หลัง 14 ตุลา: ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิจารณ์ธิกานต์ ศรีนารา และอุเชนทร์ เชียงเสน

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมาในการจัดสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น ในช่วงเช้าตามที่ประชาไทนำเสนอการอภิปรายของ ธิกานต์ ศรีนารา หัวข้อ การหันเข้าไปหาความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของปัญญาชนฝ่ายค้านไทยภายหลังความตกต่ำของ พคท. ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2524-2534 (ชมวิดีโอ) และ อุเชนทร์ เชียงเสน หัวข้อ  "ประวัติศาสตร์ "การเมืองภาคประชาชน": ความคิดและปฏิบัติการของ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ในปัจจุบัน" (ชมวิดีโอ) (อ่านข่าวย้อนหลัง)

การวิจารณ์การนำเสนอของธิกานต์ ศรีนารา และอุเชนทร์ เชียงเสน โดยธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในการสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" เมื่อ 5 ต.ค. 2556

 

หลังการนำเสนอดังกล่าว ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้วิจารณ์หลักได้วิจารณ์การนำเสนอว่า งานของธิกานต์ ทำให้เห็นแนวคิดฝ่ายซ้ายว่าจบลงที่แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมได้อย่างไร หากตอบในแง่ประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ไม่แปลก เป็นไปได้และเกิดแทบทุกที่ เพราะความคิดปฏิวัติไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นปฏิกริยาต่อความคิดก่อนหน้าที่ครอบงำอยู่และคนเริ่มตระหนักถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผล ความคิดปฏิวัติเกิดเฉพาะในยุโรปช่วงหลังยุคเรเนอซองส์ ศตวรรษที่ 14-15 แต่ในโลกตะวันออกไม่มีประวัติศาสตร์นี้ นี่เป็นเหตุว่าทำไมฝ่ายซ้ายเลื่อน ลด ไถล ออกจากความคิดก้าวหน้าได้ นั่นเพราะไม่มีกิ่งก้านหรือรากอันใหม่ทางความคิดมากเท่าในตะวันตก รากอันเดียวที่มีอยู่คือ ศาสนา ซึ่งมีความคิดรวบยอดและมีลักษณะทั่วไปสูงที่สุด พุทธเถรวาทยังผสานกับรัฐไทยแล้วสร้างเหตุผลอธิบายชีวิตปัจจุบันที่ปฏิเสธยาก

ธเนศ ได้กล่าวถึงการนำเสนอของอุเชนทร์ต่อเนื่องไปด้วยว่า ส่วนกระบวนการต่อสู้ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับยุค พคท. จะเห็นว่า กลุ่มเคลื่อนไหวรุ่นหลังไม่มีการกำหนด “เป้าหมาย” ของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่รุ่นเก่าจะกำหนดให้ชัดเจนว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงคืออะไรก่อน แล้วเครื่องมือ วิธีการต่างๆ จึงตามมา แต่รุ่นหลังไม่เอาทฤษฎีแบบ พคท. ชี้นำ มีทฤษฎีการนำแต่การต่อสู้แบบยืดหยุ่น

ส่วนคำถามว่า พวกไม่นิยมเจ้ามาร่วมกับพันธมิตรได้อย่างไร หากจะตอบก็จะตอบว่า เพราะมันไปโยงกับเป้าหมายของการเคลื่อนไหว ในเมื่อกระบวนการรุ่นหลังไม่ได้มีเป้าหมายการปฏิวัติหรือเปลี่ยนโครงสร้างแบบพคท. ก็ไม่มีความจำเป็นต้องโยงกับศักดินา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทางโครงสร้างในวิธีคิดแบบเก่า ในขณะที่การวิจารณ์ทุนนิยมยังใช้ได้ และใช้ได้มากเพราะทุนนิยขยายใหญ่ขึ้นมาก วิจารณ์อะไรไม่ได้ก็วิจารณ์ทุนนิยมไว้ก่อน แล้วสื่อก็จะรับกับประเด็นนี้

วาทกรรมเรื่องประชาธิปไตยคือเครื่องมือของรัฐและทุนเป็นสิ่งที่ถูกตลอด อย่างไรก็ตาม ตรรกะอันนี้วาดภาพของปีศาจที่น่ากลัวกว่าเดิมที่โอบล้อมประชาธิปไตย ทำให้ต้นประชาธิปไตยกลายเป็นผลไม้พิษ นับเป็นการตอกฝาโลงให้กับการยอมรับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ในช่วงแลกเปลี่ยนโดยผู้ร่วมการสัมมนา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวด้วยว่า ที่อุเชนทร์นำเสนอว่า บางส่วนในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่พวกเชียร์สถาบัน แต่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การเชียร์ แต่อยู่ที่การไม่รับรู้ ไม่ตระหนักถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ของเหล่าปัญญาชนไทย ซึ่งสองอย่างนี้ต่างกัน และปัญหาของสถาบันก็ยังอยู่กับเราจนปัจจุบันซึ่งจะว่าไปก็เป็นช่วงสำคัญที่สุด เพราะจะมีการเปลี่ยนผ่านในไม่นานนี้ และน่าสนใจว่า ขณะที่นักวิชาการเงียบ แล้วชาวบ้านตื่นตัวมากในช่วงปี 2551 - 2554 มาถึงวันนี้เมื่อทักษิณอิงกับกระแสเปลี่ยนรัชกาลเต็มที่ มวลชนส่วนใหญ่ซึ่งสนับสนุนทักษิณและเคยตื่นตัวกับการวิพากษ์วิจารณ์จะตีกลับเป็นกระแสปกป้องสถาบันอย่างสูงหรือไม่

สำหรับการสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท