รายงานพิเศษ : ม้งถ้ำกระบอก แสงดาวกลางป่า กับความหวังที่ยังรอคอย

สิบสี่ปีผ่าน ตำนานแห่งการต่อสู้ ของคนม้งถ้ำกระบอก หลังจากที่เดินทางออกจากถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี มาตั้งรกรากที่บ้านธารทอง หมู่ 11 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เส้นทางเดินเต็มไปด้วยขวากหนาม อุปสรรคมากมาย แต่นั่น ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นที่มีเลือนหายไปจากหัวใจ

ชาวม้งถ้ำกระบอกที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในบ้านธารทอง เป็นกลุ่มม้งที่ทำงานสนองต่อนโยบายรัฐบาล สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 เป็นกลุ่มม้งกลุ่มที่ 1 ที่รัฐบาลใช้ปกป้องอาณาจักรไทย ในสงครามบ้านร่มเกล้า ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี 2530-2535 โดยรัฐบาลได้นำชาวม้งที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้าฝึกที่กองพันทหารม้าที่ 15 อำเภอเมือง จังหวัดน่าน นำโดยท่านประชา โกษา ส่งผ่านเส้นทางบ้านน้ำปูน อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เข้าสู่ชายแดน เป็นหน่วยกองโจรเร่งด่วนสังกัด บ.ก.3091 เพื่อตัดกองกำลังสปป.ลาว ที่ขึ้นสู่บ้านร่มเกล้า เนิน 1428 นอกจากนั้นกองกำลังชาวม้ง ยังเป็นตัวกลางเจรจาชักจูงผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ นำโดยท่านสัมพันธ์ และท่านเยี่ยจ๊า ซ่ง พร้อมประชาชนจำนวน 50 ครอบครัว 400 กว่าคน เข้ามอบตัวต่อพันเอกพจนา สายสอาด รักษาการ บ.ก.3091 เมื่อเดือนมิถุนายน 2533 เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ กลุ่มล่าสุด ทางการไทยได้สัญญากับหัวหน้าม้งกลุ่มที่ 1 ว่า เมื่อสถานการณ์สงบและยุติแล้ว จะให้สัญชาติไทย พร้อมกับที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน แต่เมื่อเหตุการณ์สงบและยุติแล้ว ทางรัฐบาลไทยได้สั่งการให้ทหารหน่วยอื่นมาผลักดันกองกำลังชาวม้ง ให้ออกจากฐานที่มั่น โดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่ให้ไว้ เป็นเหตุให้กองกำลังชาวม้งต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปอาศัยตามจังหวัดต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือและเข้าสู่วัดถ้ำกระบอก

วันที่ 8 ตุลาคม 2542 ได้มีการลงนามตามหนังสือที่ มท. 0310.1/ว 2506 โดย นายอนุชา โมกขะเวส รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง (สมัยนั้น) ให้ชาวม้งถ้ำกระบอกย้ายไปอาศัยอยู่ 20 จังหวัดในเขตภาคเหนือ ชาวม้งถ้ำกระบอกได้ย้ายเข้ามาที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และได้รับการย้ายเข้าทะเบียน (ทร.13) แต่หลังจากนั้นทางอำเภอเชียงแสนพร้อมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครพลเรือน ประมาณ 500 คน เข้ามาในหมู่บ้านธารทอง บังคับผู้นำหมู่บ้านให้ยินยอมลงชื่อในเอกสารของทางราชการ เป็นเหตุให้ชาวม้งถ้ำกระบอกที่มีทะเบียนราษฎร (ทร.13) ของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทั้งหมดต้องถูกจำหน่าย และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าทำลายป่า แย่งที่ทำกิน ของประชนในพื้นที่ หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป ชาวม้งถ้ำกระบอกได้ร้องเรียนไปยังหลวงปู่จำรูญ ปานจันทร์ เจ้าอาวาสวัดถ้ำกระบอก ให้ช่วยร้องเรียนไปยังรัฐบาล ขอออกหนังสือเดินทางให้ชาวม้งถ้ำกระบอกกลับสู่ที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก แต่ไม่ได้รับคำตอบ เป็นเหตุให้ไม่สามารถย้ายออกไปอยู่ที่อื่นได้ จึงต้องอยู่ที่บ้านธารทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จนถึงปัจจุบัน
 

เส้นทางการต่อสู้เรียกร้อง ของกลุ่มม้งถ้ำกระบอก

ปี 2545 ได้ร้องเรียนผ่านกองทัพไปยังรัฐบาล ซึ่งได้รับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามหนังสือ กรมยุทธการทหารสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาชาวม้ง ที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก ลงนามโดยพลโทบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ตามหนังสือที่ 0320.11/50 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 ได้รับการขึ้นทะเบียนราษฎร (ทร.13) จำนวน 25 ครอบครัว 176 คน

เดือนสิงหาคม 2545 ทางอำเภอเชียงแสน ได้ให้ชาวม้งถ้ำกระบอกกลุ่มที่ 1 ยื่นแบบคำร้องและเงื่อนไขการขอมีสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ของบุคคลบนพื้นที่สูง และหลักฐานที่ 2 ทางอำเภอเชียงแสนเป็นผู้ประสานไปยังอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ให้ถ่ายทะเบียนประวัติของม้งกลุ่มที่ 1 มาประกอบคำร้องอำเภอพระพุทธบาท แต่มีหนังสือสั่งห้ามจากสำนักทะเบียนกลาง ลงนามโดยนายไพโรจน์ พรหมสาสน์ รองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลาง ตามหนังสือที่ มท.0313.1/4194 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2540 ซึ่งทำให้แบบคำร้องดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้
 

มติคณะรัฐมนตรี

1. คณะรัฐมนตรีได้ประชุมเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2546 ลงมติเห็นชอบที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ลงนามโดยพลเอกวินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตามหนังสือที่ นร.0803/131 ลงวันที่ 9 มกราคม 2546 เสนอ การกำหนดสถานะให้ม้งกลุ่มที่ 1 เป็นกรณีพิเศษ โดยจะขออนุมัติให้ม้งกลุ่มที่ 1 ได้รับสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและบุตรที่เกิดในประเทศไทยให้ได้รับสัญชาติไทย

2. วันที่ 8 สิงหาคม 2547 รัฐบาลมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี จาตุรนต์ ฉายแสง ประกอบพิธีมอบเอกสารแสดงว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยให้ชาวม้งกลุ่มที่ 1 อำเภอเมือง จังหวัดน่าน จำนวน 104 ครอบครัว 652 คน เป็นกรณีพิเศษ และพลเอกวินัย ทันศรี เลขาธิการมูลนิธิชาวไทยภูเขา (มูลนิธิชาวไทยภูเขาที่รัฐบาลมอบหมายให้ดูแลชาวม้งกลุ่มที่ 1) ได้กล่าวไว้ว่า ชาวม้งกลุ่มที่ 1 ที่เหลืออยู่ในจังหวัดอื่น ๆ จะดำเนินการให้เหมือนชาวม้งกลุ่มที่ 1 ที่อยู่ในจังหวัดน่าน แต่การดำเนินการไม่เป็นไปตามที่กล่าว ยังคงมีปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบัน

การดำเนินการต่อของกลุ่มม้งบ้านธารทอง

1.ไปร้องเรียนด้วยตัวเองที่อำเภอเชียงแสน ได้หารือกับจังหวัดเชียงราย 2 ครั้ง คือ
 
ครั้งที่ 1 ทำหนังสือหารือเรื่องแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลกลุ่มม้งที่พักในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก บ้านธารทอง ลงนามโดย นายสมหวัง รุ่งตระกูลชัย นายอำเภอเชียงแสน ตามหนังสือ ชร.0917.2/813 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2556
 
ครั้งที่ 2 หนังสือจังหวัดเชียงราย ที่ ชร.0017.0/5591 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ลงนามโดยนายสุวัฒน์ พรหมสุวรรณ ปลัดจังหวัดปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย 2552 ให้ดำเนินการเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 4 มีนาคม 2546 มติครม. และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552

2. แนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะของชาวม้งกลุ่มที่ 1 ที่ให้อำเภอดำเนินการ
 
1) กรณีที่เป็นชาวม้งกลุ่มที่ 1 ที่ย้ายภูมิลำเนามาจาก อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร (ทะเบียนบ้านทร.13 หรือทะเบียนประวัติม้งถ้ำกระบอก) ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ให้ดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวประสงค์ที่จะดำเนินการตามมติครม. เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2546 ก็สามารถทำได้ โดยนำหลักฐานของหน่วยงานทหารที่ใช้ประโยชน์และได้จัดทำบัญชีสำรวจมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อพิจารณาว่าเป็นเอกสารที่ฝ่ายทหารจัดทำขึ้นและใช้ประโยชน์จริง ให้เจ้าหน้าที่รายงานกรมการปกครองเพื่อให้จัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงและยื่นคำร้องขอสถานะตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 และวันที่ 28 สิงหาคม 2554
 
2) ชาวม้งกลุ่มที่ 1 ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานและบัญชีรายชื่อที่ฝ่ายทหารสำรวจจากหนังสือของจังหวัดเชียงราย ให้แนวทางการดำเนินงานกับอำเภอเชียงแสน ชาวม้งได้ติดต่อขอหลักฐานและได้รับมาจากฝ่ายทหาร พร้อมนำส่งให้นายอำเภอเชียงแสน เพื่อพิจารณาส่งให้กับจังหวัดเชียงราย ตามหนังสือที่ ชร.0917.2/165 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ขณะนี้ ผ่านระยะเวลา 2 ปีกว่า แต่ยังไม่มีหนังสือตอบกลับ
 
3) อำเภอเชียงแสน ได้หารือกับจังหวัดเชียงราย ตามหนังสือที่ ชร.0017.0/5591 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ชาวม้งทุกคนมีเลขประจำตัว 13 หลัก และปรากฏชื่ออยู่ในใบแจ้งย้ายที่อยู่และสำเนาทะเบียนบ้าน (ทร.13) แต่ไม่มีรายการบุคคลของสำนักทะเบียนอำเภอ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหากลุ่มม้งที่พักอยู่ในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ แต่ชาวม้งกลุ่มที่ 1 ที่ได้แจ้งย้ายเข้าอำเภอเชียงแสน และถูกจำหน่ายชื่อ กลับได้รับบัตรทองโดยไม่ได้ขอดำเนินการ จึงเชื่อว่ารายชื่อของชาวม้งยังอยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร อำเภอเชียงแสน

4) วันที่ 27 สิงหาคม 2552 นายอัมพร ประสิทธิ์ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการกรมการปกครอง ได้ดำเนินการสำรวจชาวม้งถ้ำกระบอก เข้าแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติชาวเขา สำนักทะเบียน อำเภอเชียงแสน และได้กล่าวกับชาวม้งว่า หลังจากหนึ่งเดือนจะสั่งการให้อำเภอเชียงแสน ถ่ายบัตรสีชมพูให้ชาวม้งถ้ำกระบอก แต่ไม่มีการดำเนินการใดใด

5) การยื่นหนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรม

 - วันที่ 15 มกราคม 2555 ยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ (มีการประชุมครม.สัญจร) ร่วมกับโครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ (SCPP) และเครือข่ายคนทำงาน องค์กรที่ทำงานด้านสถานะและสิทธิของบุคคล ภาคเหนือ ที่รวมตัวกันยื่นข้อเสนอให้กับทางรัฐบาล

 - วันที่ 16 สิงหาคม 2555 ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่หน่วยพัฒนาสังคมหน่วยที่ 12 อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

 - วันที่ 1-2 ตุลาคม 2555 ยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี ที่กรุงเทพฯ ร่วมกับเครือข่ายคนทำงาน องค์กรที่ทำงานด้านสถานะและสิทธิของบุคคล ภาคเหนือ ที่รวมตัวกันยื่นข้อเสนอให้กับทางรัฐบาล โดยมีการขับมอเตอร์ไซค์เข้ากรุงเทพฯ ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)

 - วันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ยื่นหนังสือให้กับผู้อำนวยการการทะเบียนราษฎร (คณะทำงานศึกษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล ภายใต้คณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวสถานะและสิทธิของบุคคล) ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

จะเห็นได้ว่า...เส้นทางขอความเป็นธรรม และข้อเรียกร้องต่าง ๆ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบสนอง ไม่มีความเคลื่อนไหวใดใดจากทางภาครัฐ ที่จะแจ้งให้ทราบ การเข้าร่วมกิจกรรม ประชุม เวทีสัมมนา เป็นอีกเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ได้พูดคุยสถานการณ์ปัญหา นายเยี่ยปาว แซ่ซ่ง หนึ่งในแกนนำม้งถ้ำกระบอกบ้านธารทอง บอกว่า “ พวกเราได้เรียกร้องกับทางการในหลายเรื่อง 14 ปีผ่าน ไม่มีแม้เสียงตอบรับ ไม่ได้รับการเหลียวแล ต้องประสบกับปัญหาในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะการเดินทาง การทำงาน พี่น้องถูกจับ ถูกปรับเงินตลอด พวกเราไม่สามารถทำอะไรได้ เราไม่เข้าใจว่าทำไม ในเมื่อเราได้ทำตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย มีเอกสารประกอบที่น่าเชื่อถือ ยื่นข้อเรียกร้องให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้รับความเป็นธรรม คำสัญญาที่ให้ไว้ไม่เป็นไปตามสัญญา คำพูดว่าจะดำเนินการให้ก็ไม่ได้ดำเนินการ เป็นความรู้สึกที่เจ็บปวด แต่เราก็ต้องสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง”

จำนวนคนม้งถ้ำกระบอกที่มาอาศัยที่บ้านธารทอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีจำนวน 56 คน (รวมเด็กผู้ใหญ่) และมีแกนนำม้งถ้ำกระบอก ที่เป็นตัวแทนชาวบ้านธารทอง จำนวน 4 คน มีนายเยี่ยปาว แซ่ซ่ง, นายไซ แซ่ซ่ง, นายหล่อ แซ่ซ่ง และนาย หลี่ แซ่ซ่ง ทั้ง 4 คน ได้เปลี่ยนเวียนกัน ในการยื่นหนังสือ และเข้าร่วมพูดคุยเวลาประชุม อบรม และการสัมมนาต่าง ๆ ของภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน โดยมีนายแสง แสงยาอรุณ เจ้าหน้าที่ บ้านแสงใหม่ภายใต้มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จังหวัดเชียงราย เป็นคนที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ ข้อเสนอของพี่น้องม้งถ้ำกระบอกบ้านธารทอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

1.ขอให้ดำเนินการตาม มติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2546 (มติ ครม. ที่เกี่ยวข้องม้งถ้ำกระบอกกลุ่มที่ 1 ) หรือดำเนินการตามม้งกลุ่มที่ 1 อ.เมือง จ.น่าน ที่รัฐบาลได้มอบเอกสารแสดงว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2547

2.อยากให้ประสานงานให้กลุ่มได้รับรู้ข้อมูลว่ามีกฎระเบียบอย่างไร ที่จะได้ปฏิบัติถูกต้องชัดเจน โดยสั่งการให้กับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน แจ้งให้กับชาวบ้าน และอยากให้ช่วยผลักดันปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการเร่งรัดดำเนินการให้กลุ่มม้งถ้ำกระบอก

