เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: คำถามทำไมคนเดือนตุลาเปลี่ยนไป และใครคือชายขอบของคนตุลา

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เสนอคำถามคนตุลาเปลี่ยนหรือเราเข้าใจผิดเอง Tyrell Haberkorn เสนอประวัติศาสตร์คนชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา วิจารณ์โดยประจักษ์ ก้องกีรติ

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็น ‘คนเดือนตุลา’ 

คำถามหลักของงานชิ้นนี้เริ่มต้นจาก คำถามยอดฮิตของคนในยุคสมัยความขัดแย้งเหลืองแดงที่ว่า “ทำไมคนเดือนตุลาฯ จึงเปลี่ยนไป” จากที่คนเดือนตุลาซึ่งเป็นแรงบันดาลใจทางการเมือง กลับกลายมาอยู่ในขั้วตรงข้ามทางการเมือง ภาพคนเดือนตุลาที่มีความเป็นกลุ่มก้อน เป็นฝ่ายก้าวหน้า เป็นฝ่ายซ้าย เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นนักต่อสู้กับเผด็จการเพื่อความเป็นธรรมของสังคม กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความแตกแยก แบ่งขั้ว มีความขัดแย้งแตกต่างจากภาพที่เคยเห็นในอดีต

งานศึกษาชิ้นนี้พยายามก้าวข้ามการอธิบายแบบง่ายๆ ว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์และความไร้เดียงสาทางการเมือง โดยพยายามนำเสนอคำอธิบายที่หลากหลาย

เมื่อถามว่า “ทำไมคนเดือนตุลาฯ จึงเปลี่ยนไป” คำอธิบายตั้งต้น คือ จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้เปลี่ยน แต่พวกเราต่างหากที่เข้าใจผิดว่าพวกเขาเปลี่ยน ทั้งที่ความจริงพวกเขาเหมือนเดิม คือมีความหลากหลาย เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และขัดแย้งกันมาตลอดทั้งด้านความคิดและกระบวนการในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เราเข้าใจผิดไปตามภาพกระแสภายหลัง ในการรับรู้ของคนวงกว้างที่ถูกสร้างขึ้น เมื่อความจริงปรากฏขึ้นเราจึงคิดว่าเขาเปลี่ยน คำถามสำคัญของงานศึกษานี้คือ เราไปเข้าใจว่าเขาเปลี่ยนได้อย่างไร กระบวนการที่ทำให้เราเข้าใจอย่างนั้นคืออะไร

ในความเป็นจริง ภาพการปรากฏตัวของคนเดือนตุลาคมที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือ ‘ประวัติศาสตร์เดือนตุลาฉบับประชาธิปไตย’ นั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เพิ่งลงหลักปักฐานในทศวรรษที่ 30 ความจริงในช่วงต้นที่พวกเขาออกมาจากป่าเมื่อทศวรรษ 2520 คนเหล่านี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการวมตัวกัน การรวมตัวในช่วงแรกเป็นลักษณะแบ่งแยก ไม่มีเป้าหมายทางการเมืองชัดเจน เน้นการรักษาและสานต่อเครือข่ายเพื่อนเก่า มีลักษณะเป็นการชุมนุมศิษย์เก่าเพื่อเยียวยา รักษาบาดแผลทางการเมือง ภาพในความรับรู้ของสังคมช่วงนั้นคือการเป็น ‘ฝ่ายซ้ายผู้พ่ายแพ้’

สาเหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จในการวมตัว คือ 1.บรรยากาศทางการเมืองไม่เป็นมิตร อยู่ในช่วงการล่มสลายของ พคท.ใหม่ๆ ถูกจับตาโดยรัฐ จึงกลายเป็นอุปสรรค์ในการสานต่อกิจกรรมทางการเมือง 2.ปัญหาโครงสร้างและเครือข่ายของกลุ่มนักศึกษาในยุค 70-80 ซึ่งหลวมและกระจายอำนาจ 3.ความขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายซ้ายด้วยกันเอง ที่เริ่มตั้งแต่ช่วง 14 ตุลา มาจนออกจากป่า ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปถึงปัญหาในอดีตและทิศทางในอนาคตร่วมกันได้

มาถึงปีทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ.2533-2542) คนเดือนตุลาค่อยๆ ประสบความสำเร็จในกลับการมารวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทางการเมือง รื้อฟื้นความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์การเมืองในยุค 1970 (2513-2522) และประสบความสำเร็จในการสร้างการยอมรับจากสาธารณะ พวกเขาไม่ได้อยู่ในฐานะ ‘ฝ่ายซ้ายผู้พ่ายแพ้’ แต่กลายเป็น ‘คนเดือนตุลา วีระบุรุษประชาธิปไตย แห่งทศวรรษที่ 1970 งานเฉลิมฉลอง 14 ตุลา และ 6 ตุลา กลายเป็นงานเฉลิมฉลองประชาธิปไตยระดับชาติ

