Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ท่ามกลางการรณรงค์คัดค้านและรณรงค์เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใน เขตภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนของเมืองไทยในขณะนี้นั้น พื้นอื่นของเมืองไทยที่สัมพันธ์กับพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะในเขตภาคกลางและภาคกลางตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพด้วยเลยไม่ค่อยมีใครพูดถึง

นั่นหลังจากที่ความรู้สึกหวาดผวาในเรื่องภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติ “น้ำท่วม”ในปี 2554 เริ่มซาลง  ไป เหลือไว้เพียงความหวาดกลัวรายปีจนกลายเป็นความปกติของความกลัวไป โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางที่ได้รับผลกระทบประจำทุกปี อย่างเช่น พื้นที่อยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง กรุงเทพและปริมณฑล   ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าพื้นที่ ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่รับน้ำ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี

เมื่อมีการพูดถึงผลกระทบของเขื่อนแม่วงก์ แต่ไม่มีการพูดถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง กระทั่งปัญหา น้ำทะเลหนุน น้ำเค็มไหลย้อนเข้ามาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกันในส่วนของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่สำคัญ โครงการบริหารจัดการน้ำของเมืองไทย ไม่ได้มองเชื่อมโยงถึงระบบผังเมือง โครงการก่อสร้าง และโครงการระบบขนส่งมวลชนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า รางรถไฟคู่ขนานหรือโครงการรถไฟความเร็วสูง

ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำอย่างไร คำตอบก็คือ หากกรุงเทพและพื้นที่ปริมณฑล เกิดมีปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งและเรื้อรัง จะมิกลายเป็นว่าเมกกะโปรเจคท์เหล่านี้ เป็นการลงทุนที่เสียเปล่า ไปดอกหรือ?

เมื่อไม่นานมานี้ที่องค์การบริหารอวกาศและการบินของสหรัฐ(NASA) ได้แสดงให้เห็นว่าบริเวณใด บ้างของโลกจะมีปัญหาน้ำทะเลท่วมในอนาคตอีกประมาณ 20 ปี โดยโครงการวิจัย Water Level Elevation Map (Beta)ของนาซาได้ทำสำเร็จลงแล้ว (ดูประกอบงานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัย Hawaii Manoa พยากรณ์น้ำจะท่วมในแถบประเทศเขตร้อน - tropical zone หลายประเทศ บางประเทศสถานการณ์อาจมาถึงเร็วแค่ปี 2020 )

ความหมายก็คือ องค์การนาซา ได้เปลี่ยนแผนที่โลกเสียใหม่ ภายหลังการคาดคะเนการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลบริเวณต่างๆของโลก

ข้อมูลของนาซ่าระบุว่า ในทุกๆปีจะมีคนมากกว่า 520 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหา น้ำท่วม มีผู้เสียชีวิตถึงประมาณ 25,000 คนต่อปี นอกเหนือจากความเสียหายด้านทรัพย์สินอื่นที่เกิดขึ้นกับ ผู้ประสบชะตากรรม โดยประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด ในอัตราส่วน ประมาณกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมทั่วโลก สูญเสียมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ มากกว่า 140 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

United Nations University (UNU)  ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1973 มีสำนักงานใหญ่ที่โตเกียว มองว่าการเพิ่มของผลกระทบที่เลวร้ายของปัญหาน้ำท่วมเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำ น้ำแข็งละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกับสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ  การตัดไม้ทำลาย ป่าที่อยู่ทั่วโลก เพราะป่าไม้เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งในการช่วยสกัดหรือผ่อนปรนไม่ให้ปัญหาน้ำท่วมมี ความรุนแรง

ดร. Janos Bogardi  ผอ.สถาบัน UNU-EHS บอกว่า เวลานี้แต่ละประเทศต้องเพิ่มการคำนวณค่าความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมในการทำโครงการระดับนโยบายต่างๆเข้าไปด้วย รวมถึงการกำหนด มาตรการและเครื่องมือในการเตรียมการป้องกันอุทกภัย เช่น ระบบการเตือนภัย ระบบการช่วยเหลือ รวมถึงระบบการประมวลข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ป้องกันและช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที นอกเหนือไป จากการที่หน่วยงานระดับนานาชาติอย่างเช่น องค์การสหประชาชาติ ต้องช่วยกันรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึก สากล (international mindset) ซึ่งหมายถึงการเกิดจิตสำนึกในเรื่องอุทกภัยอย่างพร้อมเพรียงกันหลาย ประเทศไม่ใช่แค่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

ในส่วนของประเทศไทยเอง  (ตามแผนที่ฉบับใหม่ของนาซา ซึ่งเป็นที่รู้กันในบรรดานักซอฟท์แวร์ ที่ทำงานเชื่อมโยงกับข่ายดาวเทียมของนาซ่า รวมถึงผู้คนที่สนใจปัญหาโลกร้อน แถวซิลิคอนวัลเลย์และซานฟรานซิสโก) กรุงเทพและปริมณฑล  รวมถึงอีกหมายเมืองใกล้เคียงบางส่วนซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนมาก อย่างเช่น อยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม จะจมอยู่ใต้น้ำ และแผนที่ใหม่ของนาซ่าฉบับเดียวกันนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นผลของการพยากรณ์ด้านสมุทรศาสตร์และด้านธรรมชาติอื่นที่เกี่ยวข้องในช่วงประมาณภายในสองทศวรรษหลังจากนี้

สิ่งที่ทำให้เกิดอาการช็อกจากแผนที่ฉบับใหม่ของนาซ่า ก็คือ จะไม่เหลือเมืองกรุงเทพและปริมณฑลไว้ในแผนที่

ขณะที่ฝ่ายประเทศไทยแทบไม่ใส่ใจถึงปัญหาการยุบตัวของดินตะกอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อนกันกันเลย หลังจากที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุดในปี 2554 แล้วสถานการณ์และความตื่นตัวก็ลดระดับความสนใจปัญหาด้านนี้ลง ไม่มีการทำงานด้านการวิจัย และการจัดการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาว เช่น โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในอ่าวไทย หรือการสร้างเขื่อนตามแนวชายฝั่ง ไล่ตั้งแต่จังหวัดสมุทรปราการไปจนถึงจังหวัดชายทะเลอย่างสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

รัฐบาลไทยยังมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เหนือกรุงเทพและปริมณฑล โดยไม่มีการบริหารจัดการด้านสมุทรศาสตร์คู่ขนานกันไป ซึ่งหากไม่มีการวางแผนจัดการปัญหาด้าน สมุทรศาสตร์ในเชิงของการป้องกัน ก็เป็นไปได้ว่าคำพยากรณ์บนแผนที่ฉบับใหม่ (กรุงเทพ) ของนาซ่าในส่วนประเทศไทยจะกลายเป็นความจริงขึ้นมา ไม่ต้องพิสูจน์กันนาน เพียงแค่ราว 20 ปีก็รู้ผลว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งพื้นที่น้ำอาจไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพและปริมณฑล แต่จะเหลืออะไรในเมื่อ พื้นที่เมืองหลวงของประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่แฉะ มีน้ำท่วมขังตลอดไป

และจะมีประโยชน์อะไรกับหลายโครงการเมกกะโปรเจคท์ของรัฐและหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน ที่ต้องอาศัยระยะเวลาการคืนทุนในช่วงหลายปีฅ

ทั้งจะมีประโยชน์อะไรกับ การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญๆของกรุงเทพและปริมณฑล

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้หยิบยกเอาปัญหานี้ มาคุยกันอย่างจริงจังมากเท่าใดนัก อย่างน้อยก็ไม่มากเท่าการบริหารจัดการน้ำพื้นที่เหนือกรุงเทพไล่ตั้งแต่ พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เรายังขาดการบริหารจัดการในส่วนที่สุดของปลายน้ำ ซึ่งก็คือทะเลหรือมหาสมุทร ซึ่งจะเป็นตัวการสำคัญบ่งชี้ชะตากรรมของคนในเขตพื้นที่กรุงเทพปริมณฑล และบางจังหวัดใกล้เคียง

อย่างน้อย หากยอมแพ้ ไม่แก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมุทรศาสตร์ คือ ปล่อยให้เป็นไปตาม ธรรมชาติ  ไม่มีการด้านการวิจัยและด้านการลงทุนโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เราก็น่าจะคิดถึงเรื่องการย้าย เมืองหลวงและเมืองสำคัญๆกันได้ก่อนที่เหตุการณ์ภัยพิบัติจากน้ำท่วมจะเกิดขึ้น…หรือไม่???

ในสหรัฐฯเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม และผังเมืองในหลายเมืองที่ตั้งอยู่ บนฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกได้เตรียมตัวป้องกันปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแล้ว โดยอาศัยฐานข้อมูลดาวเทียมจากการคาดการณ์ของนาซ่า ซึ่งไม่เพียงมองจากมุมของสมุทรศาสตร์เพียง อย่างเดียวหากแต่มีมุมการสำรวจและวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาผ่านระบบดาวเทียมขององค์การนาซ่าด้วย

เหมือนกับการทำแผนที่โลกใหม่ของนาซ่าในทุกมุมของโลกก็อาศัยการสำรวจและวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาเช่นกัน เช่น การเคลื่อนย้ายของเปลือกโลก ความชื้นของชั้นดิน การยุบตัวของดินในบางพื้นที่ เป็นต้น

แผนที่โลกใหม่ของนาซ่า โดยเฉพาะเมืองบาดาลกรุงเทพ ไม่ได้บอกให้พวกเรากลัวโดยไม่ลงมือทำอะไร แต่มันน่าจะบอกให้พวกเราเตรียมตัวลงมือทำอะไรสักอย่าง.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net