นายแสง แสงยาอรุณ ผู้ประสานงานบ้านแสงใหม่ จ.เชียงราย ที่ได้ติดตามช่วยเหลือให้คำปรึกษากับกลุ่มม้งบ้านธารทอง บอกว่า “ คนม้งกลุ่มถ้ำกระบอก ได้มีการกระจายอาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดคือ จังหวัดเชียงราย, น่าน และเพชรบูรณ์ มีจำนวนประมาณ เกือบ 1,000 คน น่าจะได้สถานะตั้งนานแล้ว แต่กรมการปกครองไม่จัดการ ทั้ง ๆ ที่มีมติคณะรัฐมนตรี มาแล้ว แต่มติคณะรัฐมนตรีถูกยกเลิกโดยมติครม. 7 ธันวาคม 2553 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดใดได้ สำหรับคนม้งบ้านธารทอง 56 คน ที่ได้ดูแลให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มม้งที่ไม่ยอมไปทำบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน “เลข 0” เพราะมีเลข 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข “6” บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย อยู่แล้ว คนม้ง กลุ่มนี้มีเอกสารแบบพิมพ์ประวัติ ได้ตรวจสอบที่อำเภอเชียงแสน อำเภอบอกไม่มี อยู่ที่กรมการปกครอง ได้ตรวจสอบไปแล้วแต่กรมการปกครองบอกว่าอยู่ที่อำเภอ ปัญหาแบบพิมพ์ประวัติรูปไม่ชัด ต้องสอบพยานเพิ่มเติม ช่องทางที่แนะนำคือ การยื่นตามมาตรา 17 พรบ.คนเข้าเมือง และคนที่เกิดไทย ให้ยื่นตามมาตรา 23 ทุกคนมีเอกสารที่พร้อม มีใบรับรองการเกิด ทร.20/1 ได้มีการทดลองยื่น 1 ครอบครัวคือ ครอบครัวนายยี่ปาว แซ่ซ่ง แต่ติดอยู่ที่ไม่มีบัตรประจำตัว ตอนนี้อยู่ในขั้นเตรียมทำบัตร คนม้งถ้ำกระบอก กลุ่มม้งกลุ่มที่ 1 ตามที่ได้ดูเอกสาร หลักฐาน มีเพียง 2-3 คน ที่เกิดนอก นอกนั้นเกิดในไทยหมด พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติจากการมการปกครอง ทางความมั่นคงได้ใช้ประโยชน์พวกเขาแล้ว ได้บอกจะกำหนดสถานะให้ แต่กรมการปกครองไม่ได้ดำเนินการใดใดให้ ทำให้ปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน”

แสงดาวคงจะไม่ริบหรี่เกินไปกับความหวังที่ยังรอคอย พี่น้องม้งกลุ่มที่ 1 ที่เคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทางรัฐบาลไทย แม้เวลาจะผ่านมานาน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้ช่วยให้คนไทยรอดพ้นจาการถูกคุกคามอธิปไตย เสียงปืนในสงครามบ้านร่มเกล้า ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี 2530-2535 ยังคงดังก้องอยู่ในหัวใจของพวกเขา การต่อสู้ปกป้องอธิปไตยของชาติไทย และมีความหวังกับคำสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะให้สัญชาติไทย
แต่เมื่อสงครามสงบ คำสัญญากลับเหลือแต่เพียงความว่างเปล่า ทิ้งความขมขื่นใจให้กับพี่น้องม้งกลุ่มที่ 1 ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในการเรียกร้องสิทธิของตนเอง หากแต่ว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด หัวใจที่ไม่ยอมแพ้ เพื่อสิทธิและสถานะบุคคลที่จะเป็นคนที่มีสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์ตามกฎหมายที่ถูกต้อง ต้องก้าวเดินต่อไป แม้จะนานเพียงไหนพวกเขาจะรอ

“ม้งถ้ำกระบอก แสงดาวกลางป่าที่ไม่เคยริบหรี่ กับความหวังที่ยังรอคอย”
 


ภาพการขอความช่วยเหลือจากพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ขณะนั้น)


นายแสง แสงยาอรุณ พาชาวบ้านยื่นหนังสือ ที่เชียงราย


นายไซ แซ่ซ่ง


นายเยี่ยปาว แซ่ซ่ง


หลักฐานประจำตัว ที่มีหมายเลขจากสำนักทะเบียนท้องถิ่น ต.พระพุทธบาท จ.สระบุรี


 


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท