คปก.ปลุกคน 4 แสน ร่วมดันกฎหมายประชาชนให้เป็นจริง

กรรมการ คปก.ระบุ 16 ปี ที่ผ่านมา ประชาชนเสนอกฎหมายได้ 44 ฉบับ ประกาศใช้แค่ฉบับเดียว ต้องใช้กว่า 400,000 ชื่อ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เสนอถ้าทุกคนร่วมแสดงตัวตนผลักดัน ‘กฎหมายประชาชน’ จะเป็นจริง
 
 
ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงสถานการณ์การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน ในงาน “บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน” วันที่ 5 ต.ค.56 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ไพโรจน์ กล่าวว่า นับจากเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ผ่านมา 40 ปีแก่นสารของประชาธิปไตยที่เรียกว่าสิทธิเสรีภาพนั้นบังเกิดน้อย เราเคยเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยสามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ แต่ที่ผ่านมาคำตอบนั้นยังคลุมเครือว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่าหรือยิ่งถ่างช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ไพโรจน์กล่าวถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยของไทยว่า ปัจจุบันเราเห็นการเลือกตั้งทุกระดับชั้น เป็นผู้นำทางการเมืองเยอะแยะไปหมด แต่ปัญหาพื้นฐานของประชาชน เกษตรกร กรรมการ ชาวนา เรื่องที่ดินทำกิน ราคาพืชผล ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ยังคงเป็นปัญหานิรันดร์กาล
 
ประเด็นปัญหาของกระบวนการออกกฎหมาย ไพโรจน์แสดงความเห็นว่า คนที่ผูกขาดความรู้ในการเสนอกฎหมายที่แท้จริงคือ กฤษฎีกา ซึ่งมีหน้าที่จัดทำร่างกฎหมาย กฤษฎีกาเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ในเรื่องหลักกฎหมายแต่ไม่ได้เข้าใจปัญหาประชาชนเลย ส่วน ส.ส.ก็ถูกสมมติว่าจะต้องรู้ปัญหาของประชาชนดี แต่ ส.ส.ส่วนหนึ่งไม่ใช่ และเรื่องกฎหมายไม่ใช่ว่า ส.ส.จะมีความรู้
 
ที่ผ่านมาการเสนอกฎหมายเป็นสิทธิผูกขาดของหน่วยงานรัฐทำให้กฎหมายที่ผ่านมามีแต่กฎหมายลักษณะอำนาจนิยม เราจึงมีสมมติฐานใหม่ว่า การให้ประชาชนมีสิทธิเสนอกฎหมาย กฎหมายจะรับใช้ประชาชนและแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมได้
 
ไพโรจน์กล่าวด้วยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของประชาธิปไตยไทยอีกครั้งอยู่ที่ปี 2540 ซึ่งเปิดให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบนักการเมือง มีสิทธิชุมชน มีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับนโยบายต่างๆ และยังให้สิทธิประชาชนเสนอกฎหมาย ตั้งแต่ ปี 2540 เป็นต้นมา มีการเสนอกฎหมายโดยประชาชนทั้งหมด 44 ฉบับ จากตัวเลขของ คปก.เพิ่งประกาศใช้ไป 1 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข หลังมีประชาชนไปกดดันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นหมื่นคนก็ผ่านได้อย่างรวดเร็ว
 
กลุ่มคนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พอจะแบ่งได้เป็น 1.กลุ่มวิชาชีพ เสนอกฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานของวิชาชีพ 2.กลุ่มกระจายอำนาจ เสนอกฎหมายการปกครองตนเองของท้องถิ่น 3.กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอกฎหมายเรื่องที่ดิน ป่า น้ำ ชายฝั่ง ฯลฯ ถ้ากฎหมายเหล่านี้ผ่านจะเป็นการปฏิรูปการใช้อำนาจนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม เป็นวิธีการปฏิรูปการเมืองอย่างหนึ่ง 4.กลุ่มเสมอภาคระหว่างเพศและบุคคล 5.กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคและสุขภาพ 6.กลุ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน 7.กลุ่มกระบวนการยุติธรรม 8.กลุ่มสวัสดิการสังคม
 
ไพโรจน์ กล่าวว่า กฎหมายประชาชน 44 ฉบับ เสนอด้วยคนมากกว่า 400,000 คน แล้วประชาชนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ถ้าคนแต่ละคนทำทีละฉบับก็จะได้ผู้สนับสนุนฉบับละ 10,000 คน แต่ถ้าทั้ง 400,000 คนทำกฎหมาย 44 ฉบับด้วยกันก็อาจเป็นเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
 
ไพโรจน์ กล่าวเรียกร้องให้เจ้าภาพของกฎหมายแต่ละฉบับต้องไปทำความเข้าใจกับคนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายของตัวเองว่ากฎหมายทั้ง 44 ฉบับนั้นเกี่ยวข้องกับตัวของประชาชนทุกคนเอง ถ้ามารถทำความเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายเหล่านี้ร่วมกันได้ ก็น่าจะมีโอกาสสำเร็จ
 
“รัฐสภาจะเห็นหัวของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของกฎหมายที่ดีเลิศประเสริฐศรีอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยพลังทางความคิดพลังทางความเชื่อร่วมกัน เราในฐานะ คปก.เชื่อว่าถ้าประชาชน 400,000 คน คนแสดงตัวตนจริง ร่วมกันผลักดันจริง กฎหมายเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นจริงได้” กรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจบเวทีสาธารณะ “บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน” เครือข่ายภาคประชาชนได้จัดแถลงข่าว เรียกร้องรัฐสภาผลักดันกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน คุ้มครองสิทธิประชาธิปไตยทางตรง มีรายละเอียด ดังนี้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท