Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกากัมพูชามีคำสั่งยกฟ้องและให้ปล่อยตัวสองนักโทษที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อปี 2548 ในข้อหาฆ่าผู้นำสหภาพแรงงานคนสำคัญของกัมพูชา หลังศาลฎีกาพบพยานที่น่าเชื่อถือที่ว่าพวกเขาอยู่ที่ใดในขณะที่เกิดเหตุ และหนึ่งในจำเลยยังระบุว่าถูกตำรวจซ้อมและบังคับให้รับสารภาพ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า การที่ศาลฎีกาของกัมพูชามีคำสั่งยกฟ้องและให้ปล่อยตัวสองนักโทษในวันที่ 26 กันยายนนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในกัมพูชา ผลการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อปี 2548 เป็นเหตุให้บอน สำนัง (Born Samnang) 32 ปี และซก สำอุ่น (Sok Sam Oeun) 45 ปี ถูกศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปี ในข้อหาสังหารเจี่ย วิเชีย (Chea Vichea) ผู้นำสหภาพแรงงานเมื่อปี 2547
               
เจี่ย วิเชีย นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานคนสำคัญของกัมพูชาถูกยิงเสียชีวิตที่แผงหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ โดยก่อนหน้านั้นเขาถูกขู่ฆ่าหลายครั้ง
               
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ทั้งบอน สำนังและซก สำอุ่นต่างเป็นแพะรับบาปจากการจัดฉากของทางการกัมพูชา ในกรณีการสังหารเจี่ย วิเชีย ผู้นำสหภาพแรงงาน คำถามที่เหลืออยู่ก็คือ เมื่อไรจะมีการลงโทษฆาตกรตัวจริงเสียที?
               
ผู้พิพากษาศาลฎีกามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชายทั้งสองคนโดยระบุว่า ไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนที่จะเอาผิดกับพวกเขา และจำเลยยังมีพยานที่น่าเชื่อถือว่าพวกเขาอยู่ที่ใดขณะที่เกิดการกระทำผิดขึ้น และหนึ่งในจำเลยทั้งสองคนยังระบุว่าถูกตำรวจบังคับให้รับสารภาพตามข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่มีการยกฟ้อง
               
บอน สำนังเปิดเผยว่า เขาถูกตำรวจซ้อมและบังคับให้รับสารภาพ และคำสารภาพดังกล่าวได้กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้เขาถูกตัดสินจำคุก 20 ปีในเวลาต่อมา นอกจากนั้นตำรวจยังข่มขู่และควบคุมตัวบุคคลที่เป็นพยานให้กับเขาด้วย ทั้งนี้ศาลฎีกายังมีคำสั่งไม่จ่ายค่าเยียวยาให้กับชายทั้งสองคน
               
“เป็นเรื่องน่าตกใจที่นักสหภาพคนสำคัญถูกสังหาร ถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทบทวนคดีการเสียชีวิตของเจี่ย วิเชียอีกครั้ง เพราะผู้กระทำผิดตัวจริงยังไม่ได้รับการลงโทษ และเราขอเรียกร้องทางการกัมพูชาให้การประกันว่า ชายทั้งสองคนจะได้รับการเยียวยา จากการที่ต้องถูกจับกุมคุมขังโดยที่ไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งสองคนควรได้รับการชดเชยต่อความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา” อิสเบลกล่าว
               
กัมพูชามีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ในฐานะรัฐภาคี กล่าวคือการให้การประกันว่าบุคคลใดก็ตามที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามกติกาฉบับนี้ ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล 
               
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า บอน สำนังและซก สำอุ่นเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดและถูกควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งเป็นการละเมิดต่อกติกา ICCPR อย่างชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net