Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากกรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน ประกอบด้วย พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, สุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ณัฎฐา โกมลวาทิน ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในคดีหมิ่นประมาท จากการให้ข่าวและนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งต่อมา มีการออกมาแสดงความไม่เห็นจากกลุ่มต่างๆ อาทิ สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิตร ลี่สถาพรวงศา สอง กสทช.เสียงข้างน้อย องค์กรวิชาชีพสื่อ 4 แห่ง ทีดีอาร์ไอและไทยพีบีเอส คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภคจากทุกภูมิภาค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส นักวิชาการจากจุฬาฯ และ คณะวารสารฯ มธ. ฯลฯ

ล่าสุด (18 ก.ย.56) ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ได้จัดทำวาระการประชุม กสทช. เรื่องการยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อนักวิชาการและสื่อมวลชน เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 9/2556 โดยที่ประชุมได้รับฟังคำชี้แจงแล้วมีมติรับทราบ ต่อมา สำนักงาน กสทช.ได้เผยแพร่คำชี้แจงของ กทค. ทั้ง 4 คน ในการประชุม กสทช. ลงในเว็บไซต์สำนักงาน โดยระบุว่า มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมที่มีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง  ขณะที่บล็อกของสุภิญญาได้นำเสนอ วาระของ สุภิญญาและประวิทย์ เช่นกัน


ข้อวิเคราะห์ เรื่อง การยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักวิชาการและสื่อมวลชน ของ สุภิญญาและประวิทย์
1. แม้จะเป็นที่ชัดเจนว่าในการฟ้องคดีครั้งนี้ ในส่วนของ กทค. 4 ท่าน เป็นการฟ้องในฐานะตัวบุคคล แต่เนื่องจากสำนักงาน กสทช. เป็นโจทก์ร่วมฟ้องด้วย ประกอบกับจากการให้สัมภาษณ์ของประธาน กทค. และในคำแถลงต่างๆ มีการกล่าวถึงเหตุผลของการฟ้องว่าเพื่อปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของ กสทช. หรือองค์กร ดังนั้นจึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่า การฟ้องคดีครั้งนี้เป็นการดำเนินการโดย กสทช. หรือไม่ อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จะพบว่ามีการนำเสนอในลักษณะเป็นเรื่องระดับองค์กรทั้งสิ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในระดับคณะกรรมการเลย ไม่ว่าจะเป็น กสทช. หรือ กทค. แต่เนื่องจากทางผู้เกี่ยวข้องเองก็ไม่มีการชี้ชัดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการในสถานะใด จึงควรมีการพิจารณาประเด็นนี้ให้ชัดเจน และควรมีการนำเสนอต่อสาธารณะเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อไป

2. การร่วมฟ้องคดีของสำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้ไม่ชัดเจนว่า เลขาธิการ กสทช. ดำเนินการด้วยเหตุผลใด เนื่องจากพิจารณาแล้วพบว่าเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของนักวิชาการผู้ถูกฟ้องมิได้กล่าวพาดพิงถึงสำนักงาน กสทช. หรือระบุชื่อเลขาธิการ กสทช. แต่อย่างใด จึงควรมีการพิจารณาประเด็นนี้ให้ชัดเจนเช่นกัน และควรมีการดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไปด้วย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการที่จะต้องไม่ใช่ทรัพยากรขององค์กรในการดำเนินการเรื่องนี้

3. การดำเนินคดีนี้ขัดต่อแนวทางการดำเนินคดีอาญาเรื่องอื่นๆ ที่สำนักงาน กสทช. เคยถือปฏิบัติ โดยสำนักงาน กสทช. มิได้ส่งเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ กสทช. หรือ กทค. ให้ความเห็นชอบก่อนตามปกติ เช่น ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 25/2555 วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ที่สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอกรณีที่ผู้ประกอบการจำนวน 2๗ รายยื่นเอกสารอันเป็นเท็จในการนำเข้าเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญาต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมี ด่วนมาก ที่ นร 0505/ว.184 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549 เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง เวียนแจ้งให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อทราบและถือปฏิบัติตามต่อไป ข้อ 1.1 การดำเนินคดีอาญาในศาลยุติธรรม ที่กำหนดว่า “เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสากิจให้แจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไม่สมควรว่าจ้างทนายความยื่นฟ้องคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิดเอง” ซึ่งเป็นหลักการที่สำนักงานใช้ปฏิบัติในการฟ้องคดีต่างๆ มาโดยตลอด แต่ครั้งนี้กลับปฏิบัติแตกต่างออกไป

4. กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ เมื่อการดำเนินการใดๆ ของ กสทช. ได้รับความสนใจจากสาธารณชนโดยทั่วไปจึงเป็นเรื่องปกติ และย่อมต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และให้ข้อเสนอแนะ ไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบ ซึ่ง กสทช. ควรต้องมีใจเปิดกว้างและมีวุฒิภาวะในการที่จะเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีใจเป็นกลาง มีสติ และมีอุเบกขา แล้วใช้สัมมาทิฐิในการพิจารณาและชี้แจงอธิบายความ สร้างความเข้าใจ แทนที่จะตอบโต้อย่างมุ่งมาดเอาชนะ มุ่งตอบโต้ หรือมุ่งร้าย

บทบาทของ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อวิทยุโทรทัศน์ยังควรต้องเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสาร หากเห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพใดเป็นไปเกินกว่าขอบเขตหรือไม่เหมาะสม กสทช. ก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ให้ข้อเสนอแนะ หรือใช้มาตรการอื่นๆ แทนการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะการฟ้องร้องคดีเพื่อเล่นงานผู้วิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการดำเนินคดีอาญานั้น ในสายตาของโลกยุคใหม่ต่างเห็นว่าเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองทั้งในปฏิญญาสากลและในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่จะทำให้ กสทช. เสื่อมเสียอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการดำเนินงานต่างๆ อย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นเมื่อกรณีนี้จะทำให้ กสทช. เสียหายอย่างแท้จริง จึงสมควรที่จะพิจารณาหาแนวทางป้องกันและลดผลกระทบดังกล่าวอย่างจริงจังต่อไปด้วย


คำชี้แจง 4 กทค. ในการประชุม กสทช.  
พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.  กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยฟ้องใคร และไม่เคยมีความคิดจะฟ้องใคร แต่หลังจากได้ทำงานที่นี่มาและได้เรียนรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพด้วยการปฏิบัติ ทำให้ได้รับผลกระทบทางครอบครัว โดยคุณแม่เข้าโรงพยาบาลหลายครั้ง จากการทำงานทั้งเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้าง ซึ่งมีผลกระทบกับชีวิตตนเองโดยตรง พร้อมระบุว่า ที่จริงอยากฟ้องมากกว่าจำนวนนี้ แต่คิดว่าแค่นี้ก็คงพอที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพบ้าง
 
ผมเชื่อว่าถ้าท่านกรรมการได้รับผลกระทบถึงบิดา มารดา ที่จะต้องมาแบกรับคิดว่าเป็นเรื่องไม่จริงอยู่แล้วเพราะผมสามารถพิสูจน์ได้ จึงตัดสินใจฟ้องในฐานะส่วนตัว เข้าใจดีว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งแน่นอนท่านใช้สิทธิเสรีภาพก็มีผลกระทบต่อการทำงานของ กทค. เช่นเดียวกัน ผมจึงคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งศาลยุติธรรม ผมพึ่งใครไม่ได้ ผมพึ่ง public ไม่ได้ เพราะผมไม่ใช่นักเคลื่อนไหวที่จะสร้างมวลชนให้เชื่อผม ผมก็ทำงานตามกรอบอำนาจหน้าที่เท่านั้น

สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า กรณีที่หลายคนบอกว่า กสทช. กทค. และสำนักงาน กสทช. จะไปฟ้องร้องเขาทั่วราชอาณาจักร เป็นเรื่องที่พูดกันไปเอง ตอนท้ายของคำฟ้อง เราต้องการแสดงให้เห็นว่าเราได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะเราบอกว่าการให้สัมภาษณ์ใส่ความต่อโจทก์ทั้ง 5 เป็นลักษณะเป็นเท็จต่อสื่อหนังสือพิมพ์และในรายการโทรทัศน์ ที่นี่ ไทยพีบีเอส มีจำหน่าย แพร่หลายและออกอากาศแพร่กระจายสัญญาณทั่วราชอาณาจักรไทย เหตุจึงเกิดขึ้นทุกตำบล อำเภอ จังหวัด ในราชอาณาจักรไทย  เราไม่ได้บอกว่าเราจะไปฟ้องทั่วราชอาณาจักร
 
ในภาพรวมอยู่ใน 5 ระดับ
ความเสียหายระดับที่ 1 ระดับองค์กร กสทช. และสำนักงาน กสทช.  เสียหายต่อภาพพจน์ อยู่ๆ บอกว่ามีเวลา 420 วัน ไม่ได้ทำอะไร เลื่อนประมูลทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6  แสนล้านบาท

ความเสียหายระดับที่  2 ระดับตัวบุคคล ไม่เฉพาะ กทค. คิดว่า กสทช. ทุกท่านเพราะอย่างน้อยที่สุดเราเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการเห็นชอบร่างประกาศห้ามซิมดับ หากไปบอกว่าไปเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ เท่ากับว่า กสทช. และสำนักงาน กสทช. สมคบทุจริตคอรัปชั่น ใช้ดุลพินิจตัดสินใจไม่รอบคอบ ผิดพลาด ไม่ระมัดระวัง ไม่สุจริต ทำให้ประเทศชาติเสียหายกว่าแสนล้านบาท

ความเสียหายระดับที่ 3 ระดับการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมาย ซึ่งย่อมได้รับผลกระทบเพราะประชาชนและผู้เกี่ยวข้องย่อมเสื่อมศรัทธาและขาดการไว้วางใจ

ความเสียหายระดับที่ 4 คือระดับความเสียหายและการเสียชื่อเสียงในเชิงลึกจากการถูกตรวจสอบ ถูกฟ้องร้อง และถูกดำเนินคดี ช่วงที่จัดประมูล 3G เราทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพียงแต่ว่าแนวคิดไม่ตรงกับนักวิชาการบางคน ผลคือไปบอกว่าการที่เราคิดต่างแล้วไปเดินตามวิธีการที่ต่างกัน เป็นการที่เราทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ตอนนั้นเราลำบากมาก ต้องเข้าไปชี้แจงในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ และศาลปกครอง ตอนนั้นเราคิดว่าจะฟ้องแน่นอน คนอย่างนี้เอาไว้ไม่ได้ อยู่ๆ ไปบอกว่าเราทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเท็จ พอรู้ว่ารายงานของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬา เป็นอย่างหนึ่งก็ไปบิดเบือนเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงก็คือความจริง แต่ต่อมาคราวนี้ยังไม่เริ่มประมูลเหตุการณ์ย้อนรอยเดิมหมด ถ้าไม่ทำอะไรจะเสื่อมเสียหนักกว่านี้

ความเสียหายระดับที่ 5 คือจากตำแหน่ง คุณลักษณะ สถานะ ประสบการณ์ของคุณเดือนเด่นฯ ตลอดจนวิธีการใส่ความและเผยแพร่ความคิดเห็น ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ซึ่งมองว่ามีผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่าปกติ เพราะคุณเดือนเด่นฯ เป็นคนในรู้ข้อมูลข้างในเป็นอย่างดี คนย่อมเชื่อมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณเดือนเด่นฯ จบการศึกษาปริญญาเอก ทางด้านเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะ อยู่สถาบัน TDRI คนย่อมเชื่อ ได้รับการสนับสนุนจากประธาน TDRI มีน้ำหนักมาก เพราะฉะนั้น มองว่าการกระทำหมิ่นประมาทได้ดำเนินการใส่ความและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จอย่างต่อเนื่อง และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายลุกลามบานปลายมากกว่านี้จึงจำเป็นต้องเร่งฟ้องคดี โดยการใช้สิทธิฟ้องเองเป็นการส่วนตัว การนำคดีขึ้นสู่ศาลมีหลายวิธี บางวิธีไปแจ้งความ ถ้าแจ้งความก็มีตำรวจไปสืบสวนสอบสวนสรุปเรื่อง เห็นว่าควรฟ้องก็ส่งพนักงานอัยการ อัยการพิจารณาเห็นควรฟ้องก็ฟ้องไป ซึ่งทำไมเราต้องไปสิ้นเปลืองทรัพยากร  ของชาติ เราทำเองก็ได้ เราเก็บหลักฐานไว้ทุกอย่าง คดีนี้ไม่มีอะไรยาก ตรงไปตรงมา เรื่องนี้เราจะเข้าไปดูเอง ผมเคยถูกฟ้อง เคยนั่งพิจารณาคดี ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน
 
ผมลองค้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2548 ณ ขณะนั้น ท่าน ช. เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าพรรค ป. คุณ ฉ. เป็นนักการเมือง ไปให้สัมภาษณ์ โดยที่ไปบอกว่าท่าน ช. ปกปิดเรื่องของที่มีการโกงธนาคารบีบีซี ไปกล่าวหาว่า ท่าน ช. บอกว่าให้ปกปิดไว้อย่าไปพูดอะไร และบอกว่าท่าน ช. ยิ้มเงียบๆ อย่างนุ่มนวล ทุกคนรัฐมนตรี พรรค ป. แต่ละคนก็ผูกไทใส่สูทพูดเพราะอย่างเดียว สื่อมวลชนก็ยิ่งชื่นชม แล้วมีหนังสือพิมพ์สองค่ายไปลงเผยแพร่ ถามว่าท่าน ช. ไปขอให้คุณ ฉ. และหนังสือพิมพ์สองค่ายนั้น ชี้แจงไหม คำตอบคือ ไม่ ที่ท่าน ช. ทำคือ ฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท และผลคือทางหนังสือพิมพ์ก็แบบเดิม สู้ว่าใช้สิทธิโดยสุจริต ติชมด้วยความสุจริต คดีนี้ถึงศาลฎีกา ท่าน ฉ. และหนังสือพิมพ์ค่ายหนึ่งรู้ว่า ตัวเองคงแพ้ก็ไปทำยอมกับท่าน ช. ท่าน ช. ก็มีเมตตาก็ทำยอมไป ส่วนหนังสือพิมพ์อีกค่ายมั่นใจว่าจะชนะ จึงสู้คดีต่อไปในที่สุดศาลฎีกาก็บอกว่า สื่อย่อมทราบความหมายดังกล่าวดีกว่าประชาชนทั่วไป เพราะได้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2507 และเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2527 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการฯ ก็สามารถยับยั้งไม่ให้มีการลงพิมพ์ข้อความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ได้ แล้วทำการตรวจสอบเสียก่อนว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ สมควรที่จะลงพิมพ์แพร่หลายหรือไม่ แต่จำเลยที่ 2 ก็หากระทำไม่ สุดท้ายศาลฎีกาก็พิพากษาลงโทษโดยพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง โดยจำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอการลงโทษ

อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ผมได้ค้นทั่วโลก ในคดีที่มีการฟ้องหมิ่นประมาท ทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เอกวาดอร์ เฮติ ไนจีเรีย มอลต้า ซิมบับเว ฟ้องสื่อเรื่องหมิ่นประมาทเป็นเรื่องธรรมดา ผู้พิพากษาเองยังฟ้องสื่อทีวีในอเมริกาที่นำข้อมูลไปออกอากาศบิดเบือนผิดความจริงทำให้ผู้พิพากษาเสียชื่อเสียง หรือในออสเตรเลีย  Commissioner ของตำรวจ ก็ไปฟ้องหนังสือพิมพ์ที่ไปกล่าวหาว่าโกงไม่น่าเชื่อถือ ไปเขียนบทความว่าเขาเพิกเฉย ต่อกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องทุจริตฯ           
 
ที่ฟิลิปปินส์ กรณีนี้เป็นกรรมการของสภาจังหวัดฟ้องหนังสือพิมพ์เพราะไปกล่าวหาว่ารับเงินสินบนรายเดือนจากการปล่อยให้มีพนันท้องถิ่น ที่ไต้หวันก็มีการฟ้องสื่อ ที่เอกวาดอร์ ผู้ฟ้องเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐฟ้องหนังสือพิมพ์รายวันที่ไปกล่าวหาว่าเขาเป็นเผด็จการทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นและต้องเงียบเท่านั้น ผลคือศาลตัดสินลงโทษจำคุก 3 ปี และยังมีที่เฮติ ไนจีเรีย สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐฟ้องสื่อเรื่องหมิ่นประมาท ภายใต้หลักการว่า คนที่มีสิทธิ ก็ต้องใช้สิทธิโดยไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น
 
จึงมองว่าขณะนี้สิ่งที่สำนักงาน กสทช. และ กทค. ทั้ง 4 ท่าน ฟ้องคดี จะเกิดผลดี นอกจากจะปกป้องชื่อเสียงของตนเองและองค์กรแล้วมองว่ายังสามารถทำให้เกิดผลดี 4 ประการ

ผลดีประการแรก ในการสถาบันวิชาการ สถาบันวิจัย จะช่วยยกระดับให้มีมาตรฐานทางวิชาการมากขึ้น ถ้าเราโต้แย้งได้ เกิดความเสื่อม เขาจำเป็นต้องปรับปรุง เมื่อก่อนไม่มีคนเข้ามาแล้วมาดูเนื้อหาสาระในรายละเอียด แนวคิดของนักวิชาการกลุ่มนี้จึงไม่มีใครโต้แย้ง แต่ขณะนี้ แม้แต่ทาง กสทช. ก็ยังสามารถโต้แย้งแนวคิดและการนำเสนอของนักวิชาการกลุ่มนี้ได้ แสดงว่า ถ้าไม่ปรับปรุงคุณภาพสถาบันวิจัยจะเสื่อมมากกว่านี้ ความเสียหายจะรุนแรง เราไม่ได้ฟ้องสถาบัน แต่เราฟ้องคนสำคัญในสถาบัน ซึ่งเอาข้อมูลที่ไม่จริงมาโจมตีเรา จึงต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ

ผลดีประการที่ 2 คือ สื่อ สื่อจะต้องตรวจสอบข้อมูล เพื่อมิให้สื่อของสังคมไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะเครื่องมือของนักวิชาการที่เห็นว่าความเห็นของเขาถูกต้องฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังผู้อื่น เพราะฉะนั้น การฟ้องคดี สื่อจะต้องมาทบทวนดูว่าข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาจะต้องตรวจสอบ จริงๆ เราไม่ได้ฟ้องไทยพีบีเอส แต่ว่าเราฟ้องบรรณาธิการในไทยพีบีเอส ซึ่งรับข่าวมาจากนักข่าวก็ต้องดูความถูกต้องของเนื้อหา เพราะข่าวมีการนำเสนอไม่ใช่เป็นแค่การนำเสนอว่าใครพูดอะไร แต่เป็นสกู๊ปข่าว การนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำ

ผลดีประการที่ 3 ประโยชน์ที่จะได้ตกแก่หน่วยงานของรัฐ มีหลายหน่วยงานของรัฐไม่ใช่น้อยที่ถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์แต่ไม่อยากมีเรื่องด้วยอยู่ในสภาวะจำยอม ไม่ได้หมายถึงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ผมเองไม่ได้ไปกังวลกับหน่วยงานของรัฐที่พนักงานบางคนไม่สุจริต แต่เป็นห่วงหน่วยงานของรัฐที่มีบุคลากรที่ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้วถูกข่มเห่งรังแกโดยใครก็ตามเป็นผู้ที่มีบทบาทในสังคมสามารถชี้นำได้ และบอกว่าถ้าหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับทิศทางตรงนี้ บอกว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดี  คิดว่าถึงเวลาที่หน่วยงานของรัฐที่ถูกรังแกต้องลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรี กรณีของ กสทช. เป็นกรณีตัวอย่างสร้างบรรทัดฐานให้หน่วยงานของรัฐปกป้องศักดิ์ศรีองค์กร โดยถ้าไม่ผิดก็ต้องลุกมาสู้
 
และผลดีประการที่ 4 คือ สังคม การฟ้องของ กสทช. จะทำให้สังคมมีสติ ฟังข้อมูลข่าวสารแล้วไม่เชื่อทันที กลับไปยึดหลักพระพุทธเจ้าในเรื่องกาลามสูตร เช่นกรณีนี้ ได้ไปถามหลายคน หลายคนไม่ได้อ่านคำฟ้อง แต่บอกว่าคนนี้น่าเชื่อถือ ลืมนึกไป ดูเฉพาะสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว ไม่ได้มองในแง่ของคนที่ถูกละเมิดสิทธิ เนื่องจากใครอยู่ในกลุ่มใด ก็มักจะมองในมุมมองของกลุ่มของตน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีพนักงานหลายคนมาให้กำลังใจ นักข่าวหลายคนมาให้กำลังใจ แม้แต่ผู้พิพากษาก็โทรมาบอกให้กำลังใจบอกว่าอย่าถอยให้สู้

ไม่อยากให้มีกรณีม็อบชนม็อบให้ไปพิสูจน์ในศาลดีกว่า เรียนว่าทุกอย่างอยู่ในคำฟ้อง ขณะนี้คดีอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลอาญาแล้ว ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการพิจารณาในการพิสูจน์ความจริง ศาลก็จะนัดให้ไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าเราเป็นคนกล่าวหาก็ต้องนำพยานมาสืบ ฝ่ายคนที่ถูกฟ้องก็มีสิทธิซักถาม จนกระทั่งศาลตัดสินว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ ขณะนี้เป็นขั้นตอนอยู่ในกระบวนการของศาล ถ้ามีการกดดันโดยไปกดดันผมไม่ได้ กดดันประธาน กทค. หรือ กทค. ไม่ได้ ก็ไปกดดันสำนักงานฯ ให้กลัว ให้ไปถอนฟ้อง ไม่งั้นจะถูกข่มขู่ จะอยู่ไม่ได้ในสังคมไทย ตรงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง จะทำให้มองว่าไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของศาล
 
ผมเห็นว่าตอนนี้เลยขั้นตอนจะไปดีเบตประเด็นต่างๆ แล้ว เพราะว่าเราก็พยายามชี้แจงแล้วก็เหมือนๆ กับว่าเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา

พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ผมทราบดีถึงว่าแนวทางที่ กสทช.สุภิญญาฯ ว่า ถ้าถูกฟ้องคือวีรสตรี แต่ว่าไม่มีใครอยากเป็นความ อย่าไปยุ่งกับเขา เขาว่าทนได้ก็ทน แต่ผมมีสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศของผม ถ้าการให้ข่าวเป็นการให้ข่าวโดยเข้าใจผิดโดยรู้ไม่จริง แล้วไปให้ข่าวแล้วไปให้ความเห็น ผมให้อภัยได้ว่ารู้ไม่หมด แต่ถ้ารู้หมด ใช้คำว่ารังแก กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้รังแกพวกผมมาโดยตลอด ไม่เคยทำอะไรถูกผิดทุกเรื่อง ผิดมากผิดน้อยออกมารังแกใช้โครงสร้างเครือข่ายรังแก ผมตั้งใจทำงานและผมถูกรังแก ถ้าเป็นสมัยเด็กๆ ผมสู้ไปแล้ว ผมก็อดทน เพราะยิ่งสู้เขายิ่งดังยิ่งสู้ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ก็ทนไม่ไหวถูกรังแกเหลือเกิน ตอนนี้ทุกเรื่องออกอะไรไปก็ถูกรังแกหมด ไม่ถูกไม่ดี ตามที่ กสทช.สุทธิพลฯ เคยพูดว่าเขาเอาความจริงมาพูดไม่หมดเปรียบเหมือนหมามีสี่ขา ช้างมีสี่ขา เป็นสัตว์เหมือนกัน ขนาดไม่เท่ากัน มีงวงมีงา กินก็ไม่เหมือนกัน ก็ทนไม่ไหว ก็ต้องใช้สิทธิ์ส่วนบุคคลของผมในการฟ้อง ต่อไปนี้ผมฟ้อง เมื่อฟ้องครั้งแรกได้ก็ฟ้องครั้งที่สองได้ฟ้องครั้งที่สามได้ ใครมาลงอะไรที่เป็นเท็จเกี่ยวกับเรื่องของผม หรือสิ่งที่ผมทำ เพราะว่าผมไม่มีทางอื่น ถ้าสมัยก่อนอาจจะมีเกเรบ้าง แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ ก็ไม่ทำ เป็นการใช้สิทธิในฐานะประชาชนคนไทย และใช้สิทธิในการคุ้มครองเพื่อให้ประชาชนทั่วไป หรือให้ศาลพิจารณาว่าสิ่งที่เราทำกับสิ่งที่เราถูกกล่าวหาตรงกันไหม เป็นเรื่องของศาลยุติธรรม ก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลของผม ก็เรียนความในใจสั้นๆ เท่านี้ เพราะส่วนใหญ่ กสทช. สุทธิพลฯ ได้กล่าวไปแล้ว
 
ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า เพราะว่าทั้ง  3 ท่านได้อภิปรายไปแล้ว คงไม่แตกต่างกัน ผลกระทบอยู่ที่ครอบครัว ก็ไม่อยากพูด ก็ใช้สิทธิของตนเองที่จะปกป้องการกระทำหน้าที่   สิ่งที่ท่านอภิปรายไป ถ้าอภิปรายก็ซ้ำกันอีก
        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net