Skip to main content
sharethis
มติ ครม. เห็นชอบให้แก้ไขราคาข้าวโพดตกต่ำ และยืนยันว่าพร้อมรับจำนำข้าวรอบใหม่ พร้อมทั้งขยายเวลาลดภาระค่าครองชีพด้านการเดินทางเป็นระยะที่ 13 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 31 มีนาคม 2557

มติ ครม. แก้ไขปัญหาข้าวโพดตกต่ำ และย้ำว่ามีความพร้อมในการรับจำนำข้าวครั้งใหม่

วันนี้ (1 ต.ค. 56) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญได้แก่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ ผลการหารือมติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. สิทธิใบรับรองเกษตรผู้ปลูกข้าวโพดจะได้รับสิทธิเหมือนเดิมทุกประการ และ 2. กำหนดให้ราคาข้าวโพดอยู่ที่กิโลกรัมละ 9 บาท ที่ความชื้น 15% ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ นอกจากนี้รัฐบาลมีมาตรการเร่งการส่งออกข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าไปแทรกแซงราคาข้าวโพดในบางครั้ง โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มทันที

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวเน้นย้ำการจำนำข้าวครั้งใหม่ ที่จะเริ่มในวันนี้ (1 ต.ค.56) รัฐบาลมีความพร้อม แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการมีหลายขั้นตอน เช่น การจดทะเบียน การประชาคม หรือเรื่องเกี่ยวกับโรงสี ซึ่งอาจจะมีเกษตรกรที่เข้าใจว่ารัฐบาลไม่พร้อม จึงขอทำความเข้าใจว่าภาครัฐมีความพร้อมเพียงแต่มีขั้นตอนต่างๆ เพื่อความโปร่งใส โดยอาจจะเริ่มจำนำได้ราวปลายเดือนตุลาคมนี้

 

นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้จัดรับฟังความเห็นทุกฝ่ายเรื่องเขื่อนแม่วงก์จำเป็นหรือไม่

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เมื่อวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่ผ่านมา และขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่สามารถบูรณาการทำงานส่วนหน้าและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันในส่วนของ Single Command Center ปัจจุบันก็เริ่มเห็นการใช้ข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น และต้องการให้แต่ละหน่วยงานมีส่วนร่วมในการที่จะบันทึกเอาไว้เพื่อป้องกันการทำงานที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำอุปกรณ์ที่สามารถใช้ในการช่วยเหลือประชาชนมารวมไว้ที่ศูนย์ส่วนหน้า เพื่อที่จะได้นำไปช่วยเหลือประชาชนและนำไปใช้ในพื้นที่ที่จำเป็นต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเกิดขึ้นเฉพาะที่ แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องพิจารณาว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของประชาชนโดยรวมหรือไม่ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้หมอบหมายให้ กบอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรื่องดังกล่าวพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าจะดูแลอย่างเต็มที่ ทั้งนี้คาดว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2556 สถานการณ์โดยรวมน่าจะดีขึ้น และหลังจากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง ส่วนพื้นที่ในลุ่มเจ้าพระยาทั้งจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ยังรับสถานการณ์ได้ ยกเว้นที่ตำบลโผงเผง จังหวัดอ่างทอง อำเภอบางบาล และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ยังมีน้ำท่วม ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่าไม่มีปัญหา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานกระทรวงกลาโหมไปดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งจัดกำลังพลและเครื่องผลักดันน้ำของกระทรวงกลาโหมเข้าไปช่วยเหลือ และติดตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถึงกรณีเขื่อนแม่วงก์โดยยอมรับว่าปัจจุบันเขื่อนแม่วงก์ประชาขนยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ จึงมอบหมายให้ทาง กบอ. และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟังความคิดเห็น โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและปัญหาต่างๆ จากทุกฝ่ายถึงความจำเป็นว่าการมีหรือไม่มีเขื่อนแม่วงก์แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงพิจารณาว่ามีทางเลือกอื่นหรือไม่ในการบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาอุทกภัย

 

ขยายเวลาลดค่าครองชีพด้านการเดินทางต่อไปเป็นระยะที่ 13

ส่วนมติ ครม. อื่นๆ นั้น ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ขอให้มีการดำเนินการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ด้านการเดินทางต่อไปเป็นระยะที่ 13 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 31 มีนาคม 2557 ทั้งนี้ ขสมก.จะจัดรถเมล์ธรรมดา จำนวน 800 คันต่อวันให้บริการ ประชาชน ใน 73 เส้นทาง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประมาณการค่าใช้จ่ายในวงเงินทั้งสิ้น 1,153 ล้านบาท และการทางรถไฟแห่งประเทศไทยรับภาระจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกล กระบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ซึ่งเป็น โครงการรถเมล์และรถไฟฟรีที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือประชาชน

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอการกู้เงินของธนาคารอาคารสงเคราะห์หรือ ธอส.วงเงิน 1 หมื่น 1 พันล้านบาท ธอส.มีกลุ่มเสี่ยงผู้ฝากเงินกลุ่มใหญ่ถอนเงิน จากรายงานศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์อยู่ในสังกัดของธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานการจัดเก็บอสังหาริมทรัพย์ 7 ประเภท ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม รีสอร์ท นิคมอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ และที่ดินเปล่านำมาประมวลข้อมูล ครึ่งปีแรก มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ การเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 204 โครงการ บ้านจัดสรร 110 โครงการ อาคารชุด 94 โครงการ ซึ่งช่วงหลังการเปิดตัวของคอนโดมิเนียมมีการชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2

ส่วนเรื่องข้าวโพดนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับงบประมาณจัดสรรผ่านคณะรัฐมนตรี 2,390 ล้านบาท มีการออกใบรับรองเกษตรกรอีก 245,000 ราย จะสามารถเข้าร่วมมาตรการให้การช่วยเหลือของรัฐในปี 56/57

และการแทรกแซงการรับซื้อข้าวโพดให้กับเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.66 จึงขยายเป้าหมายการแทรกแซงการรับซื้อข้าวโพดโดยกำหนดให้รับซื้อกิโลกรัมละ 7 บาท ในความชื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์ และกิโลกรัมละ 9 บาท ในความชื้นที่ 14.5 เปอร์เซ็นต์ เป้าหมายเดิม คือ 1 ล้านตัน วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 875,000 บาท โดยจะมีการชดเชยให้กับผู้ขนส่ง สหกรณ์ผู้เข้าร่วมใน 6 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ตาก และแม่ฮ่องสอน โดยมีเป้าหมายการจ่ายวงเงินรวม 70 ล้านบาท ส่วนการผลักดันการส่งออกมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันความสามารถจากเดิมที่ 30,000 ตัน เป็น 50,000 ตัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net