Skip to main content
sharethis

เสวนา “มุมมองคนรุ่นใหม่ต่ออาชีพทำนา” ห้องกิจกรรมฟรีดอม โซน อุบลราชธานี ถกมีเหตุปัจจัยใดบ้าง ที่จะผลักดันให้คนรุ่นใหม่สนใจอาชีพทำนา

 

21 ก.ย. 56 กลุ่มสารไทย จากห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากฟรีดอม โซนอุบลราชธานี เพื่อการส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่จังหวัดอุบลราชธานีดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะและการส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่ด้านประชาธิปไตย จัดงานเสวนา “มุมมองคนรุ่นใหม่ต่ออาชีพทำนา” ณ ห้องกิจกรรมฟรีดอม โซน อุบลราชธานี เนื่องด้วยปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีอาชีพที่หลากหลายเป็นทางเลือก เพื่อการทราบมุมมองการทำนาในรูปแบบคนรุ่นใหม่ว่ามีเหตุปัจจัยใดที่จะผลักดันให้คนรุ่นใหม่สนใจอาชีพทำนา พร้อมทั้งเพื่อสร้างบรรยากาศให้คนรุ่นใหม่มีเวทีในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ

วิทยาการที่เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย คุณวีระ สุดสังข์ นักเขียนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบท คุณมหรรณพ ต้นวงศ์ษา นักดนตรีผู้ใช้ชีวิตเรียบง่ายกับอาชีพเกษตรผสมผสานในชุมชน คุณธรรมรัช เลือกรัมย์ คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คุณดนุเดช ประจุทรัพย์ คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย คุณกมล หอมกลิ่น สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี

คุณวีระ สุดสังข์ ผู้ร่วมเสวนา “ข้าวถือว่าสำคัญ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต จากประสบการณ์ของการเป็นชาวนานั้นมีความลำบาก ระบบการศึกษาที่มีการเรียนการสอนไม่ตรงกับฤดูการทำนาทำให้คนที่เป็นนักเรียนนักศึกษามีโอกาสในการสัมผัสชีวิตชาวนาน้อยลง ซึ่งบางคนอาจถึงกับลืมชีวิตของความเป็นชาวนา และหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วบางคนต้องห่างจากอาชีพชาวนาไปประกอบอาชีพในเมือง”

พร้อมกล่าวอีกว่า “ข้าวทุกเม็ดล้วนมาจากน้ำ มาจากดิน อย่าดูถูกหรือรังเกียจชีวิตของชาวนา เรื่องของการทำนาไม่ได้หมายความเพียงการไถนาปลูกข้าว ในนาที่มีอย่างอื่นมากมายจิตวิญญาณของชีวิตชาวนาก็เพื่อจะให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข เหตุที่ชาวนาจนเกิดจากความอยากรวย ยิ่งอยากรวยก็ต้องค้นหาสิ่งต่างๆ เข้ามา การทำนาสมัยใหม่พึงเทคโนโลยีมากทำให้มองข้ามการมีชีวิตอย่างมีความสุข โดยส่วนตัวก็ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีหรือสารเคมีโดยสิ้นเชิง แต่สำหรับการผลิตนั้น เราจะต้องนึกถึงผู้บริโภคที่ส่งผลกระทบกับผู้ร่วมสังคมของเรา หากเรามุ่งแต่จะได้ผลกำไรโดยที่ฝืนธรรมชาติเราจะไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และบางครั้งชาวนาไม่ตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งที่มีอยู่มาใช้ในการผลิต การที่รัฐจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นโดยที่ชาวนยังไม่อยู่ดีกินดีก็ไม่มีประโยชน์”

คุณมหรรณพ ต้นวงศ์ษา กล่าวว่า “การสัมผัสชีวิตจากการทำนาทำสวนมันเป็นความสุข คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เคยชินกับการนั่งห้องแอร์มาก การใช้ชีวิตเรียบง่ายบางครั้งก็ต้องมีอาชีพเสริมเพราะไม่มีเงินเดือนเหมือนข้าราชการ ซึ่งสามารถทำได้โดยง่ายด้วยการปลูกผัก ทำอาหารแปรรูป โดยส่วนตัวที่ไม่ใช่ว่าไม่มีทางเลือกอื่น แต่ด้วยบริบทความเป็นชุมชนทำให้ตนเองเลือกที่จะอยู่กับความเรียบง่าย ในวิถีที่มันขาดความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายไปก็ไม่ผิดเพราะสังคมนี้มีความหลากหลาย โดยส่วนตัวเป็นห่วงเรื่องการใช้สารเคมีในการผลิตเพราะมันจะกลายเป็นผลกระทบในระยะยาว”

คุณดนุเดช ประจุทรัพย์ กล่าวว่า “การเข้ารบการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นชาวนา แต่ตั้งใจประกอบอาชีพข้าราชการ ถ้าเปรียบเทียบระหว่างอาชีพชาวนากับราชการ ชาวนาไม่เคยได้รับสวัสดิการจากรัฐจึงอยากเป็นข้าราชการมากกว่า อย่างไรก็ดีหากมองถึงความคุ้มค่าของชาวนาที่รัฐไปสนใจเพียงเรื่องราคาที่ไม่คิดถึงต้นทุนการผลิตของชาวนา และคนรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่มองอาชีพชาวนาเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น อาชีพหลักคือการรับราชการ โดยที่หลังจากได้รับราชการแล้วนั้นก็จะประกอบอาชีพชาวนาเป็นอาชีพเสริม”

พร้อมกล่าวว่า “ราคาที่ชาวนาสามารถขายได้นั้น ได้รับเงินจำนวนมากจากรายได้ที่รัฐบาลช่วยเหลือ การที่ชาวนา ชาวไร่ หรือคนปลูกยางพารานั้นก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเสียหาย รัฐควรจะให้ความสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกรมากกว่าให้ความสำคัญกับอาชีพของทุนใหญ่ ประชากรส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในระบบการเกษตรที่ต้องบริโภค แต่หลายคนมองข้ามเรื่องใกล้ตัวเหล่านี้ และคนรุ่นใหม่มองว่าอาชีพชาวนามันไม่คุ้มค่าเขาจึงมองอาชีพชาวนาเป็นอาชีพรอง”

คุณธรรมรัช เลือกรัมย์ กล่าวว่า “โดยส่วนตัวอยากกลับไปประกอบอาชีพชาวนาหลังจากสำเร็จการศึกษา เนื่องจากต้นทุนเดิมที่มีพื้นที่นาอยู่แล้ว การผลิตข้าวของท้องถิ่นที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอยากกลับไปสร้างการผลิตที่ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตขึ้น การประยุกต์การทำนากับการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปจะทำให้สามารถเพิ่มรายได้ขึ้นได้ ชาวนาต้องตั้งโจทย์ให้กับตัวเองว่าจะทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น”

กล่าวอีกว่า “เครื่องจักรกลทางการเกษตรเราจะต้องใช้เท่าทีจำเป็นและใช้ได้ หัวใจหลักทางการเกษตรคือน้ำชาวนาต้องบริหารจัดการเรื่องน้ำให้ดี รัฐจะต้องในความสำคัญกับระบบชลประทานที่สามารถกระจายน้ำให้กับชาวนาได้อย่างทั่วถึง”

ปัจจุบันนี้ชาวนาจะต้องพิจารณาเพื่อการใช้ชีวิตที่ต้องพิจารณาว่าการลงทุนทำนาจำนวนมากเพื่อให้ได้กำไรสามารถประสบผลสำเร็จได้เช่นนั้นจริงหรือไม่ และในทางกลับกันถ้าค้นหาวิธีการประยุกต์สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนโดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐจะเป็นไปได้อย่างไร อาชีพชาวนาหากขาดคุณค่าทางศรัทธาความสุขมันจะไม่เกิด แล้วคนรุ่นใหม่ต่ออาชีพทำนาจะให้ชีวิตที่ลงตัวได้อย่างไร คนรุ่นใหม่ต้องค้นหาวิถีชีวิตใหม่นั้นเอง พร้อมทั้งภาครัฐและหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องจะต้องสนับสนุนความรู้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงการช่วยเหลือชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในกระแสเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net