Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ “ประสาน สุกใส” เจ้าของหนังสื่อพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ประเด็นเปิดหน้าภาษามลายู เพื่อเพิ่มพื้นที่สื่อสารของมุสลิมชายแดนใต้ และเพิ่มช่องทางกระบวนการสันติภาพ

สัมภาษณ์ ประสาน สุกใส กรรมการผู้จัดการบริษัท ภาคใต้โฟกัส จำกัด เจ้าของหนังสื่อพิมพ์ภาคใต้โฟกัสรายสัปดาห์ หรือหนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้เดิม หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อดังของภาคใต้ มีฐานที่ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในประเด็นการเพิ่มหน้าภาษามลายูและบทบาทการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับความพยายามเป็นพื้นที่ความคิดเพื่อเพิ่มช่องทางหนึ่งในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและแก้ปัญหาความขัดแย้งทีใช้ความรุนแรง ณ ชายแดนใต้

ประสาน สุกใส กรรมการผู้จัดการบริษัท ภาคใต้โฟกัส จำกัด

เพราะไม่มีสื่อตัวแทนมลายูมุสลิม

“หนังสื่อพิมพ์ภาคใต้โฟกัสรายสัปดาห์ เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของภาคใต้ ปัจจุบันได้เพิ่มหน้าภาคภาษามลายูจำนวน 8 หน้า โดยใช้ชื่อภาคนี้ว่า ‘Fokus Rumi’ แทรกในหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ได้ตีพิมพ์มาแล้ว 16 ฉบับ โดยจะนำมาเป็นปกหน้าของหนังสือพิมพ์เมื่อวางแผงขายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“แนวความคิดนี้ เริ่มจากทีมงานตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ทำสื่อมุสลิมเพื่อพี่น้องมุสลิมบ้าง สื่อที่เป็นภาษาของเขาเอง สื่อที่มีความเป็นอิสระ สามารถนำเสนอข่าวที่เป็นตัวแทนชาวบ้าน

“เราสังเกตว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทบไม่มีหนังสือพิมพ์ที่เป็นตัวแทนของคนมุสลิม ขณะที่หนังสือพิมพ์มุสลิมในระดับชาติที่เรารู้จัก ก็เป็นหนังสือพิมพ์ที่ยึดโยงอยู่กับกลุ่มการเมืองอย่างชัดเจนมาก เป็นเหตุทำให้เป็นสื่อที่ไม่มีอิสระทางความคิด

“ก่อนหน้านี้ เคยลองทำสื่อภาษามาลายูอยู่พักหนึ่ง เนื่องจากชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่พูดภาษามลายู แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างเลยต้องหยุดไป

“ด้วยเป้าหมายของเราเอง เราเป็นสื่ออาชีพ เรามีความเป็นสื่อที่เป็นอิสระ พร้อมเคียงข้างประชาชนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราเลยอยากทำหนังสือที่เป็นตัวแทนของคนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยแท้จริง จึงได้ปรึกษากับอาจารย์มันโซร์ สาและ จากมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และ อาจารย์สุโกร ดินอะ จากโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลาว่า เราน่าจะมาจับมือกันอีกสักที
“ประกอบกับในสำนักงานมีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนี้ จึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้กันมาระยะหนึ่ง จนได้ข้อสรุป คือการตัดสินใจทำหนังสือพิมพ์ภาษามลายูอักษรรูมี จากนั้นได้มีการนัดคุยรายละเอียดจนออกมาเป็นหนังสือพิมพ์”

ฉบับปฐมฤกษ์เดือนรอมฎอน

“ฉบับแรกวางตลาดในช่วงเดือนรอมฎอน ที่ผ่านมา โดยมีการลงนามความร่วมมือกัน 3 ฝ่าย คือ 1.หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส 2.อาจารย์สุโกร ดินอะ ในฐานะเจ้าของศูนย์ภาษามลายู ทั้งตัวอักษรรูมีและยาวี และ 3.อาจารย์มันโซร์ สาและ ในฐานะมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้

“ในกระบวนการผลิตทั้งหมดทางหนังสื่อพิมพ์ภาคใต้โฟกัสรับผิดชอบ รวมทั้งต้นทุนการผลิต ส่วนเนื้อหามีการประสานงานทั้ง 3 ฝ่าย โดยต้องเป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และต้องถูกต้องแม่นยำ ไม่เสี่ยงต่อการจะถูกนำไปสู่การถูกฟ้อง เพราะผมเองในฐานะเจ้าของหนังสือพิมพ์อ่านภาษามลายูไม่ได้

“ในการเลือกประเด็นข่าวมานำเสนอนั้น ทางอาจารย์มันโซร์กับอาจาร์สุโกรจะร่วมวางแผนกัน โดยอาจารย์มันโซร์รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการข่าว ส่วนอาจารย์สุโกรเป็นบรรณาธิการบทความ

