Skip to main content
sharethis

ปลายเดือนสิงหาคม 56 Youk Chhang ผู้อำนวยการบริหาร Documentation Center of Cambodia (DC-Cam) เดินทางจากพนมเปญ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กระบวนการปรองดองของกัมพูชาซึ่งเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดยุคเขมรแดง โดยมาร่วมเสวนากับกลุ่มนักวิจัยเล็กๆ และผู้ที่สนใจในโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์สันติภาพ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

Youk Chhang เป็นผู้หนึ่งที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาถูกเขมรแดงจับตัวไปตั้งแต่อายุ 14 ปี และถูกซ้อมทรมาน ครอบครัวของเขาถูกสังหารจนเกือบหมด เหลือเพียงแต่แม่ที่เข้มแข็งและทนทุกข์จากการสูญเสียครอบครัวและการทารุณกรรมของเขมรแดง ระหว่างการปกครองของเขมรแดงในปี พ.ศ.2518–2522 มีชาวกัมพูชาถูกสังหารไปกว่า 2 ล้านคน

Youk Chhang ได้รับการสนับสนุนการทำวิจัยในโครงการ Cambodian Genocide Program (CGP) จากมหาวิทยาลัยเยล และก่อตั้ง Documentation Center of Cambodia หรือ DC-Cam ขึ้นที่พนมเปญในปี พ.ศ.2538 และเริ่มรวบรวมข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดงมากกว่า 4,000 คน เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์กัมพูชาในช่วงการปกครองของเขมรแดงให้กับคนรุ่นหลัง และเพื่อการค้นหาความจริงและการปรองดองในสังคมกัมพูชา

ในปี พ.ศ.2549 สหประชาชาติและรัฐบาลกัมพูชาส่งตัวผู้นำเขมรแดงเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคดีในหลายข้อหา เช่น การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การฆาตกรรมและทรมาน โดยเป็นผลเนื่องจากการวิจัยและรวบรวมข้อมูลของ DC-Cam ต่อมาในปี พ.ศ.2554 ผู้นำเขมรแดงถูกนำเข้าสู่การพิจารณาคดีในศาลพิเศษกัมพูชาด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

Youk Chhang เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 60 วีรบุรุษของอาเซียนใน พ.ศ.2549 และได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลของโลกในปี พ.ศ.2550 จากการต่อต้านการละเว้นโทษให้กับผู้นำเขมรแดง

......

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณมีแรงบันดาลใจอย่างไรที่มาเริ่มทำงานที่ศูนย์ DC CAM มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

ผมคิดว่าเป็นเพราะผมทุกข์ทรมานมาก แต่เมื่อมองดูรอบๆ แล้วพบว่าประชาชนก็ทุกข์ทรมานเช่นเดียวกัน คนแรกที่ผมเห็น คือแม่ของผมเอง และผมก็ไม่เข้าใจจนกระทั่งได้มาเป็นพ่อคน

แม่ของผมสูญเสียลูกๆ ไปบางส่วน รวมถึงสามีของเธอ พ่อ แม่ พี่น้องของเธอทั้งหมด แต่เธอไม่เคยร้องไห้เลย แม่ของผมเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง เธอดูแลพวกเราและปกป้องพวกเรา แต่ก็มีจุดที่เธอไม่สามารถปกป้องพวกเราได้

ตอนที่พวกเขมรแดงซ้อมผม ตอนที่พวกเขาฆ่าพี่สาวของผม ผมคิดว่าในฐานะแม่ ความเจ็บปวดที่เห็นคนทำร้ายลูกของตัวเองเป็นความเจ็บปวดที่เกินกว่าคนเป็นแม่จะรับได้ ตอนนั้นผมรู้สึกอยากแก้แค้นมาก ผมรู้สึกโกรธแค้นพวกเขมรแดงมากๆ ผมเริ่มทำงานนี้ เพราะต้องการแก้แค้น ผมอยากทำร้ายพวกเขมรแดง และเอาพวกนั้นเข้าคุกให้หมด แต่แล้วผมกลับพบว่าพวกเขามีอยู่เป็นพันๆ คนทั่วประเทศ

ผมกลับไปยังหมู่บ้านที่เคยถูกเอาตัวไปขังในคุก ผมเจอกับหัวหน้าหมู่บ้านที่ทำให้ผมทุกข์ทรมาน ผมเจอกับคนดูแลคุกที่ซ้อมทรมานผม ผมพูดกับพวกเขา แต่เขากลับจำผมไม่ได้เลย เพราะผมคิดว่าผู้กระทำผิดทุกคนจะจำหน้าเหยื่อของเขาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับกัน

เรื่องราวที่พวกเขาบอกกับผมเป็นเรื่องของมนุษย์เหมือนกัน พวกเขาก็สูญเสียลูกไปเช่นเดียวกัน พวกเขาก็ทนทุกข์ทรมานเหมือนกัน และอีกด้านหนึ่งเขาทำให้เห็นว่าที่ต้องทำลายครอบครัวของแม่ผมก็เพื่อที่จะให้ครอบครัวของตัวเองรอด เขาทำให้ผมอดหยากเพื่อพวกเขาจะได้มีอาหารกิน เขาสังหารพวกเราเพราะเขาต้องการจะมีชีวิตรอด ฉะนั้น มันก็ทำให้ผมได้คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันทำอะไรกับพวกเราทุกๆ คนกันแน่

ผมจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป และเริ่มศึกษากระบวนการปรองดอง และเริ่มมองไปถึงอนาคต จากนั้นความต้องการแก้แค้นก็ค่อยๆ จางไป และสำหรับบาดแผลในใจแม่ของผม ตลอดชั่วชีวิตนี้คงไม่มีทางรักษาให้หายได้ ฉะนั้นผมทำสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นการเยียวยาตัวเอง

ผมได้พบกับเหยื่อหลายๆ คน พบผู้รอดชีวิตและแม่ของเหยื่อ การวิจัยนี้จึงช่วยเยียวยาผม ผมถือว่าตัวเองโชคดีที่สามารถขึ้นเครื่องบินมากรุงเทพฯ สามารถเข้าเรียนในที่ดีๆ แม่ของผมมีที่อยู่อาศัยที่ดี แต่ผู้รอดชีวิตหลายคนยังตกอยู่ในความยากจน มีความท้าทายในชีวิตหลายด้าน บางส่วนสูญเสียที่ดิน บ้างไม่มีอะไรจะกิน

ฉะนั้น การวิจัยเก็บข้อมูลเรื่องเหยื่อจากเขมรแดง ช่วยผมเยียวยาจิตใจได้ ผมอยากให้ชาวกัมพูชาทุกคนเยียวยาตนเองในแบบที่เป็นของตัวเอง และมีชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นี่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผม พูดแบบตรงไปตรงมา ตอนแรกที่ผมเข้ามาทำงานนี้ไม่ใช่เพราะต้องการสร้างความปรองดอง แต่เพราะอยากแก้แค้น ผมรู้สึกโกรธแค้นเขมรแดงมากๆ

ตอนที่เขมรแดงจับผมเข้าคุก ผมมีอายุแค่ 14 ปี เพียงเพราะผมเก็บเห็ดไปเป็นอาหารให้พี่สาวที่กำลังตั้งท้อง พวกเขาฆ่าพี่สาวของผม ป้า ลุง ปู่ ย่าของผมทุกๆ คน แต่ผมก็ต้องยอมรับความจริงว่าเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว ผมต้องก้าวต่อไป ผมไม่อยากอยู่ในฐานะเหยื่อไปตลอดทั้งชีวิต ถ้าคุณเห็นผมในกรุงเทพฯ คุณคงไม่คิดว่าผมเป็นผู้รอดชีวิตจากเขมรแดง เพราะผมก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่อยากจะก้าวต่อไป อยากประสบความสำเร็จในชีวิต ไปศึกษาต่อ และช่วยเหลือคนอื่นถ้าทำได้ นั่นคือแรงบันดาลใจของผมในการช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งผมก็กำลังช่วยเหลือตนเองเช่นกัน

ตอนนี้คุณไม่โกรธเขมรแดงแล้วหรือ

ผมไม่เคยยกโทษให้พวกเขา เพราะพวกเขาไม่เคยขอโทษผม ฉะนั้นมันจึงยังว่างเปล่า ผมได้เจอกับคนที่ทรมานผมและพี่สาว แต่พวกเขาจำผมไม่ได้ ฉะนั้นเขาจึงไม่ได้ขอโทษ เพราะเขาไม่เคยขอโทษ ผมจึงไม่เคยยกโทษให้ มันเหมือนกับความทรงจำส่วนนั้นของสมองถูกปิดกั้นไป

บางทีด้วยความที่เราเป็นคนเอเชียและเป็นชาวพุทธ เราเชื่อในเรื่องของกรรม เรื่องเวรกรรม ทำให้เราทำใจอย่างนั้นได้ แต่ถ้าในแบบตะวันตก แบบศาสนาคริสต์ที่มีการขอโทษและให้อภัยนั้น มันไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อพวกเขาจำผมไม่ได้ แล้วทำไมเขาควรจะต้องขอโทษในสิ่งที่เขาทำลงไปล่ะ แล้วทำไมผมต้องยกโทษให้เขาด้วย

บางทีมันอาจจะเป็นกระบวนการการเยียวยาก็ได้ เพราะตอนนี้เขมรแดงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมแล้ว ผมไม่ได้โกรธอีกต่อไปแล้ว แต่ว่าผมก็จะไม่ยกโทษให้ ไม่มีโอกาสจะให้อภัยเพราะคนทำผิดต่อผมจำผมไม่ได้

แล้วจะทำอย่างไรให้สังคมเกิดการปรองดองและก้าวไปข้างหน้าได้

มันขึ้นอยู่กับคนรุ่นหลัง สำหรับพวกเราในฐานะที่เป็นเหยื่อโดยตรง มันเหมือนแก้วที่แตกสลาย ถึงคุณพยายามประติดประต่อต่อชิ้นส่วนที่แตกสลายเข้าด้วยกัน แต่มันจะไม่มีทางเหมือนเดิม คุณต้องพึ่งคนรุ่นหลังและการศึกษาที่เหมาะสม นั่นเป็นตัวยาช่วยเยียวยาที่ดีที่สุด ดังนั้น เมื่อเด็กๆ เริ่มเรียนรู้ คุณต้องยอมรับว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของเรา เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ คุณปฏิเสธมันไม่ได้ ฉะนั้นการให้เด็กเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ให้พวกเขาพูดคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของการบ้านที่โรงเรียนมอบหมายให้ คุณสร้างสังคมที่เอื้อให้คนสามารถจัดการกับประวัติศาสตร์ของตัวเองได้เพื่อเขาจะได้ตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป

เพราะการปรองดองเป็นเรื่องส่วนตัว คุณไม่สามารถบอกแม่ของผมว่าให้อภัยเถอะ หรือบอกคนทำผิดให้ขอโทษ มันเป็นเรื่องส่วนตัว คุณไม่สามารถบอกให้แม่ยกโทษให้กับคนที่ฆ่าลูกสาวของเธอได้หรอก  แม้แต่ทุกวันนี้ ถ้ามีคนมาฆ่าลูกของคุณ ใครจะมาบอกให้ยกโทษให้คนทำผิดได้อย่างไร มันเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นชีวิตของมนุษย์

ดังนั้น สำหรับกัมพูชาเราหวังว่า เราจะให้การศึกษาที่เหมาะสมแก่คนรุ่นหลัง เพื่อไม่ให้เขารู้สึกอับอายกับประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่ให้เขายอมรับ เรียนรู้ และแบ่งปัน เมื่อนั้นมันอาจจะช่วยให้เราเติบโต

เหมือนกับตัวผมเอง ผมใช้เขมรแดงเพื่อปรับปรุงตัวเอง ผมไม่ร้องไห้เสียใจ ไม่ได้อยู่อย่างเป็นเหยื่อ แต่ใช้เพื่อปรับปรุงตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการให้กัมพูชาทำ คือไม่ต้องอับอายประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่ต้องออกจากการเป็นเหยื่อมาเป็นนักการศึกษา เป็นหมอ เป็นทนาย เพื่อให้เขมรแดงไม่ติดอยู่กับเราตลอดไป ต้องปลดปล่อยตัวเองผ่านการศึกษา

ผมคิดว่ากัมพูชากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางนั้น มันเป็นเรื่องเปราะบางและอ่อนไหว แต่เราจะต้องเผชิญหน้ากับมันอย่างเปิดเผย และตอนนี้เราก็เผชิญกับมันในศาลยุติธรรม โลกบังคับให้กัมพูชาต้องเผชิญเรื่องนี้ มันเป็นแรงกดดันจากสากลที่ทำให้กัมพูชาต้องมองไปที่ประวัติศาสตร์ของตนเอง
ฉะนั้น มันเป็นการสร้างวัฒนธรรมการถกเถียงและการเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า สร้างการศึกษาที่ดีกว่า แต่การเผชิญหน้ากับมันเป็นเรื่องที่ยากสุดขีด เพราะผู้คนรู้สึกแตกแยก ทั้งแม่ผม ตัวผมเอง และหลานๆ ล้วนเห็นต่างกันถึงวิธีการดำเนินความยุติธรรม นั่นเพราะเราเป็นห่วงมากว่าอนาคตจะออกมาเป็นอย่างไร

