Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่มาภาพ : หนังสือรำลึก ๑๐๐ ปีศรีบูรพาเนื่องในวาระได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นของโลกจากยูเนสโก
 

แนวคิดศรีบูรพาในจีน

ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแนวคิดในงานเขียนของศรีบูรพาระหว่างอยู่ในจีน คุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์ เล่าว่า

"ศรีบูรพาเมื่อมาอยู่ที่จีน ท่านมีแนวความคิดอย่างไร ท่านไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่จากการสนทนากันในบางเรื่อง ทำให้ผมรู้ว่าความคิดของท่านมีการเปลี่ยนแปลง ความคิดของท่านผมรู้ว่าสังกัดอยู่ในสำนักปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ แต่ว่าท่านไม่ได้พูดออกมาว่าความคิดท่านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เกี่ยวกับการมองปัญหาอะไรต่างๆ ท่านได้แสดงออกมาในเวลาคุยกับผม ทำให้ผมรู้ว่าความคิดของท่านมีการเปลี่ยนแปลง ลองไปอ่านดูหนังสือของท่าน เช่น "สงครามชีวิต" "ข้างหลังภาพ" และอื่นๆ จะรู้ว่าความคิดท่านเริ่มต้นจากอะไร ผมว่าเริ่มต้นจากลัทธิมนุษยธรรม พัฒนามาจนถึงวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

ความคิดของท่านในระยะหลังใกล้เคียงกับความคิด "หลู่ซิ่น" (ผู้ได้ชื่อว่าเป็น "ปรมาจารย์นักประพันธ์จีนแห่งศตวรรษที่ 20" - ผู้เขียน)

หลู่ซิ่นเป็นถึงนักประพันธ์เอกของโลก ท่านไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และเท่าที่ผมทราบ ศรีบูรพาก็ไม่ใช่

พอประธานฯ เหมา (เหมาเจ๋อตง-อดีตผู้นำจีน) ประธานฯ เหมาพบท่านก็เรียกท่านว่า "ไท่กว๋อเตอะหลู่ซิ่น" แปลว่า "หลู่ซิ่นแห่งประเทศไทย" ผมว่า เหมาะสม

คำพูดนี้ที่ท่านประธานฯ เหมาเรียกศรีบูรพา ก็เพราะรู้ว่า สองคนนี้มีแนวความคิดใกล้เคียงกัน

หลู่ซิ่นเองก็ไม่ใช่เริ่มต้นก็ก้าวหน้า ท่านเริ่มมาจากความเห็นอกเห็นใจประชาชนผู้ทุกข์ยาก เขียนเพื่อประชาชน ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งยึดถือหลักปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

ศรีบูรพาก็เป็นเช่นนั้น ไปอ่านดูเรื่องต่างๆ ที่ท่านเขียนไว้ แล้วจะพบว่า ความคิดท่านค่อยๆ พัฒนามาเป็นลำดับ

ศรีบูรพามีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ สิ่งอะไรที่ท่านไม่แน่ใจ ท่านจะไม่ยอมยึดถือง่ายๆ ถ้าท่านแน่ใจและยึดถือแล้ว ท่านก็จะไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ

ท่านก้าวหน้ามาอย่างนี้ทีละขั้นๆ

ลักษณะของท่านเป็นอย่างนี้ หมายความว่า แต่ละก้าวของท่านก้าวมาด้วยฝีก้าวอันมั่นคง ท่านไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ ยังไม่ยึดถือ

เมื่อเข้าใจแล้ว แน่ใจแล้ว จึงจะยึดถือ ยึดถือแล้วก็จะไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ

 

บทอำลา

ระหว่างพำนักที่จีน

บางเวลานักเรียนนักศึกษาจีนโพ้นทะเลจากเมืองไทย ทั้งชายและหญิงจะผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเรา ศรีบูรพาท่านเป็นคนรักชอบเยาวชน เมื่อมีโทรศัพท์นัดมา ถ้าไม่ติดธุระอย่างอื่นท่านก็ไม่เคยปฏิเสธที่จะพบปะสนทนาด้วย แม้กระทั่งเด็กหนุ่มสาวเหล่านั้นขอถ่ายรูปกับท่านที่หน้าโรงแรมเหอผิงปินกว่าน ท่านก็ไม่เคยปฏิเสธ

เด็กหนุ่มสาวจากเมืองไทยก็เคารพรักท่าน มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจก็นำมาเล่าให้ท่านฟัง

ในระหว่างปี พ.ศ.2504 ผมใคร่ครวญถึงว่า มาอยู่ในประเทศจีนไม่รู้ภาษาจีนก็เป็นอุปสรรคในการศึกษาค้นคว้าสังคมจีนในด้านต่างๆ จึงคิดจะไปเรียนภาษาจีนให้ใช้การได้ ผมได้นำความตั้งใจนี้ไปปรึกษากับศรีบูรพา ท่านก็เห็นชอบด้วยที่ผมอยากจะเรียนภาษาจีน

วันหนึ่งในโอกาสที่ผู้รับผิดชอบของสมาคมวัฒนธรรมวิเทศสัมพันธ์มาเยี่ยมเราที่โรงแรม ศรีบูรพาท่าก็เอ่ยเรื่องที่ผมอยากเรียนภาษาจีนให้เขาฟัง เขาก็รับปากจะไปจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้

ต่อมาประมาณครึ่งเดือนทางสมาคมก็แจ้งให้ผมเตรียมตัวไปเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไปใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ศรีบูรพาท่านยังคงพำนักอยู่ที่โรงแรมเหอผิงปินกว่าน มีเวลาวันเสาร์ วันอาทิตย์ ผมก็จะกลับมาเยี่ยมท่าน

ผมเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง 2 ปี เมื่อสอบผ่านแล้ว และมีความรู้ภาษาจีนพอที่จะฟังเล็กเชอร์ได้ ก็ตัดสินใจเรียนต่อในแผนกปรัชญา เพราะรู้ว่าแผนกหรือคณะนี้เขาสอนปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานของมาร์กซิสม์

ผมอยากเรียนปรัชญาด้านนี้มานานตั้งแต่อยู่ในเมืองไทยแล้ว แต่ไม่ได้เอ่ยปากพูดกับใคร เพราะมาร์กซิสม์มักจะถือกันว่าเป็น กฎศาสตร์อันตราย

ภายหลังที่ได้เรียนแล้วจึงได้รู้ว่ากฎปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ การศึกษาค้นคว้าวิทยาศาสตร์หรือสภาพการณ์ใดๆ จักต้องใช้ทรรศนะ วัตถุนิยมวิภาษ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ มาชี้นำจึงจะพบสัจธรรม

ในปี พ.ศ.2507 ผมได้รับเชิญให้ออกมาเป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ สาขาวิชาชีพแผนกภาษาไทย

ปี พ.ศ.2513 ย้ายงานมาอยู่องค์กรการพิมพ์ภาษาต่างประเทศ ปักกิ่ง แผนกจัดพิมพ์หนังสือเล่มภาษาไทย มีที่พักอยู่ที่โรงแรมอิ่วหยีปินกว่าน (โรงแรมมิตรภาพ)

หากมีเวลาว่างผมกับภรรยา (ศรีกานดา) ก็จะไปเยี่ยมศรีบูรพา และ คุณชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของท่านที่โรงแรมเหอผิงปินกว่าน

เราได้ปฏิบัติอย่างนี้เสมอมา จนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2517 ผมได้ทราบว่าศรีบูรพาท่านล้มเจ็บด้วยโรคปอดบวม เข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเสเหอ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในเวลานั้น ผมกับภรรยาได้ไปเยี่ยมท่าน

หลายครั้ง เห็นท่านมีอาการดีขึ้น เราก็รู้สึกดีใจมาก

ครั้งหนึ่ง เราไปเยี่ยมท่าน พอก้าวเข้าไปในห้องคนไข้ ก็แลเห็นท่านค่อยๆ ยันตัวลุกขึ้นนั่งหย่อนขาอยู่บนเตียง ผมถามถึงอาการไข้ของท่าน ท่านก็บอกแต่เพียงว่ารู้สึกอ่อนเพลีย

ครู่หนึ่งท่านก็บอกให้เราเล่าสถานการณ์เมืองไทยให้ท่านฟัง ผมก็สรุปตามข่าวที่อ่านพบในหน้าหนังสือพิมพ์โดยทั่วๆ ไป และได้เล่าสถานการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาหลังจากกรณี 14 ตุลาคม ที่ได้ผลักดันให้สังคมไทยเคลื่อนเข้าหาระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น

ขณะนั้นเราเห็นท่านมีอาการอ่อนเพลียมาก ผมกับภรรยาจึงเข้าไปประคองท่านให้เอนหลังลงนอน ครู่หนึ่ง ท่านก็พูดออกมาเบาๆ ว่า "นี่เป็นชัยชนะของนักศึกษา"

ท่านหยุดพูดครู่หนึ่ง แล้วก็พูดอีกว่า "เยาวชนเป็นอนาคตของประเทศชาติ"

คำพูด 2 ประโยคนี้ของท่านแสดงออกมาชัดว่า ใจของท่านสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคม 2516 อย่างเต็มที่ ถึงเวลาจะผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว ท่านก็ติดตามข่าวนี้ตลอดมา และคำพูดที่ว่า "เยาวชนเป็นอนาคตของประเทศชาติ" ก็แสดงว่าท่านได้มองเห็นสัจธรรมอันนี้ชัดแจ้ง

นั่นเป็นคำพูดประโยคสุดท้ายที่ท่านกล่าวกับผมและภรรยา ถึงแม้จะเป็นคำพูดเบาๆ แต่ก็เต็มไปด้วยความหมายอันหนักแน่นในสัจธรรม!

จากวันที่เราไปเยี่ยมท่านครั้งหลังไม่นาน เพื่อนจีนทางสมาคมวัฒนธรรมวิเทศสัมพันธ์ ได้โทร.มาบอกว่าศรีบูรพาหมดสติไม่รู้สึกตัวและพูดไม่ได้แล้ว

เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ฝ่ายจีนหลายท่าน เช่น ฉู่ถูหนาน นายกสมาคมวัฒนธรรมวิเทศสัมพันธ์แห่งประเทศจีน เลี่ยวเฉิงจื้อ นายกสมาคมจีนโพ้นทะเลแห่งประเทศจีน จ้าวผู่ชู นายกสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน และคนอื่นๆ ได้ไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาล แต่หมอไม่ยอมให้เข้าเยี่ยม

ท่านเหล่านั้นจึงได้แต่ชะเง้อมองอยู่นอกห้องไอซียู ทางโรงพยาบาลยอมให้เข้าเยี่ยมได้คนเดียวคือ คุณชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของท่าน

ผมกับภรรยาหมอก็ไม่ให้เข้าเยี่ยมเหมือนกัน

ในที่สุด วันแห่งความโศกศร้าก็มาถึง

ศรีบูรพาได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2517 ณ โรงพยาบาลเสเหอ ปักกิ่ง

เมื่อได้รับข่าวนี้ น้ำตาเรา (ผมกับภรรยา) ก็หลั่งลงด้วยความเศร้าโศกเสียใจ

ฝ่ายจีนได้จัดงานฌาปนกิจศพศรีบูรพาที่สุสานปาเป่าซาน ในปักกิ่งอย่างสมเกียรติ

โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉู่ถูหนาน นายกสมาคมวัฒนธรรมวิเทศสัมพันธ์แห่งประเทศจีน เลี่ยวเฉิงจื้อ นายกสมาคมจีนโพ้นทะเลแห่งประเทศจีน จ้าวผู่ชู นายกสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน ผู้ใหญ่ฝ่ายจีนที่รู้จักกับศรีบูรพา หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะ ผู้แทนส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้ส่งพวงหรีดมาตั้งประดับในสถานฌาปนกิจศพศรีบูรพา

สถานีวิทยุกระจายเสียงปักกิ่งก็ได้ออกอากาศประกาศข่าวการถึงแก่กรรมของท่าน และหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า (หนังสือพิมพ์ประชาชนรายวัน) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ก็ได้ลงข่าวเกี่ยวกับการถึงแก่กรรมของท่านด้วย

คุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้กล่าวกับผู้เขียนในที่สุดว่า

"ถูกละ ศรีบูรพาได้ถึงแก่กรรมแล้ว แต่ในความรู้สึกของเรา ญาติมิตรของท่าน ตลอดทั้งประชาชนผู้ศรัทธาท่านนั้น ศรีบูรพาไม่ได้ตาย ท่านยังมีชีวิตอยู่ในหัวใจของเราทุกคน!"


 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายสัปดาห์

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net