Skip to main content
sharethis

ข่าวสารด้านลิขสิทธิ์กับ ‘อธิป จิตตฤกษ์’ นำเสนอข่าวเกม Grand Theft Auto เปิดตัวรายได้ที่ 800 ล้านดอลลาร์, ศาลสหรัฐคุ้มครองการกดไลค์เป็นสิทธิการแสดงออกที่ถูกปกป้องในรธน., โค้ช NFL ให้นักเล่นไปเคลียร์ลิขสิทธิ์จากรอยสักให้เรียบร้อย

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

15-09-2013

ผู้บริหาร Netflix กล่าวว่า Netfilx เลือกซื้อใบอนุญาตรายการโดยดูจากความนิยมในเว็บเถื่อน

ซึ่งความนิยมในการ "โหลด" ของรายการต่างๆ ก็เป็นตัวยืนยันได้ว่า การซื้อใบอนุญาตมาฉายจะคุ้มค่าเงินที่เสียไป
อย่างไรก็ดีนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำง่ายๆ เพราะ Netflix พยายามซื้อใบอนุญาตของซีรี่ส์ที่คนโหลดเถื่อนกันมากที่สุดอย่าง Game of Thrones จากทาง HBO มานานแล้วและให้ราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย แต่ทาง HBO ก็ยังไม่ยอมขายใบอนุญาตให้ (ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะซีรี่ส์เรื่องนี้อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนยังยอมเสียเงินเพื่อดู HBO กันอยู่)

ทั้งนี้บริการรายการโทรทัศน์ออนไลน์แบบเก็บค่าสมาชิก Netflix ดูจะเป็นความหวังและอนาคตของอุตสาหกรรมที่เคยเป็นอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในสายตาของหลายๆ ฝ่าย เพราะอย่างน้อยๆ จำนวน "คนเลิกใช้เคเบิ้ล" (cord cutters) ก็ทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องในยุคนี้

News Source: http://torrentfreak.com/netflix-uses-pirate-sites-to-determine-what-shows-to-buy-130914/

 

16-09-2013

สมาคมนักกีฬา NFL ประกาศให้บรรดานักกีฬาไปเคลียร์เรื่องลิขสิทธิ์รอยสักให้เรียบร้อย ถ้าไม่เคลียร์ทางสมาคมก็จะไม่ขอรับภาระการฟ้องร้องใดๆ จากบรรดาช่างสักทั้งหลาย

ทั้งนี้ ในทางเทคนิคแล้วลิขสิทธิ์รอยสักก็ย่อมเป็นของช่างสักผู้สัก และการที่นักกีฬาทั้งหลายเล่นกีฬาไปจนถึงถ่ายแบบและไปปรากฎในโฆษณาหรือเกมส์ก็น่าจะเป็นการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ไปแสดงต่อสาธารณะเช่นกัน ซึ่งการไม่มีใบอนุญาตชัดเจนก็ดูจะมีช่องให้เกิดการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์จากทางช่างสักได้และทางสมาคมก็ไม่ต้องการจะรับผิดชอบภาระทางกฎหมายตรงนี้

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130814/10005024174/nfl-players-association-freaks-out-about-tattoo-copyrights.shtml

 

ศาลอุทธรณ์อเมริการะบุว่าการกด "Like" บน Facebook เป็นสิทธิในการแสดงออกที่ได้รับการปกป้องภายใต้บทบัญญัติแก้รัฐธรรมนูญใต้ข้อที่หนึ่ง (First Amendment)

เรื่องของเรื่องคือ นายอำเภอคนหนึ่งไล่รองนายอำเภอออกเนื่องจากรองนายอำเภอไปกด Like เพจคู่อริทางการเมืองของนายอำเภอ

รองนายอำเภอฟ้องศาลชั้นต้น ซึ่งตัดสินว่าการกด Like ยังไม่ถือว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ได้รับการคุ้มครองใต้รัฐธรรมนูญ

แต่พอเรื่องมาถึงศาลอุทธรณ์ ศาลชี้ว่ารัฐธรรมนูญไม่มีการแยกระหว่างการสนับสนุนทางการเมืองผ่านการแสดงออกบนท้องถนนกับการกด Like บน Facebook ดังนั้นการกด Like จึงถือว่าได้รับการคุ้มครองด้วย

ทั้งนี้ ในตอนแรกคดีความมีการฟ้องร้องทั้งหมด 6 คนด้วยกันโดยรองนายอำเภอและพนักงานในสำนักงานนายอำเภอ 5 คนถูกนายอำเภอไล่ออกเพราะไปแสดงการสนับสนุนคู่อริทางการเมืองของนายอำเภอในทำนองเดียวกัน แต่อีก 5 คนตั้งไปแสดงออกในโลกทางกายภาพ มีรองนายอำเภอคนเดียวที่ไปแสดงออกในโลกเสมือนบนอินเทอร์เน็ต

