร้างสังคมแบบแบ่งชนชั้นอย่างเช่น ประเทศไทยเป็นต้น   นาย สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวในงานแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ว่า “ในประเทศนี้การตั้งคำถามกับความเห็นของผู้อาวุโสกว่าหรือกับผู้ปกครองถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้โรงเรียนของเรา มหาวิทยาลัยของเราเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างคุกและนรก สถาบันการศึกษาหลายแห่งเปรียบเสมือนโรงงานผลิตหุ่นยนต์”
 
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านประเพณีรับน้อง “ระบบโซตัส” ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในประเทศไทยอย่างช้าๆ การปฏิวัติเล็กๆ เริ่มขึ้นจากอินเทอร์เน็ต ดังที่เกิดเป็นประจำในยุคสมัยนี้  หนึ่งในกลุ่มผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวคือ คุณปิยรัฐ จงเทพ อายุ 22 ปี เด็กหนุ่มรูปร่างผอมบาง สวมแว่นตาอันโต จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ในกรุงเทพมหานคร เขาปรากฏตัวขึ้นพร้อมเพื่อนอีก 2 คนที่นั่งประกบข้างราวกับเป็นบอดี้การ์ดของเขา
 
ดูจากรูปร่างหน้าตาแล้ว ปิยรัฐ น่าจะเป็นผู้ประสบเหตุที่ดูสมบูรณ์แบบที่สุด และเพราะเขารู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี เขาจึงชักชวนให้ นักศึกษาส่งรูปถ่ายจากการรับน้องระบบโซตัสที่โหดร้ายทารุณ หรือแจ้งรายงานรายละเอียดการรับน้องให้เขาทราบทางเพจในเฟซบุค ปรากฏว่า มีคนส่งเข้ามาให้เขาหลายร้อยราย
 
ในจำนวนรูปถ่ายที่ส่งเข้ามา มีหลายภาพที่น่าตกใจ:  เด็กจำนวนหนึ่งนอนทับกันเป็นแถวอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย มีนักศึกษาถูกมัดและนั่งคุกเข่าอยู่กับพื้น ในขณะที่รอบตัวเขารายล้อมไปด้วยผู้ชายและผู้หญิงใส่หน้ากากและถือกระบองในมือ มีคนส่งภาพถ่ายจากเชียงใหม่มาให้ปิยรัฐด้วยเช่นเดียวกัน  “น.ศ. ส่วนมากไม่เห็นด้วยการรับน้องด้วยระบบโซตัสที่รุนแรง แต่ไม่มีใครกล้าพูดออกมา แต่ตอนนี้ เราสามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้แล้ว”  ปิยรัฐ กล่าว
 
กลุ่มในเฟสบุ๊คของเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็กหลายๆคน  เขาปรากฏตัวในทีวี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนา “บางครั้ง มีคนมาทักผมตามท้องถนน และให้กำลังใจให้ผมทำงานต่อไป” ปิยรัฐ กล่าว ส่วนหน่วยงานของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ยังคงเพิกเฉยและปกปิดปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป
 
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยแม้แต่แห่งเดียว ม.แม่โจ้ จ. เชียงใหม่ กล่าวกับ UniSPIEGEL ว่า มีข่าวลือและการคาดคะเนไปต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับกิจกรรมการรับน้องของ ม.แม่โจ้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่นี่มีการระมัดระวังเกี่ยวกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาเป็นอย่างมาก
 
อุปสรรคในการเคลื่อนไหวต่อต้านระบบโซตัสเกิดขึ้นเนื่องจากนักศึกษาหลายคน ยังต้องการยึดติดกับประเพณีดั้งเดิม เฟซบุคกลุ่มของปิยรัฐถูกรีพอร์ทว่าเป็น Spam และถูกลบทิ้งหลายครั้ง  เขากล่าวว่า เขาเคยได้รับจดหมายข่มขู่ และตอนที่ม.แม่โจ้ มีแผนจะย่นระยะเวลาการรับน้องให้สั้นลง มีนักศึกษาหลายร้อยคนออกมาประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัย
 
นักศึกษาชื่อ Attiwich Sutthiyuth อายุ 21 ปี เห็นตรงข้ามกับปิยรัฐ เขาได้แสดงความเห็นปกป้องการรับน้องระบบโซตัสอย่างชัดเจน ในทำนองว่าอย่างมากรุ่นพี่ก็แค่ตะโกนใส่รุ่นน้อง เพื่อให้รุ่นน้องเคารพ ก็เท่านั้น “โซตัส เปรียบเสมือนมีด มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้งานมันอย่างไร”
 
 
สามารถดาวน์โหลดบทความฉบับภาษาเยอรมันได้ที่ http://wissen.spiegel.de/wissen/image/show.html?did=115400667&aref=imageArchive%2F2013%2F10%2F01%2FCO-USP-2013-005-0044-0046.PDF&thumb=false
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net