Skip to main content
sharethis

ชาวบ้าน ต.บ้านแฮด ขอนแก่น ชุมนุมหน้าเทศบาล ค้านโครงการก่อสร้างคลังแก๊สปิโตรเลียมเหลวระบุเป็นคลังแสงของแก๊ส ในพื้นที่อยู่ในภาวะเสี่ยง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล เผยสั่งชะลอแล้ว ทำหนังสือถึงหน่วยเหนือต่อ

ขอนแก่น : เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 ก.ย.56 ผู้นำชุมชนพร้อมด้วยชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้าน ในต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น จำนวนกว่า 200 คน ได้ออกมาชุมนุมกันที่สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านแฮด เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างคลังแก๊สปิโตรเลียมเหลว ของบริษัทเวิลด์แก๊ส ประเทศไทย จำกัด ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างฐานราก บนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ บริเวณถนนมิตรภาพช่วงระหว่าง อ.บ้านไผ่ - อ.บ้านแฮด จากการยื่นขออนุญาตต่อเทศบาลตำบลบ้านแฮด

โดยกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อนายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮด เพื่อขอสำเนาเอกสารการขออนุญาตของบริษัทเวิลด์แก๊ส และนำผลการประชาคมหมู่บ้าน ในหมูที่ 1 ที่มีมติไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างคลังแก๊สดังกล่าว ยื่นประกอบการคัดค้านในครั้งนี้ด้วย

นายทวี  ไชยชาติ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแฮด กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลบ้านแฮด เรียกได้ว่าเป็นคลังแสงของแก๊ส เพราะเดิมก็มีคลังแก๊สก่อตั้งมาแล้วกว่า 10 ปี บริเวณหมู่ที่ 10 ซึ่งมีการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจุบันมีปั๊ม LPG 3 แห่ง และปั๊ม NGV อีก 1 แห่ง ส่วนคลังแก๊สที่กำลังก่อสร้างขึ้นนี้ อยู่ในบริเวณ หมู่ที่ 1 มีปริมาณ 20 ถัง บรรจุแก๊สถังละ 30,000 ลิตร รวมแล้วเกือบล้านลิตร ห่างจากบ้านเรือนประชาชนไม่ถึง 1 ก.ม. ถ้าหากเกิดเหตุการณ์แก๊สระเบิดรัศมีการทำลายล้างทุกอย่างเป็นจุล กว่า 10 กม.

“อำเภอบ้านแฮดทั้งอำเภอและพื้นที่ใกล้เคียงกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ประชาชนจึงไม่อนุญาตให้ก่อสร้าง และในการก่อสร้างก็ไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์มาก่อน” นายทวีกล่าว

ด้านนายศิริพงษ์  อรุณเดชาชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล กล่าวว่า การก่อสร้างหรือการประกอบกิจการในท้องถิ่นเทศบาล ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย และเนื่องจากว่าการประกอบการเรื่องคลังแก๊สมันเป็นกรณีธุรกิจที่เฉพาะ เราจะต้องไปดูกฎหมายตัวอื่นด้วย เช่น อาจจะเป็น ISO หรือต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอะไรหรือไม่ ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างผู้ประกอบการขอในท้องถิ่นก็จริง แต่การติดตั้งถังระบบจ่ายเขาไม่ได้มาผ่านท้องถิ่น อยู่ที่กรมธุรกิจพลังงาน

“ผมได้หารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่าตอนนี้เราได้ทำการชะลอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเราจะตัดสินใจเพียงตัวเราเองว่าจะให้หรือไม่ให้มันก็จะไปเกี่ยวข้องในข้อกฎหมาย เราก็เลยทำหนังสือหารือไปถึงหน่วยเหนือก็คือจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าโยธาธิการและผังเมือง หรือภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งตอนนี้เทศบาลกำลังรวบรวมประเด็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนได้เกิดผลกระทบ จากการลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาเพื่อรวบรวมนำเสนอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตัดสินใจร่วมกัน” นายศิริพงษ์ กล่าว

ภาพบรรยากาศการชุมนุม :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net