จัดอันดับประเทศไอซีทีก้าวหน้า เกาหลีใต้ แชมป์สามสมัย ส่วนไทยอยู่ที่ 95

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) แถลงตัวเลขสถิติและการจัดอันดับด้านการเติบโตของ ICT ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

- ยอดผู้ใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านคน ในปี  2012
- เกาหลีใต้ครองอันดับหนึ่งในด้าน ICT เป็นปีที่สามติดต่อกัน
- ปลายปี 2013 ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเท่ากับ 40 % ของจำนวนประชากรโลก ในขณะที่อีกกว่า 1.1 พันล้านครัวเรือน หรือเทียบเท่ากับ 4.4  พันล้านคน ยังไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต
- บรอดแบนด์เคลื่อนที่ (mobile broadband) ในปัจจุบันราคาถูกกว่าบรอดแบนด์แบบพื้นฐาน
- ปัจจุบันประชากรเกือบทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่
- 30% ของคนวัยหนุ่มสาวจากทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่กับโลกดิจิตอลตั้งแต่เด็ก (digital natives)
- บรอดแบนด์มีความเร็วมากขึ้น บรอดแบนด์ที่ความเร็ว 2 Mbps เป็นแพคเกจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
- ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีการลงทุน (CAPEX) มากที่สุดในปี 2008 และลดลงหลังจากนั้น จนปัจจุบันการลงทุนด้านกิจการโทรคมนาคมยังไม่มากเท่าในปี 2008

 

(8 ต.ค. 56)  รายงานประจำปีของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เรื่อง ดัชนีชี้วัดสังคมสารสนเทศปี 2556 แสดงให้เห็นว่า การใช้บริการบรอดแบนด์ผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมีอัตราการเติบโตสูงสุดในตลาด ICT โลก

จากตัวเลขล่าสุดได้เผยให้เห็นถึงอุปสงค์ในการใช้บริการรวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  (ICT)
ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ราคาค่าบริการทั้งระบบโทรศัพท์มือถือและบรอด์แบนด์ลดลงอย่างต่อเนื่อง การใช้งานระบบ 3G  มีอัตราการเติบโตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ปลายปี 2556 จะมียอดผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ถึง 6.8 พันล้านคน ซึ่งเกือบจะเท่ากับประชากรของทั้งโลก

นอกจากนี้ มีการประมาณการณ์ว่าจะมียอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกถึง 2.7 พันล้านคน ถึงความเร็วและอัตราค่าบริการในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อเทียบกันระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกันและระหว่างภูมิภาค

การเชื่อมต่อเครือข่าย 3G และ 3G+ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 40% ซึ่งเท่ากับจำนวนผู้ใช้งานในระบบบรอดแบนด์เคลื่อนที่ถึง 2.1 พันล้านคน หรือเท่ากับอัตราการเข้าถึงทั่วโลก (global penetration rate) ที่ 30%  ปัจจุบันเครือข่าย 3G ได้ครอบคลุมผู้ใช้บริการจำนวนถึงเกือบ 50% จากประชากรทั่วโลก

อันดับประเทศต่างๆ ด้านการพัฒนา ICT
ข้อมูลล่าสุดจากรายงานฉบับปี  2556 หัวข้อเรื่อง ดัชนีชี้วัดสังคมสารสนเทศ  เผยให้เห็นว่า เกาหลีใต้เป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในด้านการพัฒนาและการเติบโตด้าน ICT โดยรวม เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ตามมาด้วย สวีเดน ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ค ฟินแลนด์ และนอร์เวย์

ประเทศเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ลักเซมเบิร์ก และฮ่องกง (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ก็อยู่ในสิบอันดับแรก โดยสหราชอาณาจักรขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มสิบอันดับแรก จากอันดับที่ 11 ในปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 95 จากเดิม 94

ดัชนีการเติบโตด้าน ICT (ICT Development Index หรือ IDI) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้จัดอันดับกลุ่มประเทศทั้งหมดจำนวน 157 ประเทศ โดยวัดระดับความสามารถในสามด้าน คือ ด้านการเข้าถึง (access index) การใช้งาน (use index) และทักษะผู้ใช้ (skills index) และเปรียบเทียบคะแนนระหว่างปี 2554 และปี 2555 ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากภาครัฐ หน่วยงานสหประชาชาติ และภาคอุตสาหกรรม ว่ามีความน่าเชื่อถือและถูกต้องในการวัดความเติบโตด้าน ICT ของประเทศ

