Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่วัดธาตุทอง มีพิธีฌาปนกิจศพ เฉิน ผิง (Chin Peng) หรือ ออง บุน หัว หรือ หวัง เหวิน หัว (Ong Boon Hua) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) ซึ่งเสียชีวิตระหว่างรักษาตัวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. และมีการจัดพิธีศพระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. ที่วัดธาตุทอง

คลิปวิดีโองานฌาปนกิจ เฉิน ผิง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 56 ที่วัดธาตุทอง กทม.

000

"In Everlasting Memomy" หรือความทรงจำนิรันดร์ เป็นหนังสือที่ระลึกสำหรับผู้มาร่วมงานฌาปนกิจเฉิน ผิง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หนังสือดังกล่าวลงชื่อผู้แต่งว่า "เฉิน ผิง" โดยตีพิมพ์ 3 ภาษาได้แก่ ภาษาอังกฤษ มลายู และจีน ในเล่มยังมีการตีพิมพ์จดหมาย "My Last Wish" หรือความปรารถนาสุดท้าย อันเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายของเฉิน ผิง ด้วย

ผู้มาร่วมงานฌาปนกิจของเฉิน ผิง ให้ความสนใจ "หนังสือพิมพ์กำแพง" ที่ผู้จัดงานรวบรวมมาจากหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวการเสียชีวิตของเฉิน ผิง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในมาเลเซีย และสื่อออนไลน์ของมาเลเซีย ให้ความสนใจและมีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของเฉิน ผิง ในขณะที่สื่อของรัฐบาลเลี่ยงที่จะนำเสนอเรื่องนี้

ภาพของ "เฉิน ผิง" ในปี 2498 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับหนึ่ง ที่ผู้จัดงานนำมารวบรวมเป็น "หนังสือพิมพ์กำแพง" ติดอยู่ที่บอร์ดในงานฌาปนกิจของเขาที่วัดธาตุทอง กทม.

มิตรสหายผู้มาร่วมงานฌาปนกิจเฉิน ผิง ระหว่างเดินวนรอบเมรุ 3 รอบ เพื่อส่งอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นครั้งสุดท้าย

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้บัญชาการทหารบก เดินทางมาเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจ โดยระบุว่ามาร่วมงานในฐานะที่เป็นเพื่อนเก่าของ เฉิน ผิง ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2532 มีการลงนามในสนธิสัญญาหาดใหญ่ เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และรัฐบาลมาเลเซีย โดยมี พล.อ.ชวลิต เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานให้เกิดการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว

"พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวคำไว้อาลัยให้กับ "เฉิน ผิง" อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ทั้งนี้มีอดีตนายทหารหลายนายที่มาร่วมงานฌาปนกิจรวมทั้ง พล.อ.พิศาล เป็นผู้มีบทบาทในการเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จนนำไปสู่การวางอาวุธและลงนามสันติภาพกับรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2532

ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจ "เฉิน ผิง" เขากล่าวด้วยว่าอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายานั้นราว พ.ศ. 2517 เคยเดินทางเข้ามาในพื้นที่เคลื่อนไหวของ พคท. ด้าน จ.น่าน เพื่อที่จะเดินทางต่อเข้าไปประเทศจีน ซึ่งเป็นปลายทาง

เอ็ม ซาราส รองประธานพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) เดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจ เฉิน ผิง โดยการมาเยือนกรุงเทพฯ นี้มาในนามของพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย เพื่อมาแสดงความไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของเฉิน ผิง ทั้งนี้พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย มีที่นั่งในสภา 1 ที่นั่ง โดยพื้นที่ซึ่งชนะการเลือกตั้งในเขตสุไหง สิปุต รัฐเประ ถือเป็นอดีตพื้นที่เคลื่อนไหวสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ช่วงก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราช และในปี เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่าง พ.ศ. 2491 - 2503 เพื่อปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หลังเกิดการฆ่าชาวยุโรป 3 คนที่เขตสุไหง สิปุตดังกล่าว

000

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่วัดธาตุทอง มีพิธีฌาปนกิจศพ เฉิน ผิง (Chin Peng) (ชื่อจัดตั้ง) หรือ ออง บุน หัว หรือ หวัง เหวิน หัว (Ong Boon Hua) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) ซึ่งเสียชีวิตระหว่างรักษาตัวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. และมีการจัดพิธีศพระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. ที่วัดธาตุทอง

โดยในงานฌาปนกิจศพ มีการแจกหนังสือที่ระลึกแก่ผู้มาร่วมงานชื่อ "In Everlasting Memomy" หรือความทรงจำนิรันดร์  ลงชื่อผู้แต่งว่า เฉิน ผิง ตีพิมพ์ 3 ภาษาได้แก่ ภาษาอังกฤษ มลายู และจีนนั้น โดยในเล่มยังมีการตีพิมพ์จดหมาย "My Last Wish" หรือความปรารถนาสุดท้าย อันเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายของเฉิน ผิง ด้วย

โดยก่อนเคลื่อนศพจากศาลาสวดไปยังเมรุ มีการอ่านจดหมายฉบับสุดท้ายของเฉิน ผิง "My Last Wish" โดยอ่านเป็นภาษาจีน และภาษามลายู โดยลี ตั๊ก ฮี และ อานัส อิทราจายา อับดุลลาห์ อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและผู้ใกล้ชิด เฉิน ผิง (อ่านจดหมายฉบับแปลภาษาไทยที่นี่)

ทั้งนี้ผู้มาร่วมพิธีศพในวันสุดท้าย ประกอบด้วยมิตรสหายของเฉิน ผิง โดยส่วนหนึ่งเดินทางมาจากเมืองสิเตียวัน ในรัฐเประ บ้านเกิดของเฉิน ผิง นอกจากนี้ยังมีอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่เดินทางมาจากชายแดนไทย-มาเลเซีย ผู้ที่เดินทางมาจากเมืองต่างๆ ของมาเลเซีย และมาจากสิงคโปร์ รวมทั้ง เอ็ม.ซาราส (M.Saras) รองประธานพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ที่เดินทางมาร่วมพิธีศพและส่งมอบคำไว้อาลัยในนามของพรรคสังคมนิยมมาเลเซียด้วย

โดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย มีที่นั่งในสภา 1 ที่นั่ง โดยพื้นที่ซึ่งชนะการเลือกตั้งอยู่ในเขตสุไหง สิปุต รัฐเประ ถือเป็นอดีตพื้นที่เคลื่อนไหวสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ช่วงก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราช และในปี เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่าง พ.ศ. 2491 - 2503 เพื่อปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หลังเกิดการฆ่าชาวยุโรป 3 คนที่เขตสุไหง สิปุตดังกล่าว

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ก.ย. เทียน ฉัว (Tian Chua) หรือฉัว เทียน ชาง (Chua Tian Chang) รองประธานพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) พรรคฝ่ายค้าน “ภาคีประชาชน” (PR) และ ส.ส.มาเลเซียเขตบาตู กัวลาลัมเปอร์ ได้เดินทางมาคำนับศพของเฉิน ผิง ด้วย และให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเดินทางมาในฐานะเพื่อน ในฐานะครอบครัว และในฐานะของชาวมาเลเซีย และเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียปรับเปลี่ยนท่าที และภาพการรับรู้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเสียใหม่ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เดินทางมาร่วมพิธีศพในวันสุดท้ายด้วย โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 ก.ย. ได้เดินทางมาคำนับศพแล้วครั้งหนึ่ง พร้อมส่งพวงหรีดแสดงความไว้อาลัยให้กับเฉิน ผิง

ทั้งนี้เชื่อว่าลูกของเฉิน ผิง ได้เดินทางมาร่วมพิธีฌาปนกิจด้วย อย่างไรก็ตามคณะผู้จัดงานปฏิเสธที่จะตอบคำถามและไม่ยืนยันข่าวนี้กับบรรดาผู้สื่อข่าว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิกครอบครัว โดยเฉิน ผิงนั้นมีบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 1 คน

โดยในพิธีฌาปนกิจ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจ โดยระบุว่ามาในฐานะเพื่อนของเฉิน ผิง และได้กล่าวคำไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของเฉิน ผิง นอกจากนี้ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ได้เดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจด้วย ทั้งนี้อดีตนายทหารที่มาร่วมงานฌาปนกิจดังกล่าวเป็นผู้มีบทบาทในการเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) จนนำไปสู่การวางอาวุธและลงนามสันติภาพกับรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2532

สำหรับพิธีฌาปนกิจของเฉิน ผิง เสร็จสิ้นในเวลาราว 18.00 น. เศษ

อนึ่ง มาเลเซียกินี รายงานด้วยว่า ตลอด 4 วันของการจัดงานศพ ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมาเลเซียมาร่วมงานอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามมีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตมาเลเซีย ซึ่งสื่อสารด้วยภาษาไทย เข้ามาถ่ายรูปในงานด้วย โดยระบุว่าถ่ายรูปเพื่อเป็นข้อมูล

ด้านหนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในมาเลเซีย "อูตูซัน มาเลเซีย" (Utusan Malaysia) ได้ลงข่าวปฏิเสธว่าเฉิน ผิง ไม่ได้เสียชีวิตในวันที่ 16 ก.ย. แต่เสียชีวิตวันที่ 15 ก.ย. อย่างไรก็ตามคนใกล้ชิดของเฉิน ผิง ได้แถลงข่าวในกรุงเทพฯ ปฏิเสธข้อกล่าวหาของ "อูตูซัน มาเลเซีย" และยืนยันว่าเฉิน ผิงเสียชีวิตในวันที่ 16 ก.ย.

ทั้งนี้วันที่ 16 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่ เฉิน ผิง เสียชีวิตนั้น ตรงกับ "วันมาเลเซีย" (Hari Malaysia) ซึ่งเป็นวันที่รำลึกถึงการรวมสิงคโปร์ รัฐซาบาห์ และรัฐซาราวัก เมื่อปี 2506 เข้ามาอยู่ในมาเลเซีย อย่างไรก็ตามกรณีของสิงคโปร์ ได้ถูกมาเลเซียขับออกไปในวันที่ 9 ส.ค. 2508

ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนของมาเลเซียมีรายงานว่า ตำรวจมาเลเซียได้จับกุมชายชาวมาเลเซีย 1 คน และชาวฮ่องกง 1 คน ที่สนามบินนานาชาติที่รัฐปีนัง หลังจากพวกเขากลับมาจากงานฌาปนกิจของ เฉิน ผิงที่กรุงเทพฯ และมีการยึดหนังสือและซีดีที่ระลึกงานศพ รวมทั้งหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเฉิน ผิงด้วย โดยตำรวจจะใช้ พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์ของมาเลเซียดำเนินคดี ส่วนผู้ถูกจับต่อมาได้รับการประกันตัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net