เนื่องมาจากเงื่อนไข คือ 1.บริบททางการเมืองเปลี่ยน สิ้นสุดยุคสงครามเย็น มีการล่มสลายของ พคท.ทำให้รัฐบาลเลิกมองนิสิตนักศึกษาในฐานะภัยคุกคามทางการเมือง มีการเปิดเสรีทางการเมือง จากประชาธิปไตยครึ่งใบสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ ชนชั้นกลางประสบความสำเร็จในการต่อต้านการกลับมาของระบอบทหารในยุคพฤษภาทมิฬ มีการเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม การปฏิรูปการเมือง เหล่านี้ช่วยสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่กระตุ้นและเชื้อเชิญให้คนเดือนตุลากลับเข้ามามีบทบาททางการเมือง

และ 2.ความสำเร็จของคนเดือนตุลาที่ก้าวสู่สถานภาพทางการเมืองและสภานะภาพทางสังคมในรูปแบบใหม่ ในฐานะ นักวิชาการผู้มีชื่อเสียง นักการเมืองดาวรุ่ง นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และเป็นนักเขียน นักแสดง นักร้องที่มีชื่อเสียง สถานภาพใหม่นี้กลายเป็นฐานอำนาจแบบใหม่ทั้งด้านวิชาการและการสื่อสารต่อสาธารณะ

เงื่อนไขที่สร้างอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนใหม่ของคนเดือนตุลา มีกระบวนการ 3 อย่าง ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันตลอดช่วง 30 ปี และมาประสบความสำเร็จในช่วงทศวรรษ 2530 คือ 1.การนำเสนอประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ในนามของประชาธิปไตย 2.การเลือกนำเสนอภาพลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมฝ่ายซ้าย ในมุมมองที่สังคมยอมรับได้ และ 3.การสร้างความเป็นสถาบันให้กับความเป็นคนเดือนตุลาผ่านการรื้อล้างประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย

 
ความสำเร็จของการสร้างประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ฉบับใหม่
 
ความสำเร็จในการทำให้ประวัติศาสตร์ 14 ตุลากลายเป็นพียงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น เห็นได้จาก ระหว่างช่วง 2516-2519 ภาพลักษณ์ของงาน 14 ตุลาเต็มไปด้วยความขัดแย้งของคนกลุ่มต่างๆ โดยในปีที่ 2 ของการฉลอง 14 ตุลา มีการตั้งคำถามมากมายต่อความชอบธรรมของนิสิตนักศึกษา ปัญหาความชัดแย้งเชิงอุดมการณ์ การจัดการการเคลื่อนไหว ต่อมาช่วงต้นปี 2520 โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังป่าแตกใหม่ๆ งานฉลองจัดแบบเล็กๆ ระหว่างกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต กลุ่มนิสิตนักศึกษา และเพื่อนนักกิจกรรม แต่เนื้อหาที่สื่อสารต่อสาธารณะเน้นเรื่ององค์ประกอบประชาธิปไตย โดยปิดซ่อนความเป็นซ้ายและความขัดแย้งต่างๆ ในช่วง 14 ตุลาเอาไว้
 
กระทั่งงานฉลอง 20 ปี 14 ตุลา กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในทางสาธารณะ สามารถระดมคนมาเข้าร่วมได้กว่า 500 คน ทั้งอดีตคน 14 ตุลา และประสานความร่วมมือกับคนที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย และไม่ใช่คนเดือนตุลามาร่วมด้วยได้
 
โดยในกระบวนการต่างๆ มียุทธศาสตร์ 3 แนวทาง คือ 1.เชิดชูเนื้อหาความเป็นประชาธิปไตย และความสำคัญของนักศึกษาในการผลักดันในเกิดการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย มีการร่างและเผยแพร่ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฉบับประชาธิปไตยสู่สาธารณะอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง มีความพยายามในการรณรงค์เพื่อสอดแทรกเนื้อหาดังกล่าวในหลักสูตรการเรียนในโรงเรียน มีการผลักดันให้ 14 ตุลาเป็นวันประชาธิปไตยเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทางการ การสร้างอนุสาวรีย์ โดยนักประวัติศาสตร์สายเสรีนิยมอย่างชาญวิทย์ เกษตรศิริมามีบทบาทร่วมด้วย
 
2.ตีความเหตุการณ์ 14 ตุลา ให้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยพยามตอกย้ำว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของความสำเร็จของขบวนการพฤษภาทมิฬ 35 ซึ่งต่อมาก็ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการในวงกว้างว่าประชาธิปไตยไทย ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475   ความสำเร็จของพลังประชาชนในช่วง 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ
 
และ 3.ผนวกแนวคิดและกระแสเสรีนิยมกับการเฉลิมฉลองเหตุการณ์ 14 ตุลา จนภาพขบวนการนิสิตนักศึกษากลายเป็นเพียงการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ตรงนี้ประสบความสำเร็จมาก  
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนเดือนตุลาทุกคนเห็นด้วยกับแนวทางเหล่านี้ ในการลดทอนความหมายและความจริงหลายๆ อย่างของเหตุการณ์ 14 ตุลา จนกลายเป็นเพียงขบวนการประชาธิปไตย เพราะในความเป็นจริงเรื่อง 14 ตุลาเต็มไปด้วยความแตก ความขัดแย้ง และความเคลื่อนไหวที่หลากหลาย
 
 
ความสำเร็จของการสร้างประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ฉบับใหม่
 
ในขณะที่คน 14 ตุลามีประวัติศาสตร์แห่งความสำเร็จและประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย คน 6 ตุลากลับพบว่าตัวเองถูกทอดทิ้งอยู่กับบาดแผล ความเจ็บปวดของประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลว ภาพลักษณ์ของฝ่ายซ้ายสุดโต่ง ความสำเร็จในการสร้างสถานะใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ 6 ตุลา โดยลบภาพภูมิหลังความเป็นซ้าย สร้างระยะห่างระหว่างตัวเองกับ พคท.และจากประวัติศาสตร์ความเป็นเหมาอีสต์ และโยนความขัดแย้งที่เคยมีกับนักศึกษารุ่น 14 ตุลาทิ้งไป
 
นอกจากนั้น ยังประสบความสำเร็จในการนำเสนอตัวเองใหม่ภายใต้แนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยในฐานะวีระชนนิสิตนักศึกษาที่บริสุทธิ์ ซึ่งต่อสู้เพื่อผู้ด้อยโอกาส เพื่อความยุติธรรมในสังคม และปกป้องประชาธิปไตยที่ได้รับการสถาปนาโดย 14 ตุลา
 
ช่วงแรกของการสร้างประวัติศาสตร์เป็นไปด้วยความยากลำบาก และเริ่มดีขึ้นในปี 2521 เมื่อนักศึกษาถูกปล่อยตัวจากการคุมขัง และได้รับการตัดสินว่าเขาคือผู้บริสุทธิ์จากขอกล่าวหาเรื่องคอมมิวนิสต์ นับแต่นั้นการรณรงค์อย่างจริงจังก็เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการต่อต้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ การตอกย้ำการสูญเสียชีวิตของนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ การสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลา แต่พยายามไม่เน้นถึงแนวคิดและภูมิหลังความเป็นฝ่ายซ้าย    
 
ความสำเร็จลงหลักปักฐานจริงๆ ในช่วง 20 ปี 6 ตุลา ในปี 2539 แต่ความสำเร็จที่มันเป็นการต่อสู้กันของหลายกระแส ตั้งแต่กระแสที่ต้องการกีดกันประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายออกไป กระแสแนวทางสายการที่พยายามจะหมายรวมเอาทุกกลุ่มเข้ามา กระแสสายพุทธ สันติวิธี ซึ่ง เกษียร เตชะพีระ พยายามชี้ให้เห็นภาพของการต่อสู้ 3 แนวทางกว้างๆ คือ 1.แนวทางแบบกว้างและครอบคลุม ซึ่งเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ การพยายามสร้างนิยามใหม่ให้กับ 6 ตุลา ในฐานะประวัติศาสตร์ของวีระชนแนะคนที่เสียสละเพื่ออุดมคติ โดยไม่ระบุว่าอุดมคติหรืออุดมการณ์เบื้องหลังการต่อสู้คืออะไร และผ่านการต่อสู้อย่างไร
 
2.เสนอนิยาม 6 ตุลา โดยเน้นความถูกต้องของประวัติศาสตร์ ไม่สนใจว่าทุกฝ่ายจะยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งตรงข้ามกับกระแสแรก การระลึกถึง 6 ตุลาคือการเฉลิมฉลองและการจดจำนักศึกษาและนักกิจกรรมผู้ต่อสู้เพื่อขบวนการสังคมนิยม และวีระบุรุษ 6 ตุลาเท่ากับกล้าผู้ที่เสียสละชีวิตเพื่อการต่อสู้เพื่อสังคมนิยม มีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นตัวแทน ไม่ได้เป็นแนวทางเพื่อสร้างพันธมิตร แต่เพื่อสร้างความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลา ที่ถูกต้อง
 
3.กระแสแบบกลางๆ เสนอโดยเกษียรเอง โดยระบุว่าเราควรจะมองประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลาเป็นแบบฝ่ายซ้ายแบบไทยๆ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสังคมนิยมแบบไทยที่พัฒนาการผ่านการปฎิสังสรรค์และต่อสู้ในหลากหลายกระแส
 
กระแสแรกได้รับการยอมรับมากที่สุด ผลที่เกิดขึ้น คือ 1.ภาพลักษณ์ความเป็นซ้ายของคน 6 ตุลา ในบริบทประวัติศาสตร์ค่อยๆ เลือนหายไป และถูกแทนที่ด้วยสถานภาพทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่คือกระบวนการนักศึกษาผู้รักและเสียสละเพื่ออุดมคติ 2.การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จากซ้ายพ่ายแพ้ ซ้ายสุดโต่ง เป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย และ 3.ขบวนการ 6 ตุลาได้รับการยอมรับจากคนในวงกว้าง ที่ไม่ใช่คน 6 ตุลามากขึ้น
 
 
4 แนวทางเปลี่ยนภาพประวัติศาสตร์เดือนตุลาจากซ้ายสุดขั้ว
 
การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์แบบซ้ายสุดขั้วของประวัติศาสตร์เดือนตุลาให้กลายมาเป็นภาพกลางๆ ที่สังคมยอมรับได้ มีแนวทางที่สำคัญ คือ 1.การแทนที่ประวัติศาสตร์การเรียนรู้อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายและการจัดตั้งผ่าน พคท.ในหมู่นิสิตนักศึกษา โดยหันมาชูประเด็นกระบวนการจัดตั้งตัวเอง ขบวนการนิสิตนักศึกษามีระยะห่างจาก พคท. 2.การแทนที่ภาพลักษณ์คอมมิวนิสต์ที่ใช้กำลังต่อสู้ ใช้อาวุธ การสู้แบบจรยุทธ์ ด้วยโรแมนติกของนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ที่ทุ่มเทกายใจให้กับการทำงานเพื่อผู้ยากไร้ เพื่อประชาธิปไตย
 
3.ชูเรื่องความผิดหวัง ไม่เห็นด้วยกับ พคท.ในหมู่นิสิตนักศึกษา พคท.ถูกอธิบายว่าถูกครอบงำโดยคอมมิวนิสต์จีน เผด็จการ ความเป็นเหมาอีสต์แบบสุดขั้ว ในขณะที่นักศึกษาที่ผู้บริสุทธิ์ รักชาติ ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตย แต่ถูกผลักให้เข้าร่วมกับ พคท.เพราะไม่มีทางเลือกอื่น และต่อมาต้องเผชิญกลับความผิดหวังกับ พคท.เนื่องจากวัฒนธรรมที่ไม่ยุติธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยของ พคท.ซึ่งความสำเร็จในการเผยแพร่น้ำเสียงนี้บทบังความจริงหลายอย่าง ทั้งเรื่องราวความทุ่มต่อการปฏิวัติ การช่วยเหลือผู้คนของสมาชิก พคท.และบดบังมิตรภาพที่นักศึกษาจำนวนมากมีต่อ พคท. รวมทั้งบดบังปัญหาที่นิสิตนักศึกษามีส่วนทำให้เกิดปัญหาภายใน พคท.และนำไปสู่การล่มสลายของ พคท.
 
4.การปรากฏกายใหม่ในฐานกลุ่มคนก้าวหน้า เสรีนิยมหัวเอียงซ้าย โดยอธิบายว่ากระบวนการกล่อมเกลาสู่ความเป็นซ้ายนั้นเริ่มจากนักศึกษาที่ไม่ใช่แนวคิดเสรีนิยม ระยะต่อมาถูกบีบให้ไปสนใจแนวคิดแบบฝ่ายซ้าย โดยรู้จักฝ่ายซ้ายแบบผิวเผิน เป็นฝ่ายซ้ายของเด็กอายุ 17-18 ไม่ได้อยู่กับแนวคิดสังคมนิยม และในปัจจุบันได้ละทิ้งอุดมการณ์แบบฝ่ายซ้าย หันมาหาแนวคิดเสรีนิยมและแนวทางอื่นๆ ที่ไม่รุนแรงเช่นในอดีต
 
 
ลงหลักปักฐานความเป็น ‘คนเดือนตุลา’
 
การลงหลักปักฐานของความเป็น ‘คนเดือนตุลา’ เริ่มเป็นที่รู้จักจากการใช้โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในยุค 14 ตุลา ใช้คำว่า ‘คนเดือนตุลา’ เพื่อลดช่องว่าง สมานรอยร้าวทางอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ระหว่างคน 14 ตุลาและ 6 ตุลา เพื่อเพื่อภาพความขัดแย้งและแตกต่างที่ดำเนินมาตลอดเจือจางลง
 
โดยสร้างผ่านทั้งหมด 3 มิติ ที่สำคัญ คือ 1.การผสานรวมคน 14 ตุลา และ 6 ตุลา กลายเป็น ‘คนรุ่นตุลา’ 2.การประกาศเพื่อแยกตัวเองออกจากคนรุ่นอื่นๆ หรือไปรวมตัวเองกับคนรุ่นอื่นๆ ที่ตื่นตัวและก้าวหน้าทางการเมือง เช่น คนรุ่นเสรีไทย คนรุ่นพฤษภาทมิฬ และ 3.การทำให้คนเดือนตุลาแตกต่างจากเจนเนอเรชั่นอื่น เช่นในกรณีของคนรุ่นใหม่ที่ถูกเปรียบเทียบว่าไม่มีความตื่นตัวทางการเมืองต่างจากคนเดือนตุลา  
 
“จากภาพความสำเร็จของคนเดือนตุลาในการที่จะสถาปนาความเป็นคนเดือนตุลา และรื้อล้างสร้างประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย แทนที่ประวัติศาสตร์ความหลากหลาย ความขัดแย้ง และการต่อสู้ของพวกเขาทั้งในเชิงอุดมการณ์และเครือข่ายคนเดือนตุลา มันทำให้เราเข้าใจคนเดือนตุลาผิด มันทำให้เราเข้าใจว่าเขาเป็นเพียงกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อความขัดแย้งของพวกเขาปรากฏตัวขึ้น ทำให้เราไปตั้งคำถามว่าทำไมเขาจึงเปลี่ยนไป ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่เคยเปลี่ยน”
 
สำหรับสาเหตุที่ศึกษาคนเดือนตุลา เพราะคนเดือนตุลายังไม่ตายเขายังอยู่ ยังโลดแล่นในทางการเมือง และใช้ความเป็นคนเดือนตุลาในการสาดสีคนที่มีความเห็นต่าง
 

 

Tyrell Haberkorn: ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา

เดือนตุลามีจำนวนวัน 31 วัน แต่มีวันสำคัญ 2 วัน วันแรก 14 ตุลา (2516) เป็นวันที่ระบอบเผด็จการล่มสลาย หลังจากประชาชนเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯและทุกจังหวัด อีกวันหนึ่งคือ 6 ตุลา (2519) ซึ่งเป็นวันแห่งความรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มขวาจัดบุกโจมตีสังหารนักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ที่ธรรมศาสตร์ และมีรัฐประหารโดยกองทัพ เผด็จการกลับมา เดือนตุลาจึงหมายถึงการเริ่มต้นและสิ้นสุดของช่วงเวลาพิเศษแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองไทย

ทั้ง 14 ตุลา และ 6 ตุลา หากพิจารณาเฉพาะทั้ง 2 เหตุการณ์ในแง่การบันทึกประวัติศาสตร์ หรือการวิเคราะห์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ เราจะไม่อาจเข้าใจถึงประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างหลากหลายที่เกิดขึ้นช่วงนั้น แม้ 14 ตุลา จะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเต็มถนน แต่เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ ในวันนั้นไม่ได้ให้ภาพสมบูรณ์ของการทำให้ระบอบเผด็จการล้มลงหรือประชาธิปไตยเกิดขึ้น ส่วน 6 ตุลา ก็เกิดการนองเลือดอันขึ้นในที่อื่นๆ นอกจากกรุงเทพฯ หลังจากการรัฐประหาร

การที่เน้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสองวันนั้นที่กรุงเทพฯ ที่เดียวทำให้กรณีอื่นๆ ในที่อื่นๆ ถูกตัดออก และทำให้ประวัติศาสตร์ของสองวันนั้นในกรุงเทพฯ กลายเป็นประวัติศาสตร์ชาติ ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถนนเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลง และนักศึกษาและคนกรุงเป็นผู้กระทำเกิดให้การเปลี่ยนแปลงนี้

บทความนี้เล่าถึงและวิเคราะห์ชีวิตของประชาชน 3 คน ที่อยู่ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา ให้ชัดเจนว่าทั้งสามไม่ได้อยู่ชายขอบของประวัติศาสตร์เดือนตุลา แต่อยู่ชายขอบการเขียนประวัติศาสตร์ที่เน้นกรุงเทพฯ เน้นนักศึกษา และเน้นเหตุการณ์ใหญ่ๆ

มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1.ทำให้สิ่งที่ถูกนับว่าเป็นประวัติศาสตร์เดือนตุลาขยายกว้างกว่าเดิม 2.เขียนประวัติศาสตร์ที่แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ทีเดียว การเปลี่ยนรูปสังคมและการเมืองเริ่มต้นตอนที่ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับระบอบระบบเก่า การเขียนประวัติศาสตร์โดยใช้เลนส์ชีวิตบุคคลทำให้เรามองและเข้าใจได้ และ 3.ยืนยันว่าชีวิตบุคคล 3 คนนี้ไม่ใช่มีแค่รายละเอียดน่าสนใจ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่พลาดไม่ได้ หากเราจะเข้าใจการเปลี่ยนรูปแห่งเดือนตุลาก็ควรทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ช่วงนี้เปลี่ยนขยาย ทั้งเนื้อหาและกรอบคิด

คนแรก อาจารย์องุ่น มาลิก ผู้เป็นแรงผลักให้หลายคนเกิดมีจิตสำนึกทางสังคมและการเมือง เกิดและเติบโตขึ้นในครอบครัวเศรษฐีที่กรุงเทพฯ จบปริญญาโทจิตวิทยาจากสหรัฐอเมริกา อาจารย์องุ่นขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อสอนจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อปี 2507 ตอนที่อายุ 51 ปีแล้ว และได้รวมกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จัดตั้งให้นักศึกษาไปซ่อมแซมวัดฝายหินซึ่งอยู่ติดมหาวิทยาลัย โครงการดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นขยายการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและความสนใจของอาจารย์องุ่นต่อกิจกรรมนักศึกษา

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจารย์องุ่นได้ลงมือร่วมทำวารสารสิ่งพิมพ์และกลุ่มละครของนักศึกษา และเป็นสมาชิกสภาอาจารย์ และหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจารย์องุ่นเข้าร่วมในงานกิจกรรมการเคลื่อนไหวสังคมและการเมืองที่ต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมอย่างเต็มที่ อีกทั้งได้มีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าที่ด้วย ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา อาจารย์องุ่นถูกกักขังภายใต้อำนาจของคำสั่งที่ 22 ที่ออกเมื่อวันที่ 13 ต.ค.19 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ร่วมกับครู ชาวนาชาวไร่ นักศึกษา และข้าราชการ อีก 40 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อสังคมทางการเมือง

คนที่ 2 หมออภิเชษฐ์ นาคเลขา แพทย์หนุ่มจากกรุงเทพฯ ที่เลือกไปทำงานเป็นแพทย์สาธารณสุขประจำที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ในปี 2517 จากการที่เกิดจิตสำนึกก้าวหน้าและร่วมต่อสู้เพื่อความยุติธรรม โดยหมออภิเชษฐ์เป็นตัวอย่างชัดๆ ของจินตนาการของสังคมที่ดีกว่าในช่วงระหว่าง 14 ตุลาและ 6 ตุลา ในฐานะข้าราชการที่ทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งมีการเคลื่อนไหว 14 ตุลา เป็นแรงบันดาลใจ

สิ่งที่ทำให้หมออภิเชษฐ์ถูกจับตาคือ ความร่วมมือกับประชาชนเพื่อปราบทุจริตใน อ.พร้าว ทำให้ถูกขู่ฆ่า และถูกเขียนจดหมายร้องเรียนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมาเย็นวันหนึ่งในเดือน พ.ค.2518 มีการจัดงานฉายสไลด์ของของประชาชนและการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ที่ห้องสมุดชุมชน ในคืนนั้นบ้านของบ้านนายอำเภอพร้าวถูกเผา ต่อมาจึงตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ เพราะห่วงความปลอดภัยของคนที่อยู่ใกล้ชิด และไม่มีโอกาสกลับไปรับราชการ จนเสียชีวิตเมื่อเดือน พ.ย.2549

คนที่ 3 คือพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ปัญญาชนชาวนาจากภาคเหนือที่ต่อสู้เพื่อ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา เขาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวก้าวหน้าครั้งแรกตอนนักศึกษาประท้วงเรียกร้องให้กองทัพอเมริกาออกจากประเทศในเดือน ก.ค.2516 ต่อมาในเดือน ก.ย.2517 พ่อหลวงอินถานำกลุ่มชาวนาสารภีเข้าร่วมการชุมนุมที่กลางเมืองเชียงใหม่ และได้รับเลือกเป็นตัวแทนเดินทางไปร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ตอนที่สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2517 เขาถูกเลือกเป็นรองประธานระดับชาติและประธานภาคเหนือ

ความสำเร็จประการแรกของสหพันธ์ฯ คือการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ.2517 ที่ให้จำนวนข้าวที่ต้องจ่ายเป็นค่าเช่านาเดิมลดลง และทำให้ชาวนาไม่ต้องขึ้นอยู่กับอำเภอใจของเจ้าของที่ดิน ช่วง 8 เดือนระหว่างการผ่าน พ.ร.บ.ดังกล่าว ในเดือน ธ.ค.2517 จนถูกสังหารในเดือน ก.ค.2518 พ่อหลวงอินถาเดินทางไปทุกอำเภอในเชียงใหม่เพื่อคุยแลกเปลี่ยนกับชาวนาเรื่องสิทธิใหม่ที่ได้จาก พ.ร.บ.นี้

ทั้งนี้ พ่อหลวงอินถา ถูกข่มขู่ครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ไม่เคยหยุดการเคลื่อนไหว และหลังจากนั้นถูกสังหาร ตำรวจสามารถจับผู้ต้องหาได้แต่ก็ปล่อยตัวในเวลาต่อมา อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังปฏิเสธความสำคัญและบทบาททางการต่อสู้ทางการเมืองของพ่อหลวงอินถาด้วย

บทสรุป ไม่ใช่เหตุการณ์14 ตุลา และ 6 ตุลาไม่มีความสำคัญ เพราะทั้งสองเหตุการณ์มีความหมายต่อชีวิตของแทบทุกคนในช่วงนั้น รวมทั้งบุคคลทั้งสามด้วย แต่การเน้นแต่ 2 เหตุการณ์ ทำให้ประวัติศาสตร์เดือนตุลาไม่สมบูรณ์ การมองและเขียนประวัติศาสตร์โดยเลนส์ของชีวิตบุคคลทำให้เราได้เห็นและเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและระดับต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนรุ่นหลังๆที่ไม่ใช่เป็นแค่ผู้อ่านประวัติศาสตร์แต่เป็นนักต่อสู้ที่อยากเปลี่ยนสังคมเช่นกัน

 

วิจารณ์โดยประจักษ์ ก้องกีรติ

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามต่องานศึกษา ‘การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็นคนเดือนตุลา’ กับคำถามที่ว่า “ทำไมคนเดือนตุลาฯ เปลี่ยนไป” แต่ทำไมไม่มีการตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้กับคนรุ่นอื่นๆ หรือนักต่อสู้รุ่นอื่นๆ แม้แต่ในกลุ่มคนพฤษภา 35 ซึ่งก็มีความคิดไปคนละทิศละทาง ทำไมคนเดือนตุลาจึงกลายเป็นจำเลยทางประวัติศาสตร์ของสังคมและในทางวิชาการ ทั้งที่ ในประวัติศาสตร์ทุกคนเปลี่ยน และในทุกสังคมด้วย

งานศึกษานี้กำลังศึกษาในสิ่งที่ความจริงแล้วเป็นกระบวนการปกติในประวัติศาสตร์ของทุกสังคม โดยเฉพาะการต่อสู้ที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วม ไม่มีทางที่ทุกคนจะเห็นตรงกันตั้งแต่ต้น และแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไปทุกคนเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์เกิดมา 40 ปีแล้ว จากคนหนุ่มสาวที่เคยเคลื่อนไหวมาเป็นคนวัย 60 ซึ่งคาดหวังให้ความคิดเหมือนเดิมไม่ได้

สิ่งที่อยากชวนคิดต่อ คือ มุมมองเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ว่ามีประสบการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น คนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ จากงานศึกษาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ศึกษาขบวนการนักศึกษาญี่ปุ่นในปี 1960 ที่เปลี่ยนไป โดยสัมภาษณ์อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายซึ่งกลายมาเป็นนักคิดคนสำคัญของฝ่ายขวาที่มีชื่อเสียงในสังคม

ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนนั้นผิดตรงไหน การคิดว่าเปลี่ยนแปลงไม่ดีนั้นมีจุดเริ่มจากความเข้าใจทางปรัชญาที่ว่า สิ่งแรกเริ่มดีกว่า เป็นความบริสุทธิ์ ส่วนการเปลี่ยนคือการถูกปนเปื้อน โดยตัวเขาคิดว่าตัวตนในปัจจุบันกำลังทำสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่ทำในอดีต มีความถูกต้อง และสำคัญกว่า

ในแง่นี้ หากศึกษาคนตุลาที่ไปเป็นเสื้อเหลือง แสดงให้เห็นว่าจากมุมของเขา เขาก็ยังคงต่อสู้เพื่อสังคม แต่อุดมการณ์ที่ต่อสู้เป็นคนละชุดกับอุดมการณ์ของคนเดือนตุลาที่อยู่ฝั่งเสื้อแดง เป็นคนละชุดกับตัวตนของเขาในอดีต และในขณะเดียวกันก็มีคนเดือนตุลาที่ไม่ได้สนใจการเมืองแล้วด้วย

กรอบการศึกษาแม้จะสรุปว่าคนเดือนตุลาไม่ได้เปลี่ยน เราเข้าใจผิดเอง ส่วนตัวคิดว่าความจริงมีหลายกรณีที่เปลี่ยน และคำถามที่สำคัญกว่าคือเปลี่ยนแล้วผิดตรงไหน ผิดเพราะมีการเอาชุดอุดมการณ์ของเราไปวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินเขาหรือไม่

การที่งานศึกษา พูดถึงการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ แล้วทำให้ 14 ตุลา และ 6 ตุลา กลายเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เช่นนี้ผิด แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ผิดที่เราจะตีความว่า 14 ตุลา และ 6 ตุลา คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีคุณูปการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย เพียงแต่เราให้คำนิยามประชาธิปไตยอย่างไร อุดมการณ์แบบ พคท.ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือมันเป็นประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง อาจต้องคุยในรายละเอียด

แต่งานศึกษาเขียนราวกับจะทำให้ความเป็นซ้าย ความเป็น พคท.กับประชาธิปไตยเป็นคนขั้วตรงข้ามกัน ส่วนตัวไม่เห็นด้วย และทำให้เกิดคำถามว่าการต่อสู้แบบซ้ายไม่มีส่วนในการสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาหรือ

ส่วนงานศึกษาของ Tyrell ที่ศึกษา ชีวิตคน 3 คน คือ อาจารย์องุ่น มาลิก หมออภิเชษฐ์ นาคเลขา และพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ตั้งคำถามว่า ‘คนเดือนตุลา’ หมายถึงใครบ้าง ทั้ง 3 คน คือคนเดือนตุลาหรือไม่ เมื่อทั้ง 3 ต่างก็เกิดความตื่นตัวเข้าร่วมต่อสู้ทางสังคมจากเหตุการณ์เดือนตุลา และถึงที่สุดคนเดือนตุลาเป็นแค่กลุ่มนักศึกษาหรือเปล่า ไม่ได้รวมกรรมการ ชาวนา หรือครูที่มาทำงานเพื่อสังคมเอาไว้ด้วย เมื่อพูดถึงคนเดือนตุลาเรานับรวมใครและไม่นับรวมใครบ้าง

งานศึกษาเป็นการศึกษาชีวิตของคนที่ไม่ถูกโฟกัสมาก่อน และเห็นด้วยกับคำวิจารณ์ที่ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลามีศูนย์กลางกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และอย่างที่หากคนวิพากษ์วิจารณ์คือเป็นประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ แม้แต่ประวัติศาสตร์นักศึกษาก็มีการตั้งคำถามว่าสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อยู่ที่ไหน จึงไปศึกษาตัวละครอื่นๆ ไปรื้อฟื้นคนเหล่านี้ขึ้นมา แต่ถึงที่สุดแล้วคนเหล่านี้อาจไม่ใช่คนชายขอบที่ไม่มีตัวตนจริงๆ ทุกท่านมีตัวตนทางสังคม ไม่ถึงกับเป็นชายขอบ ยังมีคนที่เป็นชายขอบกว่านี้ที่เราไม่รู้จักเลย ตรงนี้คงเป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่อยากศึกษาคนตัวเล็กตัวน้อยจริงๆ

จริงที่ประวัติศาสตร์ตุลากีดกันและละเลยคนจำนวนมากไป แต่ส่วนตัวมองว่าปัญหาของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ไม่ใช่เรื่องปัญหาของชายขอบ แต่เป็นปัญหาเรื่องศูนย์กลางที่ศึกษาไม่ได้ กลายเป็นข้อบกพร่องของประวัติศาสตร์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เพราะคนที่มีบทบาทมากหลายคน หลายกลุ่มที่อยู่ตรงศูนย์กลางกลับถูกทำให้พูดถึงไม่ได้อย่างสมบูรณ์ เราจึงไม่สามารถเข้าใจ 14 ตุลา และ 6 ตุลาได้อย่างสมบูรณ์

“ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำในช่วงนั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการเกิดขึ้นของ 14 ตุลา และมันจบลงตรงที่ 6 ตุลา นั้นแหละเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์ชายขอบ ในความหมายที่มันไม่เคยถูกศึกษา เจาะลึก อย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่เพราะมันไม่มีความสำคัญ แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงได้” ประจักษ์ กล่าวในที่สุด

 

หมายเหตุ

การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดูกำหนดการที่ http://prachatai.com/activity/2013/09/48526

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท