“ขอพระราชทานอภัยโทษ” ช่องว่างบนเส้นทางสู่อิสรภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ว่ากันว่า แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีโทษหนักแต่กฎหมายนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะเมื่อมีใครถูกลงโทษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะพระราชทานอภัยโทษให้ในท้ายที่สุด ดังเช่น กรณีนายวีระ มุกสิกพงศ์ ในปี 2531 นายโอลิเวอร์ ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2550 นายแฮรี่ ชาวออสเตรเลีย ในปี 2552 

การพระราชทานอภัยโทษ เป็นขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267 มีอยู่สองประเภทหลักๆ คือ หนึ่งการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องในวาระโอกาสสำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เช่น วันที่ 5 ธันวาคม วันที่ 12 สิงหาคม โดยคณะรัฐมนตรีจะตราพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษทุกคนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ สอง การขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ซึ่งเป็นช่องทางพิเศษที่นักโทษทุกคนที่คดีถึงที่สุดแล้ว สามารถยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้

ในช่วงปี 2552-2553 มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง และเริ่มมีการก่อตัวของกลุ่มคนเสื้อแดง พร้อมกับที่ข้อหา “ล้มเจ้า” ถูกปลุกขึ้นมาใช้อย่างหนักหน่วงในสังคมไทย ทำให้มีคดีตามมาตรา 112 เกิดขึ้นจำนวนมาก ถึงขั้นที่คดีจำนวนหนึ่ง ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและอัยการอ้างความเป็น “คนเสื้อแดง” ของจำเลยเป็นหนึ่งในพยานแวดล้อม จำเลยหลายคดียังดิ้นรนต่อสู้หาความบริสุทธิ์ให้กับตัวเองอยู่ หลายคดีก็สิ้นสุดไปแล้วด้วยการพระราชทานอภัยโทษ

นักโทษที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดตามมาตรา 112 จะสนใจการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแบบเป็นกรณีพิเศษรายบุคคล เนื่องจากเชื่อว่าวิธีการนี้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่อิสระภาพได้โดยเร็วที่สุด

แม้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะไม่ได้เขียนไว้โดยตรง จำเลยต้องรับสารภาพก่อนจึงจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ แต่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติกันว่าจำเลยต้องรับสารภาพและต้องแสดงออกถึงความสำนึกผิดในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป โดยเขียนสิ่งเหล่านี้ลงในหนังสือที่ทูลเกล้าต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธรรมเนียมปฏิบัตินี้เองทำให้ระบบการขอพระราชทานอภัยโทษในปัจจุบันสร้างช่องว่างขึ้นระหว่างทางของกระบวนการยุติธรรมอยู่บ้าง ดังจะกล่าวต่อไปนี้

 

 


คลิ๊กดูภาพใหญ่

 

1.  การรับสารภาพ ตัอตอนการค้นหาความจริง

การที่ต้องรับสารภาพก่อนทำให้หลายคดีจำเลยตัดสินใจไม่สู้คดี รีบรับสารภาพและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่จำเลยเชื่อว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิด แต่ต้องเลือกวิธีนี้เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ได้รับอิสรภาพเร็วกว่า ตัวอย่างเช่น

โจ กอร์ดอน หรือนายเลอพงษ์ ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 แม้นายเลอพงษ์จะยืนยันว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด แต่เนื่องจากเขาไม่เชื่อว่าจะสามารถต่อสู้คดีจนชนะได้ เพราะเขาเชื่อว่าคดีตามมาตรา 112 จะถูกพิจารณาด้วยอคติของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นายเลอพงษ์จึงเลือกใช้วิธีขอพระราชทานอภัยโทษ ในวันนัดขึ้นศาลครั้งแรกเมื่อศาลถามว่าจำเลยจะรับสารภาพหรือไม่ นายเลอพงษ์ให้การต่อศาลว่า “ผมไม่ขอต่อสู้คดี” แต่ศาลต้องถามจนกว่านายเลอพงษ์จะยอมตอบว่า “รับสารภาพ” และสั่งลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ก่อนจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับอิสรภาพในวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ทำให้จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ความจริงว่านายเลอพงษ์กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และตำรวจใช้หลักฐานใดในการกล่าวหาว่าเขากระทำความผิด

อากงSMS หรือ นายอำพล ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 นายอำพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี คดีนี้เป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ ขณะที่นายอำพลยืนยันมาตลอดว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิดและต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษและไม่ให้ประกันตัว ต่อมานายอำพลจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ และยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ (ต่อมาเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังก่อนได้รับการอภัยโทษ) จนถึงวันนี้นายอำพลก็ยังไม่เคยได้โอกาสอย่างเต็มที่ในการพิสูจน์ตัวเอง

หนุ่ม เรดนนท์ หรือ นายธันย์ฐวุฒิ ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 นายธันย์ฐวุฒิต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นและถูกตัดสินจำคุก 13 ปี แม้ว่าหลักฐานในคดีของเขายังมีจุดอ่อนอยู่มาก แต่หลังยื่นอุทธรณ์ไปเกือบหนึ่งปีแล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับอิสรภาพเมื่อใด นายธันย์ฐวุฒิจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์เพื่อยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับอิสรภาพจากการอภัยโทษในเวลาต่อมา

 

2. การยอมรับว่าการแสดงออกนั้นเป็นความผิด ทำให้ไม่มีบรรทัดฐานการตีความ

บางกรณีจำเลยยอมรับว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่ถูกฟ้องจริง แล้วเลือกที่จะรับสารภาพและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด มากกว่าเลือกที่จะต่อสู้ว่าการแสดงออกของตัวเองนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติที่ควรจะได้รับการคุ้มครอง และไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกล่าวได้ว่า ไม่ต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา ตัวอย่างเช่น

สุรชัย แซ่ด่าน หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 เนื่องจากการปราศรัยในหลายพื้นที่ นายวราวุธ ฐานังกร หรือสุชาติ นาคบางไทร ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 เนื่องจากการปราศรัยที่ท้องสนามหลวง นายวันชัย แซ่ตัน ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2552 จากการแจกเอกสารแผ่นปลิว พวกเขาเลือกที่จะรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและยื่นขออภัยโทษในทันที และในปัจจุบันได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นอิสระแล้ว โดยสุรชัยได้รับอภัยโทษแบบเฉพาะราย ส่วนสุชาติและวันชัย ได้รับอภัยโทษแบบเป็นการทั่วไป

ขณะที่คดีที่เลือกต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา คือ ยอมรับว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่ถูกฟ้อง แต่เนื้อหาของสิ่งตัวเองที่แสดงออกนั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 และไม่เลือกขอพระราชทานอภัยโทษ เช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขดา ตอร์ปิโด, นางปภัสนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ (เจ๊แดง) หรือ นายเอกชัย ต่างก็ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

เมื่อคนที่เลือกต่อสู้ไม่เคยชนะ ทำให้คนอื่นๆ เลือกที่จะไม่ยืนยันต่อสู้ในประเด็นการตีความเนื้อหาและเลือกใช้ช่องทางยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้น จึงไม่ค่อยปรากฏว่ามีคดีความตามมาตรา 112 ที่ขึ้นถึงศาลฎีกา และไม่มีแนวบรรทัดฐานของศาลที่วินิจฉัยว่าเนื้อหาแบบใดที่เป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด ทำให้พื้นที่ของการตีความมาตรา 112 ก็ยังเป็นแดนสนธยาที่ไม่ว่าอะไรเฉียดใกล้ก็ถือเป็นผิดไปหมด และผลักให้การเอ่ยถึงบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดต่อไป

 

3. การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ยังต้องแลกกับอิสรภาพระดับหนึ่งที่ไม่แน่นอน

เนื่องจากคดีที่จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นคดีที่ถึงที่สุดแล้ว หมายความว่า หมดระยะเวลาที่จะยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาคำพิพากษาของศาลแล้ว ดังนั้นหลายคดีต้องรอให้กำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาสิ้นสุดลงก่อน หรือคดีที่ยื่นอุทธรณ์ไปแล้วจึงต้อง “ถอนอุทธรณ์” ก่อน จึงจะยื่นขออภัยโทษได้ซึ่งก็หมายความว่าจำเลยจะไม่มีสิทธิต่อสู้คดีด้วยช่องทางอื่นอีกต่อไปแล้ว ความหวังที่เหลืออยู่อย่างเดียวของพวกเขาก็คือรอวันที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น

ซึ่งระยะเวลาในการรอคำสั่งอภัยโทษของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน และไม่แน่นอน กว่าแต่ละคนจะได้รับอิสรภาพก็ต้องลุ้นกันตัวโก่งโดยไม่มีใครบอกได้ว่าการจะได้อิสรภาพเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง เมื่อนักโทษที่อยู่ระหว่างถูกคุมขังทิ้งหนทางอื่นที่จะต่อสู้ด้วยสิทธิตามกฎหมายของตนจนหมดแล้ว ก็เหลือแต่การรอคอยคำสั่งอภัยโทษเท่านั้นโดยไม่มีหลักประกันว่าจะได้หรือไม่ และเมื่อใด ซึ่งเป็นการผลักให้นักโทษเดินเข้าสู่ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต

สิ่งที่ปฏิบัติและเชื่อกัน คือ ระหว่างที่ขอคำสั่งอภัยโทษนั้น นักโทษต้องแสดงออกถึงความสำนึกผิด โดยการเลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง เลิกกิจกรรมรณรงค์ หรือยอมทำตัวให้เงียบเพื่อแลกกับอิสรภาพนอกห้องขังนั่นเอง โดยมีข้อสังเกตว่ายิ่งคนที่เงียบเท่าไรก็ยิ่งได้รับอิสรภาพเร็วเท่านั้น

ตัวอย่าง ในกรณีของนายวันชัย นายธันย์ฐวุฒิ และนายสุรชัย ซึ่งยื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษในไปในคราวเดียวกันแต่ได้รับอิสรภาพไม่พร้อมกัน โดยนายวันชัย ซึ่งเป็นคดีที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 นายธันย์ฐวุฒิ ซึ่งเป็นคดีที่มีคนรู้จักบ้าง ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 และนายสุรชัย ซึ่งเป็นคดีที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อสังเกตอีกว่า ไม่ว่าจะเงียบเท่าไรก็ตาม กว่าคดีจะถึงที่สุด กว่าจะยื่นขอหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษและรอคำสั่ง จนถึงวันที่ได้รับอิสรภาพจริง ก็ต้องแลกมากับการถูกจองจำเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนเสมอ เช่น กรณีนายเลอพงษ์ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 1 ปี 1 เดือน 18 วัน กรณีนายอำพล ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน 6 วัน ก่อนจะเสียชีวิต กรณีนายวันชัย ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 4 ปี 2 เดือน 1 วัน กรณีนายธันย์ฐวุฒิ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 3 ปี 3 เดือน 5 วัน (ระยะเวลานี้รวมช่วงเวลาที่ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนและในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น)

ขณะที่คดีในอดีต อย่าง กรณีนายแฮรี่ ก็ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 5 เดือน 19 วัน กรณีนายโอลิเวอร์ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 4 เดือน 6 วัน หรือกรณีของนายวีระ มุสิกพงศ์ ต้องถูกจองจำอยู่ประมาณ 1 เดือน ก่อนได้รับอิสรภาพ

กล่าวโดยสรุป การใช้ช่องทางยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ของนักโทษคดีมาตรา 112 นั้น เป็นช่องทางที่ช่วยให้นักโทษหลายคนได้รับอิสรภาพอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันช่องทางนี้ก็ต้องแลกกับการถูกจองจำเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นการจองจำที่ไม่มีหลักประกันและระยะเวลาที่แน่นอน ต้องแลกกับการยกเว้นเสรีภาพการแสดงออกของตัวเองโดยการทำตัวให้เงียบที่สุด ต้องยอมรับว่าการแสดงออกของตัวเองนั้นไม่ใช่สิทธิแต่เป็นการกระทำความผิด และยอมสละสิทธิที่จะไม่ต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงบางประการ

 

 

หมายเหตุ ประชาไทแก้ไขข้อมูลล่าสุด 19.00 น. (11 ต.ค.56)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท