'One for Ten' สารคดีสั้น เล่าชีวิตคนบริสุทธิ์แดนประหารในอเมริกา

ผู้กำกับหนังสั้นสี่คน ด้วยเวลาห้าสัปดาห์ ออกเดินทางไปสิบเมืองในสหรัฐ ตะลุยสัมภาษณ์ผู้บริสุทธ์อดีตเหยื่อแดนประหาร พร้อมๆ กับถ่ายทำ-ทวีตสด-ตัดต่อ-ขึ้นยูทูบ เพื่อให้คนดูมีส่วนร่วมในกระบวนการทำหนัง และเข้าใจปัญหาของ "โทษประหารชีวิต" 
 
"One for Ten" หรือ "หนึ่งจากสิบ" เป็นชื่อโครงการหนังสั้นสิบเรื่อง ที่ทำโดยทีมผู้กำกับชาวอังกฤษและอเมริกันสี่คน ซึ่งออกเดินทางทั่วสหรัฐอเมริกาไปยังสิบเมืองภายในห้าสัปดาห์ เพื่อถ่ายทอดชีวิตของอดีตนักโทษแดนประหาร ที่ภายหลังพบว่าบริสุทธิ์ และถูกตัดสินโทษประหารชีวิตไปด้วยความผิดพลาดจากกระบวนการยุติธรรมที่ต่างๆ กัน โดยที่มาของชื่อหนัง "หนึ่งจากสิบ" มาจากสถิติจำนวนผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตทั้งหมดในอเมริกา 1,323 คน ตั้งแต่ปี 1976 (พ.ศ. 2519) ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่ หลังจากหยุดสั้นๆ เป็นเวลาสี่ปี และมีผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง 142 คน
 
ภาพยนตร์สั้นสิบเรื่อง เรื่องละ 5 นาที บอกเล่าชีวิตของคนอย่าง เคิร์ค บลัดสเวิร์ธ ชายวัย 50 กว่าๆ จากรัฐแมรี่แลนด์ ที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตด้วยการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า เนื่องจากเกิดเหตุฆาตกรรมข่มขืนของเด็กสาวอายุ 9 ขวบในบริเวณละแวกบ้านของเขาเมื่อปี 1984 และจากหลักฐานภาพวาดที่ตำรวจได้จากคำบอกเล่าของเด็กชายทั้งสองคน ก็ไปมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับบลัดสเวิร์ธ ทำให้เขาถูกจับกุมและดำเนินคดีในศาล เนื่องจากเขาไม่มีพยานแวดล้อมที่หนักแน่น ทำให้เขาถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า 
 
"ผมพยายามตะโกนบอกว่าผมเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่มันก็เหมือนว่าคุณอยู่คนเดียวในห้องเก็บเสียง ที่ทั้งตะโกน ทั้งทุบผนัง แต่คนที่เดินผ่านไปผ่านมา เขาไม่ได้ยิน ไม่สนใจคุณ" บลัดสเวิร์ธกล่าวในภาพยนตร์
 
หลังจากที่เขาอยู่ในคุกมา 8 ปี เขาได้ไปอ่านเจอในหนังสือว่า มีการพลิกคดีฆาตกรรมคดีหนึ่ง เนื่องจากจำเลยได้นำหลักฐานไปพิสูจน์ดีเอ็นเอ ทำให้เขากลายเป็นผู้บริสุทธิ์ บลัดสเวิร์ธจึงผลักดันให้ทนายของเขานำร่องรอยอสุจิที่ตำรวจเก็บไว้ ไปพิสูจน์หลักฐานดีเอ็นเอ ซึ่งพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขา ทำให้บลัดสเวิร์ธถูกปล่อยตัวในปี 1993 หลังจากเขาอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 9 ปี เขาเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ถูกทำให้พ้นผิดจากโทษประหารชีวิตด้วยหลักฐานทางดีเอ็นเอ
 

ภาพยนตร์สั้นกรณีของเคิร์ค บลัดสเวิร์ธ (มีซับไตเติ้ลภาษาไทย เลือก CC และเลือก Thai)

วิล ฟรังโครม ผู้กำกับหนังกล่าวถึงที่มาของชื่อเรื่องว่า มาจากสถิติที่ว่าทุกๆ สิบคนที่ถูกตัดสินประหารในอเมริกา จะมีหนึ่งคนที่ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง
 
"เราอยากให้คนที่แม้จะสนับสนุนโทษประหารชีวิต มองเห็นปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมผ่านหนังเรื่องนี้" ฟรังโครมกล่าว 
 
ฟรังโคม ซึ่งเป็นชาวลอนดอนโดยกำเนิด ออกเดินทางกับทีมงานอีกสามคนในกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเช่ารถบ้านเคลื่อนที่หรือรถอาร์วี เดินทางทั่วสหรัฐอเมริการาว 8,000 กิโลเมตร เพื่อเดินทางไปแต่ละเมืองสำหรับกรณีต่างๆ โดยตั้งเป้าการผลิตหนังสั้นนี้สัปดาห์ละสองเรือง ทั้งหมดสิบเรื่อง ใช้เวลาห้าสัปดาห์ โดยผู้คนที่ผู้กำกับเลือกสัมภาษณ์สิบคน จะสะท้อนความผิดพลาดของการมีโทษประหารชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์ถูกตัดสินประหารชีวิต
 