News Source: http://gigaom.com/2013/09/18/a-like-on-facebook-is-speech-protected-by-the-first-amendment-appeals-court/ , http://blogs.wsj.com/law/2013/09/18/court-facebook-like-is-protected-by-the-first-amendment/

 

ศาลชั้นต้นอเมริกาตัดสินว่าใบอนุญาตเผยแพร่งานดนตรีอันมีลิขสิทธิ์ของวิทยุออนไลน์ Pandora ยังใช้ได้ และทางค่ายเพลงไม่มีสิทธิ์ไปเก็บเงิน Pandora เพิ่ม

ก่อนจะเข้าใจกรณีนี้ ต้องเข้าใจระบบการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการแสดงดนตรีต่อสาธารณะในอเมริกาก่อน
ในอเมริกาก็เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในโลกที่มีองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการแสดงดนตรีสาธารณะเฉพาะที่จะเก็บเงินไปกระจายให้ "นักแต่งเพลง" (คนละเรื่องกับ "นักดนตรี" ที่บันทึกเสียงดนตรี) ซึ่งเพลงที่เขาแต่งถูกนำไปแสดงต่อสาธารณะ (โดยทั่วไปแล้วประเทศโลกที่หนึ่งจะมีองค์กรนี้เพียงองค์กรเดียวในประเทศ ในกรณีของอเมริกามี 3 องค์กรคือ ASCAP, BMI และ SESAC ซึ่งมีผลในการเพิ่มการแข่งขัน อย่างไรก็ดี องค์กรจำพวกนี้ระดับหลักสิบของประเทศไทยที่มีการเก็บค่าลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อนไปมาถือเป็นเรื่องประหลาด)

ดั้งเดิมในอเมริกา องค์กรเหล่านี้จะเก็บค่าลิขสิทธิ์พวกสถานีวิทยุแบบเหมาจ่ายแบบเป็นการซื้อ "ใบอนุญาต" ในการกระจายเสียงดนตรีของเหล่านักแต่งเพลงต่อสาธารณะ และพอเริ่มมีวิทยุออนไลน์รูปแบบวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจนี้ก็ยังดำเนินไปแบบเดิม องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์เหล่านี้ก็ยังขายใบอนุญาตแบบเหมาจ่ายให้วิทยุออนไลน์

อย่างไรก็ดี เนื่องจากบรรดาค่ายเพลงมองว่าวิทยุออนไลน์เป็นกิจการใหม่รายได้ดีที่กำลังจะโตมากๆ และธุรกิจเก็บค่าลิขสิทธิ์ก็กำลังโตตามด้วย ทางค่ายเพลงที่ถือลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงอยู่ จึงต้องการจะถอนสิทธิ์ในการเก็บค่าลิขสิทธิ์ออกจากองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ แล้วมาเก็บค่าลิขสิทธิ์พวกวิทยุออนไลน์เอง ทางค่ายเพลงจึงพยายามจะเก็บค่าลิขสิทธิ์กับ Pandora ทั้งๆ ที่ Pandora ได้จ่ายเงินให้กับทาง ASCAP ไปแล้ว กว่าใบอนุญาตจะหมดอายุก็ตอนสิ้นปี 2015

เรื่องเลยไปถึงศาลว่า ทางค่ายเพลงมีสิทธิ์ถอนสิทธิ์นี้แล้วเก็บค่าลิขสิทธิ์เองโดยตรงกับ Pandora หรือไม่ และศาลก็ชี้ว่าไม่มีสิทธิ์ อย่างน้อยๆ ก็จนว่าใบอนุญาติที่ Pandora ได้ซื้อมาแล้วจะหมดอายุ

ทั้งนี้ตามขนบลิขสิทธิ์ของอเมริกา "นักแต่งเพลง" จะเป็นผู้ได้ไปโยชน์จากการเก็บค่าลิขสิทธิ์มาโดยตลอดแต่ "นักดนตรี" ผู้บันทึกเสียงจะไม่ได้ค่าลิขสิทธิ์ใดๆ เมื่อเพลงของเขาได้รับการเปิดทางวิทยุ อย่างไรก็ดีบนวิทยุอินเทอร์เน็ตนั้น "นักดนตรี" จะมีสิทธิ์เก็บค่าลิขสิทธิ์ด้วย ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มมาในระดับโครงสร้างนี้ทำให้วิทยุออนไลน์เสียเปรียบทางธุรกิจต่อวิทยุภาคพื้นดินอย่างมีนัยสำคัญ นี่เป็นเหตุให้ Pandora พยายามจะสนับสนุนร่างกฎหมาย Internet Radio Fairness Act ที่จะให้ความเป็นธรรมในการจ่ายค่าลิขสิทธิ์กับวิทยุออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ดีกฎหมาย "สร้างความยุติธรรม" นี้ก็สร้างความไม่พอใจให้กับนักดนตรีจำนวนมากที่รายได้ลดลงอย่างมหาศาลหลังการปฏิวัติดิจิทัล และทำให้นักดนตรีพวกนี้โวยวายอย่างหนักโดยเน้นไปชี้ให้เห็นค่าตอบแทนมหาศาลของผู้บริหารระดับสูงของ Pandora โดยไม่ได้กล่าวอย่างใดว่าความไม่คงเส้นคงวาในการเก็บค่าลิขสิทธิ์วิทยุออนไลน์กับไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์วิทยุออฟไลน์นั้นมีความชอบธรรมหรือไม่? อย่างไร?

News Source: http://gigaom.com/2013/09/18/pandora-gets-a-win-as-court-rules-blanket-music-license-applies-through-2015/, http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130918pandora

 

20-09-2013

เกม Grand Theft Auto V เป็นงานทางศิลปวัฒนธรรมที่รายได้เปิดตัววันแรกสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 800 ล้านดอลลาร์ มากกว่าเกม งานดนตรี และภาพยนตร์ใดๆ ที่เคยทำได้

ขนาดภาพยนตร์ที่ทำรายได้มหาศาลอย่าง The Avengers ยังได้รายได้วันแรกเพียง 80 ล้านดอลลาร์เท่านั้น และรายได้สับดาห์แรกของภาพยนตร์นี้ที่เป็นสถิติสูงสุดของภาพยนตร์ฮอลลีวูดยังอยู่เพียง 270 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ความสำเร็จ Grand Theft Auto ภาคนี้เป็นภาพสะท้อนของอุตสาหกรรมเกมที่เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตในทางธุรกิจอย่างมหาศาลอย่างโดดเด่นไปกว่าอุตสาหกรรมเก่าอื่นๆ

ทั้งนี้ เกมนี้ยังจัดว่าเป็นเกมที่มีต้นทุนสร้างสูงที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วยที่ 115 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นต้นทุนราวครึ่งหนึ่งของเหล่าภาพยนตร์ที่ต้นทุนสูงที่สุดที่เคยมีมา (ซึ่งส่วนมากอยู่ราวๆ 200 ล้านดอลลาร์)

News Source: http://www.popsci.com/gadgets/article/2013-09/pretty-much-entire-human-race-bought-new-grand-theft-auto

 

23-09-2013

Mega เว็บฝากไฟล์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากซากของ Megaupload ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนตอนนี้มีผู้เข้าใช้มากกว่า Rapidshare ที่กำลังตกต่ำแล้ว

หลังจากที่ Megaupload โดนปิดไปเมื่อ 19 มกราคมปี 2012 ทาง Kim Dotcom เจ้าของเว็บก็ได้เปิดเว็บที่จะมาแทนที่อย่าง Mega ไปพร้อมๆ กับสู้คดีเพื่อไม่ให้โดนส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปอเมริกา

Mega ตั้งมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2013 ซึ่งเป็นเวลาครบรอบ 1 ปีหลังจากที่ Megaupload โดนปิดไปพอดี โดยเว็บมีนโยบายการเข้ารหัสระดับซับซ้อนมากๆ โดยทางเว็บจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้ใช้เอาไฟล์อะไรไปฝาก ซึ่งทาง Dotcom ก็บอกว่านี่เป็นบริการที่ให้ความเป็นส่วนตัวระดับสูงที่สุดในหมู่บริการฝากไฟล์ทั้งหลาย

หลังจากเว็บตั้งขึ้นจำนวนผู้ใช้ก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ในที่สุดเว็บก็ติดอันดับ 1 ใน 1,000 เว็บที่คนเข้ามากที่สุดในโลก โดยคนเข้าใช้มากกว่าเว็บ Rapidshare ที่เซไปชัดเจนหลังการปราบปราม Megaupload และลบไฟล์ที่มีแนวโน้มลิขสิทธิ์จำนวนมากบนเว็บไป

ทั้งนี้ขณะนี้ Mega ใช้แบนด์วิธราวๆ 20% ของ Megaupload แล้ว และก็มีจำนวนไฟล์ที่ฝากบนเว็บราวๆ 50% ของ Megaupload แล้ว

News Source: http://torrentfreak.com/mega-relives-megaupload-fame-overtakes-rapidshare-130922/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net