Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผลของสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด  ทำให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (“ทุ่งคำ”)  ยื่นขอประทานบัตรเอาไว้ตั้งแต่ปี 2538  จำนวน 112 แปลง  ประมาณ 33,600 ไร่  แบ่งเป็น

1. ได้ประทานบัตรแล้ว 6 แปลง คือ ประทานบัตรที่ 26968/15574, 26969/15575, 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559 และ 26973/15560  ที่ตั้งอยู่บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  รวมเป็นพื้นที่ 1,291 ไร่ 

ถ้ารวมพื้นที่ที่เป็นโรงประกอบโลหะกรรม (แต่งแร่และถลุงแร่) และบ่อกักเก็บกากแร่ (บ่อไซยาไนด์)  ในบริเวณพื้นที่ประทานบัตรดังกล่าว  จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,500 ไร่

2. คำขอประทานบัตร จำนวน 106 แปลง  ประมาณ 30,114 ไร่  ซึ่งส่วนใหญ่ติดอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ประเภทต่าง ๆ (ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าใช้สอยอื่น ๆ)  และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี

ซึ่งคำขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  และแปลงที่ 76/2539  ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย  ที่ได้ดำเนินการจัดทำเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร ไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ตามลำดับ  อยู่ในคำขอประทานบัตรกลุ่มนี้ด้วย

 

สัญญาขัดแย้งกับกฎหมายแร่ในกรณีพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม

มาตรา 6 ทวิ[1]  และมาตรา 6 จัตวา[2]  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 (“กฎหมายแร่”)  มีข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ที่เป็น ‘แหล่งต้นน้ำ’  หรือ ‘ป่าน้ำซับซึม’  แม้ปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงก็ไม่สามารถประกาศให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้  จะต้องคำนึงถึงการเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามก่อนเป็นอับดับแรก

แต่สัญญาฯ ดังกล่าว กลับด้าน  คือ ละเมิดหลักการของมาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา  ด้วยการนำพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมที่พบว่ามีแร่ทองคำมาให้สัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่แก่ผู้ประกอบการได้

 

 

ภาพที่หนึ่ง  ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)

คัดลอกจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด คำขอประทานบัตร 104/2538  หน้า 6. 25 ธันวาคม 2555

 

บรรยายภาพที่หนึ่ง  นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่แล้ว คำขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ยังเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี  ตามที่ระบุไว้ในรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าวอีกด้วย

 

ภาพที่สอง  ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 76/2539

คัดลอกจากเอกสารรายละเอียดโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 และขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)  หน้า 5.  เอกสารประกอบเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1 หรือพับลิก สโคปปิง) โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด คำขอประทานบัตร 76/2539. 8 กันยายน 2556

 

บรรยายภาพที่สอง  บริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 และ 77/2539  มีลักษณะเป็นเนินเขาลูกเตี้ยชายขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งตะวันออก  ที่แสดงถึงความเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่  อย่างชัดเจน  เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ มีลำห้วย ลำราง ทางน้ำ ไหลผ่าน  นอกจากนั้น พื้นที่นี้ยังมีความสำคัญต่อระบบน้ำใต้ดิน เพราะเป็น Recharge Area  หรือพื้นที่รับน้ำเพื่อเติมน้ำลงไปใต้ดิน เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำต่อไป

 

ความเป็นนิรันดร์ของสัญญาเกิดจากการรวมแร่อื่น ๆ  เอาไว้ในสัญญาด้วย

สัญญาฯ ดังกล่าว  ระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่อื่น ๆ ในพื้นที่ “เขตสิทธิ”[3] เอาไว้เป็นที่น่าตระหนกตกใจมาก  ก็เพราะว่ารัฐ-ราชการเปิดโอกาสให้ทุ่งคำถือสิทธิครอบครองสัมปทานแร่ทุกชนิด (ไม่เฉพาะแร่ทองคำ) ในเขตสิทธิ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่  เต็มพื้นที่ต่อไปได้อีก  หลังจากที่ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ 112 แปลง ประมาณ 33,600 ไร่ แล้ว ก็ตาม  ด้วยเนื้อหาที่ระบุไว้ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำเหมือง “แร่อื่น ๆ” ในพื้นที่ที่ได้รับสิทธิ  ตามข้อ 9 (2) ว่า “ในกรณีที่บริษัทสำรวจพบ “แร่อื่น ๆ” ในเขตสิทธิ และจะขอประทานบัตรทำเหมืองแร่นั้น ในการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ชนิดนั้น  บริษัทจะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐบาล  นอกเหนือจาก (ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ-ผู้เขียน) ที่กำหนดไว้ในข้อ 3 แห่งสัญญานี้  ทั้งนี้  การออกประทานบัตรจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการในพระราชบัญญัติแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  หากมีการขอเพิ่มชนิดแร่เพิ่มเติม ก็จะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐสำหรับแร่ที่ขอเพิ่มนั้นด้วย”

ตามความเป็นจริง  สิทธิในการครอบครองพื้นที่ที่เป็นเขตสิทธิจะต้องลดลงตามพื้นที่ที่ยื่นคำขอประทานบัตรเอาไว้ จำนวน 112 แปลง ประมาณ 33,600 ไร่  ดังที่ระบุเนื้อหาเอาไว้ในสัญญาข้อ 2 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้สิทธิสำรวจและทำเหมือง “แร่ทองคำ”  ดังนี้

                “ข้อ 2 (1)  ภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญานี้  บริษัทจะต้องยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจ “แร่ทองคำ”  ให้เต็มตามพื้นที่ที่ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมือง “แร่ทองคำ”  โดยอาชญาบัตรพิเศษจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 2 ปี

                “การให้สิทธิสำรวจ “แร่ทองคำ”  ตามสัญญานี้  ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษหรือเป็นการขออาชญาบัตรพิเศษใหม่  จะมีระยะเวลารวมกันไม่เกิน 5 ปี

                “ข้อ 2 (2)  เมื่อบริษัทได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเต็มตามพื้นที่  ตามข้อ 2 (1)  แล้ว  กรมจะดำเนินการเพื่อให้มีการออกอาชญาบัตรพิเศษทั้งหมดให้แก่บริษัทโดยเร็ว

                “ข้อ 2 (3)  หากบริษัทมีความเห็นว่า การสำรวจตามอาชญาบัตรพิเศษฉบับหนึ่งฉบับใดหรือหลายฉบับบ่งชี้ว่ามี “แร่ทองคำ”  เพียงพอที่จะลงทุนทำเหมืองได้  บริษัทจะต้องยื่นขอประทานบัตรหนึ่งหรือหลายฉบับสำหรับทำเหมือง “แร่ทองคำ”  ให้เสร็จสิ้นก่อนที่อาชญาบัตรพิเศษฉบับนั้น ๆ จะสิ้นอายุ  และบริษัทจะเร่งรัดกิจการอันจำเป็นทั้งหลายในการที่จะให้บริษัทได้รับประทานบัตรตามคำขอโดยเร็ว”  

และปรากฎอยู่ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำเหมือง “แร่อื่น ๆ” ในพื้นที่ที่ได้รับสิทธิ  ตามข้อ 9 (1)  ด้วยว่า  “ในกรณีที่บริษัทได้รับประทานบัตรทำเหมือง “แร่ทองคำ”  แต่ปรากฏว่ามีแร่ชนิดอื่นรวมอยู่กับ “แร่ทองคำ” ด้วย  และบริษัทประสงค์จะผลิตแร่ชนิดอื่นนั้นด้วย  บริษัทจะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐบาล  ในการพิจารณาอนุญาตให้เพิ่มชนิดแร่แต่ละชนิดลงในประทานบัตรก่อนที่จะทำการผลิต  นอกเหนือจาก (ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ-ผู้เขียน) ที่กำหนดไว้ในข้อ 3 แห่งสัญญานี้”

 

โดยสรุปก็คือ เงื่อนไขของสัญญาฯ ดังกล่าว ที่ปรากฏอยู่ในข้อ 2 (1) – (3) และ ข้อ 9 (1)  มีความประสงค์ที่ชัดเจนที่จะจำกัดการทำแร่อื่น ๆ ภายใต้คำขอประทานบัตร และประทานบัตรทำเหมือง “แร่ทองคำ” เท่านั้น  ซึ่งก็คือพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ 112 แปลง  ประมาณ 33,600 ไร่ ที่ยื่นขอเอาไว้แล้วนั่นเอง  ซึ่งหมายความต่อมาว่าพื้นที่ที่เป็นสิทธิครอบครองสัมปทานจะต้องลดลงตามพื้นที่คำขอประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำด้วย 

แต่ข้อ 9 (2)  กลับขยายหรือเปิดโอกาสให้ทุ่งคำถือสิทธิครอบครองเขตสิทธิ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่  เต็มพื้นที่ดังเดิม

ด้วยเทคนิควิธีการเขียนสัญญาแอบซ่อนเช่นนี้  สัญญาฯ ดังกล่าว จึงมีลักษณะความเป็นนิรันดร์ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าทุ่งคำจะขุดแร่อื่น ๆ  ซึ่งมีทั้งหิน  ดิน  ทราย  อโลหะ และโลหะชนิดอื่น  ในพื้นที่ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่ หมดสิ้นลงในวันใด

ด้วยลักษณะความเป็นนิรันดร์ของสัญญาเช่นนี้  ยิ่งตอกย้ำความวิปลาสของสัญญาฯ ดังกล่าว มากยิ่งขึ้นไปอีก (โปรดดูบทความชื่อสัญญาวิปลาส ผูกขาดแร่ทองคำจังหวัดเลย  ที่ผู้เขียนเขียนไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อประกอบการอ่านบทความนี้)

 

                                               

 




[1]               มาตรา 6 ทวิ  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ  การทดลอง  การศึกษา  หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใด ๆ  ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ  การทดลอง  การศึกษา  หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้

                ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่งผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตร  ประทานบัตรชั่วคราว  หรือประทานบัตรไม่ได้  เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                เมื่อหมดความจำเป็นที่จะใช้เขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษา

[2]               มาตรา 6 จัตวา  เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา  กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม  ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์  และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว  หรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม  หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น  แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

[3] “เขตสิทธิ”  หมายความว่า  เขตขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง  คลุมพื้นที่อำเภอเมือง  อำเภอท่าลี่  อำเภอภูเรือ  และอำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย  เนื้อที่ประมาณ 545 ตารางกิโลเมตร  ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดเลย  หนองคาย และอุดรธานี  ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2532.  คัดลอกจากนิยามที่ปรากฎอยู่ในสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net