“อาจารย์สุโกรจะประสานงานกับนักเขียน นักเขียนบทความต่างๆ มีการดึงอาจารย์ชินทาโร่ ฮาร่า จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษามาลายูมาเป็นนักเขียนประจำ ดึงผศ.ดร.วรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากจังหวัดปัตตานีมาเป็นนักเขียนประจำ

“ส่วนการทำข่าว เราให้นักข่าวของเราที่รับผิดชอบข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงไปทำข่าว โดยให้อาจารย์มันโซร์ สาและ แปลจากข่าวภาษาไทยเป็นภาษามลายูอีกที ข่าวภาษามลายูบางส่วนดึงมาจากเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ นอกจากนั้นยังได้ติดตามข่าวจากประเทศมาเลเซียด้วย

“อีกส่วนหนึ่งอาจารย์สุโกรได้จัดทำคอลัมน์สนทนาภาษามลายูพร้อมคำแปล เพื่อให้คนที่ไม่พื้นฐานหรือความรู้เรื่องนี้ได้อ่านและได้เรียนรู้ไปด้วย”

เปิดพื้นที่เรียนรู้ทางด้านภาษา

“เป้าหมายของหนังสือฉบับนี้คือการนำเสนอข่าวสารที่เป็นตัวแทนของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นการเรียนรู้ภาษาด้วย สำหรับคนที่อ่านภาษามลายูไม่ได้ ส่วนคนที่อ่านได้อยู่แล้วก็จะได้เรียนรู้ไปด้วย

“เพราะฉะนั้น ในหน้าข่าวภาษามลายูจะมีการเขียนคำอธิบายในวงเล็บเป็นภาษาไทยไว้ใต้ข่าวด้วย เพื่อเป็นการสื่อสาร 2 ทางทั้งจากคนที่อ่านออกเขียนได้และคนที่สนใจแต่อ่านภาษามลายูไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ได้อ่านคำอธิบายภาษาไทย

“หลังจากเปิดพื้นที่สื่อภาษามลายูแล้ว เราคุยกันว่าอาจจะมีเวทีเสวนาเสริมด้วย แต่ยังไม่ได้เริ่ม แต่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้ว

“เนื้อหาข่าวส่วนหนึ่งมาจากการร่วมเวทีต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งทั้งอาจารย์สุโกร และ อาจารย์มันโซร์ทำงานเชิงประชาสังคมในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งพยายามทำสื่อในพื้นที่อยู่แล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนจึงทำให้ยังไม่สามารถทำสื่อได้อย่างต่อเนื่อง
“ในขณะที่หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัสมีต้นทุนสำหรับผลิตหน้าภาษามลายูอยู่ที่สัปดาห์ละ 12,000 บาทหรือต่อฉบับ ซึ่งคิดว่ายังไม่เป็นภาระมากจนเกินไป เราเชื่อว่าในอนาคตมันอาจจะเดินไปในทางธุรกิจโฆษณามารองรับได้”

เป้าหมายคือสื่อของอาเซียน

“เป้าหมายของเราในระยะยาว คือการแยกไปเป็นหนังสือพิมพ์อีกเล่มได้เลย เป็นหนังสือพิมพ์เฉพาะของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และฝันว่าจะสามารถขายเข้าไปในประเทศมาเลเซียได้หรือไม่ หากเกิดขึ้นได้จริงก็จะเป็นหนังสือพิมพ์ที่รองรับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้เลย

“นั่นคือเรามองในระยะไกล เราเดินในทิศทางของเรา ไม่ได้เป็นหนังสือขององค์กรใดๆ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐหรือภาคอื่นๆ แต่อย่างใด เพราะเราต้องการความอิสรภาพ พี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อ่านแล้วเชื่อมั่นได้เลยว่า นี่ไม่ใช่กระบอกเสียงของใคร ไม่ใช่เครื่องมือของใคร แต่เป็นสื่อที่เป็นเวทีให้กับทุกฝ่าย

“เรานำเสนอข่าวของรัฐก็ได้ ข่าวประชาสังคมก็ได้ ข่าวชาวบ้านก็ได้ทั้งหมด ที่สำคัญคือเป็นเวทีให้นักคิดนักเขียน นักวิชาการในพื้นที่ เพราะคนเหล่านี้สามารถนำความรู้ของเขามาชี้นำสังคมในทิศทางที่ถูกต้องได้ เราเป็นเวทีกลางให้ทุกกลุ่มได้”