ประเทศที่มีการเติบโตสูง และความท้าทายของการเชื่อมต่อ
30 อันดับแรกของ IDI คือประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (high-income countries) แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างรายได้และการเติบโตด้าน ICT

ค่า IDI เฉลี่ยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีความแตกต่างอย่างมากกับค่า IDI เฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยต่างกันถึงสองเท่า

กลุ่มประเทศที่มีการไต่อันดับสูงสุด (most dynamic countries) โดยมีอันดับ IDI สูงขึ้นมากที่สุดจากปีที่ผ่านมา ได้แก่
(เรียงตามลำดับจากประเทศที่มีการไต่อันดับสูงสุด) สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์เลบานอน บาร์เบโดส เซเชลล์ เบลารุส
คอสต้า ริก้า  มองโกเลีย แซมเบีย ออสเตรเลีย บังคลาเทศ โอมาน และซิมบับเว  

กลุ่มประเทศที่มีการไต่อันดับต่ำสุด (LCCs), ปลายปี 2555
 

รายงานฉบับนี้ยังแสดงกลุ่มประเทศที่มีอันดับ IDI ต่ำสุดหรือที่เรียกว่ากลุ่มประเทศที่มีการเชื่อมต่อต่ำสุด (Least Connected Countries – LCCs.) กลุ่มประเทศเหล่านี้มีประชากรรวมกันมากถึง 2.4 พันล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสามของจำนวนประชากรของโลก อย่างไรก็ตามประเทศในกลุ่มนี้สามารถได้รับประโยชน์อย่างมาก หากมีการพัฒนาให้มีการเข้าถึงและการใช้ ICT ที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในด้านของสุขภาพ การศึกษาและการจ้างงาน 

Dr. Hamadoun Touré เลขาธิการของ ITU กล่าวว่า ตัวเลข IDI ในรายงานปีนี้แสดงให้เห็นทิศทางที่ดีขึ้นว่าภาครัฐให้ความสำคัญด้าน ICT ว่าเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างไรก็ตามความท้าทายยังมีอยู่ในหลายๆ ประเทศที่ยังไม่สามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก ICT ได้โดยเฉพาะการจัดให้มีการเข้าถึง ICT 

ราคาค่าบริการบรอดแบนด์และความสามารถในการบริโภค
ผลการวิเคราะห์แนวโน้มในด้านราคาของการให้บริการบรอดแบรนด์ ใน160 กว่าประเทศ เผยให้เห็นว่า ในช่วงระหว่าง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 – 2555  ราคาค่าบริการบรอดแบรนด์แบบพื้นฐาน (fixed-broadband prices) ได้ลดต่ำลงถึง 82% จากที่มีราคาอยู่ที่ 115.1% ของค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรในประเทศต่อหัวต่อเดือน (average monthly income per capita, GNI p.c.) ในปี 2551 มาอยู่ที่ 22.1% ในปี 2555 (แผนภูมิที่ 2)

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีการลดลงของค่าบริการบรอดแบรนด์แบบพื้นฐานมากที่สุด โดยลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละประมาณ 30% ต่อปี ในระหว่างปี 2551 – 2554

ค่าเฉลี่ยราคาต่อหน่วยความเร็ว (Mbps) ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงปี2551 – 2555 โดยในปี 2555 มีราคาค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่US$ 19.50 per Mbps ซึ่งเกือบจะเท่ากับ1ใน 4ของราคาค่าบริการในปี2551

รายงานฉบับนี้ยังเสนอผลการเก็บข้อมูลด้านราคา โดยเก็บข้อมูลของบริการบรอดแบนด์แบบเคลื่อนที่ใน 4 ประเภทบริการ ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ความสามารถในการบริภาคด้านราคาของบริการบรอดแบนด์แบบเคลื่อนที่ มีมากกว่าบริการบรอดแบรนด์แบบพื้นฐาน แต่ยังน้อยว่าความสามารถในการบริภาคด้านราคาในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ประเทศออสเตรียเป็นประเทศที่ประชากรมีความสามารถในการบริโภคด้านราคาของบริการบรอดแบนด์แบบเคลื่อนที่มากที่สุด ในขณะที่ความสามารถในการบริโภคด้านราคาในประเทศ ประเทศเซาตูเมและปรินซิปี ‎(Sao Tomé and Principe) ประเทศซิมบับเว และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีน้อยที่สุด โดยราคาค่าบริการสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรในประเทศต่อหัวต่อเดือน ประเทศอื่นๆ ที่มีความสามารถในการบริโภคด้านราคาในเกณฑ์ค่อนข้างสูงรวมถึง กาตาร์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี คูเวต และฝรั่งเศส