นั่นคือประสบการณ์ของกัมพูชา มันยากมากๆ แต่ตอนนี้เราถูกบังคับให้เผชิญและผมคิดว่านั่นเป็นทางออกเดียว เพราะเราหลบซ่อนมันมาตลอด และมันก็ไม่ได้ผล ฉะนั้นเราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะมีคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ถูกฆ่าหรือถูกข่มเหง มันก็จะกลับมาหาคุณเพราะความทรงจำเป็นสิ่งที่ทรงพลัง แม้ว่าคุณฆ่าพวกเขาเมื่อนานมาแล้ว และได้ฝังศพพวกเขาไปแล้ว แต่มันก็จะมีบางสิ่งปรากฏออกมา ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย งานเขียน ตำรา หรือเรื่องราวต่างๆ มันจะย้อนกลับมาหาคุณ

ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องจัดการกับสิ่งเหล่านี้ก่อนที่มันจะกลายเป็นความขัดแย้งเต็มรูปแบบ ความทรงจำอย่างประสบการณ์จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังที่สุดของมนุษยชาติ  มันจะเผยตัวออกมาเมื่อเวลามาถึง และมันจะกลับมาหาคุณ ฉะนั้นนี่เป็นวิธีเดียวที่รัฐบาลจะพูดถึงปัญหานี้ ไม่ว่ามีคนเป็นพันหรือคนเป็นร้อยที่ถูกฆ่าหรือถูกทารุณ รัฐบาลก็ต้องพูดถึงปัญหานี้ ประชาชนไม่เคยคิดเลยว่าการดำเนินคดีกับเขมรแดงจะเกิดขึ้นในช่วงตลอด 34 ปี แต่มันก็เกิดขึ้น

ความขัดแย้งในประเทศไทยแน่นอนว่าความสูญเสียเกิดน้อยกว่ากัมพูชา แต่เราสามารถเรียนรู้อะไรจากกัมพูชาได้บ้าง

มันคงไม่ถูกนักที่จะเปรียบเทียบความทุกข์ เพราะแม่ทุกคนต่างก็ทุกข์ทรมานเหมือนกันหากต้องเสียลูกของตัวเองไป ฉะนั้น มันคงไม่ถูกต้องนักที่จะเอามาเทียบกันว่ากรณีของไทยเล็กกว่ากรณีของกัมพูชา เพราะเมื่อพวกเขาสูญเสียคนที่รักไปก็ต้องเจ็บปวดเหมือนๆ กัน

ในกรณีของสังคมไทย การมีประเด็นนี้กำลังทำให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้น เพราะคุณไม่สามารถแสร้งทำเป็นว่าทุกอย่างสวยงาม คุณไม่สามารถเสแสร้งอย่างนั้นได้ คุณไม่สามารถแสร้งว่าชีวิตที่นี่ช่างดีเหลือเกิน ถึงวันหนึ่งมันก็จะระเบิดออกมา หากว่ารัฐบาลไม่ลงทุนในเรื่องการศึกษาและการวิจัย เมื่อนั้นมันจะย้อนกลับมาหาคุณในภายหลัง

ตอนนี้เรารวมตัวกันเป็นอาเซียน มีความเชื่อมโยงกันอย่างมากระหว่างไทยและกัมพูชาในมิติของสิทธิมนุษยชน มิติของอาเซียน เยาวชนอาเซียนส่วนใหญ่เรียนสาขาการเงิน การธนาคาร การบัญชี เราลำบากเมื่อเผชิญกับคู่แข่งจากยุโรป เราเผชิญกับจีน ญี่ปุ่น เราต้องจัดเตรียม ไม่ใช่แค่ไทยหรือกัมพูชา เยาวชนอาเซียนต้องเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้าเราอยากจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ดีกว่านี้

ในกรณีของไทยและกัมพูชา สามารถส่งผลต่อความเข้าใจในอาเซียนของพวกเรา มองดูรอบๆ ไปที่ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เยาวชนอาเซียนส่วนมากไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในมาเลเซีย หรือคนในมาเลเซีย ก็ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาวอิสลามในกัมพูชา

ในมิติของการทำความเข้าใจต่อภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยหรือกัมพูชาไม่สามารถจะโดดเดี่ยวตัวเองได้อีกแล้ว แต่จะอยู่รอดด้วยเศรษฐกิจของภูมิภาค จะต้องทำสิ่งนี้

ไทยและกัมพูชาสามารถส่งผลกระทบ แม้ว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชาจะไม่ใช่ภาพแทนของพวกเราทั้งหมด แต่มีสิ่งที่เราต้องทำอีกมาก ไม่ใช่แค่เพื่อให้ไทยเป็นสังคมที่มีความเข้มแข็งมากกว่านี้เท่านั้น ผมแน่ใจว่านักท่องเที่ยวรักที่จะมาเที่ยวเมืองไทย แต่พวกเขาไม่รู้จักที่นี่ (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) พวกเขารู้จักสุขุมวิท สีลม  สยามพารากอน แต่ผมแน่ใจว่าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาที่เราอยู่นี้ มันน่าสนใจที่จะมาชม จะทำให้เขาความรู้จักความหมายที่อยู่ระหว่างความชั่วร้ายและความดีงามของกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น

ผมคิดว่าคนไทยก็สามารถที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะประเด็นนี้มีอยู่ในทั้งไทยและกัมพูชา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นเป็นการกระทำต่อมนุษยชาติ ไม่ได้ขึ้นกับว่าคุณเป็นคนเขมร คนไทยหรือคนลาว และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นกรณีที่มีการสังหารคนเป็นล้าน การฆ่าคนกลุ่มเล็กๆ ก็อาจอยู่ในความหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  และมันก็สามารถจะนำไปสู่รูปแบบที่ขยายไปเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้

ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่ากัมพูชาในแง่ที่จะป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าการดูแคลนความรุนแรงขนาดเล็กจะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน แต่คุณต้องไม่ดูเบาสัญชาติญาณของมนุษย์ คนที่แข็งขืนหรือขบถ เมื่อถูกกดขี่ เขาจะระเบิดมันออกมา

ในแง่ของความขัดแย้งทางการเมือง ผมคิดว่า ประสบการณ์ของภูมิภาคนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย คุณสามารถจะเรียนรู้จากกัมพูชา พม่า ลาว ผมคิดว่า ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ขณะนี้การเมืองของอาเซียนได้บังคับให้เราต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

ฉะนั้นผมดีใจที่มีกลุ่มแบบนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะชื่นชมสิ่งนี้ เพราะมันทำให้ประเทศไทยดีขึ้น เวลาที่คุณไปสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วมีอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาให้แวะชม ได้เรียนรู้ รับเอามุมมอง และสนทนาแลกเปลี่ยนกัน นั่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม  ผมว่ามันน่าจะดีมาก ผมมาที่นี้หลายครั้ง (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) แต่เหมือนจะไม่มีใครรู้จักเลย เพราะไม่มีใครพูดถึงมันในระดับประเทศ และนั่นคือสิ่งที่อันตราย ถ้ารัฐบาลไทยล้มเหลวที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ก็เป็นการสร้างภัยที่อันตราย อย่างในกัมพูชา คุณคิดว่าไม่เป็นไร แค่มีการฆ่าคนเวียดนามเพียงไม่กี่คน แต่มันลุกลามใหญ่ขึ้นๆ จนสายเกินไปที่จะหยุดมันได้

พวกเราส่วนใหญ่โน้มเอียงที่จะสนใจเรื่องชาตินิยม คุณก็จะกลายเป็นคนที่คับแคบ และมันจะนำไปสู่ความรุนแรง นั่นแหละคืออันตราย การทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของชาติจะนำไปสู่ความขัดแย้ง บางครั้งเพราะโซเชียลมีเดียและอะไรพวกนี้ ทำให้ความขัดแย้งมันไปเร็วขึ้น

การทำงานชิ้นนี้ (วงสนทนาเรื่องพิพิธภัณฑ์สันติภาพ) จริงๆ แล้วมีส่วนในการป้องกัน และทำให้สังคมไทยดีขึ้น โดยการเชื่อมโยงสังคมไทยกับกัมพูชาซึ่งมีวัฒนธรรม ภาษา อาหาร และสิ่งอื่นๆ ที่เหมือนกัน  ประชาชนกับประชาชนที่ทุกข์ยาก ต้องการให้รัฐบาลที่อยู่ในความขัดแย้ง นำประชาชนมาเชื่อมโยงกัน เราทุกข์ทนจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบเดียวกัน ทุกข์กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติแบบเดียวกัน นี่เป็นข้อความที่ชัดเจนที่ส่งไปยังรัฐบาลไทยและกัมพูชาซึ่งขณะนี้ต่างอยู่ในความขัดแย้ง

 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net