เวทีความคิดสำหรับทุกคน

“หลังจากเพิ่มหน้าภาษามลายูไปแล้ว ผลตอบรับยังไม่ชัดเจนมาก แต่สิ่งที่เราได้อย่างชัดเจน คือเวลาเจอคนที่อ่านภาษามลายูได้หรือคนมุสลิมทั่วไปที่รู้ว่าเราทำข่าวภาษามลายู ทุกคนจะรู้สึกเป็นมิตร ทำให้เราได้ใจเขาว่า เราทำสื่อให้เขา เขามองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีหนังสือแบบนี้ด้วยและขอบคุณด้วย

“ประการต่อมา เราเริ่มเห็นว่ามีคนติดตามอ่านด้วย อีกอย่างจากการที่อาจารย์สุโกร และ อาจารย์มันโซร์ได้เข้าร่วมเวทีต่างๆ ได้พูดถึงหนังสือพิมพ์นี้ด้วย ทำให้มีข้อการเสนอจะช่วยเขียนภาษามลายูหรือช่วยดูเรื่องการเขียน ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก

“ตอนนี้ยังไม่มีใครทำหนังสือพิมพ์ภาษามลายู เราเป็นคนเริ่มต้น แต่เปิดกว้าง เป็นเวทีให้กับทุกคน ใครก็ตามสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งนี่แหละที่เป็นจุดแข็ง”

บทบาทด้าน “สื่อกับสันติภาพ”

“ส่วนบทบาทในการนำเสนอข่าวประเด็นสันติภาพนั้น มองว่า ถ้าเรามีการเรียนรู้และการสื่อสารระหว่างทุกฝ่ายแล้ว ความเข้าใจพื้นที่ก็จะดีขึ้นและมีส่วนส่งเสริมสันติภาพได้ รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และส่งเสริมการสื่อสารระหว่างกัน

“เราต้องการเปิดเวทีการสื่อสารให้กับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าเดิม นี่คือเป้าหมายของภาคใต้โฟกัส เพียงแต่เราไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีคนมาสนับสนุนมากนัก เราทำของเราเอง เพราะเราคิดว่าเราอยากทำ และเราเชื่อบทบาทของสื่อจะหนุนเสริมสันติภาพได้ รวมทั้งหนุนเสริมความสงบสุข ความเข้าใจต่างๆ ได้ด้วย”

ไม่ย่ำอยู่กับการนำเสนอความรุนแรง

“ประเด็นเรื่องสันติภาพ เราไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง แต่เรามีส่วนร่วมให้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะความคิดเห็นของภาคประชาสังคมและการเคลื่อนไหวของภาครัฐ แต่ให้น้ำหนักความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมเป็นหลัก เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ 

“จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาเราได้นำเสนอข่าวสารจากผู้นำด้านประชาสังคมอย่างค่อนข้างชัดเจนกว่า โดยต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ถ้ามีเวทีเสวนาหรือมีการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสันติภาพ เราก็จะนำมาเสนออย่างต่อเนื่อง เหมือนเป็นการสะท้อนเสียงของชาวบ้านให้มากขึ้น

“สิ่งที่เราทำต่างจากสื่อกระแสหลักที่ไม่ได้เป็นเวทีให้ชาวบ้านมากนัก ส่วนมากมุ่งนำเสนอเหตุการณ์หรือจำนวนคดี แต่เราไม่ได้มุ่งตรงนั้น เรามุ่งเสนอกระบวนการทางความคิด กิจกรรมความเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ไม่นำเสนอข่าวอาชญากรรม”

ทุกความคิดคือหนทางสู่สันติภาพ

“เราเปิดเวทีความคิด เพราะต้องการมุมมองความคิดที่จะเดินไปสู่สันติภาพมากกว่า ไม่ได้ย่ำอยู่กับเหตุการณ์รุนแรงเหมือนสื่อกระแสหลัก นี่คือจุดต่างที่ชัดเจน

“เรามองข้ามตรงนั้นไปเลยเพราะเราเชื่อว่า การย่ำอยู่ตรงนั้นไม่ได้ช่วยให้สันติภาพเกิดขึ้นแน่นอน มีแต่ซ้ำเติม เป็นการตอกลิ่มความขัดแย้งให้หนักเข้าไปอีก แต่สื่อของเราให้เนื้อหาและให้แง่คิด

“ณ วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่ออะไรก็แล้วแต่ เชื่อว่ากระบวนการข่าวเป็นกระบวนการที่ให้คนรากหญ้าหรือตัวแทนชาวบ้านได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ให้รัฐต้องนั่งฟัง แล้วก็ไม่ปิดหูปิดตา

“เมื่อใดที่สื่อไปยืนอยู่กับอำนาจ สื่อก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่ถ้าสื่อมีจุดยืนชัดเจนว่าอยู่ข้างประชาชนส่วนใหญ่ เป็นเวทีให้คนส่วนใหญ่แล้วสถานการณ์ก็จะดีขึ้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net