Skip to main content
sharethis

ผู้เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยเครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐฯ หรือโดรน มักไม่มีการระบุชื่อหรือสถานะ ทำให้เป็นอุปสรรค์ต่อการชี้ชัดว่าการโจมตีด้วยโดรนมีความแม่นยำและมีโอกาสโจมตีโดนพลเรือนได้น้อยจริงหรือไม่ ทางสำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนของอังกฤษจึงได้เปิดตัวโครงการที่ชื่อ Naming The Dead

25 ก.ย. 2013 - สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนของอังกฤษได้เปิดตัวโครงการฐานข้อมูลรายชื่อผู้เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยเครื่องบินไร้คนขับหรือโดรน (Drone) ในประเทศปากีสถาน โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า Naming The Dead

ในเว็บไซต์ของโครงการระบุว่าในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ชนเผ่าทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานถูกโจมตีด้วยโดรนหลายร้อยครั้งจากปฏิบัติการของหน่วยงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือซีไอเอ ซึ่งพยายามกำจัดนักรบอัลเคดาและกลุ่มติดอาวุธที่ให้ที่พักอาศัยแก่พวกเขา

แม้ว่าเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ จะบอกว่าโครนเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการโจมตีด้วยความแม่นยำสูง และเน้นโจมตีเฉพาะเป้าหมายที่เป็นศัตรูกับทางการสหรัฐฯ โดยที่มีการจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยรอบได้ ซึ่งแม้ว่าโดรนจะสามารถสังหารผู้นำระดับสูงของกลุ่มอัลเคด้าเช่น อาบู บาห์ยา อัล ลิบี ผู้บัญชาการกลุ่มตาลีบันปากีสถานได้ แต่ก็มีผู้ถูกสังหารจำนวนหนึ่งที่เป็นพลเรือน บางคนอาจอาศัยอยู่ใกล้กับเป้าหมาย บางคนเป็นครอบครัวของเป้าหมายที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ขณะที่บางส่วนก็ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อการร้ายโดยผู้ปฏิบัติการโดรนซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายพันไมล์

ก่อนหน้านี้ สำนักงานข่าวสืบสวนของอังกฤษได้เก็บข้อมูลการโจมตีด้วยโดรนพบว่า ขีปนาวุธที่ถูกยิงจากเครื่องบินโดรนได้โจมตีถูกเป้าหมายที่เป็นบ้าน รถยนต์ โรงเรียน ร้านค้า และแหล่งชุมชน ในหน้าเว็บไซต์ของโครงการระบุว่ามีชาวปากีสถาน 2,514 ถึง 3,596 คน เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยโดรน ซึ่งในเหยื่อเหล่านี้มีอยู่ 568 คน ที่สามารถระบุตัวตนได้

โดยส่วนใหญ่แล้วมีข้อมูลรายละเอียดของผู้ที่ถูกสังหารด้วยโดรนน้อยมาก มีราว 4 ใน 5 ที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธ แต่การเสียชีวิตมักถูกรายงานออกมาเป็นตัวเลข ขณะที่ชื่อผู้เสียชีวิต พื้นเพความเป็นมา และสภาพชีวิตของพวกเขาไม่มีการเปิดเผย

วัตถุประสงค์ของโครงการ Naming The Dead คือการสร้างความโปร่งใสมากขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งนี้ และเพื่อเป็นการให้ข้อมูลต่อการถกเถียงสาธารณะ โดยเบื้องต้นจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลรายชื่อที่ถูกตีพิมพ์ในแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยต่างๆ เช่น รายงานข่าวที่น่าเชื่อถือ  เอกสารที่ถูกนำเสนอต่อศาล งานศึกษาทางวิชาการ และการลงพื้นที่สำรวจโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน

"มีคนจำนวนมากเสียชีวิตโดยไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีชื่อ ไม่ถูกรับรู้ นี้ถือเป็นโศกนาฏกรรม" สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนกล่าว "แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือแม้แต่ผู้ออกนโยบายก็ไม่สามารถทดสอบให้แน่ชัดได้ว่าโดรนเป็น 'อาวุธที่มีความแม่นยำสูง' จริงหรือไม่ จากการที่ไม่สามารถรู้ว่าใครเป็นผู้เสียชีวิต"

ในอนาคตทางองค์กรยังมีเป้าหมายต้องการระบุตัวผู้เสียชีวิตเป็นกิจวัตรและสืบหาข้อมูลรายละเอียดของผู้ที่ถูกสังหาร เช่น สถานที่ที่ถูกสังหาร อาชีพ อายุ และชื่อเต็มของเหยื่อ

พื้นที่ในชนบทของปากีสถานซึ่งมักถูกโจมตีด้วยโดรนมีการระบุตัวตนได้ยากเนื่องจากประชาชนไม่ค่อยมีบัตรประจำตัว ทะเบียนเกิด หรือแม้กระทั่งเอกสารมรณกรรมของญาติผู้เสียชีวิต

Naming The Dead ยังมีความต้องการเผยแพร่รายละเอียดในด้านอื่นๆ เช่น รูปถ่ายความเสียหายของแหล่งที่ถูกโดรนจู่โจม บันทึกคำให้การ บันทึกโรงพยาบาล บัตรประจำตัวนักเรียน-นักศึกษา และสำเนาการสัมภาษณ์

โดยในตอนนี้หน้าเว็บของ Naming The Dead มีการเปิดเผยรายชื่อ เพศ อายุ วันที่เสียชีวิต รวมถึงสถานะว่าถูกรายงานการเสียชีวิตในฐานะกลุ่มติดอาวุธหรือฐานะพลเรือน

อนึ่ง ทางการสหรัฐฯ เริ่มดำเนินการโจมตีด้วยโดรนโดยปกปิดข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2002 ในประเทศปากีสถาน เยเมน และโซมาเลีย โดยส่วนใหญ่แล้วปฏิบัติการในพื้นที่ปากีสถาน

 


เรียบเรียงจาก

เว็บไซต์โครงการ Naming the Dead ของ The Bureau of Investigative Journalism (เข้าดูเมื่อวันที่ 25-26 ก.ย.)
http://www.thebureauinvestigates.com/namingthedead

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net