Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนึ่งในผู้เขียน PreahVihear: A Guide to the Thai-Cambodian Conflict and Its Solutions เมื่อ 30 ก.ย. 56 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)

ปกหนังสือ PreahVihear: A Guide to the Thai-Cambodian Conflict and Its Solutions โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ ภู โสธิรักษ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT มีการเสวนาและการเปิดตัวหนังสือ  PreahVihear: A Guide to the Thai-Cambodian Conflict and Its Solutions (พระวิหาร: คู่มือทำความเข้าใจความขัดแย้งไทยกัมพูชา และทางออก) ซึ่งเป็นหนังสือที่เริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี 2553 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต (CSEAS) และ ภู โสธิรักษ์ (Pou Sothirak) อดีตเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศญี่ปุ่น และอดีตผู้อำนวยการสถาบันกัมพูชาเพื่อสันติภาพและความร่วมมือ (CICP) ผู้เขียนหนังสือทั้งสามได้มาร่วมเสวนาในการเปิดตัวหนังสือดังกล่าว

000

ภายหลังการเสวนา ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ว่า หนังสือเล่มนี้ถ้าแปลเป็นไทยก็คือเป็น "คู่มือแนะนำในการเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างไทย-กัมพูชา" และเสนอทางแก้ไขปัญหา

โดยในส่วนที่เป็นบทการแก้ไขปัญหานั้น ท่านทูตกัมพูชา ภู โสธิรักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนด้วย โดยได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาในหลายระดับ ตั้งแต่ในระดับของทวิภาคี ซึ่งไทยและกัมพูชายังมีกลไกที่ใช้ได้อยู่ และกลไกนี้สามารถใช้เป็นเวทีให้ทั้งสองฝ่ายคุยกันในหลายๆ ระดับต่างกันไป เช่น Joint Border Committee คณะกรรมการร่วมชายแดน 2 ประเทศ หรือ General Joint Committee ที่เป็นคณะกรรมการกว้างๆ ที่ดูแลหลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องเขตแดน

"นี่เป็นจุดหนึ่งที่ผมเห็นว่าสามารถทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเราคำนึงถึงบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในขณะนี้ ซึ่งเปิดกว้างมากขึ้น สองรัฐบาลคุยกันมากขึ้น มันก็อาจมีความเป็นไปได้"

"อีกจุดหนึ่ง เป็นการแก้ไขปัญหา โดยผ่านกลไกทางด้านภูมิภาค นั่นก็คือการพึ่งสมาคมอาเซียน ที่ต้องเป็นอาเซียนเพราะทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกอาเซียน และอย่างที่ผมย้ำในวันนี้คืออาเซียนมีกลไกในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก เมื่อเรากลับไปดูเอกสารที่อาเซียนเคยลงนามร่วมกันตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนจนถึงล่าสุดมีการใช้กฎบัตรอาเซียน ในทุกเอกสารมีการพูดถึงการแก้ไขปัญหาทวิภาคี ซึ่งถ้าสองฝ่ายร่วมใจกันและยังเห็นความสำคัญของอาเซียน ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาได้"

"อีกอันหนึ่งที่ท่านทูตกัมพูชา เสนอไว้คือ การพึ่งองค์การระหว่างประเทศ ผมเห็นว่าอาจไม่ได้ผลส่วนหนึ่ง เพราะการหันไปพึ่งองค์การระหว่างประเทศในระดับโลก มันชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของกลไกในภูมิภาคที่เรามีอยู่ คิดว่าไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม คิดว่าถึงที่สุดแล้วความเป็นไปได้อยู่ที่ทวิภาคีและในกรอบของภูมิภาคคืออาเซียน" อ.ปวินกล่าว

ต่อคำถามที่ว่า "ข้อเสนอในเรื่องการจัดการพื้นที่พิพาทร่วมกัน ในความเป็นจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขใด?" นั้น อ.ปวิน กล่าวว่า "ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีเขาพระวิหารที่เลยเถิดบานปลายถึงขั้นที่เรียกว่าสงครามก็ว่าได้นี้ กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า "Set Standards" คือตั้งมาตรฐานในแง่ที่ลบมากๆ หมายความว่า ต่อไปนี้ข้อพิพาทที่มีต่อกัมพูชาโดยเฉพาะในเรื่องชายแดนต้องถูกเอามาวิเคราะห์ ถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ "Room of Manoeuvre" หมายถึงว่า ช่องทางที่จะมีการแก้ไขปัญหา Behind the scence ลดน้อยลง หมายความว่า ปัจจัยเรื่องเกี่ยวกับความยืดหยุ่นมันลดน้อยลง เพราะว่ามันกลายเป็นประเด็นสาธารณะแล้ว ทุกฝ่ายโดยเฉพาะสาธารณชนจับตามองอย่างยิ่งว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะฉะนั้นผมถือว่าเป็นการเซ็ทมาตรฐานที่แย่มากๆ"

"ในความเป็นจริง ถ้าจะจัดการพื้นที่ร่วมกันนั้น อ.ปวิน เห็นว่า "เรื่องนี้ต้องกลับไปคุยกันนอกรอบอีก กลับไปคุยโดยที่ไม่เอามาพูดในสื่อมากนัก เพราะจะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายมีการโต้เถียงต่อรองกัน ซึ่งถ้าพูดตามความเป็นจริงคงเกิดลำบาก เพราะว่าประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นที่ทุกคนรู้กันหมดแล้ว และผมไม่แน่ใจว่า เราไม่ใช่มีข้อพิพาทกับกัมพูชาเพียงแค่กรณีเขาพระวิหารอย่างเดียว เรายังมีความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับวัดต่างๆ ที่อยู่ในแนวพรมแดน ผมกังวลใจว่าถ้าหากว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบเงียบๆ ต้องเปิดออกมาในที่สาธารณะ มันยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ เกิดความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น"

"ถ้าจะตอบปัญหาข้อนี้ก็คือ ในความเป็นจริงแล้วคงเป็นไปได้ลำบากที่จะกลับไปคุยกันแบบเดิม คือแบบที่มีการเจรจาหลังม่าน ผมคิดว่าคงเป็นไปได้ยาก"

000

สำหรับหนังสือ PreahVihear: A Guide to the Thai-Cambodian Conflict and Its Solutions นอกจากการเปิดตัวที่ FCCT ในกรุงเทพฯ แล้ว เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ก็มีการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ที่ สถาบันกัมพูชาเพื่อสันติภาพและความร่วมมือ (CICP) ซึ่งสถาบันดังกล่าวมีเจ้านโรดมศิริวุฒิ พระเจ้าอาของสมเด็จนโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบัน เป็นประธานเช่นกัน

นอกจากนี้จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับตัวหนังสือเล่มนี้อีกครั้งในการเสวนาหัวข้อ "นับถอยหลัง วันเปิดคำพิพากษา "คดีเขาพระวิหาร" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 3 ต.ค. 56 (ดูกำหนดการ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net