Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บันทึกความทรงจำและการเดินทางกลับสู่หมู่บ้านของอดีตบัณฑิตอาสาสมัครถึงชุมชนประเพณีอันแสนสงบสู่การลุกขึ้นสู้ต่อต้านเขื่อนแม่แจ่ม/ผาวิ่งจู้[1]ของชาวปกาเกอะญอมึเจะปู[2]

 

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

1

ในช่วงประมาณสองเดือนที่ผ่านมา ผมได้พบข่าวหนึ่งในหน้าเฟสบุ๊คจากการแชร์ของบรรดาเพื่อน  ซึ่งทำให้ผมตกใจอยู่มากนั่นคือข่าวแผนการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม/ผาวิ่งจู้ในบริเวณหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญอ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ข่าวเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนแม่แจ่มจากงบบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเพิ่งจะมีการพูดถึงผ่านสือต่างๆ อย่างเงียบๆ   เนื้อหาและคลิปภาพรายงานข่าวจากพื้นที่ที่มีอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น รายงานว่าชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็เพิ่งได้ทราบข่าวการสร้างเขื่อนในพื้นที่บ้านของตนในช่วงไม่กี่เดือนมานี้เช่นกัน โดยชุมชนปกาเกอะญอที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีทั้งหมด 4 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ซา หมู่ 2 , ,บ้านแม่เอาะ หมู่ 10 ,บ้านสบขอ หมู่ 11 และบ้านแม่หอย หมู่ 12    บ้านแม่หอย   ทั้งนี้บ้านแม่หอยหรือในภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า “โขล่เหม่โกล๊ะ” คือ หนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนครั้งนี้  และเป็นหมู่บ้านที่ผมเคยไปศึกษาเรียนรู้และทำงานเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อสิบสามปีก่อน (พ.ศ. 2543)   

ภูมิทัศน์ชุมชนและโรงเรียนบ้านแม่หอย (โขล่เหม่โกล๊ะ) เมื่อปีพ.ศ. 2543

ผมเปิดดูคลิปข่าวรายงานถึงการประชุมชาวบ้านที่จัดขึ้นครั้งแรก ณ บ้านแม่ซาในช่วงเดือนกรกฎาคมเพื่อควานหาดูว่ามีคนที่ผมรู้จักในนั้นหรือไม่ ผมอยากรู้ว่าหมู่บ้านที่เคยอยู่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากน้อยแค่ไหน และชาวบ้านที่นั่นมีความคิดเห็นต่อการสร้างเขื่อนอย่างไรบ้าง   จากรายงานข่าวชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านปกาเกอะญอในพื้นที่แผนสร้างเขื่อนแม่แจ่มก็เพิ่งจะทราบข่าว และเป็นไปได้ว่าพวกเขาหลายคนที่ไม่รู้ภาษาไทยและห่างไกลจากข้อมูลข่าวสารภายนอก อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพื้นที่ชุมชนของตนอยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนด้วย ในคลิปข่าวมีการให้สัมภาษณ์ของชาวบ้านในพื้นที่หลายคน  เช่น “จอสมพร”[4] หนุ่มวัยรุ่นในอดีตที่ขณะนี้กลายเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือพ่อหลวงของบ้านแม่หอยไปแล้ว หรือ “จออาสา” พี่ชายอารมณ์ดีของบ้านแม่ซา และอีกหลายคนที่ต่างแสดงความวิตกกังวลต่อการสร้างเขื่อนและผลกระทบที่อาจทำลายชีวิตชุมชน ผืนป่าธรรมชาติ และแหล่งทำมาหากินของพวกเขา (ดูย้อนหลังใน http://www.youtube.com/watch?v=FP1M_xY5Np , http://www.youtube.com/watch?v=Uay-JgctAZo และ http://www.youtube.com/watch?v=FFTevL-eUmA) ด้วยความรู้สึกตกใจในเบื้องแรกเมื่อทราบข่าวจากชุมชนเก่าที่เคยอยู่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมรีบกลับไปค้นหาภาพถ่ายเก่าๆ ในสมัยนั้น ด้วยเกรงว่าชุมชนที่เป็นความทรงจำส่วนหนึ่งของผมอาจจะสูญสลายไปกับโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มตามแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ภาพเก่าของหมู่บ้านเกือบทั้งหมดที่ผมถ่ายไว้เป็นฟิล์มสไลด์เพราะต้องใช้เวลารายงานความคืบหน้าของการทำงานในพื้นที่แก่ทางสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงหลังออกจากพื้นที่  ด้วยเหตุนี้ ฟิล์มสไลด์เก่าเก็บมานานหลายปีจึงถูกค้นออกมาจากซอกหลืบของลิ้นชักที่ผมลืมมันไปแล้ว ทันทีนั้นผมรีบนำมันไปยังร้านถ่ายรูปในกรุงเทพฯเพื่อหาร้านที่ยังสามารถล้างอัดรูปภาพจากฟิล์มสไลด์ได้ ซึ่งกว่าจะหาเจอก็ใช้เวลากว่าครึ่งค่อนวันเลยทีเดียว ...โลกเรามันเปลี่ยนไปมากแล้ว

 

2

มันเป็นความรู้สึกน่าใจหายเมื่อทราบข่าวว่าหมู่บ้านที่เราเคยไปอยู่อาศัยและมีความผูกพันต่อความทรงจำที่สำคัญช่วงหนึ่งของชีวิตกำลังจะถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ของการพัฒนาสร้างเขื่อนจนชุมชนอาจถูกโยกย้ายจากพื้นที่เดิมที่เคยตั้งอยู่  ภาพความทรงจำของผมต่อชุมชนปกาเกอะญอที่แม่แจ่มเมื่อสิบกว่าปีก่อนค่อยๆถูกดึงกลับจากความทรงจำ บางครั้งสำหรับการเป็นอดีตบัณฑิตอาสาสมัครหรือนักเรียนมานุษยวิทยาที่ต้องไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคสนามห่างไกลหลายแห่งจนผูกพันกับชาวบ้านในพื้นที่  ก็ทำให้รู้สึกผิดบาปอยู่ในใจบ่อยๆ ที่เราไม่สามารถกลับไปเยี่ยมเยียนคนในพื้นที่ดังที่เรามักจะเคยให้คำสัญญากับพวกเขาไว้ก่อนออกจากพื้นที่เสมอ สำหรับผมแล้วโขล่เหม่โกล๊ะเมื่อสิบสามปีก่อนเป็นดั่งชุมชนอุดมคติของคนหนุ่มสาวที่ต้องการแสวงหาวิถีชีวิตชุมชนอุดมคติที่เรียบง่ายและห่างไกลจากวิถีชีวิตสังคมเมืองอันวุ่นวาย วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านห่างไกลจากตัวเมืองและยังคงดำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้ได้ค่อนข้างมาก

ผู้เขียนถ่ายคู่กับพือเจะวา (บน) พือเจะวากับภรรยา น่อพอวาและแม่ของเธอ(ล่าง)