ITU/UNESCO Broadband Commission for Digital Developmentได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2558 ราคาเฉลี่ยทั้งโลกของบริการบรอดแบนด์เริ่มต้นจะต้องน้อยกว่า 5% ของค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรต่อหัวต่อเดือน

‘ผู้ที่อยู่ในโลกดิจิตอล’  (Digital natives)
รูปแบบใหม่ในการเก็บสถิติที่ถูกพัฒนาโดย  ITU ที่ปรากฏอยู่ในรายงานของปีนี้ได้ประเมินจำนวน ‘ผู้ที่อยู่ในโลกดิจิตอล’หรือ ดิจิตอล เนทีฟ จากทั่วโลกว่ามีถึงประมาณ 363ล้านคนจากยอดประชากรทั่วโลกประมาณ 7 พันล้านคน ซึ่งเท่ากับ 5.2%ของประชากรทั่วโลก (แผนภาพที่ 3) และเท่ากับ 30%ของประชากรวัยหนุ่มสาวจากทั่วโลก (แผนภูมิที่ 4) รูปแบบสถิติใหม่นี้นิยาม ‘ดิจิตอล เนทีฟ’ ว่าคือกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ช่วงอายุระหว่าง 15 – 24 ปี ที่มีประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างต่ำ 5 ปีหรือมากกว่า

จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นคนรุ่นใหม่กว่า 145 ล้านคน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว 86.3 % จัดว่าเป็น ‘ผู้ดิจิตอล เนทีฟ’ เปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาที่มีจำนวน ‘ดิจิตอล เนทีฟ’ น้อยว่า 50% ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นคนรุ่นใหม่

Mr. Brahima Sanou ผู้อำนวยการใหญ่ของ สำนักพัฒนาโทรคมนาคม (Telecommunication Development Bureau) ของ ITU กล่าวว่า คนรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นในการใช้งาน ICTอย่างมากและเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนทิศทางของการพัฒนาด้าน ICT ดังนั้นเราต้องรับฟังเสียงของพวกเขา

 

ช่องว่างทางดิจิตอล
ต้นปี 2556 เกือบ 80% ของครัวเรือนทั่วโลกมีทีวี เทียบกับ 41% ของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ และ 37% ของครัวเรือนที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

จำนวนครัวเรือนที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดียังมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างจำนวนครัวเรือนที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตครัวเรือนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 80% ในขณะที่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่เพียง 28%

ประมาณว่า 1.1 พันล้านครัวเรือนทั่วโลกยังไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่ง 90% ของจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

แต่ถึงอย่างไร อัตราการเติบโตของจำนวนครัวเรือนที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นจากที่เติบโตปีละ 12% ในปี 2551 มาเป็นเติบโตปีละ 28% ในปี 2556

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ถือว่ามีการเติบโตเป็นอัตราเลขสองหลักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ของประชากรที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศที่พัฒนาแล้วอาจมียอดถึง 77% ในปลายปี 2556 ในขณะประเทศที่กำลังพัฒนา มียอดอยู่ที่ 31%
 

การลงทุนด้านโทรคมนาคม
ผลวิจัยของ ITU ชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ของผู้ประกอบการทางโทรคมนาคมได้พุ่งขึ้นสูงสุดในปี 2551
ด้วยการลงทุนทั่วโลกมีจำนวนรวมถึง 290 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยยอดการลงทุนลดลงอย่างต่อเนื่องในสองปีต่อมา และถึงแม้ว่าการลงทุนในกิจการด้านโทรคมนาคมจะกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2554 แต่ยังไม่มากเท่ากับยอดการลงทุนในปี 2551

การลดลงของยอดการลงทุนในกิจการด้านโทรคมนาคมหลังปี 2551 สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป ซึ่งการเข้าถึงตลาดทุนมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น

 

 
การลงทุนรายปี (CAPEX) ของผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม, จากทั่วโลกและจากระดับของอัตรา
การเติบโตปี 2550 – 2554, สกุลเงิน ดอลลาร์สหรัฐ
 

หมายเหตุ:

บทสรุปผู้บริหารของรายงาน ดัชนีชี้วัดสังคมสารสนเทศปี  2556 สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.itu.int/go/mis2013

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท