Skip to main content
sharethis

หญิงเยาวชนชาวปากีสถานผู้เคยถูกกลุ่มตาลีบันยิง ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว BBC เล่าถึงวันที่เกิดเหตุการณ์ ความปรารถนาที่จะทำให้ทุกคนได้รับการศึกษา และเสนอว่าควรใช้วิธีการเจรจากับกลุ่มตาลีบันเพื่อแก้ปัญหาและนำมาซึ่งสันติ

 
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2013 สำนักข่าว BBC ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์มาลาลา ยูซาฟไซ เยาวชนชาวปากีสถานผู้ที่เคยถูกกลุ่มตาลีบันยิงเข้าที่ศีรษะจากการที่เธอเข้าร่วมเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษาแก่สตรีในช่วงเดือน ต.ค. 2012 จนข่าวนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ก่อนที่เธอจะได้รับการรักษาในอังกฤษและตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเบอร์มิ่งแฮม
 
ในบทสัมภาษณ์ของ BBC ซึ่งถือเป็นบทสัมภาษณ์แบบลงรายละเอียดครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เธอถูกยิง มาลาลาเสนอว่าควรมีการเจรจาหารือกับกลุ่มตาลีบันเพื่อเป็นหนทางไปสู่สันติภาพ
 
"วิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาและต่อต้านสงครามคือการใช้วิธีการเจรจา" มาลาลากล่าว "เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และเป็นหน้าที่ของอเมริกา"
 
ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมามีแผนการเจรจากับกลุ่มตาลีบันโดยจัดเวทีในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ แต่ทางการสหรัฐฯ และอัฟกานิสถานก็รู้สึกไม่พอใจกับการที่กลุ่มตาลีบันได้เปิดสำนักงานในกรุงโดฮา และต่อมามีการถอนสำนักงานซึ่งตั้งขึ้นเพียงไม่นานทำให้ไม่สามารถดำเนินการเจรจาต่อได้
 
มาลาลากล่าวอีกว่าฝ่ายตาลีบันควรเสนอสิ่งที่พวกเขาต้องการผ่านทางการเจรจา แทนการใข้ความรุนแรง
 
"การสังหารผู้คน ทรมานผู้คน และเฆี่ยนตีผู้คน เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลาม พวกเขากล่าวอ้างอิสลามไปใช้ในทางที่ผิด" มาลาลากล่าว
 
BBC เปิดเผยในบทสัมภาษณ์ว่าอิทธิพลของกลุ่มตาลีบันในปากีสถานเพิ่มมากขึ้นจากการแพร่กระจายของแนวคิดต่อต้านชาติตะวันตกหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 และการบุกโจมตีอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ ในปี 2007 มีกลุ่มอนุรักษ์นิยมเคร่งศาสนาพื้นที่หุบเขาประกาศว่าจะมีการลงโทษผู้ที่เบี่ยงเบนออกจากวิถีทางมุสลิมดั้งเดิม และในปี 2008 ผู้นำกลุ่มตาลีบันในพื้นที่ได้ประกาศให้ผู้หญิงทุกคนเลิกเข้ารับการศึกษา
 
เป็นครั้งแรกที่มาลาลาได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่เธอถูกยิง เธอบอกว่าในวันนั้น ถนนที่รถโรงเรียนแล่นผ่านเป็นประจำดูเงียบผิดปกติ ต่อมารถที่เธอโดยสารก็ถูกคนโบกธงให้หยุด มีชายสองคนที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อนถามหาชื่อมาลาลา แต่อีกไม่กี่วินาทีถัดมาก็มีเสียงปืนดังขึ้นและเด็กที่นั่งข้างมาลาลาเห็นว่ามีเลือดไหลจากศีรษะของมาลาลา นอกจากนี้ยังมีเด็กหญิงอีก 4 คนโดนลูกหลงได้รับบาดเจ็บในวันนั้น
 
"ปกติแล้วจะมีผู้คนมากมายรวมถึงพวกเด็กผู้ชาย พวกเขาจะยืนอยู่หน้าร้านขายของ แต่ในวันนั้นไม่มีใครเลย" มาลาลากล่าว
 
กอร์ดอน บราวน์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านการศึกษาโลกกล่าวว่า กรณีของมาลาลาทำให้ผู้คนเข้าใจว่ามีอะไรบางอย่างผิดไปและควรจะต้องทำให้ถูกต้อง
 
มาลาลาบอกว่าเธออยากกลับไปที่ประเทศบ้านเกิดแลเปานนักการเมืองเพื่อเปลี่ยนอนาคตของประเทศโดยทำให้การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ
 
อย่างไรก็ตาม ในบทสัมภาษณ์ของ BBC กล่าวว่าการที่เธอเป็นที่สนใจอย่างมากโดยเฉพาะในโลกตะวันตก ทำให้การกลับประเทศอาจสร้างความยากลำบากต่อมาลาลาในด้านความคิดเห็นของคนในพื้นที่ กับเรื่องอันตรายที่เธอต้องเผชิญ เนื่องจากเธออาจถูกมองว่ากลายเป็นพวกเดียวกับชาติตะวันตก แต่สำหรับมาลาลาแล้วเธอบอกว่าเธอยอมรับคำวิจารณ์ได้เพราะทุกคนมีสิทธิในการเปิดเผยความรู้สึก และเรื่องการศึกษาสำหรับเธอแล้วไม่มีการแบ่งแยกพรมแดนเป็น 'โลกตะวันตก' หรือ 'โลกตะวันออก'
 
"ฉันหวังว่าวันนั้นจะมาถึง วันที่ประชาชนชาวปากีสถานเป็นอิสระ พวกเขาจะได้รับสิทธิต่างๆ สันติภาพจะบังเกิด และทั้งเด็กหญิงและเด็กชายทุกคนจะได้ไปโรงเรียน" มาลาลากล่าว
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Malala: We must talk to the Taliban to get peace, BBC, 06-10-2013
 
Malala: The girl who was shot for going to school, Mishal Husain, BBC, 06-10-2013

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net