เมื่อสิบสามปีก่อนนั้น บ้านแม่หอยยังไม่มีไฟฟ้าเข้าไปถึง การเดินทางจากตัวอำเภอแม่แจ่มจะต้องโบกรถขึ้นดอยไปอีกราวสี่สิบกิโลเมตรกว่าจะถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านอยู่กันเป็นชุมชนเล็กๆ มีบ้านเรือนอยู่ประมาณห้าสิบกว่าหลังคาเรือน ผมเดินทางเข้าไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักครูของโรงเรียนบ้านแม่หอยและได้ช่วยครูโรงเรียนบ้านแม่หอยที่มีอยู่ทั้งหมด 5 คน ซึ่งล้วนเป็นคนปกาเกอะญอทั้งสิ้น   ส่วนเด็กนักเรียนมาจากในชุมชนนั่นเองมีอยู่หกสิบกว่าคน ทั้งจอและน่อแต่ละคน เรียนและเล่นซนกันอย่างกับลิง ชุดนักเรียนที่ใส่เคารพธงชาติทุกเช้าไม่เคยเป็นสีขาวสะอาดเอาเลย อย่างไรก็ตามผมได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิตอย่างดีจากชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้าน แม้พวกเขาจะรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยอยู่บ้างว่า ไอ้คนหนุ่มผมยาวและผอมกะหร่องอย่างกับคนติดยามาทำอะไรในหมู่บ้านกันแน่ หลายคนบอกกับผมภายหลังว่า ผมดูเหมือนพวกผีบ้าแรกๆ ก็ไม่กล้าคุยด้วย แต่ไม่นานนักเมื่อทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย วิถีชีวิตของผมและพวกเขาก็ดำเนินไปตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นผมที่ได้รับการช่วยเหลือและได้เรียนรู้จากพวกเขา ทั้งในเรื่องการดำรงชีวิตหาอยู่หากินในแต่ละวันและการเรียนรู้โลกทัศน์ที่แตกต่างจากสิ่งที่ผมเคยเข้าใจ พวกเขานับถือคริสต์นิกายโปเตสแตนท์และยังคงเคร่งครัดในการปฏิบัติพิธีกรรมในโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ   ยามค่ำทุกบ้านเข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อจะถูกปลุกตื่นแต่เช้าด้วยเสียงครกกระเดื่องและออกทำงานในไร่หรือเก็บหาอาหารหรือผลิตผลจากป่ากลับมาในตอนเย็นของวัน  

เด็กนักเรียนชาวปกาเกอะญอที่โรงเรียนบ้านแม่หอยเมื่อปี 43

ในแต่ละวันชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอยจะออกไปหากินไม่ในไร่ของตัวเองก็เข้าป่า ทุกเช้าตั้งแต่หัวรุ่งจะได้ยินเสียงครกกะเดื่องตำข้าวเป็นจังหวะ มาพร้อมกับเสียงไก่ขันปลุกชีวิตของหมู่บ้านให้เริ่มเคลื่อนไหว กิจกรรมในแต่ละฤดูกาลสัมพันธ์กับการทำมาหากินหรือการเพาะปลูกในไร่และการเก็บหาอาหารป่าจากธรรมชาติที่แตกต่างกันไป  นานๆ ครั้งถึงจะพบคนเมืองหรือคนนอกหมู่บ้านเข้ามาในหมู่บ้านสักครา ส่วนมากจะมีแต่นักท่องเที่ยวฝรั่งที่อาจเดินทางผ่านไปมาในเส้นทางนี้บ้างเท่านั้น ภาพวงจรชีวิตชาวปกาเกอะญอแม่แจ่มในอดีตกว่าสิบปีที่ติดอยู่ในความทรงจำของผม  เป็นชีวิตที่เรียบง่าย การติดต่อกับเมืองยังมีจำกัดเฉพาะในช่วงที่พวกเขาลงไปอำเภอเพื่อทำธุระทางราชการหรือซื้อข้าวของจำเป็นจากตลาดในอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งกว่าจะโบกรถผ่านทางมาติดลงไปยังอำเภอได้ก็อาจใช้เวลากว่าครึ่งค่อนวัน และในสมัยนั้นอำเภอแม่แจ่มก็ยังคงเป็นเมืองขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับอำเภออื่นๆอีกหลายแห่งในเชียงใหม่

พือเจะวากับเมียนั่งตีข้าวจากไร่ (ภาพบน) หมื่อกา[5]กำลังเกี่ยวข้าวของพือเจะวา (ภาพล่าง)

ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติเป็นพื้นฐานสำคัญมากสำหรับชุมชนหมู่บ้านขนาดเล็กของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอย ความเป็นกลุ่มก้อนเป็นปึกแผ่นของชุมชนสัมผัสได้ชัดเจนในทุกกิจกรรมที่พวกเขาทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ในโบสถ์, การเอาแรงแลกเปลี่ยนแรงงานในการเพาะปลูก, การประชุมหมู่บ้านประจำเดือน, การจัดงานตามประเพณี, การร่วมกันทำแนวกันไฟของหมู่บ้าน ฯลฯ เรียกได้ว่าแทบจะในทุกๆกิจกรรมส่วนรวมของชุมชนเลยทีเดียว  ในสังคมแบบนี้ ระบบความเชื่อทางศาสนาย่อมมีอิทธิพลต่อสมาชิกในชุมชนค่อนข้างสูง กิจกรรมชีวิตถูกกำหนดชัดเจนโดยการเข้าร่วมนมัสการพระเจ้าในโบสถ์ในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ตายตัวแล้วของแต่ละวัน  ในช่วงที่ผมอาศัยกว่าครึ่งปีนั้นไม่เคยได้ยินว่ามีปัญหาความขัดแย้งจนถึงขั้นกลายเป็นการทะเลาะกันภายในชุมชนเลย  เท่าที่จำได้มีอยู่เพียงครั้งเดียวที่เกิดปัญหาขึ้น อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่ผิดจากบรรทัดฐานที่เป็นความสัมพันธ์กับคนนอกหมู่บ้าน เมื่อชายหนุ่มพื้นราบที่เข้ามาเป็นคนงานสร้างระบบประปาหมู่บ้านของกรมชลประทานในช่วงเวลาหนึ่งได้ลักลอบได้เสียกับหญิงสาวในหมู่บ้าน  จนสุดท้ายทั้งคู่ก็แต่งงานกันโดยผ่านพิธีการขอขมาและการประกอบพิธีทางศาสนาในโบสถ์ของหมู่บ้าน การแก้ปัญหาความขัดแย้งมักจบลงโดยคำสอนของศาสนาจารย์ผู้สอนศาสนาที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือและคำสั่งสอนตักเตือนจากกลุ่มผู้อาวุโส ส่วนความขัดแย้งที่เกิดจากคนในหมู่บ้านด้วยกันเองนั้นไม่เคยพบว่าเกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องบาดหมางรุนแรงแต่อย่างใด 

ชาวปกาเกอะญอแม่หอยร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ในโบสถ์ของหมู่บ้าน

ในช่วงเวลานั้น ร้านค้าของหมู่บ้านมีเพียงร้านเดียว คือร้านของครูชูชาติ ฝายหิน ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน  ผมเองก็อาศัยซื้ออาหารง่ายๆ เช่น ปลากะป๋อง มาม่า ปลาทูเค็ม และไข่ จากร้านค้าที่มีอยู่แห่งเดียวนั่น  แต่ชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยซื้อของกินจากร้านค้ามากนัก เพราะพวกเขาสามารถหาอาหารจากธรรมชาติรอบตัวได้ตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูหนาวผู้ชายบางคนจะสะพายปืนไม้ยาวที่ทำกันเองในหมู่บ้าน เข้าป่าไปล่าสัตว์โดยเฉพาะหมูป่าและเก้ง ซึ่งป็นที่นิยมอย่างมาก และยังมีอยู่อย่างชุกชุมรอบพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน  บางทีได้เนื้ออะไรมา ก็เอามาแบ่งปันเพื่อนบ้าน และบางครั้งก็เผื่อมาถึงผมด้วย   ส่วนผู้หญิงจะทำหน้าที่หลักในการหาอาหารป่าตามธรรมชาติ เช่น หน่อไม้ , รถด่วนหรือหนอนไม้ไผ่ , ตัวอ่อนต่อ, ปลาตัวเล็กๆตามลำธาร, กบทูด,เห็ด,ผักหวาน และอื่นๆ สารพัดตามแต่ธรรมชาติที่เปลี่ยนไปในแต่ฤดูกาล ไล่ไปตั้งแต่ฤดูฝน  หนาว  และร้อน แต่ละฤดูวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ ก็จะเปลี่ยนไปอันเป็นผลจากกิจกรรมในการเพาะปลูกทำไร่และการหาอาหารจากป่าตามธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติหรือผืนป่ารอบตัวที่เป็นทั้งแหล่งอาหารในการดำรงชีพ หากป่าอุดมสมบูรณ์ชีวิตพวกเขาก็มีความมั่นคงไปด้วย แต่หากป่าถูกทำลายวิถีชีวิตของพวกเขาก็คงจะได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน

   

 ออกไปเก็บใบตองตึงกลับมามุงหลังคาบ้าน (ภาพบน) , ทำบุญคริสต์เชิญแขกรับประทานอาหารร่วมกันที่บ้าน (ภาพล่าง)

พ่ออุ้ยในหมู่บ้านช่วยกันก่อไฟเตรียมทำอาหารเลี้ยงชาวบ้านที่มาช่วยกันทำแนวกันไฟในป่าเขตรอยต่อระหว่างหมู่บ้าน (ภาพบน) ช่วงเข้าหน้าแล้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ชาวบ้านแม่หอยจะนัดวันรวมตัวเพื่อทำแนวกันไฟป่าบนแนวเขา[6] (ภาพล่าง)

ผมอาศัยอยู่เพียงลำพัง ในบ้านพักครู หลังเก่า  กิจวัตรปกติ คือ การตื่นขึ้นมาแต่เช้ามืด เพื่อจุดฟืนต้มน้ำร้อน หุงข้าว ทำกับข้าว แล้วก็ไปสอนหนังสือเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านแม่หอย  เด็กนักเรียน ส่วนใหญ่มาจากในหมู่บ้าน   แต่พอมีเวลาว่างก็ออกเก็บข้อมูลชุมชนจากชาวบ้าน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับทำสารนิพนธ์เพื่อเอาไว้ใช้ภายหลังกลับออกจากหมู่บ้าน  ในแต่ละวันบางทีก็ออกไปคุยกับคนนั้นคนนี้ตามปกติ  ส่วนใหญ่ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอยพูดภาษาถิ่นเหนือหรืออู้คำเมือกันได้ เว้นแต่คนแก่เฒ่าบางคนที่พูดฟังภาษาไทยไม่ได้เลย   ด้วยลักษณะสังคมที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงช้าและค่อนข้างหยุดนิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมเมือง  มันทำให้คนในวัยหนุ่มฟุ้งฝัน อย่างผม ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ รู้สึกอินไปกับบรรยากาศรอบตัว ราวกับว่าตัวเองอยู่ในหมู่บ้านในภาพอุดมคติที่ชีวิตแยกแตกต่างไปจากชีวิตที่คุ้นเคย  เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ผมออกไปใช้ชีวิตตามลำพังในพื้นที่ที่แปลกต่างจากความคุ้นชินเดิมค่อนข้างมาก  แต่การอยู่คนเดียวในชุมชนที่แปลกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมก็ทำให้ผมได้อ่านหนังสือและทบทวนเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองหลายอย่าง และเป็นโชคดีของผมที่ชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอยค่อนข้างเงียบสงบ ชาวบ้านเป็นมิตรมีความเอื้อเฟื้อเจือจานต่อคนนอกอย่างผมเป็นอย่างดี นับแต่ที่ผมเริ่มเข้าไปใหม่ๆ  จนกระทั่งถึงเวลากลับออกจากหมู่บ้านเมื่อครบกำหนดการทำงานในช่วงครึ่งปีต่อมา   แต่คงต้องยอมรับว่าด้วยความที่ผมเป็นคนนอกที่เข้าไปทำงานในชุมชน โดยพกพาสถานะทางสังคมติดตัวไปด้วยในฐานะนักศึกษาที่ไปทำงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียน และสอนผู้ใหญ่ช่วงหัวค่ำ จึงทำให้ได้รับการความเอื้อเฟื้อจากชาวบ้านมากเป็นพิเศษ

เด็กๆปกาเกอะญอบ้านแม่หอยกำลังแข่งซิ่งลงดอย (บน) ,  ผมกำลังเล่นกีตาร์ให้เด็กๆฟังที่บ้านพัก(ล่าง)

ในช่วงเวลานั้นตัวผมเอง ถือได้ว่ายังคงใหม่กับการเรียนรู้งานภาคสนาม   การศึกษาวิธีการเก็บข้อมูลสนามหรือการตีความอย่างเป็นวิชาการตามแนวมานุษยวิทยาก็ไม่เคยเรียน มาก่อน  โลกทัศน์ความคิดในช่วงเวลานั้น จึงออกแนวชุมชนนิยมโรแมนติกที่มองว่าชาวบ้านใสซื่อบริสุทธิ์  และมองว่าการพัฒนาแบบความทันสมัยหรือความเจริญเป็นสิ่งชั่วร้าย ซึ่งเป็นแบบฉบับของวาทกรรมการพัฒนาสายวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งแพร่หลายมีอิทธิพลต่อนักพัฒนาและพวกบัณฑิตอาสาสมัครในช่วงนั้นมากโขอยู่   จำได้ว่าครั้งหนึ่งขณะที่ผมนั่งนอนเล่นอยู่ที่บ้านพักครู ได้ยินเสียงเด็กในหมู่บ้านเล่นกีตาร์และแหกปากร้องเพลง  “ยาม” ของลาบานูน  บ้างก็สลับกับเพลงของวงโลโซที่กำลังโด่งดังในขณะนั้น  ผมรู้สึกว่าเพลงพวกนี้ เนื้อหาของมันไม่เข้ากับวิถีชีวิตของคนบนดอยแห่งนี้เอาเลย โดยเฉพาะกับเด็กนักเรียนชาวปกาเกอะญอของผม ผมจึงเริ่มแต่งเพลงขึ้นเองโดยมุ่งหวังว่าจะทำเป็นเพลงให้เด็กๆ ร้องเล่นกันแทนเพลงสตริงที่บ่มเพาะค่านิยมของคนเมืองเหล่านี้แทน เนื้อเพลงช่วงหนึ่งร้องว่า  “ดินแดนภูเขาลำเนาไพร   หลบความวุ่นวายที่ในเมือง ไปกันเถิดเพื่อน เดือนเต็มหมู่ดาว สบายใจ  โรงเรียนบนดอยยังคอยครู คอยจนบานประตูนั้นเป็นรอย ยินดีต้อนรับ สวัสดีครับผมเป็นครูน้อยบนดอยไกล โรงเรียนของเรามีภูเขาและมีลำธาร ยังคงเบิกบาน เราหัดอ่านท่องเขียน ก.กา  กลางคืนไม่มีไฟเราก็ใช้น้ำมันตะเกียง ฉันมีเพียงเทียนเล่มน้อย....” (ฟังเพลงฉบับเต็มได้จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=480971)  แม้จะไม่ได้ผลตามที่หวังว่าจะทำให้เด็กข้างบ้านเลิกแหกปากร้องเพลงของคนในเมืองให้ได้  แต่เพลงที่ผมแต่งนี้ก็ถือว่า ฮิตติดดอยพอสมควรเลยทีเดียว  เด็กๆในโรงเรียน ร้องกันได้เกือบทุกคน เมื่อมีการจัดงานกิจกรรมของหมู่บ้าน ผมมักจะถูกขอให้ร้องเล่นเพลงนี้เสมอ กล่าวได้ว่าผมประสบความสำเร็จในการต่อต้านขัดขืนกับกระแสค่านิยมที่ผ่านมากับดนตรีสมัยใหม่อย่างเพลงของลาบานูนหรือโลโซได้พอสมควรล่ะ อย่างน้อยก็น่าจะปลูกฝังเพลงที่เหมาะกับวัยเด็กและภาพของชุมชุนที่เป็นจริงๆ เอาไว้ในใจของพวกเขาได้บ้างล่ะ (อันนี้คิดเข้าข้างตัวเอง) พูดได้เลยว่าตอนอยู่ในหมู่บ้าน ผมค่อนข้างระวังมากว่าตัวเองในฐานะที่เป็นคนเมืองจากภายนอกชุมชน จะนำเอาค่านิยมอะไรจากข้างนอกเข้ามาเปลี่ยนชาวบ้านเหล่านี้หรือเปล่า ซึ่งอาจจะทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาต้องแปดเปื้อนเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น  วิทยุเทปพกพา (Walkman) ที่ติดมาก็ต้องใช้แบบแอบฟังคนเดียวในห้องไม่ให้ใครเห็น แม้แต่กล้องส่องทางไกลที่ติดกระเป๋ามาด้วย ก็ไม่เคยเอาออกมาให้พวกเด็กๆ ในหมู่บ้านได้เห็นเลย จนกระทั่งเด็กพวกนี้รู้เข้าก็ตอนที่เพื่อนของผมมาเยี่ยมแล้วค้นเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมแอบหลบมือเด็กในหมู่บ้านออกมาโชว์กันหมด  ตอนนั้นผมคิดแต่ว่าชาวบ้านเขาอยู่ของเขากันมาแบบนี้ ก็ไม่ควรจะไปเพิ่มอัตราเร่งหรือการพัฒนาความทันสมัยให้มันเปลี่ยนแปลงจนเร็วเกินไป หากชุมชนมีการตั้งรับไม่ทันอาจทำให้เกิดการแตกสลายของสังคมขึ้นได้

ฤดูแล้งของเดือนมีนาคม ปี 2543  ถึงเวลาที่ผมจะกลับออกจากพื้นที่หมู่บ้านที่ศึกษาและปฏิบัติงานอาสาสมัคร ผมและเพื่อนบัณฑิตอาสาสมัครที่แยกย้ายกันไปทำงานในพื้นที่ในหมู่บ้านต่างๆ ในหลายจังหวัดได้กลับมาพบกัน ประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นหัวข้อถกเถียงนอกรอบบ่อยครั้งก่อนนี้ คือ เราควรมีท่าทีอย่างไรต่อชุมชนหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ยังมีลักษณะสังคมประเพณีดั้งเดิม (tradition societies) เข้มข้นอยู่  ความเห็นของผมและเพื่อนๆ มี 2 แนวทางหลัก 

(1) เห็นว่าชุมชนหมู่บ้านควรดำรงประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเองต่อไปไม่ควรให้วัฒนธรรมค่านิยมของคนเมืองจากภายนอกเข้าไปมีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะจะสร้างปัญหาแก่ชุมชนดั้งเดิมเหมือนกับตัวอย่างที่พบในการพัฒนากระแสหลักในช่วงที่ผ่านมา และ

(2) มองว่าไม่ว่าจะชอบหรือไม่สังคมทุกสังคมย่อมมีการติดต่อสัมพันธ์กันและย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่แล้ว ความคิดที่จะให้ชาวบ้านหยุดนิ่งอยู่กับที่ทำเศรษฐกิจพอเพียงหากินหาอยู่ตามเดิมเหมือนในอดีตเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไม่อาจเป็นจริงได้   

ในหัวของผมก็เต็มไปด้วยการปะทะกันความคิดทั้งสองแนว ตั้งคำถามว่าผมควรจะกำหนดท่าทีตัวเองต่อชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่หอยที่ผมรักและผูกพันเป็นพิเศษนี้อย่างไรดี?  ภาพตัวแทนของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอยในสายตาของผมเป็นหมู่บ้านที่สงบเงียบ ชาวบ้านมีมิตรไมตรี มีการธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ยังถือว่าเข้มข้น และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติรอบตัว ซึ่งยังคงอุดมสมบูรณ์อย่างที่หาได้ยากในพื้นที่อื่น  เราควรจะปล่อยให้การพัฒนาจากสังคมภายนอกรุกรานเข้ามาส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่ หรือควรจะจำกัดขอบเขตมากน้อยแค่ไหน หรือเราเองต่างหากที่ไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อพวกเขาเลยจะเหมาะเสียกว่า?   ฯลฯ  คำถามต่างๆ  เหล่านี้ เกิดขึ้นในวงสนทนากับเพื่อนๆ บัณฑิตอาสาสมัครด้วยกันและบางทีผมก็สนทนากับตัวเองอย่างเงียบๆ  

 

ค่ำคืนสุดท้ายก่อนออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านแม่หอยมารวมกันเลี้ยงส่งที่บ้านพักครู (บน) , เก็บกระเป๋าเดินทางกลับนั่งโดยสารบนหลังคารถสองแถวแม่แจ่ม-จอมทอง (ล่าง)

แน่นอนคำถามนั้นมันไม่ได้คำตอบในทันทีทันใด ทว่ากลับต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าความคิดจะตกตะกอนในช่วงหลังจากที่ได้เดินทางไปทำงานในชุมชนแห่งอื่นๆต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในที่สุดแล้วผมก็ได้รับคำตอบสุดท้ายที่ตัวเองพึงพอใจและยึดถือเป็นแนวทางกำหนดท่าทีของตัวเองในประเด็นต่างๆ หากผมต้องไปที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการพัฒนาว่า ชาวบ้านในชุมชนไม่ว่าจะเป็นชุมชนประเพณีดั้งเดิมหรือชุมชนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาเป็นสมัยใหม่ พวกเขาควรมีสิทธิ์เต็มที่ในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ไม่ควรที่จะมีใครเป็นคนไปชี้ซ้ายขวา สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ พวกเขาควรมีสิทธิ์ในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในตัวเองเหมือนคนในสังคมอื่นๆ ที่จะเป็นผู้กำหนดตัดสินใจด้วยตัวเองได้  แม้ว่าพวกเขาอาจจะทำผิดพลาดได้ แต่พวกเขาก็ควรจะมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น หากการพัฒนานั้นนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ตามมาภายหลัง ไม่มีใครที่จะอ้างอำนาจความชอบธรรมใดในการไปกำหนดชี้ว่าชาวบ้านควรต้องทำนั้นอย่างนี้  หรือต้องเดินแนวทางในการพัฒนาไปทางไหน   ดังนั้นหากพวกเขาต้องการให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น มีความเจริญทางวัตถุมากขึ้น ขณะที่ความผูกพันในสังคมดั้งเดิมลดลงหรือหายไป นั่นก็ควรจะเป็นสิทธิ์ของพวกเขาอย่างเต็มที่ .ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นคำตอบที่แสดงถึงความเคารพนับถือในความเป็นมนุษย์ของพวกเขาอย่างเท่าเทียมกันถึงที่สุด  คนภายนอกชุมชน ไม่ว่าจะอ้างถึงเจตนาดีแค่ไหน หรือเป็นผู้ฉลาดทรงภูมิรู้เพียงใด ก็ไม่มีความชอบธรรมในการชี้นำหรือแช่แข็งชุมชนและชีวิตพวกเขาให้หยุดนิ่งไกลห่างจากการพัฒนาจากภายนอก โดยที่พวกเขาไม่ได้ร้องขอ  ในทางกลับกัน ผมคิดว่าเราควรจะต้องเคารพในสิทธิ์อำนาจเต็มที่พวกเขาจะเลือกกำหนดชะตาชีวิตของชุมชนของตัวเอง  ทั้งหมดนี้เป็นคำตอบสุดท้ายที่ผมให้กับตัวเองได้อย่างรู้สึกพึงพอใจพอสมควร และมันทำให้ผมปรับท่าทีของตัวเองต่อการทำงานกับชุมชนตามหลักคิดดังกล่าวด้วยเช่นกัน  

หลังจากที่ผมออกมาจากบ้านแม่หอย ผมไม่ได้ติดต่อกับใครในหมู่บ้านหรือกลับไปเยี่ยมเยียนคนที่นั่นอีกเลย เนื่องจากชีพจรชีวิตของเราเองที่ต้องดิ้นรนอย่างมากมายในเงื่อนไขของการทำมาหากินและวิถีชีวิตแบบคนในสังคมเมือง  คนที่เคยทำงานในชุมชน ผูกพันกับชาวบ้าน และเคยให้คำสัญญาว่าจะกลับไปเยี่ยมพวกเขาบ่อยๆ อาจจะมีความรู้สึกคล้ายกัน เมื่อเราไม่ได้กลับไปในพื้นที่ชุมชนเลยเป็นเวลานานๆ  ก็คงคล้ายกับญาติพี่น้องที่ห่างเหินกันไปไม่ไปเยี่ยมดูแลญาติผู้ใหญ่นั่นกระมัง กระทั่งเกือบสี่ปีให้หลังเมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2547  ผมได้เดินทางกลับเข้าไปแม่แจ่มแล้วโบกรถขึ้นดอยอีกครั้ง ผมสังเกตพบว่าระยะเวลาไม่กี่ปีนั้น ทั้งอำเภอแม่แจ่มและหมู่บ้านปกาเกอะญอที่ผมเคยอาศัยอยู่เกิดความเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเคยเป็นอำเภอเล็กๆ และดูจะเร้นลับอยู่ในโอบล้อมของภูเขากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีรีสอร์ทผุดขึ้นจำนวนมาก ขณะที่เส้นทางจากอำเภอแม่แจ่มไปยังบ้านแม่นาจร ก็เริ่มมีไฟฟ้าเข้าไปถึงแล้ว แน่นอนว่าโครงการวางเสาไฟฟ้าจะขยายออกไปจนถึงหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอแม่หอยและแม่ซาต่อไปในอนาคตแน่ๆ  

ในหมู่บ้านยังคงให้บรรยากาศเดิมๆ อยู่ แต่สังเกตได้ว่าคนในหมู่บ้านมีรถกระบะเพิ่มมากขึ้น  ผมไปแวะหาพ่ออุ้ยเจวาเฒ่าปกาเกอะญอแม่หอยที่สนิทสนมกับผมเป็นพิเศษ  ซึ่งในสมัยก่อนขณะที่ทำงานอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อผมไม่สบายใจหรือเกิดอาการเบื่อเซ็งชีวิต ก็จะเดินไปหาแกที่ไร่ท้ายหมู่บ้านอยู่เสมอ ไร่ของพือเจะวาอยู่ลึกลงไปด้านล่างชนกับพื้นที่ป่า แกปลูกกระท่อมเล็กๆไว้พักอยู่กลางไร่ พื้นที่ทำไร่ของแกจะแปลกกว่าคนอื่น ตรงที่ว่าแกปลูกพืชหลายอย่างผสมปนกันไปหมด มีทั้งข้าวไร่ พริกกะเหรี่ยง ข้าวโพด ฟักทอง ถั่วฝักยาว พลู มะละกอ และพืชผักสวนครัวอื่นๆ ที่เก็บกินได้อีกจำนวนมาก  ชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะมองว่าพือเจะวาเป็นปกาเกอะญอที่แปลก ตอนนั้นไม่มีใครปลูกอะไรรวมๆหลายๆอย่างแบบพือเจะวาเลยสักคนเดียว นอกจากพืชผักที่ปลูกแล้ว แกยังทำบ่อเลี้ยงปลาแบบขั้นบันได โดยขุดบ่อดินเตี้ยๆ เป็นชั้นๆ ลดหลั่นลงไปตามระดับความสูงของพื้นที่น้ำจะไหลจากบ่อน้ำบนสุดลงเป็นชั้นไปบ่อด้านล่างสุด ส่วนปลาที่เลี้ยงแกก็ไปขอพันธุ์ปลามาจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เข้ามาในหมู่บ้านในบางครั้ง รอบบ่อเลี้ยงปลาแกก็ปลูกหญ้าแฝกกันดินทรุดเอาไว้ด้วย   ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของพือเจวา คือ แกเป็นคนคิดเก่งมากในเรื่องเกี่ยวกับเส้นทางน้ำป่า กล่าวคือ ในขณะที่หมู่บ้านไม่มีน้ำใช้ ที่ไร่ของพือเจะวาจะไม่เคยขาดน้ำเลย พือเจะวาแกหาน้ำจากป่ามาใช้ด้วยวิธีการง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่ลุ่มลึกเกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว โดยแกจะเดินหาเส้นทางน้ำจากป่าที่ไหลซึมออกมา ซึ่งอาจจะมีหลายจุดเป็นขนาดเล็กๆ กระจายตามป่า พือเจะวาจะขุดร่องทางน้ำเล็กๆ หรือบางทีก็ใช้ปล่องไม้ไผ่ช่วยรองรับน้ำจากจุดต่างๆที่น้ำไหล ทำเป็นเส้นทางหลายๆ เส้น ให้ไหลลงมารวมกันในบริเวณไร่ของแก แล้วแกก็เอาท่อพีวีซีมาต่อทางน้ำนั้นไปใช้เป็นจุดที่น้ำลงสำหรับกินและอาบ อีกส่วนก็ท่อต่อให้น้ำไหลไปยังบ่อเลี้ยงปลาขั้นบันไดของแก ซึ่งปรากฏว่าแม้แต่หน้าแล้งที่น้ำในหมู่บ้านไม่ไหล น้ำที่ไร่ของพ่ออุ้ยเจะวาไม่เคยหยุดไหลเลย!  ผมทึ่งกับวิธีการทำไร่ของแกมาก ยังไม่รวมวิธีการหากินในไร่อื่นๆ เช่น การทำที่ดักหนู ดักนกหรือสัตว์เล็กๆ ที่อาจเข้ามาหากินเมล็ดข้าวในไร่ของแกด้วยวิธีการง่ายๆ อีกด้วย   ในช่วงเวลานั้น แนวคิดทฤษฏีใหม่ของในหลวงกำลังถูกประโคมเผยแพร่กระจายในสังคมโดยหน่วยงานรัฐต่างๆ จนกลายเป็นวาระหลักของชาติเพราะผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในต้นทศวรรษ 2540 นั่นเอง  ผมเห็นพ่ออุ้ยเจะวาทำไร่แล้ว เลยลองถามแกว่า “พ่ออุ้ยรู้จักแนวคิดทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียงไหม”  แกบอกกลับมาว่า “บ่ฮู้ ป่ออุ้ยบ่เคยได้ยินนะ”  ผมเองก็ค่อนข้างมั่นใจว่าแม้พือเจะวาจะรู้จักในหลวง แต่ไม่น่าจะเคยรู้จักทฤษฏีใหม่หรือเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อนแน่ๆ แกทำไร่ปลูกพืชผักจัดการระบบดินน้ำพืชพันธุ์ต่างๆ โดยอาศัยประสบการณ์การสังเกต จนสั่งสมองค์ความรู้ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัวมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมานานก่อนที่พวกเราทั้งหลายในสังคมเมืองจะรู้จักทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงเสียอีก

ครั้งสุดท้ายที่ผมได้พบแก แกยังคงซุกตัวอยู่ที่กระท่อมหลังเล็กในไร่นั้นเอง ผมถามแกว่าจำผมได้ไหม พือเจะวานิ่งคิดสักครึ่งนาทีแล้วตอบกลับมาด้วยเสียงกึ่งสงสัยว่า “ครูโบ?” ความจำแกยังคงดีมากๆ  พือเจะวาบอกว่าจำได้จำได้สิ แล้วชี้ไปที่ต้นไม้ใหญ่ที่ติดอยู่กับกะท่วมของแก พือเจะวา “กล้วยไม้ที่ครูโบฝากไว้ พ่ออุ้ยรดน้ำทุกวัน”   ผมจำไม่ได้ถามกลับไปว่า “กล้วยไม้อะไรเหรอพ่ออุ้ย?”    “ก็กล้วยไม้ที่ครูฝากไว้ตอนจะปิกบ้าน ให้พ่ออุ้ยดูแล พ่ออุ้ยรดน้ำทุกวัน”  พือเจะวาอธิบายต่อ ผมมองไปที่ต้นไม้ริมกระท่อม จึงเห็นว่ามีกล้วยไม้สีเขียวเข้มแผ่รากยาวต้นใหญ่เกาะอยู่บนผิวต้นไม้นั้นเอง  เมื่อทบทวนความจำในอดีต จึงจำได้ว่าก่อนที่ผมจะกลับออกจากหมู่บ้าน ผมเอาต้นกล้วยไม้กอเล็กๆ  ซึ่งแขวนไว้ที่หน้าต่างบ้านพักครู  เอามาฝากให้พ่ออุ้ยช่วยดูแลรดน้ำให้แทน เพราะกลัวมันจะเหี่ยวเฉาตาย  มันเหลือเชื่อมากที่ต้นกล้วยไม้เล็กๆ เมื่อสี่ปีก่อน  จะแผ่ขยายก้านใบใหญ่กว่าเดิมมากมายนัก  มันรู้สึกละอายใจที่ผมเองกลับไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย แถมยังจำไม่ได้เสียอีกว่าเคยเอากล้วยไม้มาฝากให้แกช่วยดูแล  ดูเหมือนว่าความทรงจำของพ่ออุ้ยเจะวาจะดีกว่าผม ความทรงจำของคนที่มีวิถีชีวิตประจำวันอยู่กับการทำมาหากินในไร่ หยุดนิ่งผูกพันอยู่กับหมู่บ้าน มันช่างแตกต่างจากผมที่ใช้ชีวิตอยู่ห่างไกลจากบ้านแม่หอยไปไกลกว่าหลายกิโลเมตร กิจกรรมต่างๆ ของชีวิตในเมืองที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว จนทำให้เราหลงลืมเรื่องราวบางเรื่องจนดูเหมือนไม่สำคัญสำหรับเรา หากแต่สำคัญสำหรับคนในอีกพื้นที่หนึ่ง คนที่อยู่กับความทรงจำและการเคลื่อนไหวจำกัดในชุมชนปกาเกอะญอบนดอยเล็กๆ อย่างพ่ออุ้ยเจะวา

พือเจะวากับกะท่อมหลังเล็กในไร่ข้าวของแกในช่วงอายุประมาณแปดสิบกว่าปี

หลังจากที่ได้คุยซักถามสารทุกข์สุขดิบกับแก จึงได้รู้จากพือเจะวาว่าเมียที่แกดูแลมาตลอดชีวิตได้เสียชีวิตไปแล้วไม่นานก่อนหน้านี้ “แม่อุ้ยบ่อยู่แล้ว แม่อุ้ยเสียแล้ว อยู่บ่ม่วนแล้ว”   เมียของพือเจะวาตาบอดมานานหลายปี ก็อาศัยพือเจะวาเนี่ยแหละที่ดูแลกันและกันมาโดยตลอด คนที่อยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิตคนหนึ่งตายไปอีกคนยังมีชีวิตอยู่ มันเป็นเรื่องปกติของชีวิต แต่เมื่อฟังจากปากพ่ออุ้ยเจะวาโดยตรงแล้ว ผมรู้สึกเศร้าสงสารแกขึ้นมาทันที คนแก่ที่ชีวิตทั้งหมดมีความสัมพันธ์จำกัดอยู่กับครอบครัวเครือญาติและคนในหมู่บ้านเพียงไม่กี่คน  เรื่องราวความหมายของชีวิตต่างๆ ที่เป็นความทรงจำของแกล้วนผูกโยงอยู่กับผู้คนและวิถีชีวิตในหมู่บ้าน เมื่อคนที่แกรักผูกพันที่สุดในชีวิตได้ตายไป การอยู่มีชีวิตต่อไปของตนเองในอนาคตข้างหน้าที่ไม่มีอะไรรออยู่อีกสำหรับคนวัยแปดสิบกว่าปี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

4

สิบสามปีแล้ว นับจากวันแรกที่เข้าไปศึกษาเรียนรู้และทำงานในชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอย และหลังจากนั้นสี่ปีก็เคยแวะเข้าไปเยี่ยมพือเจะวาในช่วงเวลาสั้นๆเพียงชั่วข้ามคืน ผมไม่เคยได้ยินข่าวใดๆ จากหมู่บ้านอีกเลย กระทั่งในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เห็นข่าวที่มีการแชร์กันไม่มากนักในอินเตอร์เน็ตถึงการจัดประชุมที่บ้านแม่ซาเพื่อต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มที่อาจจะเกิดขึ้น ชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ต่างตระหนกตกใจต่อเรื่องนี้ ว่ากันว่าหากมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่มขึ้น ชุมชนชาวปกาเกอะญอในพื้นที่โครงการอาจต้องถูกย้ายทั้งหมู่บ้าน ผลกระทบทางสังคมต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมธรรมชาติรอบชุมชนอย่างมหาศาล   จากจุดยืนที่ผมได้ตอบตัวเองเอาไว้หลังออกจากหมู่บ้านเมื่อสิบกว่าปีก่อน ยังคงเป็นตัวกำหนดท่าทีของผมต่อโครงการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่ก่อผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนแม่หอยต่างๆ การพัฒนาสร้างเขื่อนแม่แจ่มครั้งนี้ก็เช่น  ผมหาข่าวต่างๆ จากอินเตอร์เน็ต เพื่อดูปฏิกิริยาของชาวปกาเกอะญอแม่หอยและหมู่บ้านใกล้เคียง ว่าพวกเขามีความรู้สึกต่อโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มนี้อย่างไร แม้ว่าในการพัฒนาโครงการต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อนอกชุมชนด้วยก็ตาม แต่เสียงของคนในชุมชนก็ควรถูกพิจารณาอย่างมีน้ำหนักไม่น้อยไปกว่ากัน  

ในข่าวแสดงถึงปฏิกิริยาของชาวปกาเกอะญอในพื้นที่สร้างเขื่อนไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ พวกเขาต่อต้านไม่เอาเขื่อนแม่แจ่ม ดังที่ นายอุทัย  พายัพทนากร  ผู้ใหญ่บ้านแม่ขอกล่าวว่า  “การที่รัฐบาลจะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้ชาวบ้านกะทันหันเป็นเรื่องที่ชาวบ้านรับไม่ได้ ตนเคยเดินทางไปดูงานที่ผาช่อ จ.ลำปาง ซึ่ งรัฐบาลย้ายชาวบ้านจากบนดอยลงมา แต่ไม่จัดพื้นที่รองรับให้เพียงพอ สุดท้ายชาวบ้านต้องไปขายตัวอยู่ในเมือง  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากและไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นที่นี่” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในมติชนออนไลน์ วันที่ 18 สิงหาคม 2556  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1376822246&grpid=00&catid=00) เช่นเดียวกับ พ่ออุ้ยเฮบือพอ อายุ 78 ปี ผู้เฒ่าชาวปกาเกอะญอบ้านสบขอ  “ฉันแก่ลงเรื่อย ๆ ไม่สำคัญหรอกว่า จะมีอายุต่อไปนานแค่ไหนและจะตายเมื่อไหร่ คนจะตายช้า ตายไวไม่มีใครรู้ เรามีประโยชน์แค่ชั่วชีวิตหนึ่งเท่านั้น แต่เรื่องป่าไม้และแม่น้ำนี่ มีประโยชน์นับร้อยปี พันปี ช่วยให้คนได้อยู่ได้ใช้มาหลายชั่วอายุคน อยู่ ๆ มีคนมาสร้างเขื่อนตัดอายุป่า ตัดหมู่บ้านที่ฉันเห็นมานาน แล้วอนาคตลูกหลานจะอยู่อย่างไร” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเดลินิวส์ออนไลน์วันที่ 25 สิงหาคม 2556   http://www.dailynews.co.th/article/728/228323)   นอกจากนี้ ยังสามารถเห็นความไม่พอใจของชาวบ้านต่อโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม/ผาวิ่งจู้ได้จากข้อความในแผ่นโปสเตอร์ที่แปะติดตามหมู่บ้านเป็นจำนวนมากได้อีกด้วย  

ป้ายต่อต้านเขื่อนแม่แจ่มที่ถูกปิดไปทั่วหลายหมู่บ้านในพื้นที่สร้างเขื่อน (รูปภาพจาก Road Jovi ในบทความ เสียงตะโกนจากคนตัวเล็กริมน้ำแม่แจ่ม ในบล็อคกาซีนประชาไท http://blogazine.in.th/blogs/mourose/post/4336)

แน่นอนว่าป้ายต่อต้านเขื่อนที่ติดตามหมู่บ้านเหล่านี้ เดาได้ว่าส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากองค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวต่อต้านเขื่อนจากนอกชุมชนมาช่วยในการรณรงค์ด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านจะไม่เห็นด้วยหรือไม่เข้าใจข้อความที่ถูกนำมาติดทั่วหมู่บ้านของพวกเขา อันที่จริงหลายป้ายถูกเขียนขึ้นโดยชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านนั่นเองทั้งที่เป็นภาษาปกาเกอะญอและภาษาไทยเพื่อใช้สื่อสารออกไปจากชุมชน ให้คนไทยพื้นราบและในพื้นที่อื่นๆ ได้รับรู้ถึงความรู้สึก การต่อต้าน ความไม่พอใจของพวกเขาต่อโครงการสร้างเขื่อนที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิต ธรรมชาติ และชุมชนของพวกเขา 

ในช่วงเดียวกันนั้นเอง ขณะที่ข่าวเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนแม่แจ่มที่กระทบต่อชุมชนชาวปกาเกอะญอแม่แจ่มยังคงเป็นเพียงข่าวเล็กๆ ที่มีคนให้ความสนใจรับรู้ไม่มากนัก ตรงกันข้ามกับกระแสการคัดค้านต่อต้าน การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA (Environment and Health Impact  Assessment) ที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาของเขื่อนแม่วงก์ ที่มีผู้นำการประท้วง คือ คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งใช้วิธีการเดินประท้วงจากเขื่อนแม่วงก์ถึงกรุงเทพฯ จนเกิดเป็นกระแสการรณรงค์ที่ได้รับความสนใจจากสื่อและผู้คนในสังคมจำนวนมาก ทำให้ความสนใจต่อปัญหาการพัฒนากับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับการถกเถียงแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง  อันที่จริง เมื่อเกิดกระแสการคัดค้านโครงการพัฒนาเขื่อนในพื้นที่หนึ่ง ย่อมเป็นผลดีต่อการรณรงค์ต่อต้านโครงการพัฒนาสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย แต่จากที่ผมสังเกตจากพื้นที่ข่าวสารที่ปรากฏ กลับพบว่าการประเด็นปัญหาโครงการพัฒนาสร้างเขื่อนในแผนงานของรัฐบาล ได้ถูกกลบโดยเสียงเซ็งแซ่ที่พูดถึงปัญหาเฉพาะของเขื่อนแม่วงก์จนแทบไม่ได้ยินเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่นๆ อย่างเพียงพอ

จากประสบการณ์ ผมพบว่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมของการพัฒนาส่วนใหญ่ กลุ่มคนชายขอบของสังคมมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบอยู่เสมอ ทำให้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ากระแสการรณรงค์ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์และวาทกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้ จะมีส่วนช่วยเสริมพลังแก่การลุกขึ้นสู้ของชาวปกาเกอะญอพื้นถิ่นในแม่แจ่มได้มากน้อยแค่ไหน  ในการเคลื่อนไหวของขบวนการต้านเขื่อนแม่วงก์ได้มีการประสานพูดคุยกับกรณีปัญหาของเขื่อนอื่นๆ ด้วยหรือไม่ หรือเป็นเพียงการรวมกลุ่มสร้างพันธมิตรเพียงชั่วคราวเท่านั้น   ความกังวลใจของผมมีสาเหตุจากกรณีของเขื่อนแม่แจ่มมันอยู่ในพื้นที่ของชนพื้นเมืองกลุ่มเล็กๆ ใจกลางหุบเขา ซึ่งในมิติทางชาติพันธุ์ย่อมถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นไทยหรือคนเมืองพื้นราบ  แม้ว่าพวกเขาจะเป็นพลเมืองไทยเต็มตัวนานหลายชั่วรุ่นแล้ว แต่โดยความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในฐานะชนกลุ่มน้อย ผมไม่แน่ใจว่าเสียงตะโกนของพวกเขาจะดังไปพ้นแนวเขาที่โอบล้อมหมู่บ้านไปไกลถึงบรรดาคนไทยร่วมชาติทั้งหลายได้หรือไม่ ในขณะที่เสียงการต้านเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น ชนชั้นกลางรักธรรมชาติทั้งหลายอาจช่วยกันเปล่งเสียงร้องดังก้องไกลไปทุกสารทิศ เพราะมีบรรดาผู้มีชื่อในสังคมทั้งหลายให้การสนับสนุนในการต่อสู้ แต่ชนพื้นเมืองกลุ่มเล็กๆ ในหุบเขาแห่งนี้เล่า มิติความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างจะเป็นวาทกรรมที่ทำให้พวกเขาถูกกีดกัน/เบียดขับกลายเป็นกลุ่มชายขอบของการพัฒนาครั้งนี้หรือไม่  เมื่อผลประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังขยายตัว  พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรของคนพื้นที่ราบได้ถูกขยายออกไปอย่างมหาศาล  ความต้องการน้ำในการเกษตรและข้ออ้างในการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมของคนพื้นราบ จะกลายเป็นความชอบธรรมของการพัฒนา จนทำให้เสียงของชาวปกาเกอะญอพื้นถิ่นเหล่านี้ไม่ถูกรับรู้หรือเปล่า?  

อย่างไรก็ตาม จากปฏิกิริยาของชาวปกาเกอะญอในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อนที่ประกาศว่า "กูขอตายหากต้องถูกย้ายเอาบ้านไปสร้างเขื่อน”   ก็แสดงให้เห็นถึงการเตรียมใจลุกขึ้นสู้ท้าทายอย่างเต็มตัวต่อโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มครั้งนี้  ผมไม่แน่ใจเลยว่าระยะเวลาเป็นสิบปีที่ไม่ได้เข้าไปที่โขล่เหม่โกล๊ะนั้น ชุมชนปกาเกอะญอที่นั่นเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว จากหมู่บ้านที่มีลักษณะสังคมประเพณีค่อนข้างเงียบสงบและโดดเดี่ยว (isolate) ตัวเองจากสังคมภายนอก ในตอนนี้พวกเขาพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตชุมชนของพวกเขาอย่างเต็มที่แล้วหรือ  ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากพวกเขาเลือกแล้วจะลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแม่แจ่มนี้ ผมก็ยอมรับในการตัดสินใจต่อการกำหนดชะตากรรมของพวกเขา และพร้อมจะร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่ มันเป็นเหตุผลง่ายๆ และอาจจะไม่ใช่เหตุผลที่ผ่านการคิดอย่างสลับซับซ้อนมากเพียงพอสำหรับหลายคนต่อการกำหนดหลักวิธีคิดและท่าทีที่ควรจะมีต่อโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งอาจก่อผลกระทบต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง และเราก็ควรจะศึกษาผลดี/ผลเสีย ความคุ้มค่าของโครงการ และผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดอย่างรอบด้านเสียก่อน  ทว่าผมได้เลือกเอาไว้แล้วตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน  ถ้าพ่อแม่พี่น้องปกาเกอะญอที่นั่นต้องการเขื่อน ผมก็เอาเขื่อน ถ้าพวกเขาปฏิเสธ ผมก็พร้อมสนับสนุนและต่อสู้ร่วมกับพวกเขาด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่นั้น  ...ผมพร้อมแล้วกับการเดินทางกลับไปยังหมู่บ้านที่เคยอาศัยอยู่เมื่อสิบกว่าปีก่อนอีกครั้ง.

 




[1] บางคนเรียกว่า “ผาวิ่งชู้”  มิตรสหายท่านหนึ่งอธิบายให้ฟังว่า ในภาษาคำเมืองการออกเสียง ช. จะเพี้ยนเป็น จ. ในที่นี้จึงใช้ว่าผาวิ่งจู้

[2]มึเจะปู เป็นภาษาปกาเกอะญอแปลเป็นไทยหมายถึง “แม่แจ่ม”  

[3] บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นที่ 32

[4] คำว่า “จอ” ในภาษาปกาเกอะญอเป็นคำหน้าหน้าผู้ชาย ส่วนผู้หญิงใช้คำว่า “น่อ”

[5] “หมื่อกา” ในภาษาปกาเกอะญอเป็นคำเรียกเครือญาติแปลว่า “ป้า” 

[6]ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมเป็นช่วงฤดูหนาวที่เข้าสู่หน้าแล้ง และมักจะเกิดไฟป่าลามไหม้เป็นแนวยาวประจำทุกปี สาเหตุของไฟป่าแท้จริงส่วนใหญ่มาจากฝีมือของคนมากกว่าเกิดโดยธรรมชาติ อาจเพราะการเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกหรือการก่อไฟในป่า ซึ่งเกิดขึ้นเสมอประจำในพื้นที่ตั้งแต่บริเวณบ้านแม่นาจรขึ้นมา ในบ้านแม่หอยจะมีการเตรียมรับมือโดยการร่วมมือของคนในชุมชนทั้งหมดเข้าไปทำแนวกันไฟในป่า โดยการเก็บกวาดเศษซากใบไหม้ใบหญ้าที่รกตามรอยต่อของป่าระหว่างหมู่บ้าน บางช่วงที่รกมากก็ต้องเผาเพื่อให้เศษใบไม้ที่อาจกลายเป็นเชื้อไฟป่าเผาไหม้เป็นเถ้า จนเกิดช่องว่างของพื้นดิน ซึ่งทำหากเกิดไฟป่าขึ้นก็จะไม่ลามเข้ามาในพื้นที่ของหมู่บ้าน

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net