ในขณะที่เขาสัมภาษณ์ผู้คนในเรื่องราว ทีมงานของเขาก็จะทวีตคำให้สัมภาษณ์ออกไปแก่ผู้ที่ติดตาม เพื่อให้คนดูสามารถส่งคำถามเข้ามาร่วมสัมภาษณ์ได้ หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ พวกเขาจะออกรถเดินทางไปยังจุดต่อไปทันที พร้อมๆ กับถอดเทป และตัดต่อฟุตเทจที่ได้มาบนรถบ้านขนาดยาว 9 เมตรขณะอยู่บนถนน เมื่อตัดต่อเสร็จ ก็จะโพสต์วีดีโอขึ้นยูทูบ พร้อมทั้งโพสต์สคริปต์สัมภาษณ์ขนาดเต็ม และฟุตเทจสัมภาษณ์ทั้งหมดขึ้นเว็บไซต์ oneforten.com เพื่อให้สาธารณะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยที่ผ่านมา ก็มีนักรณรงค์ หรือครู นำเอาวัตถุิบเหล่านี้ไปใช้สอนต่อด้วย
 
"เราอยากทำโปรเจคที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนโดยใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และเป็นโปรเจคที่ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมได้ตั้งแต่ต้น เราจึงคิดถึงการทำสารคดีที่มีปฏิสัมพันธ์ หรือ 'สารคดีที่เป็นประชาธิปไตย' ที่ทำให้คนดูเป็นส่วนหนึ่งของมันได้" ฟรังโคมกล่าว  
 

วิล ฟรังโครม (ซ้าย)  และมาร์ค พิซซี่ (ขวา) ทีมผู้กำกับภาพยนตร์ One for Ten
 
เมื่อถามถึงอะไรเป็นสิ่งที่เขารู้สึกสะดุดใจที่สุดจากการทำหนังสั้นโครงการนี้ ฟรังโครมบอกว่า เขาเห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีทนายที่แย่ หรือการเหยียดสีผิวในการดำเนินคดี
 
"มันแสดงให้ผมเห็นว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดแล้วเกิดอีก และมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมช็อคมากที่สุด" เขากล่าว 
 
ทั้งสิบกรณี เผยให้เห็นถึงคนอเมริกัน ต่างเพศ ต่างเชื้อชาติ ต่างช่วงปี ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจากความผิดพลาดที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ คณะลูกขุนที่เป็นคนผิวขาวทั้งหมด ในขณะที่จำเลยเป็นคนผิวดำ อย่างกรณีของแคลเรนซ์ แบรนด์ลีย์ ภารโรงผิวดำวัย 60 เศษ ซึ่งถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตเมื่อปี 1981 จากกรณีการฆาตกรรมเด็กหญิงอายุ 16 ปี เขาถูกจับกุมจากตำรวจเพราะเป็นคนผิวดำ และการให้ปากคำที่มีพยานหลักฐานไม่ชัดเจน 
 
เขาถูกไต่สวนโดยคณะลูกขุนที่เป็นคนผิวขาวทั้งคณะ และถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม 6 ปีถัดมา ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวใหม่ ด้วยมองว่าแบรนด์ลีย์ไม่ได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม หนึ่งในผู้พิพากษาคดีนี้ เขียนในคำแถลงว่า "ไม่เคยมีคดีไหนมาก่อนที่แสดงถึงอคติทางเชื้อชาติที่น่าตกใจขนาดนี้ รวมถึงการให้การเท็จ การข่มขู่พยาน และการสอบสวนที่ตั้งธงเอาไว้แล้ว"
 
การพิจารณาคดีใหม่ แสดงให้เห็นว่าหลักฐานที่เอาผิดแบรนด์ลีย์นั้นอ่อนเกินไป ทำให้เขาพ้นความผิดและปล่อยตัวในปี 1990 เก้าปีหลังจากที่เขาอยู่ในเรือนจำรัฐเท็กซัส เขาระบุว่าจนถึงทุกวันนี้ เขายังไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ จากรัฐ
 

ภาพยนตร์สั้นกรณีขอแคลเรนซ์ แบรนด์ลีย์ (มีซับไตเติ้ลภาษาไทย)

นอกจากสองกรณีที่ยกมา ยังมีอีกแปดคดีที่สะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบังคับให้สารภาพ การใช้คำให้การของผู้เชี่ยวชาญที่ผิดข้อเท็จจริง การชี้ตัวผิดคนจากพยาน และอื่นๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปชมได้ที่เว็บไซต์ oneforten (มีซับไตเติ้ลไทย)
 
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง One for Ten จำนวนสี่เรื่อง จะฉายในงานวันเปิดนิทรรศการโปสเตอร์ Death Is Not Justice ในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) เวลา 19.00 ที่ Dialogue Coffee and Gallery ถ.ราชดำเนิน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท