ทูลเกล้าฯ รธน.ทันที

2 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สังคมไทยกลับเข้าสู่ความมีเหตุผลมากขึ้น สังคมไทยเริ่มยอมรับหลักการประชาธิปไตย ที่ตัดสินความขัดแย้งด้วยการเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจศาลล้มรัฐบาล เพราะตระหนักว่าจะนำมาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวาย ความรุนแรง สูญเสียเลือดเนื้อ

ปีกหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตย ปีกหนึ่งของภาคประชาสังคม เริ่ม “Reposition” พูดคุยกันมากขึ้น หาทางก้าวข้ามความขัดแย้ง ในหลักการประชาธิปไตยที่ไม่ได้บอกว่าคุณต้องยอมให้รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่าง เรื่องใดที่รัฐบาลทำไม่ถูก ก็ต้องร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้าน ด้วยเหตุผล เช่น ระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ซึ่งไม่เปิดให้สังคมมีส่วนร่วม ซ้ำผู้รับผิดชอบอย่าง ปลอดประสพ สุรัสวดี ยังมีท่าทีแข็งกร้าวไม่รับฟังใคร ก็นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งแม้ยังเปื้อนสีอยู่มากแต่ผู้คนส่วนหนึ่งก็ก้าวข้ามสีได้

กระนั้น ก็ยังมีเสียงข้างน้อยที่ดื้อด้านดันทุรัง ขัดขวางการกลับสู่วิถีประชาธิปไตยอย่างบ้าคลั่ง กระทั่งพร้อมจะทำลายสังคมเพื่อชัยชนะ คนพวกนี้เคยบอกว่าตัวเองเป็นคนดี แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่มานานแล้ว เพราะยอมใช้วิธีการที่เลวร้ายทุกอย่าง แม้กระทั่งดึงเอาสถาบันสูงสุดลงมาอยู่ในความขัดแย้งอีกครั้ง แม้กระทั่งมองไปข้างหน้าอาจจะเห็นสงครามกลางเมือง ก็ยังต้องการเอาชนะ

ความพยายามขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด กำลังจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ผู้รักประชาธิปไตยไม่สามารถอยู่ร่วมโลกคนพวกนี้ได้ ไม่ว่านักการเมืองแมลงสาบ นักวิชาการอุบาทว์ อำมาตย์ดื้อรั้น หรือสื่อคลั่ง

 

นายกฯ มีหน้าที่ทูลเกล้าฯ

ขอชื่นชมความกล้าหาญของรัฐสภา ที่ทำหน้าที่สมกับได้รับเลือกมาจากประชาชน ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพื่อให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งตามหลักการประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญมาตรา 291 (7) ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

“มาตรา 150 ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”

“มาตรา 151 ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวันให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”

จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็น “หน้าที่” ของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ได้ให้อำนาจวินิจฉัย หากนายกรัฐมนตรีไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะกลายเป็นความผิด ฐานไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แล้วก็จะมีพวกฉวยโอกาสไปยื่นถอดถอนอีก

คำถามคือ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบหรือไม่ หากเกิดปัญหาตามมา ถ้าคิดอย่างตรงไปตรงมา ด้วยสติปัญญาคนธรรมดาสามัญก็เหลือเฟือ เพราะจะเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับนายกฯ นี่ครับ รัฐสภาเป็นผู้ลงมติ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นายกฯ ทำหน้าที่เหมือน “คนเดินสาร” เท่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญ หากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็เป็นความขัดแย้งระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภา หรือพระมหากษัตริย์กับรัฐสภา

ถ้าอธิบายให้ลึกลงไปในหลักประชาธิปไตย ถามว่าทำไมต้องให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ทำไมไม่ให้ประธานรัฐสภา

เรื่องนี้ต้องย้อนไปดูว่า รัฐธรรมนูญ 2475 ซึ่งคณะราษฎรเอามาจากอังกฤษ ประเทศแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีลงนามฯ แทบทุกเรื่อง แม้แต่พระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้พิพากษา ทำอย่างนี้มาหลายสิบปี จนระยะหลังจึงเปลี่ยนแปลงให้ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ลงนามฯ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง

แต่ริ้วรอยของการที่ “ฝ่ายบริหาร” ต้องลงนามฯ ก็ยังปรากฏอยู่ ดังรัฐธรรมนูญมาตรา195 บัญญัติว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้”

บทบัญญัตินี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2475 “มาตรา 7  การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ”

และในรัฐธรรมนูญ 2475 “มาตรา 57 ภายในบังคับแห่งมาตรา 32 และ 46 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่ารัฐมนตรีนายหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ”

มาตรา 46 คือประธานสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี มาตรา 32 คือ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เข้าชื่อขอเปิดสภา ให้ประธานสภาลงนามรับสนอง

นี่แสดงว่าอะไร แสดงว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในสถานะของ “ฝ่ายบริหาร” เหมือนที่ทรงเป็นมาแต่อดีต เพียงแต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พระองค์ไม่อยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบ หน้าที่ทูลเกล้าฯ และลงนามรับสนองจึงเป็นของนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากนั้นฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่ประกาศและบังคับใช้ หรือแบบไทยก็คือประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

นักกฎหมายประชาธิปไตยยังชี้ด้วยซ้ำไปว่าเจตนารมณ์ของการบัญญัติให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจ “วีโต้” นั้นไม่ได้ประสงค์ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีความเห็น เพราะสถานะของพระองค์ทรงพ้นจากความขัดแย้งแล้ว แต่เจตนารมณ์คือเปิดช่องให้ฝ่ายบริหาร “ถวายคำแนะนำ” วีโต้กฎหมายที่บัญญัติจากรัฐสภาซึ่งอาจเกิดกรณีที่ฝ่ายบริหารไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ให้สังเกตด้วยว่า มาตรา 151 ซึ่งให้รัฐสภาต้องลงมติยืนยันด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 นั้น เดิมทีรัฐธรรมนูญ 2475 กำหนดให้ยืนยันด้วยคะแนนเสียงเพียงกึ่งหนึ่งก็พอ แต่รัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นอำนาจจารีตได้บัญญัติให้ต้องใช้คะแนน 2 ใน 3 และใช้สืบต่อมาจนวันนี้

 

แก๊งตีความอุบาทว์

ไม่ว่าจะมองอย่างไร นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ และหากมีความขัดแย้งใดเกิดขึ้น ก็มิใช่ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงมายับยั้ง แต่ศาลกลับตีความขยายอำนาจตัวเอง

แต่ก็มีความพยายามตีความแบบอุบาทว์ชาติชั่ว ว่าการที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นการ “สร้างความระคายเคือง”

“การที่นายกรัฐมนตรีจะนำกฎหมายใดขึ้นทูลเกล้าฯ กฎหมายนั้นต้องไม่มีปัญหา ให้ระคายเคืองประมุขของประเทศ ผู้ทรงลงพระปรมาภิไธย”

คนพูดไม่ใช่แค่นักกฎหมายปลายแถวแบบคมสัน โพธิ์คง ที่ไทยรัฐออนไลน์ให้เนื้อที่ยาวเหยียด แต่เป็นศาสตราจารย์ซึ่งอ่านแล้วต้องร้องว่า “กล้วยแน่ะ”

ถ้าไม่ทูลเกล้าฯ แล้วจะทำอย่างไร นี่คือบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ใครกันแน่ที่ไม่ยึดถือรัฐธรรมนูญ

แถมยังพาลตีความว่า ส.ส. ส.ว.สามารถเข้าชื่อกันยับยั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 154 (1) ได้ แม้มาตรา 154 (1) กำหนดไว้แค่ร่างพระราชบัญญัติก็ตาม

“แต่โดยหลักการแล้ว เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคงเหมารวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สามารถบังคับใช้โดยอนุโลมได้ เพราะถือเป็นการตรากฎหมายเช่นเดียวกัน”

กล้วยๆๆๆ เอากล้วยไปทั้งเครือเลย เป็นศาสตราจารย์มาได้ไง มาตรา 291 (7) เขียนไว้ชัดๆ ว่าให้นำมาตรา 150,151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม คนระดับศาสตราจารย์บอกว่าอะไรก็อนุโลมได้หมด ถ้าอย่างนั้นประเทศนี้ไม่ต้องปกครองด้วยกฎหมายแล้วครับ ศาลก็ใช้อำนาจชี้ถูกชี้ผิดตามอำเภอใจ โดยมีฝ่ายค้านกับ ส.ว.ลากตั้งชงเรื่อง มีศาสตราจารย์ช่วยอธิบาย มีสื่อไว้คอยเชียร์ กลับดำเป็นขาว

ผมสะอิดสะเอียนกับการตีความอุบาทว์เหล่านี้จนไม่อยากโต้แย้ง เพราะประชาชนที่มีเหตุผล ก็มองออก เช่นข้ออ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ สว.มาจากการเลือกตั้งอาจผิดมาตรา 68 เพราะอาจผิดมาตรา 291 แล้วจะถึงขั้นยุบพรรค ถอดถอน ส.ส. ส.ว.

มาตรา 291 (1) วรรคสอง บัญญัติว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ จะเสนอมิได้”

ถ้าจะตีความว่าการแก้ไขไม่ให้มี ส.ว.ลากตั้งอย่างสมชาย แสวงการ, ไพบูลย์ นิติตะวัน, สมเจตน์ บุญถนอม, ประสาร มฤคพิทักษ์ ฯลฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ แล้วถอด ส.ส. ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็เอาเลย

ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องพูดเหตุผลกันแล้ว ฆ่ากันดีกว่า อย่าคิดว่าจะชนะและจะได้อยู่อย่างสงบสุข

 

“ชง” ด้วยเจตนาอะไร

เมื่อมองกระบวนการทั้งหมด การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เท่ากับบีบให้รัฐสภาต้องตัดสินใจว่าจะยืนยันอำนาจที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญของตน ลงมติเมื่อครบ 15 วันหรือไม่ จากนั้นก็ทำให้นายกฯ จำเป็นต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้ง จนอาจต้องมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าเนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างองค์กร จึงยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย

นี่มองในแง่ที่ศาลอาจไม่ตีความมาตรา 68 ถอดถอน 358 ส.ส. ส.ว.ที่ลงมติแก้รัฐธรรมนูญ เพราะศาลก็ต้องประเมินเหมือนกันว่าถ้าไปถึงขั้นนั้นบ้านเมืองแหลกราญแน่ (เหมือนที่วสันต์อ้างว่าศาลมองดูแล้ว บ้านเมืองไปไม่ได้ เมื่อปี 2551) อาจจะออกมาแบบปีที่แล้วคือห้ามแก้แต่ไม่ถอดถอน ไม่ล้มรัฐบาล ให้อยู่ต่อไปแต่แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้แม้แต่มาตราเดียว

ที่แย่กว่าปีที่แล้วคือ ครั้งนี้มีความพยายามที่จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาวินิจฉัยความขัดแย้ง โดยอาศัยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ สร้างความ “ระคายเคือง” ซึ่งต้องถามว่าใครกันแน่ที่สร้างความระคายเคือง

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือ พระมหากษัตริย์อาจไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่เห็นด้วยกับรัฐสภา ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทรงเห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 องค์กร พระองค์ไม่อยู่ในสถานะที่จะตัดสินความขัดแย้ง จึงอาจไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ก็จะกลับกลายเป็นร่างรัฐธรรมนูญถูกวีโต้ หากรัฐสภาจะยืนยันก็ต้องใช้เสียง 2 ใน 3

แล้วก็จะมีการสร้างกระแสทางการเมือง อ้างสถาบันสูงสุดมาล้มประชาธิปไตยอีก ทั้งที่ผมเพิ่งเขียนว่า 2 ปีในรัฐบาลนี้ มีเรื่องดีคือหลายฝ่ายได้พยายามกันสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้ง จนกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ที่เคยขึ้นสูงก่อนหน้านี้ ค่อยๆ ลดลง

พวกจ้องล้มระบอบประชาธิปไตย ก็จะโทษรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี แต่ถามว่าใครใช้อำนาจโดยถูกต้อง รัฐสภายืนยันอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการเหตุผลในระบอบประชาธิปไตยสนับสนุน การยกเลิก ส.ว.ลากตั้ง เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ถ้าใครจะตะแบงว่าประชาธิปไตยต้องมีลากตั้ง ก็เอาสิครับ นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ รื้อตำราให้หมด เอาคำสอนของ 40 ส.ว.มาใช้แทน

สาเหตุที่ฝ่ายล้มล้างประชาธิปไตยยอมไม่ได้ ที่จะให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง เพราะนี่เป็นด่านแรก ที่จะนำไปสู่การพังทลายของ “ระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์” จะมีผลต่ออำนาจสรรหาองค์กรอิสระทุกองค์กร

รัฐสภาจำเป็นต้องยืนหยัด เพราะไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่ารัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลยแม้แต่มาตราเดียว ศาลรัฐธรรมนูญจะขัดขวางทั้งหมด

อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เราพยายามแล้วที่จะกลับสู่วิถีประชาธิปไตยปกติ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพยึดเหนี่ยวโดยพ้นจากความขัดแย้งพ้นจากการอิงแอบของเครือข่ายอำนาจ อย่างสันติและค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อเลี่ยงไม่ได้ นายกรัฐมนตรีก็ควรทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญโดยทันที โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 20 วัน เพื่อลดกระแสสร้างความปั่นป่วนรวนเรต่างๆ เพื่อยุติข้ออ้างเหลวไหลมาตรา 154(1)

หลังจากนั้นก็ “วัดใจ” ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีคำวินิจฉัยที่ทำให้ความขัดแย้งถึง “ทางตัน” หรือไม่

หากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐสภาก็ต้องน้อมรับ และถือว่าพระองค์ท่านทรงอยู่ในสถานะที่พ้นจากความขัดแย้ง แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐสภาจะต้องลงมติยืนยันตามมาตรา 151 แม้ต้องใช้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ซึ่งคงไม่ถึง และร่างรัฐธรรมนูญก็ตกไป นับจากนี้ จะเป็น “ทางตัน” ที่แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เลย

แต่รัฐสภาก็ต้องยืนยัน ตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ (อย่ามาอ้างเหตุผลอุบาทว์ๆ อีกว่าลบหลู่หรือไม่ยอมรับพระราชอำนาจ ในเมื่อมาตรา 151 ให้อำนาจยืนยัน)

และวันนั้น ต้องระดมมวลชนผู้รักประชาธิปไตยออกมาชุมนุมเป็นล้านๆ คนทั่วประเทศ ใส่เสื้อแดง หรือเสื้อดำก็แล้วแต่ เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของรัฐสภา

 

                                                                                                ใบตองแห้ง

                                                                                                29 ก.ย.56

.....................................

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท