Skip to main content
sharethis

คลิปการนำเสนอบทความของกนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็น 'คนเดือนตุลา'  การนำเสนอบทความของ Tyrell Haberkorn จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หัวข้อ "ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา" และการวิจารณ์โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการอภิปรายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 56

 

วิดีโอการนำเสนอบทความของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็น 'คนเดือนตุลา'

โดยนำเสนอบทความของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล หัวข้อ การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็น 'คนเดือนตุลา' นั้น ผู้อภิปรายเริ่มต้นจาก คำถามหลักอันเป็น "คำถามยอดฮิตของคนในยุคสมัยความขัดแย้งเหลืองแดง" ที่ว่า "ทำไมคนเดือนตุลาฯ จึงเปลี่ยนไป" "จากที่คนเดือนตุลาซึ่งเป็นแรงบันดาลใจทางการเมือง กลับกลายมาอยู่ในขั้วตรงข้ามทางการเมือง ภาพคนเดือนตุลาที่มีความเป็นกลุ่มก้อน เป็นฝ่ายก้าวหน้า เป็นฝ่ายซ้าย เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นนักต่อสู้กับเผด็จการเพื่อความเป็นธรรมของสังคม กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความแตกแยก แบ่งขั้ว มีความขัดแย้งแตกต่างจากภาพที่เคยเห็นในอดีต"

ทั้งนี้ตอนหนึ่งของการอภิปราย กนกรัตน์ชี้ว่า ภาพการปรากฏตัวของ "คนเดือนตุลา" ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือ "ประวัติศาสตร์เดือนตุลาฉบับประชาธิปไตย" นั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เพิ่งลงหลักปักฐานในทศวรรษที่ 2530 ความจริงในช่วงต้นที่พวกเขาออกมาจากป่าเมื่อทศวรรษ 2520 คนเหล่านี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการวมตัวกัน การรวมกันเป็นไปเพื่อเยียวยา รักษาบาดแผลทางการเมือง กระทั่งค่อยๆ รื้อฟื้นความภาคภูมิใจทางการเมือง และได้รับความยอมรับในฐานะ "คนเดือนตุลา" วีระบุรุษประชาธิปไตยแห่งทศวรรษที่ 1970 งานเฉลิมฉลอง 14 ตุลา และ 6 ตุลา กลายเป็นงานฉลองประชาธิปไตยระดับชาติ

 

วิดีโอการนำเสนอบทความของ Tyrell Haberkorn ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา

ถัดมาเป็นการอภิปรายของ Tyrell Haberkorn หัวข้อ "ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา" เป็นการศึกษาบทบาทของนักกิจกรรมทางการเมืองในต่างจังหวัด ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 - 2519 ได้แก่ 1.องุ่น มาลิก อาจารย์วิชาจิตวิทยา ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในเชียงใหม่ และต่อมาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกคณะรัฐประหารนำไปกักบริเวณข้อหาภัยสังคม 2.นายแพทย์อภิเชษฐ์ นาคเลขา หรือนามปากกา "หมอเมืองพร้าว" แพทย์สาธารณสุขประจำ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งร่วมมือกับประชาชนเพื่อปราบทุจริตใน อ.พร้าว ทำให้ถูกขู่ฆ่า และถูกเขียนจดหมายร้องเรียนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และ 3.พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ปัญญาชนชาวนาจากภาคเหนือ รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งเรียกร้องให้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา และต่อมาถูกสังหารในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2517

Tyrell กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาว่า 1.ทำให้สิ่งที่ถูกนับว่าเป็นประวัติศาสตร์เดือนตุลาขยายกว้างกว่าเดิม 2.เขียนประวัติศาสตร์ที่แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ทีเดียว การเปลี่ยนรูปสังคมและการเมืองเริ่มต้นตอนที่ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับระบอบระบบเก่า การเขียนประวัติศาสตร์โดยใช้เลนส์ชีวิตบุคคลทำให้เรามองและเข้าใจได้ และ 3.ยืนยันว่าชีวิตบุคคล 3 คนนี้ไม่ใช่มีแค่รายละเอียดน่าสนใจ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่พลาดไม่ได้ หากเราจะเข้าใจการเปลี่ยนรูปแห่งเดือนตุลาก็ควรทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ช่วงนี้เปลี่ยนขยาย ทั้งเนื้อหาและกรอบคิด

วิดีโอการวิจารณ์การนำเสนอโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ และการแสดงความเห็นของผู้ร่วมประชุม

โดยภายหลังการนำเสนอ ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้ตั้งคำถามต่องานศึกษาของกนกรัตน์ ที่ตั้งคำถามที่ว่า "ทำไมคนเดือนตุลาฯ เปลี่ยนไป" โดยประจักษ์ถามต่อไปว่าแต่ทำไมไม่มีการตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้กับคนรุ่นอื่นๆ หรือนักต่อสู้รุ่นอื่นๆ แม้แต่ในกลุ่มคนพฤษภา 35 ซึ่งก็มีความคิดไปคนละทิศละทาง ทำไมคนเดือนตุลาจึงกลายเป็นจำเลยทางประวัติศาสตร์ของสังคมและในทางวิชาการ ทั้งที่ ในประวัติศาสตร์ทุกคนเปลี่ยน และในทุกสังคมด้วย

งานศึกษานี้กำลังศึกษาในสิ่งที่ความจริงแล้วเป็นกระบวนการปกติในประวัติศาสตร์ของทุกสังคม โดยเฉพาะการต่อสู้ที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วม ไม่มีทางที่ทุกคนจะเห็นตรงกันตั้งแต่ต้น และแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไปทุกคนเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์เกิดมา 40 ปีแล้ว จากคนหนุ่มสาวที่เคยเคลื่อนไหวมาเป็นคนวัย 60 ซึ่งคาดหวังให้ความคิดเหมือนเดิมไม่ได้

สิ่งที่อยากชวนคิดต่อ คือ มุมมองเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ว่ามีประสบการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น คนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ จากงานศึกษาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ศึกษาขบวนการนักศึกษาญี่ปุ่นในปี 1960 ที่เปลี่ยนไป โดยสัมภาษณ์อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายซึ่งกลายมาเป็นนักคิดคนสำคัญของฝ่ายขวาที่มีชื่อเสียงในสังคม

ส่วนงานศึกษาของ Tyrell ที่ตั้งคำถามว่า "คนเดือนตุลา" หมายถึงใครบ้าง ทั้ง 3 คนที่นำมานำเสนอ คือคนเดือนตุลาหรือไม่ เมื่อทั้ง 3 ต่างก็เกิดความตื่นตัวเข้าร่วมต่อสู้ทางสังคมจากเหตุการณ์เดือนตุลา และถึงที่สุดคนเดือนตุลาเป็นแค่กลุ่มนักศึกษาหรือเปล่า ไม่ได้รวมกรรมการ ชาวนา หรือครูที่มาทำงานเพื่อสังคมเอาไว้ด้วย เมื่อพูดถึงคนเดือนตุลาเรานับรวมใครและไม่นับรวมใครบ้าง

งานศึกษาเป็นการศึกษาชีวิตของคนที่ไม่ถูกโฟกัสมาก่อน และเห็นด้วยกับคำวิจารณ์ที่ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลามีศูนย์กลางกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และอย่างที่หากคนวิพากษ์วิจารณ์คือเป็นประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ แม้แต่ประวัติศาสตร์นักศึกษาก็มีการตั้งคำถามว่าสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อยู่ที่ไหน จึงไปศึกษาตัวละครอื่นๆ ไปรื้อฟื้นคนเหล่านี้ขึ้นมา แต่ถึงที่สุดแล้วคนเหล่านี้อาจไม่ใช่คนชายขอบที่ไม่มีตัวตนจริงๆ ทุกท่านมีตัวตนทางสังคม ไม่ถึงกับเป็นชายขอบ ยังมีคนที่เป็นชายขอบกว่านี้ที่เราไม่รู้จักเลย ตรงนี้คงเป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่อยากศึกษาคนตัวเล็กตัวน้อยจริงๆ

จริงที่ประวัติศาสตร์ตุลากีดกันและละเลยคนจำนวนมากไป แต่ส่วนตัวมองว่าปัญหาของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ไม่ใช่เรื่องปัญหาของชายขอบ แต่เป็นปัญหาเรื่องศูนย์กลางที่ศึกษาไม่ได้ กลายเป็นข้อบกพร่องของประวัติศาสตร์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เพราะคนที่มีบทบาทมากหลายคน หลายกลุ่มที่อยู่ตรงศูนย์กลางกลับถูกทำให้พูดถึงไม่ได้อย่างสมบูรณ์ เราจึงไม่สามารถเข้าใจ 14 ตุลา และ 6 ตุลาได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับเนื้อหาของการนำเสนอโดยละเอียด สามารถติดตามได้จากการนำเสนอของประชาไทก่อนหน้านี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net