Skip to main content
sharethis
วันนี้ (22 ก.ย.56) ช่วงสุดท้ายของการเดินเท้าคัดค้าน EHIA (Environmental Health Impact Assessment) หรือรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเขื่อนแม่วงก์ ระยะทาง 388 กิโลเมตรจากป่าพื้นที่เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์สู่กลางเมืองกรุงฯ
 
ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำขบวนผู้เข้าร่วมเริ่มต้นที่ประมาณ 300 คน ออกเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มุ่งหน้าไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยใช้เส้นทางตามแนวรถไฟฟ้า BTS ตั้งแต่สถานีหมอชิตไปจนถึงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
 
 
รอน ไพรินทร์ ปกาเกอะญอ จาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมาร่วมขบวน ‘เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์’ ตั้งแต่เมื่อ 3 วันที่แล้ว กล่าวว่า ในชุมชนที่แม่แจ่มเองก็ประสบปัญหาการก่อสร้างเขื่อนผาวิ้งจู้ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่เช่นเดียวกัน จึงทำให้รู้สึกว่าต้องออกมาร่วมเดินเท้าคัดค้านโครงการเขื่อน โดยมีคนในพื้นที่เดินทางมาด้วยกันทั้งหมด 7 คนด้วยกัน
 
สำหรับโครงการเขื่อนผาวิ้งจู้นั้น รอนกล่าวว่าชาวบ้านไม่เคยรู้เลยว่าจะมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น จนกระทั่งมีการร้องศาลปกครองกรณีโครงการเงินกู้เพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดในโครงการ และพบว่าจะมีการสร้างเขื่อนผาวิ้งจู้ในโมดุล A1 เพื่อป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และแก้ปัญหาลุ่มน้ำ โดยที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลกับชาวบ้านผู้ที่จะต้องได้รับผลกระทบกว่า 10 หมู่บ้าน และในจำนวนนี้ 5 หมู่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ ขณะที่การสร้างเขื่อนดังกล่าวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท้วมได้จริง
 
“เขื่อนคือสิ่งที่ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทำลายสิ่งแวดล้อม” รอนให้นิยามสั้นๆ เกี่ยวกับเขื่อนในความคิดของเขา
 
 
ทั้งนี้ มีผู้คนทยอยเข้าร่วมขบวนการเดินทามตามจุดต่างๆ ตลอดเส้นทาง ทำให้ขบวนเดินเท้ายาวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งเป็นจุดพักรับทานอาหารกลางวันของขบวนเดินเท้า คาดว่าจะมีจำนวนหลายพันคน นับเป็นการรวมตัวทำกิจกรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของคนในกรุงเทพฯ
 
 
ศศินให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การที่ต้องค้าน EHIA เพราะเป็นกุญแจที่เริ่มต้อนเปิดให้มีการสร้างเขื่อนในป่าแม่วงก์ โดยที่ EHIA ดังกล่าวละเลยสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งละเลยความคุ้มค่าในการแก้ปัญหาน้ำท่วม
 
ส่วนเมื่อการเดินครั้งนี้จบจบ การรณรงค์ก็จะยังคงมีต่อไป โดยพรุ่งนี้จะไม่ใช่เฉพาะเครือข่ายนักอนุรักษ์ แต่คือคนที่นี่ทั้งหมด ใครสามารถทำอะไรได้ก็ทำ ทั้งนี้มูลนิธิสืบและองค์กรอนุรักษ์เป็นเพียงส่วนเดียวของขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์
 
สำหรับกระแสตอบรับระหว่างการเดินทาง ศศินกล่าวว่ามีบ้างสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ตลอดทางที่มีการให้กำลังใจก็ทำให้รู้ว่ามีคนไม่อยากได้เขื่อนทั้งที่แม่วงก์และที่กรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังแสดงความขอบคุณนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า “ป่าสร้างได้ สัตว์ป่าสร้างได้ แต่ถ้าน้ำท่วมไม่มีคนไทย ประเทศก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลตัดสินใจแล้วคือสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่มีเปลี่ยนใจ” เพราะทำให้คนเข้ามาร่วมขบวนมากมาย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าว
 
"เราจะไม่เอาความกลัวของเราไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนลุ่มน้ำที่แม่แจ่ม คนที่แก่งเสือเต้น ให้กับสัตว์ป่าที่แม่วงก์ รวมทั้งคนที่อ่าว ก ไก่ ใช่ไหมครับทุกคน" ศศินกล่าวกับผู้คนที่มาร่วมเดินเท้าครั้งนี้ และเขายังกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 เป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่มีปัญหา
 
 
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางส่วน มารอต้อนรับขบวนเดินเท้าอยู่ที่บริเวณลานหน้าหอศิลปะฯ ซึ่งมีกิจกรรม ลงชื่อค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ เขียนป้ายผ้าบอกความในใจ และสกรีนเสื้อต้านเขื่อนแม่วงก์ฟรี เมื่อขบวนเดินเท้านำโดย ศศิน เดินทางถึงทุกคนต่างตบมือต้อนรับ
 
 
 
ศศินได้ขึ้นเวทีพูดคุยกับกลุ่มคนที่มารวมตัวกันจำนวนมาก โดยกล่าวถึงความสำเร็จที่ได้ทำตามความมุ่งหมายในการเดินเท้าเพื่อคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นการคัดค้านร่วมกันของเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์กว่า 40 องค์กรว่า เป็นความร่วมแรงร่วมใจทำงานกันเป็นทีมของทั้งองค์กรอนุรักษ์มืออาชีพ และชมรมอนุรักษ์ในสถานศึกษาซึ่งจะมาเป็นผู้สืบสานงานต่อไป รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของหน่วยงานราชการซึ่งเป็นคนคนที่อยู่กับป่าตัวจริงเข้ามาร่วมด้วย
 
“งานอนุรักษ์คนคนเดียวทำไม่ได้” ศศินกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้คนมารวมตัวกันอย่างหนาแน่นในครั้งนี้ ศศินกล่าวว่าไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย เนื่องจากเขาเชื่อว่าเมื่อใครเริ่มต้นลงแรง ต้องมีคนเห็น มีคนสนับสนุน อีกทั้งเขาเชื่อว่าพลังของประชาชนที่เห็นด้วยและร่วมขบวนเดินเท้าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหยุดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้
 
 
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น.บริเวณลานหน้าหอศิลปะฯ ท่ามกลางสายฝน ศศินอ่านแถลงการณ์องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมซึ่งระบุ 8 ข้อคัดค้านการอนุมัติ EHIA เขื่อนแม่วงก์ ประกอบด้วย 1.รายงานฉบับนี้ไม่ได้ให้ความจริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่นๆ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่นๆ หรือ เทคนิคกำหนดตัวแปรที่เบี่ยงเบนน้ำหนักของการเลือกที่ตั้ง ให้มาก่อสร้างในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
 
2.รายงานฉบับนี้ละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ไม่มีการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ป่าโดยที่ตั้งของชุมชน ดังมีรายงานข้อมูลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการกระจายตัวของเสือโคร่ง ทั้งจากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยและกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย
 
3.รายงานฉบับนี้ได้ระบุข้อมูลผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนว่า ในพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 291,900 ไร่ จะเป็นพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนถึง 175,355 ไร่ จึงได้พื้นที่ชลประทานฤดูแล้งเพียง 116,545 ไร่ ดังนั้นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จึงน้อยกว่าสิ่งที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำจะไปทั่งถึงทั้ง 23 ตำบลที่ได้ระบุในรายงาน หากพิจารณาเหตุผลที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่า และงบประมาณในการก่อสร้าง
 
4.รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึง 70-80% ที่ไหลลงมายังที่ราบอำเภอลาดยาว ดังนั้นถึงสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็สามารถบรรเทาอุทกภัยได้ไม่มากนักในพื้นที่โครงการ โดยไม่ต้องสงสัยว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล A1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1 % ของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
 
5.ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีมาตรการที่แน่ใจได้เลยว่าจะได้ผล ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนที่ไม่มีการระบุพื้นที่ปลูกป่าว่าอยู่ในบริเวณใด มีแต่การคำนวณว่าจะได้ไม้และผลประโยชน์มากกว่าที่จะตัดไป ทั้งที่ความจริงแล้วพื้นที่นอกอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เกือบจะมีแต่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านมิได้มีพื้นที่ใดสามารถปลูกป่าได้ถึง  36,000 ไร่ ตามที่ระบุได้ หรือมาตรการลดผลกระทบจากการล่าสัตว์ ตัดไม้เกินพื้นที่ ในระหว่างการก่อสร้างก็เป็นเพียงมาตรการทั่วๆไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลเคร่งครัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในขณะก่อสร้างจะไม่สามารถควบคุมการล่าสัตว์ที่จะไปถึงพื้นที่อื่นๆ รวมถึงห้วยขาแข้ง ได้
 
6.ในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อปลายปี 2555 มีมติให้แก้ไขรายงาน และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหลายประเด็น โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติมแล้วเสร็จได้ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี
 
7.พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล A5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์
 
8.ในการพิจารณารายงานฉบับนี้ รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ต้นปี 2556 ได้แก่การโยกย้ายตำแหน่งของเลขาธิการ และปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จากผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาเป็นข้าราชการประจำอย่างตัวเลขาธิการ สผ.เอง ซึ่งสงสัยได้ว่าต้องเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เนื่องจากในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้คือ ปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งรับผิดชอบโครงการจัดการน้ำเช่นกัน
 
นอกจากนี้ยังทราบว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่มีความเห็นทางวิชาการต่อความบกพร่องของรายงาน รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้ไม่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนประจำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 
 
จากนั้น รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ยื่นหนังสือคัดค้านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม EHIA ของเขื่อนแม่วงก์ ที่กำลังจะผ่านขั้นตอนการอนุมัติ ต่อนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทน รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ได้รับปากว่าทางกระทรวงฯ จะยังไม่มีการอนุมัติอีไอเอดังกล่าว พร้อมรับข้อเสนอไปทบทวนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป
 
ปิดท้าย ‘เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์’ วันนี้ ด้วยการฉีกEHIAที่แบกมาถึง 388 กิโลเมตร ต่อหน้ากลุ่มประชาชนที่มารวมตัวกันหน้าลานหอศิลป์ฯ โดยศศินระบุว่าเป็นการแสดงการคัดค้านอย่างสันติวิธีต่อ EHIA ฉบับดังกล่าว
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net