Skip to main content
sharethis
ใกล้เส้นชัย “เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์” จากป่าแม่วงก์เข้าสู่ใจกลางเมืองกรุง ระยะทางร่วม 388 กิโลเมตร
 
วันนี้ (21 ก.ย.56) การเดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ นำโดยศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเริ่มเดินทางกันตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.56 จากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยมีปลายทางที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มาบุญครอง ใกล้ถึงเป้าหมาย
 
การเดินเท้าในครั้งมุ่งสร้างความตระหนักและตื่นตัวของผู้คน เนื่องจากมองว่า EHIA เขื่อนแม่วงก์ ไม่ได้ระบุข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับผืนป่ากว่า 1.3 หมื่นไร่ อีกทั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
“ผมอยากเดินเท้าไปแม่วงก์ เพื่อประท้วงการทำงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน” ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรโพสข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Sasin Chalermlarp เมื่อวันที่ 3 ก.ย.56
 
ขณะนี้ ขบวนเดินเท้าเดินทางมาถึงดอนเมือง เข้าพักที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว
 
เส้นทางร่วม 388 กิโลเมตรจากป่าสู่เมืองนั้น ผ่านพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนแม่วงก์ และแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล โดยมีทั้งเสียงคัดค้านและเสียงสนับสนุนจากผู้คนตลอดเส้นทาง รวมทั้งในโลกออนไลน์ด้วย
 
ประชาไทประมวลภาพและข้อมูลระหว่างการเดินทางบางส่วน จากเฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp และเพจ เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ในช่วงระยะเวลา 12 วันที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นบรรยากาศการตอบรับของผู้คนระหว่างการเดินทางในสายตาของคนทำกิจกรรมเอง ก่อนที่จะมีกิจกรรมปิดท้ายการเดินกันที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ 
 
“วันอาทิตย์นี้จะเป็นวันตัดสินว่าเราจะรักษาผืนป่าไว้ได้หรือไม่ เพราะหากเขื่อนแม่วงก์ซึ่งจะถูกสร้างในผืนป่าอุดมสมบูรณ์ สร้างในป่าที่มีสัตว์ป่าสำคัญอย่างเสือ โดยที่ไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มทุน โครงการอื่นก็จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นแก่งเสือเต้น แม่แจ่ม หรือแม้แต่การตัดถนนผ่าป่า” ศศิน เฉลิมลาภ 
 
000
วันอังคารที่ 10 กันยายน 2556
เดินทางจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา – แก่งเกาะใหญ่ ตลิ่งสูง เขาชนกัน สู่วังชุมพร (พื้นที่รับประโยชน์ท้ายเขื่อน)
 
ผมบอกสื่อไปว่า มาคราวนี้ผมไม่ได้มาชี้แจงชาวบ้านเรื่องเขื่อนนะครับ ผมเดินให้เขาสงสัยว่ามีคนบ้าเดินไปกรุงเทพทำไม
 
ผมเริ่มเดินแบก รายงาน EHIAออกมาแล้ว เริ่มเดินเวลา 5.50 น.
 
วันพุธที่ 11 กันยายน 2556
เดินจากวังชุมพร สู่ตำบลลาดยาว (พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์)
 
ไปเลย 1 2 3 
 
ฝนตกแล้ว 
 
ลุงเล็กขับรถมาจากนครสวรรค์ จากกลุ่มเพื่อนธรรมชาติ 
 
พักผ่อนอยู่หน้าพระพุทธรูป สักพักจะเดินทางต่อไปลาดยาว ที่นั่น นักการเมืองท้องถิ่นที่สนับสนุนเขื่อนกำลังเตรียมรับอย่างเข้มข้น ส่งข่าวบอกเป็นระยะว่าจะขอคุยกันที่เทศบาล พยายามคาดคั้นว่าจะเดินถึงกี่โมง ผมก็พยายามบอกเขาดีๆ เหมือนกันว่าระยะสิบกว่ากิโลเดินเท้า ต้องกะเวลาเองเผื่อพักด้วย ทางนั้นก็พยายามบอกว่า บ่ายสองใช่ไหม บ่ายสามใช่ไหม ก็ผมเดินเท้าฝ่าแดด พักบ่อย จะไปรู้ได้อย่างไรว่าจะถึงกี่โมง เฮ้อ รักแล้วรอหน่อยนะครับ
 
ทีมวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ราชภัฏนครสวรรค์ มาเดิน
 
ตอนเย็นค่ำเดินเสร็จต้องทำงานต่อ สรุป และวางแผนพรุ่งนี้ สองวันที่ผ่านมา แต่นี่ก็รู้แล้วว่า งานนี้แค่ใจถึงอย่างเดียวไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้มากหรอกถ้าไม่มีทีม และและสิ่งที่ไม่คาดหมาย หรือการผ่านพ้นอุปสรรค์ที่ยากเข็ญ จะผ่านไม่ได้เลยถ้าไม่มีมิตร
 
วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2556
เดินทางจากลาดยาว สู่อำเภอสว่างอารมณ์ (พื้นที่อุทกภัยอำเภอลาดยาว)
 
พี่เสรี นักธุรกิจขายเคมีเกษตรโดยตรง ยังมาให้กำลังใจเรา บอกว่ามีวิธีมากมายที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนแล้วจัดการน้ำได้ ขอบคุณครับพี่ สำหรับกำลังใจ และทุนเดินทาง
 
เข้าเขตจังหวัดอุทัยธานี
 
 
ไปทัพทันครับ
 
 

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2556
เดินทางจากอำเภอสว่างอารมณ์ สู่จังหวัดอุทัยธานี (พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง)
 
เมื่อตอนก่อนออกจากทัพทันพี่วิชัยดักรอหน้าร้าน มอบแบงค์ร้อยแล้วว่าถ้าขาไม่เจ็บจะไปเดินด้วย 
 
วันนี้ที่อุทัย น่าสนุก คนไม่เอาเขื่อนอย่างพี่หาญ กับ น้องไผ่มาเยี่ยมเวทีอุทัย ที่บ้านพี่วิไลวรรณ พลาดไม่ได้ 
 
ที่นี่ผู้รับผิดชอบสร้างเขื่อนแม่วงก์
 
พี่ชัชวาลย์ พิศดำขำ มาในนามมูลนิธิห้วยขาแข้ง ขอบคุณครับ 
 
 
วันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2556
เดินทางจากจังหวัดอุทัยธานี สู่อำเภอมโนรมณ์ (พื้นที่จุดบรรจบแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา)
 
ทีมคนแบกเหล้า จากปราจีนฯ มาร่วมเดิน 
 
เพื่อนจากกรมอุทยานมาสนับสนุน
 
จะออกเดินต่อแล้ว มีเสบียงจากเพื่อนมาให้เป็นพลังกาย พลังใจ เต็มรถเสบียง ขอบคุณครับ 
 
เดินครั้งนี้เป็นขบวนประวัติศาสตร์
 
 
วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2556
เดินทางจากอำเภอมโนรมณ์ สู่อำเภอบางโฉมศรี (พื้นที่อุทกภัยบางโฉมศรี - สิงห์บุรี)
 
วันนี้เริ่มเดินสายกว่าทุกวัน
 
 
ฝากข่าวจราจร ครับ เราอยู่ถนนสายเอเซีย ประมาณ กม.137 จากแยกหางน้ำสาคร ชัยนาท ไปบางโฉมศรี มุ่งหน้า กทม. มีรถนำ 
 
พี่ตุ๊ แครี่ออน
 
เครือข่ายท่าจีนนครปฐม 
 
พี่หงามาแล้ว 
 
เป้าหมายวันพรุ่งนี้ ผ่านชัยนาท ไปพ้นสิงห์บุรี 
 
บรรยากาศลงชื่อค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ 
 
 
วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2556
เดินทางจากอำเภอบางโฉมศรี สู่พรหมบุรี (พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน)
 
ผ่านชัยนาท สำเร็จ สวัสดี ชาวเมืองสิงห์ 
 
หันไปเจอแดด กับ คนอายุ 82 เออยังต้องมาตากแดดเพื่ออะไร?
 
คุณตำรวจกำธร และคุณประทุม มาช่วยดูแล จาก สภ.อินทร์บุรี
 
แก่งเสือเต้นก็มาเดินด้วย
 
วันนี้มาได้แค่นี้ ผิดแผนไปหน่อยนึกว่าจะถึงพรหมบุรี เหลืออีก 140 กิโลเมตร เดินวันละ 20 กว่ากิโลเมตร ได้ซะที อีก 6 วันผมจะถึงกรุงเทพฯ พรุ่งนี้เดินข้ามจังหวัดสิงห์บุรี ไปอ่างทอง ใกล้บ้านผมที่อยุธยา
 
ตอนนี้เข้าใจว่าข่าวสารคงไปถึงผู้คนมากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ
 

วันอังคารที่ 17 กันยายน 2556
เดินทางจากพรหมบุรี สู่จังหวัดอ่างทอง (พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง)
 
ขอบคุณพี่น้องกลุ่มเกษตรทางเลือกภาคใต้ ที่แวะมามอบสะตอสดๆ ให้กับคณะครับ 

 
 
กลุ่ม Green Politics ร่วมขบวนครับ 
 
 
วันพุธที่ 18 กันยายน 2556
เดินทางจากจังหวัดอ่างทอง สู่อำเภอบางปะหัน (พื้นที่เศรษฐกิจหลักในการป้องกันอุทกภัย)
 
ผ่านไชโยๆๆ เข้าอ่างทอง
 
เมื่อเช้า มีลุงคนหนึ่งเดินตามมาหลังขบวน แต่ฟ้าสาง บอกว่านั่งแท็กซี่มา เสร็จก็เอากระเป๋าไว้ที่รถตามขบวน ผมชะลอแล้วเดินกลับไปถามว่า พี่ชื่ออะไรครับ มาจากไหน ลุงเงยหน้า แล้วบอกว่า ผมชื่อ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ไอ๊หยา ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักสิ่งแวดล้อมอาวุโส ของไทย ในสมัยคลาสสิค สุรพล สุดารา ปริญญา นุตาลัย และ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ในยุค 90 ขอบคุณครับอาจารย์ที่มาร่วมเดิน
 
ผมแซวอาจารย์ว่า ที่เราต้องมาเดินนี่ก็เริ่มจากเมื่อปีที่แล้ว ที่เราไปปรึกษาเรื่องเขื่อนนี่แล้วอ.บอกให้ อ.รตยาไปกางเต็นท์ประท้วง 555 
 
 
วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2556
เดินทางจากอำเภอบางปะหัน สู่วิทยาลัยเกษตรหันตรา (ราชมงคลสุวรรณภูมิ) (พื้นที่การผันน้ำตามแนวคิดของไจก้า)
 
ผมเกิด และโตที่อำเภอนี้ 10 ปี ที่บ้านริมน้ำป่าสัก 
 
เพื่อนจากกลุ่มเยาวชนต้นกล้าจังหวัดนครนายก มาพร้อมกับเสื้อจากอาจารย์ปัณยา ไชยะคำ ครับ ขอบคุณมากครับ 
 
พี่จืดเด็กรักป่าสุรินทร์ กำลังเล่าเชื่อมโยงอดีตสมัยที่ค้านเขื่่อนน้ำโจน
 
บ่ายนี้น่าจะร้อยกว่าคน 
 
ถึงบางปะอินแล้ว
 
เชิญพี่ศรีสุวรรณ (นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน) พูดเรื่องกฎหมาย
 
 
วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2556
เดินทางจากวิทยาลัยเกษตรหันตรา สู่แยกบางปะอิน
 
พี่โชคส่งเราถึงกรุงเทพฯ ลาเรากลับเขาแผงม้าแล้วครับ 
 
ตัวแทนจากธนาคารไทยพาณิชย์เดินทางมาเยี่ยมและมอบเสบียงครับ
 
ขบวนแรงงานมาร่วมเดินด้วยครับ
 
ขอบคุณท่านอาจารย์จากวิศวกรรมสถานทั้งหลายที่มาให้ความรู้ครับ 
 
พี่น้องปากะญอจากแม่แจ่ม ที่จะโดนสร้างเขื่อนเหมือนกันที่เชียงใหม่มาเยียมเยือน 
 
 
วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2556
เดินทางจากบางปะอิน สู่ดอนเมือง พักที่ ม.เกษตร
 
กำลังพูดคุย หลังอาหารเช้า ขอบคุณมื้อเช้าจากพี่หมู SCB และท่านอื่นๆ ที่มอบน้ำ ขนม ตลอดมา
 
ผมเชื่อมาตลอดว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เริ่มจากคนจำนวนมาก แต่เกิดจากคนเล็กๆ น้อยๆ ที่มีพลังครับ มาร่วมกันครับวันนี้ เพื่อบอกให้ประเทศไทยรู้ว่า เราไม่ยอม เรายืนหยัด เราศรัทธา เราจะรักษา ในความดี ความงาม ความจริง
 
แดดร่มแล้ว เข้าสู่พื้นที่จังหวัดสุดท้ายตามแผน กรุงเทพฯ
 
พูดที่เกษตร 
 
 
 
จากป่า สู่เมือง : 388 กิโลเมตร จากแม่วงก์ ถึงกรุงเทพฯ STOP EHIA Mae Wong
วันที่ 22 กันยายน 2556
บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ภาคป่า
09.00 น. ออกเดินเท้าจาก ม.เกษตรศาสตร์ ประตูถนนวิภาวดี
11.00 น. พบกันที่จุดรวมพล BTS หมอชิต
13.00 น. ประชาสัมพันธ์การคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
16.00 น. ร่วมกิจกรรมจากป่าสู่เมือง ในงานจากป่าสู่เมือง ณ หอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน
18.45 น. ร่วมอ่านแถลงการณ์พร้อมยื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ภาคเมือง
15.00 น. การแสดงละคร "เสือสมิง" จากกลุ่มมะขามป้อม
15.15 น. ดนตรีจากกลุ่มเยาวชนต้นกล้าน้อย จ.นครสวรรค์
15.30 น. เสวนาวิวาทะ(กำ)จากเขื่อนแม่วงก์
16.15 น. ดนตรีจากวงอพาร์ทเม้นท์คุณป้า
17.00 น. เสวนา ร้อยเรื่อง การเดินทางจากป่าสู่เมือง
17.45 น. ดนตรีจากวงคาราวาน
18.30 น. บทเพลงจากคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา
18.45 น. อ.ศศิน และเครือข่ายผู้ร่วมคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ร่วมอ่านแถลงการณ์พร้อมยื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
19.00 น. การแสดงดนตรี
 
 
 
000
 
 
แถลงการณ์คัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์
 
แถลงการณ์คัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดย องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
1. รายงานฉบับนี้ไม่ได้ให้ความจริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่นๆ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่นๆ หรือ เทคนิคกำหนดตัวแปรที่เบี่ยงเบนน้ำหนักของการเลือกที่ตั้ง ให้มาก่อสร้างในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
 
2. รายงานฉบับนี้ละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ไม่มีการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ป่าโดยที่ตั้งของชุมชน ดังมีรายงานข้อมูลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการกระจายตัวของเสือโคร่ง ทั้งจากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยและกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย
 
3. รายงานฉบับนี้ได้ระบุข้อมูลผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนว่า ในพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 291,900 ไร่ จะเป็นพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนถึง 175,355 ไร่ จึงได้พื้นที่ชลประทานฤดูแล้งเพียง 116,545 ไร่ ดังนั้นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จึงน้อยกว่าสิ่งที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำจะไปทั่งถึงทั้ง 23 ตำบลที่ได้ระบุในรายงาน หากพิจารณาเหตุผลที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่า และงบประมาณในการก่อสร้าง
 
4. รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึง 70-80% ที่ไหลลงมายังที่ราบอำเภอลาดยาว ดังนั้นถึงสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็สามารถบรรเทาอุทกภัยได้ไม่มากนักในพื้นที่โครงการ โดยไม่ต้องสงสัยว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล A1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1 % ของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
 
5. ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่มีมาตรการที่แน่ใจได้เลยว่าจะได้ผล ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนที่ไม่มีการระบุพื้นที่ปลูกป่าว่าอยู่ในบริเวณใด มีแต่การคำนวณว่าจะได้ไม้และผลประโยชน์มากกว่าที่จะตัดไป ทั้งที่ความจริงแล้วพื้นที่นอกอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เกือบจะมีแต่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านมิได้มีพื้นที่ใดสามารถปลูกป่าได้ถึง  36,000 ไร่ ตามที่ระบุได้ หรือมาตรการลดผลกระทบจากการล่าสัตว์ ตัดไม้เกินพื้นที่ ในระหว่างการก่อสร้างก็เป็นเพียงมาตรการทั่วๆไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลเคร่งครัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในขณะก่อสร้างจะไม่สามารถควบคุมการล่าสัตว์ที่จะไปถึงพื้นที่อื่นๆ รวมถึงห้วยขาแข้ง ได้
 
6. ในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อปลายปี 2555 มีมติให้แก้ไขรายงาน และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหลายประเด็น โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติมแล้วเสร็จได้ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี
 
7. พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล A5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์
 
8. ในการพิจารณารายงานฉบับนี้ รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ต้นปี 2556 ได้แก่การโยกย้ายตำแหน่งของเลขาธิการอย่าง ดร.วิจารณ์ สิมะฉายา ซึ่งมีชื่อเสียงการยอมรับในการทำงานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี มาเป็นนายสันติ บุญประคับ ซึ่งมีภูมิหลังทำงานด้านพัฒนาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จาก ดร.สันทัด สมชีวิตา ผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มาเป็นข้าราชการประจำอย่างตัวเลขาธิการ สผ.เอง คือ นายสันติ บุญประคับ ซึ่งอาจจะสงสัยได้ว่าต้องเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเนื่องจากในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้คือ ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี  ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการน้ำเช่นกัน นอกจากนี้ยังทราบว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่มีความเห็นทางวิชาการต่อความบกพร่องของรายงาน อาทิ ดร. อุทิศ กุฏอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าไม้ นายสมศักดิ์ โพธิ์สัตย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านธรณีวิทยา รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้ไม่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนประจำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 
ดังนั้นการเร่งรัดผ่านรายงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ในครั้งนี้จึงมีความผิดปกติอย่างยิ่งต่อมาตรฐานทางวิชาการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงขอยื่นแถลงการณ์ฉบับนี้ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำและเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 9 กันยายน 2556 ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
รายชื่อองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 
มูลนิธิโลกสีเขียว
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS)ประเทศไทย
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ
กลุ่ม กคอทส.
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง
มูลนิธิสถาบันปฏิปัน
เครือข่ายป่าชุมชน จังหวัดนครสวรรค์
เครือข่ายชุมชนคนรักษ์ป่าเขาแม่กระทู้
กลุ่มใบไม้
กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
ศูนย์ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย Thaiflood.com
กลุ่มเสรีนนทรี
กลุ่ม Big Tree
กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(WWF)ประเทศไทย
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
มูลนิธิคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก
มูลนิธิกลุ่มศิลปินรักผืนป่าตะวันตก
กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะ
มูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ป่าตะวันตก
มูลนิธิสืบศักดิ์สินแผ่นดินสี่แคว
เครือข่ายป่าชุมชนขอบป่าตะวันตก จ.กำแพงเพชร
มูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าน้อย
กลุ่มรักษ์ป่า
กลุ่มแนวร่วมนิสิต นักศึกษา รักธรรมชาติ(นนรธ.)
 
 
 
000
 
 
ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นกรณีเขื่อนแม่วงก์
เผยแพร่เมื่อ 18 เม.ย.55 โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
 
 
ความเป็นมาของเขื่อนแม่วงก์
 
ที่มา: “ทำไม! ต้องค้านเขื่อนแม่วงก์” เอกสารข้อมูลโครงการเขื่อนแม่วงก์
โดยองค์กรเครือข่ายสิ่งแวดล้อม สามารถดาวน์โหลได้ฟรีในรูปแบบ pdf file ที่ www.seub.or.th
 
ปี 2525 กรมชลประทานริเริ่มโครงการเขื่อนแม่วงก์
 
ปี 2537 มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีความเห็นให้กรมชลประทานศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมบริเวณเขาชนกัน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเขาสบกก
 
ปี 2540 กรมชลประทานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมตามมติ คชก.
 
ปี 2541 มติที่ประชุม คชก.วันที่ 23 มกราคม ครั้งที่ 1/2541 “ไม่เห็นชอบกับการดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์”
 
ปี 2543 ทำประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนแม่วงก์
 
ปี 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติครั้งที่ 3 ยังไม่เห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กรมชลประทานหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการ และศึกษาเพิ่มเติมการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ
 
ปี 2555 มีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net