Skip to main content
sharethis

หากจะมองผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นปัญญาชน วันนี้สังคมต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับนักศึกษาว่า “เป็นปัญญาชนจริงหรือไม่”

22 กันยายน 2556 นักเรียนห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่ จัดงานเสวนา “ปัญญาชน จนปัญญา” ภายใต้การสนับสนุนจากฟรีดอม โซน อุบลราชธานี เพื่อการส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่ในการมส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะและการเมือง พร้อมทั้งมุ่งสร้างบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การตระหนักรับรู้ประเด็นสาธารณะและการเมืองให้กับคนรุ่นใหม่

เมื่อสังคมตั้งคำถาม ปัญญาชนหายไปไหน? เวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ  “บทบาทนักศึกษากับการมีส่วนร่วมทางสังคม” หากจะมองผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นปัญญาชน วันนี้สังคมต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับนักศึกษาว่า “เป็นปัญญาชนจริงหรือไม่” การเสวนาประกอบด้วย อาจารย์ศรัณย์ สุดใจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาจารย์เสนาะ เจริญพร อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายปรเมศวร์ ศิริพากเพียร ตัวแทนจากกลุ่มแสงแห่งเสรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนายนิติกร ค้ำชู ประธานกลุ่มดาวดิน รุ่น 6 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินรายการโดยเสวนานายยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ ตัวแทนจากกลุ่มแว่นขยายและนักเรียนห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่

นายนิติกร ค้ำชู ผู้ร่วมเสวนากล่าวว่า “กลุ่มดาวดินเกิดขึ้นจากนักศึกษารุ่นที่ 1 ที่ออกแบบกิจกรรมเพื่อหาแนวทางในการแสดงบทบาทนักศึกษาในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ปัญหาและประเด็นในพื้นที่ภาคอีสาน โดยให้การเคารพทุกความคิดเห็นของนักศึกษาที่เข้าร่วม แรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้ออกมามีส่วนร่วมทางสังคมมาจากการเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ นักศึกษาที่อยู่ในระบบการศึกษาด้านกฎหมาย จึงตระหนักและให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมด้านกฎหมายในสังคม ซึ่งคิดว่าแตกต่างจากนักศึกษาคนอื่นที่เพียงแต่ท่องมาตรากฎหมายสอบให้ผ่าน”

กล่าวอีกว่า “ชีวิตการเป็นนักศึกษาเป็นช่วงชีวิตที่มีอิสระที่สุด และมีโอกาสที่จะได้ออกสู่โลกกว้างในระหว่างการศึกษาควรออกไปเปิดมุมมองให้มาก และต้องมองให้เห็นถึงสิ่งที่ทำให้สอดคล้องกับการเรียน ประสบการณ์ที่ได้มาจากการลงพื้นที่ก็สามารถปรับใช้กับการเรียนได้ ซึ่งหลังจากการสำเร็จการศึกษาก็สามารถไปประกอบอาชีพตามที่ต้องการและคนที่ตั้งมั่นในอุดมการณ์ก็สามารถวางแผนเพื่อการดำเนินงานได้ต่อไป ในการดำเนินงานที่มีอำนาจการต่อรองที่ไม่เท่ากันทั้งที่เห็นชาวบ้านและที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักศึกษา การออกมาม็อบในแต่ละครั้งเป็นสิ่งที่เหนื่อยมาก ซึ่งคนม็อบต้องออกมาเคลื่อนด้วยแรงกดดันหลายอย่าง วันนี้สังคมนักศึกษาจะต้องตั้งคำถามกับระบบการศึกษาว่ามันตอบอะไร “ระบบการศึกษาแบบม้าแข่งที่ปิดตาด้านข้างให้มองเห็นแต่เส้นชัยด้านหน้า” การออกมาขับเคลื่อนเพื่อสังคมไม่ว่าจะเรียนสายวิทย์หรือสายสังคมก็สามารถทำได้ หากแต่ต้องถามในสิ่งที่ทำนั้นว่าช่วยเหลือสังคมได้หรือไม่ สิ่งต่างๆที่ทำนั้นมันเป็นประโยชน์กับใคร ขอให้นักศึกษายืนหยัดในสิ่งที่ตนเองคิด คนเองเชื่อ บทเรียนที่ผ่านไปจะบอกให้รู้เองว่าสิ่งที่คุณทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ขบวนการนักศึกษาก็จะยังคงมีต่อไปแน่นอน มูลนิธิเพื่อสังคม ภาคการศึกษา และนักศึกษาควรมาถอดบทเรียนในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อสาธารณะและการสะท้อนปัญหาทางสังคมต่อไป”

นายปรเมศวร์ ศิริพากเพียร กล่าวว่า “ในสังคมมหาวิทยาลัยน้อยคนที่จะเล็งเห็นปัญหาและจัดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนพูดคุย ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้เป็นทั้งกิจกรรมที่พัฒนาทั้งคนจัดและคนเข้าร่วม การที่สังคมบอกว่านักศึกษาไม่ตระหนักในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะเป็นการเสียดสีนักศึกษา และนักศึกษาเองจะต้องนำเอาคำเหล่านั้นมาพิจารณาว่าเป็นจริงหรือไม่ หากนักศึกษามีความคิดที่จะทำอะไรเพื่อสังคมจริงๆ ก็ให้ลงมือทำ และไม่อยากให้สังคมเหมารวมนักศึกษาว่าเป็นสังคมนักศึกษาที่แย่ ไม่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางสังคม สังคมต้องมองให้เห็นว่ามีนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางสังคม หากจะบอกว่านักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นการเมืองน้อยสังคมต้องพิจารณาได้แล้วว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ และด้วยเหตุปัจจัยใดที่ทำให้เป็นเช่นนั้น”

กล่าวอีกว่า “การออกมามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะของนักศึกษาในแต่ละยุคสมัยมันก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในแต่ละช่วงเวลา สภาพการเมืองการปกครองไทยในปัจจุบันที่มีความยืดหยุ่นอาจเป็นเหตุที่ทำให้นักศึกษามองว่าการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงยังไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาแสดงพลัง สังคมที่มีปัญหาหลายอย่างสะท้อนภาพของการขับเคลื่อนของนักศึกษา การขับเคลื่อนประเด็นจำเป็นที่จะต้องรวมเครือข่าย ควรใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงปัญหาอันจะนำไปสู่การดำเนินกิจกรรมร่วม แม้ธรรมชาติของสาขาวิชาที่แตกต่างหลากหลาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลุกพลังในการรวมตัวเพื่อสาธารณะและไม่ควรมองเรื่องสาขาเป็นปัญหา”

อาจารย์ศรัณย์ สุดใจ กล่าวว่า “นักศึกษาไม่ได้หาย วันนี้เราพูดถึงนักศึกษาพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม นักศึกษาปัจจุบันไม่มีพื้นที่แสดงตัวมากเท่าที่ควร อดีตขบวนการนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมและปัจจุบันก็ยังคงอยู่มันไม่ผิดที่เขาเลือกที่จะมีความสุขกับสิ่งใด การเคลื่อนไหวอาจไม่จำเป็นต้องออกสื่อหรือเคลื่อนไหวระดับชาติ การใช้ชีวิตในแต่ละวันก็ไม่เป็นอะไร อย่าไปคาดหวังกับเขาเหล่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องบังคับให้เขาทำอะไรในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ  การขับเคลื่อนของนักศึกษาไม่มีกำลังใจ เราต้องมองอุดมการณ์ในตัวที่อยากเห็นสังคมที่พัฒนา นักศึกษาต้องหันมาอ่านมาร์กซิสต์ มากกว่า post modern และนี่จะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เราทำงานเพื่อสังคมต่อไป”

อาจารย์เสนาะ เจริญพร กล่าวว่า “ข้อสังเกตต่อขบวนการนักศึกษาในปัจจุบัน ทำไมนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม บทเรียนที่เกิดขึ้นในสังคมหลายกรณี หากนักศึกษามีหัวใจรักความเป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาจะต้องออกมาขับเคลื่อน สำหรับคนที่ออกมาขับเคลื่อนแล้วถูกมองว่าหัวรุนแรงมันอาจไม่ใช่ เป็นเพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกกับผลที่เกิดขึ้นกับสังคม แต่คนที่ออกมาด่านักศึกษาว่าหัวรุนแรงนั้นเขาเองที่โหดร้ายยิ่งกว่า หากสังคมยังเมินเฉยกับปัญหา ปัญหาเหล่านั้นมันก็จะย้อนกลับมาหาทุกคนในสังคมเอง ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาที่ชนชั้นปกครองเคยเห็นพิษของนักศึกษาและกลัวนักศึกษา จึงเกิดการทำให้เขาเป็นทารกตลอดเวลา ทำให้ต่อมาการขับเคลื่อน NGO เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน และต่อมาชาวบ้านสามารถขับเคลื่อนงานเองได้ บทบาทนักศึกษาจึงลดหายไป”

พร้อมกล่าวอีกว่า “การที่นักศึกษาไม่ออกมาเคลื่อนไหวก็เนื่องมาจากนักศึกษาไม่ได้อยู่ในชนชั้นที่เดือดร้อนมากนัก การที่ไม่ถูกกดดันให้จนตรอกมากจึงทำให้ไม่รู้สึกว่าจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไร คนรุ่นใหม่ควรเข้ามาเน้นเรื่องการเมืองและชีวิตในปัจจุบัน เปลี่ยนการมองแบบกรมประชาสงเคราะห์ที่เอาของไปชาวบ้าน  ต้องเปลี่ยนรูปแบบจากการเอาของไปให้เป็นการเข้าใจชาวบ้านที่เขาไม่ได้โง่ เพียงเพราะมีเหตุปัจจัยที่เป็นปัญหาสำหรับชาวบ้าน นักศึกษาต้องเข้าใจปัญหาชาวบ้านและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การทำกิจกรรมในยุคนี้ก็ต้องทนเจ็บปวดต่อไปเมื่อสังคมไม่เห็นด้วย”
และกล่าวต่ออีกว่า “มหาวิทยาลัยกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ หากการทำกิจกรรมเป็นการกระทำที่เท่ห์ ขบวนการนักศึกษาจะเป็นที่น่าสนใจ แต่สภาพปัจจุบันเป็นสิ่งที่ล้าหลัง ภารกิจหนึ่งของนักศึกษาจะต้องสร้างข้อมูลต่อสู้กับชนชั้นกลางจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น”

วันนี้สังคมต้องมองให้เห็นถึงพลังนักศึกษาที่เปลี่ยนรูปขบวนการ ที่อาจไม่ใช่ภาพที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับอดีต เงื่อนไขสังคมปัจจุบันที่เป็นเหตุปัจจัยให้นักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าพลังของนักศึกษาหายไป การให้กำลังใจในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะสังคมต้องเข้าใจ และนักศึกษาต้องทบทวนบทบาทที่ไม่ใช่เพียงเพื่อใบปริญญาที่จะออกไปประกอบอาชีพทางการงาน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net